‘เราชนะ’ ป่วน ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง กรุงไทยรับเละคนล้นทุกสาขา เรื่องง่ายกลายเป็นของยาก / บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

‘เราชนะ’ ป่วน ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง

กรุงไทยรับเละคนล้นทุกสาขา

เรื่องง่ายกลายเป็นของยาก

 

น่าจะเป็นการเดินเกมที่ผิดพลาดของรัฐบาลในความพยายามแก้ปมการลงทะเบียนโครงการ “เราชนะ” สำหรับผู้ที่ไม่มี “สมาร์ตโฟน” โดยให้ธนาคารกรุงไทยเปิดจุดบริการพิเศษ ให้ผู้ที่ประสงค์จะลงทะเบียนเข้าร่วม “เราชนะ” แต่ไม่มี “สมาร์ตโฟน” สามารถพกบัตรประชาชนแบบ “สมาร์ตการ์ด” (Smart Card) ไปลงทะเบียนได้

โดยกำหนดให้ลงทะเบียนระหว่างวันที่ 15-25 กุมภาพันธ์ 2564 ทว่าทันทีที่เปิดให้บริการวันแรก ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ก็ปรากฏภาพประชาชนจำนวนมากแห่ไปต่อคิวที่สาขาธนาคารกรุงไทยในหลายจังหวัด จนแน่นขนัดไปหมด แบบไม่กลัว “โควิด-19”

แถมยังเกิดเรื่องดราม่าขึ้นที่จังหวัดนนทบุรี เมื่อคุณยายที่ไปลงทะเบียนให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อทั้งน้ำตาว่า เจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทย “ดุเหมือนหมา” กระทั่งผู้บริหารธนาคารกรุงไทยต้องหอบกระเช้าไปขอโทษคุณยายถึงบ้านในเวลาต่อมา

ร้อนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องสั่งการให้กระทรวงการคลังขยายเวลาลงทะเบียนเพิ่ม โดยนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์หลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันเดียวกันว่า

“ไม่ต้องมากันวันแรกได้ไหม มาวันอื่น ทยอยกันมาก็ได้ เนื่องจากมันต้องมีการใช้เวลา ต้องพิจารณาเอกสาร มีช่วงเวลากำหนดไว้แล้ว ผมได้มีการสั่งกระทรวงการคลังไปดูแล้ว หากเวลาไม่เพียงพอ สั่งให้ขยายเวลาลงทะเบียนเพิ่มได้ เน้นย้ำให้ประชาชนทุกคนสวมใส่หน้ากากอนามัยด้วย”

ขณะที่ธนาคารกรุงไทยออกประกาศว่า ประชาชนไม่ต้องรีบไปลงทะเบียน หากคุณสมบัติเข้าเกณฑ์จะได้รับสิทธิทุกคน เนื่องจากกระทรวงการคลังได้ขยายเวลาการลงทะเบียนไปจนถึงวันที่ 5 มีนาคม 2564 ซึ่งประชาชนสามารถติดต่อลงทะเบียนได้ที่สาขาธนาคาร 1,023 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงจุดบริการพิเศษจำนวน 871 จุดทั่วประเทศ

ก่อนหน้านั้น นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ชี้แจงผ่านโซเชียลมีเดียว่า แม้ไม่มีสมาร์ตโฟนก็สามารถใช้ “เราชนะ” ได้ มีคนเป็นห่วงว่าประชาชนที่ไม่มีสมาร์ตโฟนจะไม่สามารถลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิในโครงการ “เราชนะ”

“ตอนที่เราทำแผนกัน ทีมงานคิดละเอียดทุกเรื่อง เพื่อไม่ให้คนที่ควรจะได้รับการช่วยเหลือตกหล่นไป เราได้วางรูปแบบไว้แล้วว่าแม้จะไม่มีสมาร์ตโฟนก็สามารถใช้ ‘เราชนะ’ ได้”

ทั้งนี้ เราดูจากผลสำรวจเรื่องการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ.2562 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ชี้ว่าประเทศไทยมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 56.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 89.6 ของประชากรที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป และผู้ใช้โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ตโฟน เข้าถึงอินเตอร์เน็ตค่อนข้างสูงคือร้อยละ 96.4

สำหรับประเด็นนี้กลุ่มที่ไม่มีสมาร์ตโฟนส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.8 ล้านคน ซึ่งไม่ต้องลงทะเบียนเราชนะ แต่จะได้รับเงินโอนเข้าบัตรโดยตรง คนที่อาจไม่มีบัตรสวัสดิการและไม่มีสมาร์ตโฟน เราก็ได้ประสานงานกับธนาคารของรัฐที่มีสาขาครอบคลุมทั่วประเทศให้ช่วยอำนวยความสะดวกให้คนกลุ่มนี้ลงทะเบียนได้ ซึ่งได้รับการยืนยันมาแล้วว่าทำได้

นอกจากจะแก้เกมหลังเกิดความปั่นป่วนจากการลงทะเบียนแล้ว นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลังปรับปรุงรายละเอียดโครงการ “เราชนะ” สำหรับผู้ที่ต้องการช่วยเหลือเป็นพิเศษ ได้แก่ ผู้สูงอายุ และผู้พิการ หากไม่สามารถเดินทางไปลงทะเบียนที่สาขาธนาคารกรุงไทยได้ด้วยตัวเอง ให้สามารถมอบอำนาจได้ จากเดิมที่ไม่ให้มีการมอบอำนาจ

