สังคมนิยมนิเวศ การเคลื่อนไหวสีเขียวแบบแดง และการเปลี่ยนผ่านใหญ่ / อนุช อาภาภิรม

วิกฤติศตวรรษที่21

อนุช อาภาภิรม

 

วิกฤตินิเวศ

เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (13)

 

สังคมนิยมนิเวศ

การเคลื่อนไหวสีเขียวแบบแดง

และการเปลี่ยนผ่านใหญ่

สังคมนิยมเกิดขึ้นเพื่อปฏิเสธทุนนิยม ดังนั้น จึงจำต้องเกิดภายหลัง

สังคมนิยมนิเวศก็เช่นกัน เกิดขึ้นหลังทุนนิยมนิเวศ (ไม่มีใครใช้ชื่อทุนนิยมนิเวศ มีที่ใกล้เคียงเช่นทุนนิยมธรรมชาติ)

การเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมในระบบทุนนั้นเริ่มตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ได้แก่ การต่อต้านการทำลายป่า มีการเรียกร้องให้ตั้งอุทยานแห่งชาติในสหรัฐหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

การเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมแบบทุนนิยมยิ่งมีความคึกคัก เกิดขบวนการสีเขียวสมัยใหม่ ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 จนกระทั่งพัฒนาเป็นเศรษฐกิจสีเขียว

สังคมนิยมนิเวศเกิดในบริบท 4 ประการด้วยกัน คือ

ก) วิกฤติการเงินในโลกทุนนิยม

ข) วิกฤติน้ำมันที่ทำให้วิกฤติเศรษฐกิจทุนนิยมรุนแรงขึ้น

ค) เกิดขบวนการสังคมใหม่อย่างคึกคักทั่วโลก ประกอบด้วยขบวนการสตรี ชนชาติส่วนน้อย สิ่งแวดล้อม การต่อต้านสงครามและทุนนิยม

ง) เกิดขบวนการซ้ายใหม่ในหมู่นักศึกษาปัญญาชนในยุโรป สหรัฐ ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1950 เป็นหนทางสังคมนิยมที่สาม ต่างกับลัทธิมาร์กซ์ และลัทธิสังคมประชาธิปไตยในตะวันตก

เหล่านี้เป็นปัญหาทั้งทางทฤษฎีและการปฏิบัติสำหรับชาวสังคมนิยมว่าจะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่อย่างไร เพื่อรักษาพลวัตและอำนาจในการดัดแปลงโลกของลัทธิมาร์กซ์ต่อไป

มีบุคคลที่ถือว่าเป็นตัวแทน 4 คนดังนี้คือ

 

1)เรย์มอนด์ วิลเลียมส์ (Raymond Williams 1921-1988)

เกิดในครอบครัวคนงานอังกฤษ ความสนใจหลักเป็นเรื่องทางวัฒนธรรม ตามแนวของอันโตนิโอ กรัมซี (1891-1937) นักปฏิวัติสังคมนิยมชาวอิตาลี

มองว่าวัฒนธรรมเป็นพื้นที่ของการต่อสู้ที่นักปฏิวัติจะต้องเข้ายึดครอง แสดงฐานะที่เหนือกว่าผู้ปกครองเดิม

เขาได้พัฒนาทฤษฎีวัฒนธรรมศึกษา ลงสู่รายละเอียดจนมีอิทธิพลในกลุ่มซ้ายใหม่ยุโรปและสหรัฐจากการศึกษาวัฒนธรรมอย่างรอบด้าน

ต่อมาเขาได้ให้ความสำคัญแก่เรื่อง “การดำรงชีพ” (Livelihood) ของผู้คน

เรียกร้องให้มีการผสานระหว่างการต่อสู้ของขบวนการกรรมกรกับขบวนการสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันการดำรงชีพของตนจากระบบทุนนิยม

 

2)เจมส์ โอคอนเนอร์ (James O’Conner 1930-2017)

นักเศรษฐศาสตร์และนักสังคมวิทยาชาวสหรัฐ อาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตาครูซ และมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ผู้วางรากฐานทางทฤษฎีและการปฏิบัติทางด้านลัทธิมาร์กซ์เชิงนิเวศ

การเคลื่อนไหวที่ควรกล่าวถึงได้แก่ การร่วมก่อตั้งวารสารวิชาการรายสามเดือนสำหรับนักสังคมนิยมนิเวศชื่อ “ทุนนิยม ธรรมชาติ สังคมนิยม” ปี 1988 ฉบับแรกเขาได้เผยแพร่บทความชื่อ “ความขัดแย้งที่สองของทุนนิยม” อธิบายวิกฤตินิเวศที่ดำรงอยู่ว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร จากมุมมองของลัทธิมาร์กซ์

