เส้นทางชีวิต ‘โตโต้’ แม่ทัพการ์ด WeVo ผู้ผ่านสมรภูมิพฤษภาอำมหิต ปี ’53 / บทความพิเศษในประเทศ

บทความพิเศษในประเทศ

 

เส้นทางชีวิต ‘โตโต้’

แม่ทัพการ์ด WeVo

ผู้ผ่านสมรภูมิพฤษภาอำมหิต ปี ’53

 

เกือบทุกครั้งที่มีการชุมนุมของกลุ่มราษฎร เราจะพบชายร่างเล็กสวมเสื้อเกราะและหมวกนิรภัยสีดำ ทำหน้าที่เดินสั่งงานกลุ่มการ์ดชาย-หญิงที่สวมปลอกแขนสีเขียวสัญลักษณ์ของกลุ่ม We Volunteer หรือ WeVo เป็นประจำ

ชายหนุ่มคนนี้คือ “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ ผู้อำนวยการกองงานมวลชนอาสา We Volunteer หรือที่เราเรียกกันว่าหัวหน้าการ์ด WeVo

ปัจจุบัน “โตโต้” มีอายุ 30 ปี เป็นคนจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมเล่าว่า ตนเองเกิดมาในครอบครัวชนชั้นกลางในเมืองต่างจังหวัด คุณพ่อประกอบธุรกิจส่วนตัวเป็นผู้รับเหมาเกี่ยวกับที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ เช่น รับปรับที่ดิน ถมที่ดิน

ส่วนคุณแม่มีอาชีพข้าราชการครู ตำแหน่งครูชำนาญการอยู่ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดกาฬสินธุ์ และมีน้องชายหนึ่งคนทำธุรกิจส่วนตัวเช่นเดียวกับคุณพ่อ

“โตโต้” เล่าว่า ตนเองหลงใหลการเมืองมาตั้งแต่เด็กๆ สาเหตุส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการเลี้ยงดูของครอบครัว เนื่องจากช่วงเช้าก่อนไปเรียนหนังสือ คุณพ่อมักจะเปิดดูข่าวการเมืองอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะรายการที่คุณสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นผู้ดำเนินรายการ

โดยคุณพ่อจะทำหน้าที่เล่าข่าว วิเคราะห์ข่าวให้ฟังเสมอ พร้อมเปิดโอกาสให้ตนเองได้ตั้งคำถามด้วย

 

เมื่อ “โตโต้” เติบโตขึ้น คุณแม่เริ่มรู้สึกว่าลูกชายคนนี้ฝักใฝ่การเมืองมากเป็นพิเศษ จึงให้เรียนหนังสืออยู่ที่จังหวัดกาฬสินธุ์จนถึงอายุ 15 ปี ก่อนส่งเข้ามาเรียนต่อที่กรุงเทพมหานคร ในสายอาชีพแทนสายสามัญ เนื่องจากคุณแม่มีความเชื่อว่าหากส่งเสียให้เรียนสายสามัญจะยิ่งสนใจการเมืองมากขึ้นไปอีก

จึงให้เรียนสายอาชีพในระดับ ปวช. สาขาวิชาช่างไฟฟ้า เมื่อจบการศึกษาระดับ ปวช. ซึ่งเทียบเท่ามัธยมศึกษาปีที่ 6 “โตโต้” ก็เลือกเรียนต่อ ปวส.ภาคค่ำ ควบคู่ไปกับการเรียนปริญญาตรีคณะวิศวกรรมไฟฟ้า ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

ปี 2553 เกิดเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดง ขณะนั้น “โตโต้” ยังเรียนหนังสืออยู่ แต่ด้วยความอยากรู้อยากเห็นว่าการชุมนุมเป็นอย่างไร เขาจึงเดินทางไปสังเกตการณ์การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง

และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ปลุกไฟทางการเมืองของเขาให้ลุกโชนขึ้นมา

 

เดือนเมษายน 2553 “โตโต้” ซึ่งเรียนอยู่มหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 1 เขาเล่าว่า ได้เดินทางไปสังเกตการณ์การชุมนุมเพราะอยากจะเห็นภาพเหตุการณ์จริง แทนการติดตามข่าวสารผ่านทางโทรทัศน์ เมื่อเดินทางไปถึง สิ่งที่เขาเห็นคือความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้คน มีเสียงระเบิด เจ้าหน้าที่ใช้แก๊สน้ำตากับผู้ชุมนุม มีเฮลิคอปเตอร์โปรยสิ่งของลงมาเสียงดังเปรี้ยงปร้าง มีผู้คนบาดเจ็บ มีกองเลือดอยู่ตามถนน

วันนั้นเขารู้สึกหดหู่มากกับภาพเหตุการณ์ที่พบเห็น จึงตัดสินใจในทันทีว่าจะเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มคนเสื้อแดง

19 พฤษภาคม 2553 “โตโต้” เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มเสื้อแดง เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุม เขาจึงเข้าไปหลบอยู่ที่วัดปทุมวนาราม และตั้งปณิธานกับตัวเองว่าจะทิ้งทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือคน

