บทวิเคราะห์ | จับตาหลังศึกซักฟอกสะเทือน ปรับ ครม. ?

บทความพิเศษในประเทศ

 

เปิดศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจองครักษ์พิทักษ์-ประท้วงวุ่น

จับตาหลังซักฟอกสะเทือน ครม.

 

ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล พรรคร่วมฝ่ายค้านล็อกเป้าเชือด “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พ่วงอีก 9 รัฐมนตรี

การอภิปรายเริ่มตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ ยาวๆ ไปจนถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ และนัดลงมติเช้าวันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ รอบนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านมั่นใจในข้อมูลและหลักฐานที่เตรียมอภิปรายไว้ว่ามีหมัดเด็ด สามารถน็อกรัฐบาลกลางสภาได้แน่นอน

โดยเฉพาะญัตติที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอนั้น นอกจากพุ่งเป้าโจมตีการบริหารงานของรัฐบาลที่ล้มเหลว การมีพฤติกรรมฉ้อฉล ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต การไร้ความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้มีการแพร่ระบาดในรอบสอง

จนสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ

 

อีกประเด็นที่ทุกฝ่ายต่างจับตามากเป็นพิเศษ คงหนีไม่พ้นประเด็นข้อกล่าวหานายกรัฐมนตรีที่มีการหยิบยกเรื่องสถาบันมาเกี่ยวข้อง ซึ่งการเขียนญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจเช่นนี้ก็ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส่งผลให้เกิดเสียงทักท้วงและวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม รวมทั้งความกังวลต่อข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นว่าอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้

จนทำให้นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยื่นญัตติด่วนทันที โดยขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังมีการเขียนญัตติพาดพิงสถาบัน พร้อมกับยกตัวอย่างเคสยุบ “ไทยรักษาชาติ” ขึ้นมาเป็นอุทาหรณ์เตือนพรรคร่วมฝ่ายค้านเสียด้วย

แม้ตัวแทนรัฐบาลหลายต่อหลายคนต่างออกมายืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าการยื่นญัตติดังกล่าวนี้ไม่ใช่เกมการเมือง เพื่อล้มหรือคว่ำการอภิปราย แต่เป็นเพียงการป้องปรามว่าเป็นญัตติที่ไม่ถูกต้อง ควรมีการแก้ไขตามที่ได้ทักท้วงไป

ประกอบกับญัตติดังกล่าว แม้จะถูกบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม แต่ก็ไม่มีการเลื่อนญัตติขึ้นมาพิจารณาก่อน ทำให้การประชุมเพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจยังคงเป็นไปตามกรอบวันเวลาที่กำหนดไว้

โดยทางพรรคร่วมรัฐบาลเตรียมพร้อมรับมืออย่างเต็มที่ จัดตั้งทีมองครักษ์ขึ้นมา สลับเวรยามเฝ้าตลอดการอภิปราย

หากมีช่วงใดที่มีสมาชิกพูดหรือเอ่ยพาดพิงสถาบัน จะใช้สิทธิ์ลุกขึ้นประท้วงทันที

แค่เริ่มต้นอภิปรายวันแรกก็วุ่นวายอย่างหนัก กว่าจะได้เปิดประชุมก็เสียเวลาไปพอสมควร

เมื่อถึงเวลาที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวเปิดญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เริ่มคนแรกที่ผู้นำรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ตามด้วยรัฐมนตรีอีก 9 คน

เห็นได้ว่าตลอดช่วงเวลาที่นายสมพงษ์อ่านญัตตินั้นต้องสะดุดถึงหลายครั้ง เนื่องจากโดนทีมองครักษ์ลุกขึ้นประท้วงกล่าวหาว่ามีการพูดพาดพิงสถาบัน

 

เมื่อเริ่มอภิปราย พรรคร่วมฝ่ายค้านเปิดตัวขุนพลคนแรกเป็นนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน จัดหนัก จัดเต็ม ตลอด 2 ชั่วโมงของการอภิปราย ไล่เรียงสารพัดเรื่องที่รัฐบาลและรัฐมนตรีบริหารงานล้มเหลว ไม่มีประสิทธิภาพ ผิดพลาด เกิดทุจริต จนก่อให้เกิดความเสียหาย นายกฯ ควรต้องลาออก แสดงความรับผิดชอบ

ต่อด้วย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ซึ่งได้เวลาอภิปรายเต็มที่ไม่มีจำกัด พุ่งเป้าไปที่พี่น้อง 3 ป. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา โดยยืนยันว่าตลอดระยะเวลาการบริหารประเทศติดต่อกัน 7 ปี บ้านเมืองไม่มีอะไรดีขึ้นเลย ทุกอย่างล้มเหลวไปหมด ทั้ง 3 คนมีพฤติการณ์ฉ้อฉล ทำเพื่อประโยชน์ของตนและพวกพ้องในการแต่งตั้งข้าราชการเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ ด้วยการสมคบคิดกับเจ้าของบ่อนการพนัน ปล่อยปละละเลยให้มีบ่อนการพนันที่ผิดกฎหมายในหลายพื้นที่จนเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19

