จีน-สหรัฐ-อาเซียน / บทความต่างประเทศอินโดจีน

ต่างประเทศอินโดจีน

 

จีน-สหรัฐ-อาเซียน

 

สถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษา ยูซุฟ อิสฮัค (ISEAS Yusof-Ishak Institute) องค์กรวิชาการอิสระในประเทศสิงคโปร์ มีงานสำรวจประจำปีอยู่ชิ้นหนึ่งคือ ทำเป็นประจำทุกปีโดยใช้ชุดคำถามเดิม พื้นที่สำรวจเดิม

ทั้งนี้ก็เพื่อตรวจสอบความเคลื่อนไหวที่เปลี่ยนแปลงไปของความคิดเห็นต่อประเด็นนั้นๆ

คำถามที่ว่านี้ก็คือ ถ้าหากจำเป็นต้องเลือกระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน จะเลือกอยู่ข้างใคร? กับคำถามต่อเนื่องอีกไม่กี่คำถาม

วิธีสำรวจใช้วิธีการสอบถามความคิดเห็นออนไลน์ จำนวนผู้ที่ตอบการสำรวจมีกว่า 1,000 คน จากชาติสมาชิก สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียนทั้ง 10 ชาติ

กลุ่มตัวอย่าง มีตั้งแต่เจ้าหน้าที่รัฐ (หรือข้าราชการ), นักธุรกิจ, นักวิชาการ และบรรดานักวิเคราะห์จากสถาบันวิชาการอิสระ และสถาบันเพื่อการวิจัยทางวิชาการต่างๆ

ผลการสำรวจล่าสุดที่เผยแพร่ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วพบว่า ผู้ตอบสูงถึง 61.5 เปอร์เซ็นต์ ให้ความเห็นว่า ถ้าจำเป็นต้องเลือก ก็จะเลือกยืนอยู่ข้างสหรัฐอเมริกา มากกว่าที่จะยืนอยู่กับจีน

เป็นทัศนะที่เปลี่ยนแปลงไปชัดเจนจากผลสำรวจเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งมีเพียง 53.6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เลือกยืนข้างรัฐบาลอเมริกันหากต้องเลือก

 

การสำรวจหนนี้ ทำขึ้นระหว่างวันที่ 18 พฤศจิกายนปีที่ผ่านมา เรื่อยมาจนถึง 10 มกราคมต้นปีนี้ ตอนนั้นผลเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันปรากฏชัดแล้วว่า โจ ไบเดน คือผู้ชนะ แต่ยังไม่มีพิธีสาบานตนรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ

ทีมวิจัยบอกเอาไว้ด้วยว่า เมื่อพิจารณาคำตอบเป็นรายประเทศ ยังพบว่า ชาติที่หันมาเลือกข้างสหรัฐอเมริกาเพิ่มมากขึ้น จาก 3 ประเทศเป็น 7 ประเทศ

ประเทศที่ “เปลี่ยนข้าง” เมื่อถูกบังคับให้เลือก มีทั้งกัมพูชา, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และไทย

“การสนับสนุนทางการวอชิงตันในภูมิภาคนี้เพิ่มมากขึ้น อาจเป็นเพราะมีแนวโน้มที่ฝ่ายบริหารของสหรัฐอเมริกาจะเปลี่ยนไปเป็นรัฐบาลของไบเดน”

ทีมวิจัยสรุปผลการสำรวจปีนี้เอาไว้อย่างนั้น

 

ที่พลิกผันเป็นไปในทางตรงกันข้ามเลยทีเดียวก็คือ เมื่อถูกถามถึงความคาดหวังต่อการยกระดับ เพิ่มความสัมพันธ์จากฝ่ายบริหารของสหรัฐอเมริกา

ผู้ตอบมากถึง 68.6 เปอร์เซ็นต์ คาดหวังไปในทางที่ดีว่า รัฐบาลไบเดนน่าจะยกระดับเพิ่มความสัมพันธ์กับอาเซียนเพิ่มมากขึ้น

สวนทางกับคำตอบในการสำรวจเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา ที่ 77 เปอร์เซ็นต์เชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับอาเซียนจะย่ำแย่ลง

ในการสำรวจว่าด้วยความไว้วางใจ ระดับความไว้วางใจต่อสหรัฐอเมริกาก็กระโดดขึ้นอย่างพรวดพราด จาก 30.3 เปอร์เซ็นต์เมื่อปีที่แล้ว เป็น 48.3 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้

อย่างไรก็ตาม แม้ผลการสำรวจใหม่ล่าสุดหนนี้ แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นต่อสหรัฐอเมริกาในทางบวกอย่างชัดเจน

แต่เมื่อผู้ตอบแบบสอบถามถูกตั้งคำถามว่า ในทัศนะของตนเอง ประเทศไหนคือประเทศมหาอำนาจที่มีอิทธิพลสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้?

คำตอบกลับเป็น “จีน”

 

76.3 เปอร์เซ็นต์ เห็นว่า จีนเป็นชาติที่มีอำนาจอิทธิพลทางด้านเศรษฐกิจสูงสุด

ในขณะที่ราว 49.1 เปอร์เซ็นต์ เห็นว่า จีนมีอิทธิพลสูงสุด ทั้งด้านการเมืองและยุทธศาสตร์ในภูมิภาคอุษาคเนย์

นั่นทำให้ในตอนท้าย รายงานผลการสำรวจถึงได้ย้ำเอาไว้ว่า

“เวลาเท่านั้นที่จะบอกได้ว่า ความไว้วางใจต่อสหรัฐอเมริกาที่พลิกฟื้นขึ้นมาใหม่ในครั้งนี้จะกลายเป็นการไว้วางใจผิดที่ผิดทางหรือไม่”

ที่สะท้อนให้เห็นว่า ทุกคนกำลังจับตาดูอยู่ว่า ไบเดนจะทำให้อาเซียนผิดหวังอีกครั้งหรือเปล่านั่นเองครับ

(ภาพ-AFP)