ทบทวนสงครามข่าวสนั่นโซเชียล #ตำรวจกระทืบหมอ ตร.จำเลยกระทำเกินกว่าเหตุ

โล่เงิน

 

ฮอต #ตำรวจกระทืบหมอ

สงครามข่าวสนั่นโซเชียล

ตร.จำเลยกระทำเกินกว่าเหตุ

“นับ 1 ถึงล้าน คืนอำนาจให้ประชาชน” เป็นการนัดชุมนุมใหญ่ครั้งที่ 2 ของกลุ่มราษฎรตั้งแต่เปิดศักราช 2564

การรวมตัวครั้งนี้เพื่อกดดันให้ผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมปล่อยตัวนายอานนท์ นำภา, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม แกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎรที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

โดยผู้ชุมนุมได้ทำกิจกรรมช่วงเย็น 13 กุมภาพันธ์ มีการรื้อกระถางต้นไม้รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และนำผ้าแดงมาคลุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก่อนที่จะเคลื่อนขบวนไปยังศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร

การทำกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยครั้งนี้ ทุกคนได้เห็นท่าทีของตำรวจที่เปลี่ยนไป ไม่เข้าระงับยับยั้งให้ผู้ชุมนุมยุติการกระทำดังกล่าว และยังอนุญาตให้แกนนำเข้าไปทำกิจกรรมสักการะศาลหลักเมืองอย่างง่าย

แต่เมื่อแกนนำยุติการชุมนุม ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีกลุ่มคนบางส่วนที่เป็นฮาร์ดคอร์ได้ขว้างปาสิ่งของเข้าใส่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) รวมทั้งมีเสียงดังคล้ายระเบิดเกิดขึ้นหลายครั้ง

จากนั้นตำรวจเริ่มปฏิบัติการเข้ากระชับพื้นที่ กวาดต้อนและจับกุมผู้ชุมนุมทั้งสิ้น 11 ราย ในจำนวนนี้มีแพทย์อาสารวมอยู่ด้วย

 

หลังตำรวจเข้าเคลียร์พื้นที่สำเร็จ ภาพ “แพทย์อาสา” ถูกรุมล้อมด้วยตำรวจ คฝ.มีอุปกรณ์ปราบจลาจลครบมือ นอนหงายท้องอยู่บนพื้นถนน คล้ายถูกกระทำด้วยความรุนแรง ได้กระจายไปทุกแพลตฟอร์มบนโซเชียลมีเดีย

ตลอดทั้งคืนเกิดแฮชแท็กร้อน “ตำรวจกระทืบหมอ” สังคมวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของตำรวจว่าบังคับใช้กฎหมายรุนแรงกับบุคลากรทางการแพทย์เกินขอบเขตหรือไม่ ทั้งๆ ที่บุคคลดังกล่าวสวมเสื้อกั๊กแสดงสัญลักษณ์ว่าเป็นทีมแพทย์อาสา

ขณะที่ชมรมแพทย์ชนบทออกแถลงการณ์ ระบุ การปฏิบัติการช่วยเหลือ ปฐมพยาบาล รักษา รวมถึงการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บ ได้รับความคุ้มครองตามอนุสัญญาเจนีวา ฉบับที่ 2 ปี 1960 การรุมทำร้ายอาสาสมัครที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว โดยไม่เลือกปฏิบัติว่าผู้บาดเจ็บเป็นฝ่ายใด ถือเป็นการละเมิดกติการะหว่างประเทศ และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ชมรมแพทย์ชนบท ในฐานะที่เป็นหนึ่งในภาคีบุคลากรทางสุขภาพของประเทศไทย ขอประณามการกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจในคืนวันที่ 13 กุมภาพันธ์ กรณีแพทย์อาสาที่เข้าดูแลผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรถูกทำร้ายโดยเจ้าหน้าที่จนบาดเจ็บ และขอเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง พร้อมดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้กระทำผิดโดยไม่เลือกปฏิบัติ

ทั้งนี้ ชมรมแพทย์ชนบทไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงหรือการยั่วยุให้ใช้ความรุนแรงในพื้นที่การชุมนุม ไม่ว่าการกระทำนั้นมาจากฝ่ายใด

 

