สัญญะและนัยยะ ของ ‘ชุมชนการเมืองดิจิตอล’ / เทศมองไทย

Protesters block a major road during a demonstration against the military coup in Yangon on February 17, 2021. (Photo by Ye Aung THU / AFP)

เทศมองไทย

 

สัญญะและนัยยะ

ของ ‘ชุมชนการเมืองดิจิตอล’

ในทางวิชาการด้านสัญวิทยา “สัญญะ” คือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ หรือให้มีความหมายแทนของจริง, ตัวจริง ในตัวบทหรือในบริบทหนึ่งๆ

หยิบเรื่องนี้มาเกริ่นไว้ เนื่องจากแอนโธนี เอสกูเอร์รา แห่ง “ไวซ์ เวิลด์นิวส์” พูดถึงเรื่องสัญญะทั้งหลายในขบวนการชุมนุมประท้วงในภูมิภาคเอเชียเอาไว้เต็มพิกัด ในข้อเขียนของเขาบนเว็บไซต์ไวซ์ เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

เพราะแรงดลใจจากการชุมนุมประท้วงการรัฐประหารของกองทัพเมียนมาต่อเนื่องกัน 12 วันติดของชาวเมียนมา ที่มีประดา “เจ็น-ซี” เป็นแกนหลักโดยแท้

กองทัพเมียนมา ภายใต้การนำของมิน อ่อง ลาย นายพลอาวุโสยึดอำนาจรัฐแบบง่ายๆ เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไม่นานหลังจากนั้นขบวนการชุมนุมประท้วงต่อต้านเพื่อล้มล้างการรัฐประหารหนนี้ก็กำเนิดขึ้น

และเติบใหญ่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

 

ไม่กี่วันเท่านั้น มีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในไทยรายหนึ่งรื้อฟื้น “พันธมิตรชานม” หรือ “มิลก์ ที อไลแอนซ์” ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการเสนอแนะว่า ถึงตอนนี้ควรรวมเอาขบวนการต่อต้านเผด็จการทหารเมียนมาเข้าไว้ในกลุ่มเชิงสัญลักษณ์นี้ด้วยอีกชาติหนึ่งนอกเหนือจาก “ไทเป, ฮ่องกง และกรุงเทพฯ” ก่อนหน้านี้แล้ว

ไม่มีใครค้าน ไม่มีใครแย้ง หรือพยายามค้นหาว่า เมียนมานิยม “ชานม” ด้วยหรือไม่ด้วยซ้ำไป ด้วยเหตุว่า มีอีกหลายอย่างมากที่ขบวนการเคลื่อนไหวแห่งลุ่มน้ำอิรวดีรังสรรค์ขึ้นมาหรือใช้งานร่วมกันกับพันธมิตรที่มาก่อนเหล่านั้น

“สิ่งที่หลอมรวมสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกันบางทีเบาบาง เจือจางแทบมองไม่เห็น บางทีเป็นศัพท์แสงและสารที่สื่อแสดงออกไว้อย่างชัดเจนในกลุ่มผู้ประท้วง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนุ่ม-สาวรุ่นใหม่ที่กรีดกรายอยู่ในโลกโซเชียลจนแทบเป็นบ้านตัวเอง” เอสกูเอร์ราบอก

เขาชี้ให้เห็นว่า เมื่อตอนเริ่มต้นกองทัพเมียนมาขยับไปจัดการกับเฟซบุ๊กเป็นลำดับแรก แต่ในโลกสื่อสังคมออนไลน์ ผู้ที่สิงสถิตอยู่ที่นั่นไม่อับจนง่ายดายเช่นนั้น เพียงไม่นานแฮชแท็ก #WhatsHappeningInMyanmar ก็ปรากฏขึ้นมาล้อตามหลัง #WhatsHappeninginThailand ที่โด่งดังในเมืองไทยเมื่อปีที่แล้วผ่านทางทวิตเตอร์ บนเครือข่ายเสมือนจริงหรือวีพีเอ็นเพื่อเลี่ยงการบล็อก