บทความนี้โอคอนเนอร์ได้ปรับการนำเสนออีกหลายครั้ง เขาเป็นบรรณาธิการวารสารนี้อยู่นาน จนกระทั่งสุขภาพไม่อำนวย จึงได้ลาออกไป

วารสารฉบับนี้ยังคงเผยแพร่จนถึงปัจจุบัน งานเขียนสำคัญของเขาได้แก่ “วิกฤติการเงินของรัฐ” (เผยแพร่ปี 1973) “วิกฤติการสะสมทุน” (1984) และ “เหตุผลของธรรมชาติ : ความเรียงลัทธิมาร์กซ์เชิงนิเวศ” (1998)

สังเกตว่าในห้วงการออกวารสารของเขา ได้มีวารสารแนวเดียวกันเผยแพร่อยู่หลายฉบับ เช่น”การเมืองนิเวศ” ในสเปนและฝรั่งเศส และ “ทุนนิยม ธรรมชาติ สังคมนิยม” ในอิตาลี ซึ่งฉบับแรกได้แปลหลายบทความในวารสารของสหรัฐ มาตีพิมพ์เป็นเหมือนสร้างกลุ่มพันธมิตรโดยอาศัยแนวคิดเรื่อง “ความขัดแย้งที่สองของทุนนิยม” เป็นแกน

แนวคิดและการเคลื่อนไหวของโอคอนเนอร์ในที่นี้ ประมวลจากประสบการณ์ส่วนตัวของนักสังคมนิยมนิเวศจำนวนหนึ่งที่ได้รู้จักสัมผัสกับเขา และบทความของเขาชื่อ “ความขัดแย้งที่สองของทุนนิยม” (ดูบทรำลึก In memory of James O’Conner (1930-2017) ใน versobook.com 2017 และบทความของเจมส์ โอคอนเนอร์ ชื่อ The Second Contradiction of Capitalism ใน Columbia.edu เป็นต้น)

โอคอนเนอร์เป็นผู้ใช้ทฤษฎีวัตถุนิยมวิภาษวิธีของมาร์กซ์อย่างช่ำชอง ในการวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน ชี้ให้เห็นเงื่อนไขทางวัตถุของประชาชน ความขัดแย้งภายในและระหว่างชนชั้น ปฏิสัมพันธ์ของสถาบันสังคม ผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมของภาคส่วนต่างๆ ทางชนชั้น ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เช่น การปฏิวัติสังคมนิยมในคิวบา

เขายังได้ใช้ทฤษฎีนี้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการเงินกับรัฐ และลัทธิจักรวรรดินิยม สามารถคาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดวิกฤติการเงินใหญ่ในระบบทุน และลัทธิเสรีนิยมใหม่ขึ้น

 

ทฤษฎีและการปฏิบัติของโอคอนเนอร์อาจสรุปได้ดังนี้คือ

1) แนวทางและสังคมนิยมแบบมาร์กซ์ มีลักษณะเด่นคือ

ก) แบบวิธีการผลิตทางเศรษฐกิจเป็นพื้นฐานความสัมพันธ์ทางการเมือง-สังคม

ข) มีความขัดแย้งที่แก้ไขไม่ตกภายในระบบทุนนิยม

ค) ความขัดแย้งที่ไม่อาจแก้ไขได้นี้ นำมาสู่การปฏิวัติสังคมนิยม

ง) สังคมนิยมเป็นระยะผ่านไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์ซึ่งไม่มีชนชั้น และรัฐเหี่ยวแห้งไป

เหล่านี้เป็นหลักการสำคัญในการแยกขบวนการสิ่งแวดล้อมของสังคมนิยมกับทุนนิยมที่เกิดขึ้นมากมายออกจากกัน ดังนั้น การกล่าวถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมแบบโดดๆ โดยไม่เชื่อมต่อกับการขูดรีดแรงงาน และการต่อสู้ของคนงาน รวมทั้งสตรีและชนชาติส่วนน้อยย่อมไม่ใช่สังคมนิยมแบบมาร์กซ์ และการเห็นว่าในระบบทุนนิยมสามารถใช้เครื่องมือ อย่างเช่น ตลาดเสรีหรือเทคโนโลยีได้ก็ไม่ใช่เป็นแบบมาร์กซ์เช่นกัน

และหากเห็นว่าสังคมนิยมเป็นจุดหมายปลายทาง ไม่ใช่สังคมระยะผ่าน อย่างเช่น ผู้มีแนวคิดแบบสังคมประชาธิปไตย ก็ไม่ใช่แบบมาร์กซ์เช่นกัน โอคอนเนอร์ชี้ว่า สังคมนิยมนิเวศจึงเป็นการก้าวข้ามหรือเป็นเสรีจาก “ความคิดแบบลัทธิธรรมชาติแบบทุน ลัทธิมัลธัสใหม่ บรรดานักวิชาการ ในสโมสรกรุงโรม ลัทธินิเวศเชิงลึกที่โรแมนติกและลัทธิโลกเดียวของสหประชาชาติ”