“วันนั้นเป็นวันที่ผมอยู่ในวัดปทุมวนาราม ผมเห็นเหตุการณ์ทั้งหมด อยู่ในช่วงที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เราเห็นคนที่ดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดแต่ก็ไม่รอดกับตา ภาพนั้นมันติดตาผม แล้วผมก็รู้สึกว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นที่ผมตัดสินใจทิ้งทุกอย่างแล้วบอกกับตัวเองว่าไม่อยากเห็นลูก-หลานหรือคนที่ผมรักต้องมาคลานตะเกียกตะกายเอาชีวิตรอดจากคมกระสุนของเจ้าหน้ารัฐแบบนี้ ผมก็เลยตัดสินใจสู้”

“จนทุกวันนี้เลยมาอยู่ในจุดที่อยากดูแลความปลอดภัยให้คน อยากช่วยเหลือคน”

 

หลังจากเหตุการณ์ความรุนแรงผ่านไป “โตโต้” กลับไปเรียนหนังสือ พร้อมกับความทรงจำอันเลวร้าย และเมื่อเรียนจบ “โตโต้” ก็ได้สอบเข้าทำงานที่การไฟฟ้านครหลวง ในตำแหน่งนายช่างออกแบบและประเมินราคา โดยได้รับเลือกเป็น 1 ใน 140 คน ที่สอบผ่านจากผู้สมัครหลายพันคน และได้บรรจุเข้าทำงาน

การทำงานที่การไฟฟ้านครหลวง “โตโต้” เล่าว่า เป็นช่วงชีวิตที่มีความสุขมาก มีอิสระในการคิด การสร้างสรรค์ การออกแบบงาน ให้โอกาสเด็กใหม่ได้มีส่วนร่วมควบคุมดูแลงานตั้งแต่งานหลักหมื่นบาท หลักร้อยล้านบาท จนไปถึงหลักหมื่นล้านบาท

จนกระทั่งปี 2557 เกิดรัฐประหารขึ้นในประเทศไทย “โตโต้” จึงออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในนามของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งมาอย่างต่อเนื่อง และยังเคยแสดงออกทางการเมืองด้วยการฉีกบัตรลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่ยอมรับการลงประชามติที่ปราศจากความชอบธรรมภายใต้การใช้อำนาจควบคุมการแสดงออกของ คสช.

จากนั้น “โตโต้” ตัดสินใจลาออกจากงานประจำที่ทำมานานกว่า 4 ปี มาทำธุรกิจนำเข้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าจากต่างประเทศ

ก่อนตัดสินใจลงสมัคร ส.ส.ในนามของพรรคอนาคตใหม่ เพื่อขอโอกาสเข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ไม่สำเร็จ

 

ปี2563 เกิดการชุมนุมของกลุ่มนิสิต-นักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลาออกจากตำแหน่ง และประเด็นสำคัญคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“โตโต้” จึงรวมตัวกับกลุ่มเพื่อนอีกครั้ง เพื่อช่วยเหลือน้องๆ นักศึกษา ในนามของกลุ่ม We Volunteer มวลชนอาสา ซึ่งเริ่มแรกพวกเขาทำหน้าที่สตาฟฟ์ ขนอุปกรณ์เครื่องเสียง ดูแลอาหารการกิน การจราจร จัดหารถห้องน้ำ โดยไม่ได้คิดว่าจะมาทำหน้าที่การ์ดเลย

จนกระทั่งวันที่ 19 กันยายน 2563 ผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนไปทำเนียบองคมนตรีเพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึก กลุ่ม WeVo จึงทำหน้าที่ควบคุมทิศทางการเดิน และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ถูกเรียกว่าการ์ด WeVo

ปัจจุบัน WeVo มีสมาชิกทั้งสิ้น 625 คน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ อายุเฉลี่ยไม่เกิน 30 ปี ในจำนวนนี้มีสมาชิกที่อายุน้อยสุด 18 ปี และรับสมัครสมาชิกอายุมากสุดไม่เกิน 40 ปี มีระบบการทำงานคล้ายกับองค์กร เริ่มจากหัวหน้ากลุ่ม หัวหน้าสาย ผู้บริหาร และผู้อำนวยการ เพื่อตรวจสอบความลับในแต่ละชั้นว่ารั่วไหลไปจากจุดไหนบ้าง

สุดท้ายนี้ “โตโต้” เล่าว่า WeVo คือการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่เสียสละ โดยทุกคนร่วมกันควักทุกอย่างที่มีออกมากองรวมกัน และอนาคตของพวกเขาทุกคนวางไว้ตรงนี้

“ผมอยู่ได้ทุกวันนี้เพราะสิ่งเหล่านี้ ผมท้อ ผมเหนื่อย แต่ทำไมผมเลือกตรงนี้เพราะผมมีพวกเขาไง และจากการเคลื่อนไหวมากที่สุดผมก็คงจะต้องติดคุก ผมไม่เสียใจนะ ทำใจไว้แล้ว”

โตโต้กล่าวทิ้งท้าย