โดยตลอดการอภิปราย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์มีการเปิดคลิปการจับกุมบ่อนต่างๆ ในอดีตที่ผ่านมา ทำให้ทีมองครักษ์ฝ่ายรัฐบาลสลับกันลุกขึ้นประท้วง เนื่องจาก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์เล่าเรื่องเก่า ซ้ำซาก วนไปวนมา ไม่มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการอภิปรายเลย กว่าจะอภิปรายจบค่อนข้างวุ่นวายและป่วนพอสมควร โดยเฉพาะช่วงที่นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ลุกขึ้นประท้วง จนโดน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ย้อนกลับมาว่า “เห้ย นั่งลง ไอ้นักโทษ” รวมแล้วใช้เวลาอภิปรายนานกว่า 3 ชั่วโมงเศษ

ด้าน “บิ๊กตู่” ลุกขึ้นขอชี้แจงเคลียร์ทุกประเด็นที่ถูกพาดพิงทันที โดยยืนยันทำงานตามกรอบ จริงใจปราบบ่อนการพนันทั่วประเทศ ไม่รับเงินชั่วๆ เด็ดขาด

 

การอภิปรายตลอดวันแรกเป็นไปด้วยความเข้มข้น พรรคร่วมฝ่ายค้านไม่ว่าจะพรรคเพื่อไทย ก้าวไกล สลับกันขึ้นอภิปรายตามลำดับ กล่าวหาการทำงาน การบริหารที่ผิดพลาด การไม่มีความรู้ความสามารถทางเศรษฐกิจ แก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้า ไร้การวางแผน ทำเศรษฐกิจพังพินาศ การแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมในคดีนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ข้อกล่าวหากระทรวงกลาโหมมีการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่โปร่งใส โดยเฉพาะโครงการจัดซื้อชุดลำลองทหารเกณฑ์ เป็นต้น จบวันแรกประธานในที่ประชุมสั่งพักการประชุมตอน 00.25 น. เบ็ดเสร็จวันแรกใช้เวลา 12 ชั่วโมง

เริ่มต้นซักฟอกวันที่สอง เปิดอภิปรายด้วย ส.ส.หญิงจากพรรคเพื่อไทย น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย พุ่งเป้าโจมตีนายกฯ โดยเฉพาะสมัยเป็นหัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งระงับกิจการเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ ส่งผลให้มีการฟ้องร้องเป็นคดีความ มีแนวโน้มว่าคดีนี้ไทยจะแพ้คดี หากต้องชดใช้ หวั่นเกรงว่า “บิ๊กตู่” ต้องเอาเงินมหาศาลไปแลกเพื่อคนคนเดียว เอาความผิดออกจากตัวเองและโยนภาระบาปให้ประเทศและประชาชนหรือไม่

ความเข้มข้นของการอภิปรายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อถึงคิวอภิปรายของ “นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โดยพุ่งเป้าประเด็นความล้มเหลวของการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ด้วยน้ำเสียงและท่าทีดุดันตามสไตล์ ทำให้ตลอดการอภิปรายของนายวิโรจน์นั้น แน่นอนว่าไม่มีทางรอดพ้นการถูกประท้วงจากทีมองครักษ์ ที่โดนกล่าวหาว่าพูดจาซ้ำซาก วกไปวนมา

งานนี้เจ้าตัวใช้เวลาอภิปรายประมาณ 1 ชั่วโมงกว่า แต่หากนับเวลาที่โดนฝ่ายรัฐบาลประท้วงแทบจะไม่ต่างกันเลย

 

อย่างไรก็ตาม ศึกซักฟอกครั้งนี้ เห็นได้ชัดเจนว่าฝ่ายค้านเตรียมเนื้อหาอัดแน่นด้วยข้อมูล มีความเข้มข้นมากขนาดนี้ ต้องจับตาดูว่าหลังอภิปรายจบแล้ว ผลโหวตลงมติไม่ไว้วางใจจะออกมาเป็นอย่างไร

แน่นอนว่าเวทีสภาหนนี้ อย่างน้อยน่าจะเป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลทั้งจากฝ่ายค้านและรัฐบาล โดยในส่วนของฝ่ายค้านจะเป็นในเชิงเปิดเผยความผิดพลาด ความล้มเหลวของการบริหารแผ่นดิน

ขณะที่รัฐบาลเองก็ได้มีโอกาสชี้แจงเรื่องต่างๆ ที่ประชาชนยังเกิดความสงสัย

ที่สำคัญ แม้ฝ่ายค้านไม่อาจล้มฝ่ายรัฐบาลได้ แต่อาจจะส่งผลถึงการเขย่าเก้าอี้รัฐมนตรีได้ไม่มากก็น้อย…