แล้วก็ตามมาด้วยแฮชแท็ก #FightforDemocracy เหมือนๆ กันเช่นเดียวกัน

 

การทักทายและแสดงออกถึงการดื้อแพ่งด้วยการชู 3 นิ้ว เป็นสัญญะร่วมที่ม็อบเมียนมาหยิบยืมไปจากท้องถนนใน กทม.อย่างรวดเร็วเหลือหลาย “3 นิ้ว” ปรากฏครั้งแรกในไทยระหว่างเกิดขบวนการต่อต้านรัฐประหารเมื่อปี 2014 ก่อนที่จะรื้อฟื้นมาใช้ใหม่อีกครั้งในปี 2020 ที่ผ่านมา

ยุวชนเมียนมาชู 3 นิ้วกันตั้งแต่วันแรกๆ ต่อด้วยภาพที่เผยแพร่ออกไปทั่วโลกเมื่อประดาบุคลากรสาธารณสุขในชุดป้องกันการติดเชื้อรวมตัวกันชู 3 นิ้วด้านหน้าโรงพยาบาลในย่างกุ้ง ก่อนระบาดไปทั่วในทุกหัวเมืองในเวลาต่อมา

ไว ยาน หนึ่งในผู้ประท้วงเพิ่มนัยยะใหม่ให้กับสัญลักษณ์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก “ฮังเกอร์เกมส์” นิยายและซีรีส์โด่งดังไว้ว่า ในภาษาพม่า มันแทนคำว่า “ซู-ยะเว-ฮลูท” ซึ่งมีความหมายถึงการกดดันให้ปล่อยตัว “ป้าซู” ของพวกเขา, การเรียกร้องให้ยอมรับผลการเลือกตั้ง และการเปิดประชุมสภาที่มาจากการเลือกตั้งเพื่อให้กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เป็นไปตามครรลองที่ควรเป็น

 

ที่น่าสนใจก็คือ การเคาะหม้อ-กระทะ วัฒนธรรมการประท้วงร่วมสมัยที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาไกลเหลือเกินเพราะเดิมเป็นที่นิยมและปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งในหลายประเทศในภาคพื้นอเมริกาใต้ กลับมาปรากฏขึ้นในย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และอีกหลายเมือง

ผ่านไปชั่วข้ามคืน ผู้ชุมนุมประท้วงในไทยก็ใช้หม้อใช้กระทะเป็นอาวุธส่งเสียงประท้วงเช่นเดียวกัน

ไม่มีใครบอกได้ว่า การเคาะหม้อเคาะกระทะในเมียนมาจะแสดงนัยยะเดียวกับการ “ขับภูตผีไล่ปีศาจ” ในไทยหรือไม่?

แต่สัญญะอีกหลายอย่างที่นำมาใช้ร่วมกันทั้งในฮ่องกง ไทยและเมียนมาก็คือ “เป็ดยาง” “ร่ม” และคำประกาศอย่างอหังการว่า “You fucked with the wrong generation”

 

โรเจอร์ ฮวง อาจารย์รัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแม็กวอรี ในนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เรียกสัญญะร่วมเพื่อสื่อสารของบรรดาเจ็น-ซีเหล่านี้ว่าคือ “ชุมชนการเมืองในจินตนาการบนโลกดิจิตอล”

ส่วนใหญ่แล้วล้วนเป็นไปในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อแสดงออกถึงการต่อต้าน ต่อสู้ ดื้อแพ่ง ขัดขืนต่อผู้ปกครองที่กดขี่ของพวกตนบนโลกออนไลน์

เพียงแต่ว่า หลากสิ่งหลายอย่างที่รังสรรค์ขึ้นสำหรับโลกการเมืองสมมุตินั้น กำลังถูกหยิบมาใช้ในอีกโลกหนึ่ง

โรเจอร์ ฮวง ย้ำว่า สัญญะออนไลน์เหล่านี้ มีอานุภาพเพียงพอต่อการแปรให้เป็น “การเปลี่ยนแปลง” ในโลกที่เป็นจริงได้เหมือนกัน