2) “ความขัดแย้งที่สองของทุนนิยม” เป็นความปราดเปรื่องและถ่อมตนของโอคอนเนอร์ เขาได้แนวคิดจากคาร์ล โพลันยี (1886-1964) นักเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรีย-ฮังการี ผู้เขียนหนังสือชื่อ “การเปลี่ยนผ่านใหญ่” (เผยแพร่ปี 1944) ซึ่งได้ชี้ให้เห็นว่าการเติบโตของตลาดแบบทุน ได้ทำให้เงื่อนไขทางสิ่งแวดล้อมและของสังคมนั้นเองต้องเสื่อมโทรมหรือถูกทำลาย ซึ่งเป็นความรู้ที่ชี้นำการเคลื่อนไหวสีเขียวแบบทุนนิยมอยู่ในปัจจุบัน

โอคอนเนอร์ชี้ว่าวิกฤติแรกในระบบทุนนิยมที่กล่าวไว้ในลัทธิมาร์กซ์ดั้งเดิม เกิดจากความขัดแย้งระหว่างพลังการผลิตและความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบทุน เป็นความขัดแย้งระหว่างการผลิต การทำให้มูลค่าเป็นจริง (ขายได้) และการได้มูลค่าส่วนเกิน (กำไร) กล่าวอย่างสั้นๆ เป็นความขัดแย้งระหว่างการผลิตกับการสะสมทุน (ทุนก้อนใหญ่กว่าก่อนการผลิต) ตัวแทนของการปฏิวัติสังคมนิยมได้แก่ชนชั้นคนงาน การผลิตแบบทุนก่อให้เกิดการแปรโฉมทางสังคม ซึ่งแสดงออกที่การเมืองและรัฐ กับกระบวนการผลิตและการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ

สำหรับความขัดแย้งที่สองของทุนนิยมนั้น เป็นความขัดแย้งระหว่างการผลิตแบบทุนกับเงื่อนไขการผลิต กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ การสะสมทุนอย่างไม่หยุดยั้งได้ทำลายเงื่อนไขการผลิตในระบบทุนเอง เงื่อนไขการผลิตนี้เพ่งเล็งถึง

ก) การผลิตซ้ำของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม เกิดปัญหาทรัพยากรธรรมชาติหมดไป คุณภาพดิน น้ำ อากาศเสื่อมโทรม เกิดมลพิษสูงจากการใช้พลังงานนิวเคลียร์ รูโอโซน เป็นต้น

ข) การผลิตซ้ำตัวมนุษย์ที่มีความยากลำบากจากรายได้ที่ลดลง ค่าครองชีพในการรักษามาตรฐานการครองชีพของตนสูงขึ้น (ปัจจุบันยังเกิดช่องว่างทางการสื่อสารในสังคม ระหว่างชนชั้น เชื้อชาติ ศาสนา และรุ่น ทั้งเกิดข่าวปลอม และการเมืองหลังความจริง สร้างความแตกแยกในสังคม)

ลักษณะเด่นอีกอย่างของความขัดแย้งนี้คือ ตัวแทนของการแปรโฉมทางสังคมไม่ใช่ชนชั้นกรรมกรอีกต่อไป หากแต่เป็นขบวนการสังคมใหม่ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มคนที่หลากหลาย ได้แก่ กลุ่มสตรี ชนชาติส่วนน้อย ที่ต้องสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมต่อต้านลัทธิเชื้อชาติทางสิ่งแวดล้อมรวมถึงประเทศกำลังพัฒนากลุ่มต่อต้านโลกาภิวัตน์ เป็นต้น ซึ่งหมายถึงว่ากลุ่มทางสังคมเหล่านี้จะต้องก้าวข้ามอคติทางจุดยืนของตน สร้างจุดมุ่งหมายร่วมกันในการสร้าง ความเสมอภาค ความเป็นธรรม และอนาคตที่ยั่งยืนของตน

ความพยายามของโอคอนเนอร์ได้ผลระดับหนึ่งเมื่อมีผู้รับไม้ต่อ

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงโจเอล โคเวล และไมเคิล โลวี ผู้ก่อตั้งขบวนการสังคมนิยมนิเวศ และจอห์น เบลลามี ฟอสเตอร์ ผู้สร้างฐานและหลังพิงทางทฤษฎี สำหรับนักสังคมนิยมนิเวศ