รวมถึงให้ธนาคารกรุงไทยจัดหน่วยเคลื่อนที่ไปให้บริการช่วยเหลือในการลงทะเบียนอีกด้วย

ส่วนการใช้สิทธิของผู้ไม่มี “สมาร์ตโฟน” นั้น จะเป็นการใช้จ่ายผ่านบัตรประชาชนแบบ “สมาร์ตการ์ด” โดยบรรดาร้านค้าที่มีแอพพลิเคชั่น “ถุงเงิน” จะต้องเพิ่มเมนูการสแกนบัตรประชาชน เพื่อให้รองรับการใช้จ่ายสำหรับกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ตโฟน

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง บอกว่าผู้ที่ถือบัตรประชาชนแบบเดิม ที่ไม่ใช่แบบสมาร์ตการ์ด จะต้องไปทำบัตรประชาชนใหม่ เนื่องจากการใช้จ่ายเงินผ่านบัตรประชาชน ระบบจะอ่านข้อมูลจากชิพการ์ดบนบัตร

ความยุ่งยากที่เกิดขึ้นทั้งปวงในโครงการ “เราชนะ” เหล่านี้อาจจะมาจากการ “ติดกระดุมเม็ดแรก” ที่ผิดพลาดไป เพราะโครงการนี้เป็นโครงการลักษณะ “เยียวยาผลกระทบ” ซึ่งประชาชนอยากได้เป็น “เงินสด” ไปใช้จ่ายได้ทันที ไม่ต้องมีกระบวนการยุ่งยาก

ทว่าผู้ใหญ่ในรัฐบาลมองไปอีกทาง ต้องการให้การใช้สิทธิเป็นไปในลักษณะเดียวกับโครงการ “คนละครึ่ง” ที่ถือว่าประสบความสำเร็จที่สุดในบรรดานโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล แม้จะมีเสียงติติงในมุมที่ว่า การเปิดให้ลงทะเบียนแย่งสิทธิกันเหมือนเล่นเกม “ชิงโชค” ก็ตาม

นายสุพัฒนพงษ์เคยระบุว่า โครงการ “เราชนะ” จะไม่ให้เป็นเงินสด ไม่อยากให้คนสัมผัสตัวเงิน เพราะจะทำให้เกิดการแพร่เชื้อโควิด-19 รวมถึงจะไม่สามารถกำกับการหมุนเวียนของเงินได้ แต่การไม่ให้เป็นเงินสด จะสามารถควบคุมการใช้จ่ายได้ เช่น ไม่สามารถนำไปซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือนำไปเล่นการพนัน

ขณะเดียวกันการใช้สิทธิในโครงการ “เราชนะ” ไม่สามารถนำไปใช้กับร้านค้าขนาดใหญ่ได้ โครงการจึงเป็นประโยชน์ต่อการให้ความช่วยเหลือคนตัวเล็กตัวน้อย ที่สำคัญ รัฐบาลยังต้องการให้ประชาชนมีประสบการณ์กับสังคมไร้เงินสดมากขึ้นด้วย

 

ขณะที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง แจงถึงสาเหตุที่ไม่แจกเงินสดว่า เป็นเพราะต้องการลดปัญหา จากที่มีประสบการณ์จากช่วงที่ดำเนินโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ที่ประชาชนต่างออกมากดเงินสด ทำให้ต้องรอคิวกดเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม เสี่ยงจะติดเชื้อโควิด รวมถึงทำให้ตู้เอทีเอ็มอาจมีปัญหาจากการที่คนไปใช้งานจำนวนมากด้วย

“มีการระดมความคิดกันว่า จะทำอย่างไรให้ลดการสัมผัสเงิน ลดความแออัด และไม่ให้มีปัญหาเรื่องระบบตู้เอทีเอ็มติดขัด จึงใช้แนวคิดการผลักดันสังคมไร้เงินสด หากไม่ใช้เทคโนโลยีจะเชย ขณะนี้หลายธุรกิจ เช่น ระบบขนส่งมวลชน ก็พัฒนาการใช้จ่ายผ่านบัตรโดยไม่ต้องใช้เงินสดแล้ว จึงให้โครงการดังกล่าวใช้จ่ายผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง” นายอาคมกล่าว

แต่สุดท้าย ความชุลมุนวุ่นวายที่เกิดขึ้นจากที่มีผู้คนไปออกันหน้าสาขาธนาคารกรุงไทย แทบไม่ต่างไปจากเมื่อครั้งโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” และหากเทียบกับโครงการ “คนละครึ่ง” ที่ได้รับความนิยมจนต้องออกเฟส 2 และมีแนวโน้มจะมีเฟสต่อๆ ไปตามมา ต้องบอกว่าเป็น “หนังคนละม้วน”

เป็นความพยายามที่จะสร้างระบบที่รัดกุม แต่กลับกลายเป็นการทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยากไปในที่สุดนั่นเอง