เส้นทางการต่อสู้ เยาวชน และพรรคการเมือง อุปสรรค และปัญหา / กรองกระแส

กรองกระแส

 

เส้นทางการต่อสู้

เยาวชน และพรรคการเมือง

อุปสรรค และปัญหา

ไม่ว่าการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลของพรรคร่วมฝ่ายค้านโดยมีเป้าใหญ่อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เป็น 1 วิธีการของการต่อสู้ในทาง “การเมือง”

ไม่ว่าการเคลื่อนไหวของ “เยาวชนปลดแอก” ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 กระทั่งพัฒนาเป็น “คณะราษฎร 2563” ในเดือนตุลาคม

เป็น 1 วิธีการของการต่อสู้ในทาง “การเมือง”

หากมองจากเส้นทางแห่งการเคลื่อนไหว เส้นทางแห่งการดำเนินการ เหมือนกับวิธีการของพรรคร่วมฝ่ายค้านจะมีอุปสรรคและปัญหาไม่มากนัก

ตรงกันข้าม วิธีการของ “เยาวชน” กลับมาด้วย “ปัญหา”

ไม่เพียงแต่จะมีการสนธิกำลังพลทั้ง “นครบาล” และ “ตชด.” เข้ามาเป็นจำนวนมากมายหลายกองร้อย หากแต่ยังมีการจับกุมและดำเนินคดีเป็นจำนวนนับร้อย

เหมือนกับวิธีการในทาง “รัฐสภา” จะราบรื่นและเรียบร้อยมากกว่า

บทเรียน ไทยรักไทย

บทเรียน พลังประชาชน

 

ถามว่า นายทักษิณ ชินวัตร จัดตั้งพรรคไทยรักไทยขึ้นมาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2541 มีเป้าหมายอะไรในทางการเมือง

ตอบได้เลยว่าเพื่อต้องการเข้าไปเป็น “นายกรัฐมนตรี”

การเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 พรรคไทยรักไทยประสบความสำเร็จ ส่งให้นายทักษิณ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ได้จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ

บริหารประเทศสร้างคะแนนและความนิยมเป็นอย่างสูง

รูปธรรมก็คือ เมื่อผ่านการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ก็ได้ชัยชนะอย่างถล่มทลายได้รับเลือกเข้ามา 377 จากจำนวนทั้งสิ้น 500

แต่แล้วก็ถูกรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549

พรรคไทยรักไทยถูกยุบในเดือนพฤษภาคม 2550 แม้จะมีความพยายามจัดตั้งพรรคพลังประชาชนและได้ชัยชนะในการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม 2550

แต่ในเดือนพฤศจิกายน 2551 ก็ถูกยุบ

จาก ไทยรักไทย

ถึง อนาคตใหม่

 

มองผ่านพรรคเพื่อไทยไปยังพรรคพลังประชาชน ไปยังพรรคไทยรักไทย ก็จะเห็นบทเรียนอันเจ็บปวดมาแล้วไม่ว่าจะจากรัฐประหาร 2 ครั้ง

1 รัฐประหารเดือนกันยายน 2549 และ 1 รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

แม้จะมีบทเรียนอันน่าเจ็บปวดจากพรรคไทยรักไทย จากพรรคพลังประชาชน กระนั้น ก็ยังมีความต่อเนื่องในการต่อสู้ผ่านพรรคเพื่อไทย

ในการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 ก็ปรากฏพรรคอนาคตใหม่ขึ้น

พรรคอนาคตใหม่ที่มีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นหัวหน้า มีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นเลขาธิการ มี น.ส.พรรณิการ์ วานิช เป็นโฆษก

ได้รับเลือกตั้งอย่างเหนือความคาดหมายเป็นอันดับ 3

แต่ผลก็คือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่สามารถเข้าปฏิบัติหน้าที่ในสภา และผลก็คือ มีการเคลื่อนไหวด้อยค่าพรรคอนาคตใหม่

และในที่สุดก็มีการยุบพรรคอนาคตใหม่เช่นเดียวกับพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน

จาก เยาวชนปลดแอก

มายัง พรรคการเมือง

 

จากกรณีของพรรคไทยรักไทย จากกรณีของพรรคพลังประชาชน จากกรณีของพรรคอนาคตใหม่ เด่นชัดอย่างยิ่งว่าการต่อสู้ผ่านพรรคการเมืองมากด้วยความสลับซับซ้อน

มีโอกาสถูก “ด้อยค่า” มีโอกาสถูก “ทำลาย”

จากกรณีของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อเดือนกรกฎาคม กระทั่งยกระดับและพัฒนาขึ้นมาเป็น “คณะราษฎร 2563”

ก็ใช่ว่าจะราบรื่นเหมือนยืนอยู่บนเนินเขาอันสดสวย

สะท้อนให้เห็นว่า ทุกแนวทางการเคลื่อนไหว ทุกแนวทางการต่อสู้ ล้วนต้องผ่านการปะทะ ล้วนต้องผ่านการขัดแย้ง

เพราะว่านี่คือการเคลื่อนไหว เพราะว่านี่คือการต่อสู้

เพียงแต่ว่าคนที่เคลื่อนไหวผ่านพรรคการเมืองจะสรุปบทเรียนของตนอย่างไร เพียงแต่ว่าคนที่เคลื่อนไหวบนท้องถนนจะสรุปบทเรียนของตนอย่างไร

เป็นการสรุปบทเรียนเพื่อทำความเข้าใจต่อสภาพความเป็นจริง

สัจธรรม การต่อสู้

สัจธรรม การเคลื่อนไหว

 

หากมองจากพรรคไทยรักไทย ผ่านพรรคพลังประชาชน ผ่านพรรคเพื่อไทย ผ่านพรรคอนาคตใหม่ ผ่านพรรคก้าวไกล มายังการเคลื่อนไหวของเยาวชน

ย่อมสัมผัสได้ในสัจธรรมแห่งการเคลื่อนไหว การต่อสู้

สัมผัสได้ในชัยชนะอย่างต่อเนื่องของพรรคไทยรักไทย สัมผัสได้ในชัยชนะของพรรคพลังประชาชน สัมผัสได้ในชัยชนะของพรรคเพื่อไทย

สัมผัสได้ในชัยชนะของพรรคอนาคตใหม่

ขณะเดียวกัน หลังจากได้ชัยชนะก็ประสบกับการต่อต้านและความพยายามที่จะบดขยี้และทำลายในหลากหลายวิธีการ

หนทางของพรรคการเมืองเป็นเช่นนี้ หนทางของเยาวชนก็เป็นเช่นนี้