14 กุมภาพันธ์ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. แถลงชี้แจงว่า บุคคลดังกล่าวไม่ได้มีอาชีพพยาบาล และยังอยู่ในกลุ่มที่ก่อความวุ่นวาย ตำรวจเลือกที่จะไม่ใช้น้ำ แก๊สน้ำตา กระสุนยาง และมีการประกาศแจ้งเตือนให้ระยะเวลาออกนอกพื้นที่เกิดเหตุ หลังจากนั้นมีความจำเป็นต้องเข้ารักษาความสงบ ส่วนในการชุมนุมเขาอาจจะทำหน้าที่พยาบาลก็ได้ ซึ่งเรื่องนี้ตนไม่ทราบ แต่บริเวณที่เขาอยู่ใกล้เคียงมีกลุ่มบุคคลที่ขว้างปาสิ่งของและใช้อาวุธทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เหตุตรงนั้นตำรวจได้มีการประกาศแจ้งเตือนหลายครั้งให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องออกจากพื้นที่ชุมนุม เนื่องจากมีแกนนำบางส่วนได้ประกาศยุติการชุมนุมไปแล้ว แต่ปรากฏว่ากลุ่มผู้ชุมนุมยังคงขว้างปาทำร้ายเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่จึงมีความจำเป็นต้องตั้งแนวและผลักดันคนออกไป ทั้งนี้ ตำรวจไม่ได้มีเจตนาแก้แค้น ตอบแทนหรือกลั่นแกล้ง ก็ได้ดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ ทุกครั้งก็มีการประกาศแจ้งเตือนก่อนทุกครั้ง

ด้าน พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. กล่าวถึงกรณีสังคมตั้งคำถามถึงแม้ไม่ใช่แพทย์จริง แต่การกระทำของเจ้าหน้าที่เกินกว่าเหตุหรือไม่ ว่า ตำรวจจับผู้ก่อเหตุ แล้วถามว่าการเข้าทำการจับกุมเกินกว่าเหตุหรือไม่ก็ต้องดูกันไป ว่าทำไมถึงทำแบบนั้น เพราะอะไร มันมีที่มาที่ไป

“ผมยืนยันว่าข้อเท็จจริงต้องดูตั้งแต่ต้นจนจบ อย่าดูเป็นท่อนๆ แล้วไปทำสงครามข่าวสารโจมตีกัน มีนำภาพไปแล้วบอกว่าคนนี้โดนกระสุนยางยิง ซึ่งมันไม่ใช่ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ไม่มีใครใช้เลยกระสุนยาง ไม่มีใครใช้แก๊สน้ำตา เรามีของ มีอุปกรณ์ แต่เราก็ไม่ได้ใช้ ใช้เท่าที่จำเป็น เราจับกุมผู้ก่อเหตุ ไม่ใช่ไปเขียนว่าทำร้ายประชาชน ถ้ามันไม่มีเหตุใครจะไปจับ จะให้ยืนเฉยๆ เอาอิฐตัวหนอนแล้วทุ่มกันแบบนั้นหรืออย่างไร คนก็มีหลายฝั่ง ประชาชนอีกฝั่งหนึ่งก็มองว่าตำรวจอ่อนแอ ไม่ทำอะไร ปล่อยให้เกิดเหตุแบบนี้ขึ้นมา”

ผบ.ตร.กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

 

พล.ต.อ.สุวัฒน์ยังฝากไปถึงพี่น้องประชาชนว่า ไม่อยากให้เกิดความรุนแรง เมื่อเกิดขึ้นแล้วมีคนบาดเจ็บ สูญเสีย ไม่เป็นผลดี โดยเฉพาะคนในชาติ ขอฝากว่าจะทำอะไรต้องตรึกตรองให้ดี คิดถึงผลดีผลเสียให้มาก เจ้าหน้าที่เองทุกครั้งมีการทบทวนบทเรียนของเรา การดำเนินการอะไรก็แล้วแต่ ไม่มีทางที่จะไปยุติด้วยกำลัง

ส่วนคำถามที่ว่า ม็อบพยายามยั่วยุเจ้าหน้าที่เพื่อให้เกิดความรุนแรงนั้น ผบ.ตร.ระบุว่า ดำเนินการตามสถานการณ์โดยยึดหลักกฎหมายเป็นหลัก และเรื่องของการรักษาความปลอดภัยความสงบเรียบร้อยควบคู่กันไป

ดังนั้น ภาพของแพทย์อาสา ต้องเรียกว่า “หนึ่งภาพล้านความหมาย” เพราะทุกฝ่ายต่างมีชุดข้อมูลความจริงที่ไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปคือ ตำรวจมักถูกดึงมาเป็นคู่ขัดแย้งในทุกการชุมนุม

ผบ.ตร. ซึ่งเป็นผู้นำองค์กร จะทำอย่างไรให้การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในสถานการณ์ชุมนุม เป็นไปตามหลักสากลและเท่าเทียมกันทุกฝ่าย เป็นเรื่องที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ต้องตระหนัก