จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 19-25 กุมภาพันธ์ 2564

จดหมาย

0 เจ้านาย-คนใช้

งานบ้านที่ผ่านมา

ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นแรงงาน

จึงไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายแรงงานเท่าเทียมกับแรงงานกลุ่มอื่นๆ

นอกจากนั้น ลูกจ้างทำงานบ้านส่วนมากยังเป็นแรงงานหญิง ทำงานอยู่ในบ้านนายจ้าง

จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกล่วงละเมิดทั้งทางร่างกาย จิตใจ และทางเพศ

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีกฎกระทรวง ฉบับที่ 14 (พ.ศ.2555) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

เป็นกฎหมายหลักในการคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน ซึ่งนายจ้างทุกคนจะต้องปฏิบัติตาม

 

แต่ที่ผ่านมากฎหมายฉบับนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่นายจ้างและลูกจ้าง

ทำให้ลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับสิทธิตามที่กฎหมายกำหนด

สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์

เครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย

กองคุ้มครองแรงงานนอกระบบ

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน

มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ

และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง

จึงได้ร่วมกันพัฒนาจรรยาบรรณการจ้างลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทยขึ้น

เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของลูกจ้างทำงานบ้าน

โดยกำหนดข้อปฏิบัติของทั้งสองฝ่ายไว้ในจรรยาบรรณฉบับนี้

ดังนี้

 

สิ่งที่นายจ้างพึงปฏิบัติ

  1. สัญญาจ้าง นายจ้างพึงจัดทำเอกสารสัญญาจ้าง ระบุเงื่อนไขการจ้าง กฎระเบียบที่จำเป็น ค่าจ้าง และสิทธิประโยชน์จากการทำงานที่ลูกจ้างพึงได้รับ
  2. ค่าจ้าง ชั่วโมงทำงาน และเวลาพัก

นายจ้างพึงจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

นายจ้างพึงจัดให้ลูกจ้างทำงานบ้านสัปดาห์ละไม่เกิน 48 ชั่วโมง (ไม่นับรวมเวลาพัก)

นายจ้างไม่พึงหักค่าจ้างเพื่อการลงโทษหรือเอาผิดลูกจ้างทำงานบ้านที่ทำงานผิดพลาดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

  1. ในกรณีที่นายจ้างจัดที่พักอาศัยให้ลูกจ้าง พึงจัดที่พักที่เป็นสัดส่วน สะอาด ถูกสุขลักษณะและปลอดภัยให้
  2. การไม่เลือกปฏิบัติต่อลูกจ้างทำงานบ้านเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ สีผิว ภาษา เพศ เพศสภาพ ความพิการ สภาพทางกาย หรือสุขภาพ ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือสังคม สถานะของบุคคล การศึกษา ความเชื่อทางศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง หรือสถานภาพอื่น รวมทั้งการเป็นสมาชิกขององค์การลูกจ้าง
  3. การลาคลอด นายจ้างพึงให้แรงงานหญิงได้ตรวจสุขภาพครรภ์และลาคลอดได้ ในกรณีลูกจ้างชาย พึงให้สิทธิลาเพื่อดูแลภรรยาและบุตรหลังคลอด 3 เดือน
  4. การคุ้มครองความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน นายจ้างพึงอธิบาย ให้ข้อมูล และส่งเสริมเรื่องสุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน รวมทั้งจัดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายในการทำงานให้แก่ลูกจ้างด้วย

ในกรณีที่ลูกจ้างได้รับอันตราย หรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน นายจ้างพึงช่วยเหลือในเรื่องค่ารักษาพยาบาล หรือเงินช่วยเหลืออื่นเท่าที่จำเป็น

  1. นายจ้างพึงให้ความเคารพในสิทธิความเป็นส่วนตัวของลูกจ้างทำงานบ้าน เช่น การนับถือศาสนาและการปฏิบัติศาสนกิจ การเก็บรักษาทรัพย์สินส่วนตัวไว้กับตนเอง เป็นต้น
  2. นายจ้างพึงส่งเสริมลูกจ้างทำงานบ้านให้มีโอกาสได้รับการศึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาทักษะฝีมือ และฝึกอบรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
  3. หลักประกันสังคม นายจ้างพึงจัดสวัสดิการ และสนับสนุนให้ลูกจ้างเข้าถึงประกันสังคม รวมทั้งสวัสดิการอื่นๆ ที่รัฐจัดให้
  4. การเลิกจ้าง นายจ้างพึงตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยเหตุผลอย่างรอบด้านก่อนการตัดสินใจเลิกจ้าง หากนายจ้างประสงค์จะเลิกจ้างโดยลูกจ้างมิได้กระทำความผิด นายจ้างพึงจ่ายค่าชดเชย หรือเงินช่วยเหลือตามความเหมาะสม

 

สิ่งที่ลูกจ้างพึงปฏิบัติ

  1. ลูกจ้างพึงมีความรับผิดชอบในหน้าที่การงานที่ได้รับมอบหมาย
  2. ลูกจ้างพึงมีความซื่อสัตย์สุจริต
  3. ลูกจ้างพึงมีทัศนคติที่ดีต่อนายจ้าง
  4. ลูกจ้างพึงเคารพสิทธิส่วนบุคคลของนายจ้างและสมาชิกในครอบครัว
  5. ลูกจ้างพึงปกป้องทรัพย์สินของนายจ้าง
  6. ลูกจ้างพึงมีวินัย ปฏิบัติตามกฎและคำสั่งที่เป็นธรรมของนายจ้าง รวมทั้งข้อตกลงที่ได้ทำไว้กับนายจ้างด้วย
  7. ลูกจ้างพึงเรียนรู้และพัฒนาตนเอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของตน
  8. ลูกจ้างพึงมีการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีกับนายจ้างอย่างสม่ำเสมอ
  9. ลูกจ้างพึงมีมารยาท สุภาพเรียบร้อย

มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ

โทร : +662 513 9242, +662 513 8959

เว็บไซต์ : http://www.homenetthailand.org

อีเมล : [email protected]

 

อาจจะยาว

แต่อยากให้อ่าน

และช่วยเผยแพร่

เพื่อให้ “นายจ้าง” และ “ลูกจ้าง”

อยู่ใน “บ้าน” เดียวกันอย่างมีความสุข

รายละเอียดอื่นๆ เช่น สัญญาว่าจ้าง ขอรายละเอียดที่มูลนิธิ