เผด็จการพม่า…กะลาชั้นเดียว กะลาไทย…มีเปลือกมะพร้าวหุ้ม / หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

เผด็จการพม่า…กะลาชั้นเดียว

กะลาไทย…มีเปลือกมะพร้าวหุ้ม

 

เปรียบเทียบสถานะของชนชั้นปกครอง

การครอบงำสังคมของพม่ามีลักษณะเป็นกะลาเผด็จการครอบ เป็นเปลือกแข็งชั้นเดียว

ส่วนของไทยเป็นกะลาเผด็จการ ที่ยังมีเปลือกเป็นใยมะพร้าวหุ้มอยู่อีกชั้น เปลือกชั้นนอกของกะลาไทยนี้ มีความยืดหยุ่นสามารถรับแรงกระแทกทำให้กะลาไม่แตกโดยง่ายเหมือนของพม่า

แต่สภาพการเมืองเดิมเมื่อ 5-6 ปีก่อนมีลักษณะสวนทางกันคือของไทยมีรัฐประหารในปี 2557 และคณะรัฐประหารปกครองต่อมาอีกเกือบ 5 ปีจึงมีการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งร่างเองให้เอื้อต่อระบบเผด็จการ ในปี 2562 แล้วใช้เสียง ส.ว.ที่ตนเองแต่งตั้ง 250 คนมาช่วยโหวต จนได้เป็นรัฐบาล จากนั้นก็ปรับสภาพเสียงในสภาให้เข้มแข็งขึ้น โดยการซื้อลิงและงูเห่า การสืบทอดอำนาจจึงเดินต่อได้

แต่ในปี 2563 ก็เกิดการประท้วงจากกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ต่อเนื่องกันมาเรื่อยๆ ความมั่นคงจึงมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปตามแรงกดดัน

ส่วนของพม่าในขณะที่ไทยทำการรัฐประหาร พม่ากลับเปลี่ยนแปลงดีขึ้น มีการเปิดกะลาออกมาเป็นประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งปี 2558 ฝ่ายประชาธิปไตยซึ่งนำโดยนางออง ซาน ซูจี ชนะเลือกตั้งอย่างท่วมท้นได้เป็นรัฐบาลแม้ยังไม่มีอำนาจสมบูรณ์นัก แต่ก็สามารถปกครองต่อกันมาได้ถึง 5 ปี และเมื่อทำการเลือกตั้งใหม่ในปลายปี 2563 ก็ชนะเลือกตั้งอย่างท่วมท้นอีกครั้ง แต่ถูกคณะทหารมาทำรัฐประหารในต้นปี 2564 นี่เอง เนื่องจากชนะมากเกินไป

ความต้องการที่เหมือนกันของชนชั้นปกครองที่มาจากทหารของ 2 ประเทศ คืออยากสืบอำนาจต่อของไทย สามารถแปลงกายจากคณะรัฐประหารผ่านการเลือกตั้งโดยรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มี ส.ว.แต่งตั้ง 1 ใน 3 ของรัฐสภามาช่วยให้สืบทอดอำนาจต่อไปได้

ส่วนของพม่าแม้มีเสียงของทหารในสภา 1 ใน 4 แต่เนื่องจากแพ้เลือกตั้งอย่างยับเยินได้ไม่ถึง 10% ดังนั้น ไม่มีโอกาสจะสืบทอดอำนาจผ่านระบบการเลือกตั้งอย่างแน่นอน

การรัฐประหารเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมาจึงเป็นทางเลือกทางเดียว แต่จะคิดแปลงกายให้เป็นแบบไทยก็ไม่ง่ายเพราะการประท้วงในพม่าก็เริ่มขึ้นแล้วและแรงมากด้วย แม้รัฐบาลทหารจะเคยปราบสำเร็จมาหลายครั้งตลอด 50 ปีที่ผ่านมา แต่วันนี้มีตัวแปรหลายอย่างที่เปลี่ยนไป

 

แนวโน้มสถานการณ์จริงของพม่า

คือที่ปรากฏตามข่าว

ตอนนี้มีการประท้วงจากมวลชนอย่างหนัก ถ้ามองจากคะแนนเลือกตั้งก็จะพบว่ามวลชนเกิน 90% ไม่เอาคณะรัฐประหารชุดนี้ ไม่ต้องการให้ทหารมาปกครอง

5 ปีที่ได้รับผลจากระบอบประชาธิปไตยทำให้พวกเขามีอิสระเสรีภาพทั้งทางความคิดแสดงออกทางการเมือง

ทางเศรษฐกิจได้รับผลประโยชน์จากการลงทุนทำมาค้าขาย ทำการผลิต การติดต่อต่างประเทศ ระบบสื่อสารที่มีเสรีภาพทำให้รับรู้ความเป็นไปของบ้านเมืองตัวเอง ประเทศเพื่อนบ้านและทั้งโลก

เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมไม่มีใครอยากย้อนกลับไปสู่ระบบการปกครองแบบเผด็จการเดิมโดยเฉพาะพวกชนชั้นกลางระดับล่างซึ่งได้สร้างธุรกิจของตัวเองขึ้นมา หลายปีมานี้เริ่มมีรายได้ลืมตาอ้าปาก เห็นปัญหาที่กดทับอยู่และต้องการแก้ไข เช่น ที่ดินที่เป็นของรัฐและทหารจำนวนมาก ดังนั้น การต่อสู้ในวันนี้จึงเป็นการต่อสู้เพื่ออนาคตของตัวเองและลูกหลาน การทนอยู่ตลอด 60 ปีที่ผ่านมาถือว่านานมากพอแล้ว

แต่ในไทย ยังมีผู้นิยมชมชอบเผด็จการจำนวนหนึ่ง คนกลุ่มนี้สนับสนุนการรัฐประหารมาตั้งแต่ 2549 และ 2557 เข้าทางของเผด็จการที่ใช้หลักแบ่งแยกแล้วปกครอง ทำให้การเคลื่อนไหวต้านเผด็จการทำได้ไม่เป็นเอกภาพ

บางทีอาจต้องรอให้เจ๊ง และจนทั้งประเทศแบบพม่า จึงจะมีสำนึก

 

ยุทธวิธีชนชั้นปกครองพม่า

ทางเลือกแรกของกลุ่มเผด็จการทหารพม่าที่ถูกต่อต้านการรัฐประหาร คือจะต้องหลอกล่อโดยวิธีประกาศวันเลือกตั้งซึ่งไม่นานจนเกินไปเพื่อลดกระแสแรงกดดันของมวลชน

แต่วิธีนี้ก็ใช่ว่าจะสำเร็จ กลุ่มผู้ประท้วงคงจะยอม ถ้า…ต่อรองให้ตั้งรัฐบาลเป็นกลางชั่วคราวขึ้นมาเพื่อทำการเลือกตั้ง

ถ้าเป็นแบบนั้นทหารจะยอมหรือ และถ้ายอมก็จะแพ้เลือกตั้งอย่างย่อยยับอีกครั้งหนึ่ง

ทางเลือกที่ 2 คือการปราบกลุ่มผู้ประท้วงอย่างหนัก แต่ครั้งนี้โอกาสที่จะถูกแทรกแซงจากต่างชาติก็จะมีสูงมาก และกลายเป็นการต่อสู้ทางการเมือง การทหารที่ยืดเยื้อ

เชื่อว่ากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ก็คงสนับสนุนผู้ประท้วง เพราะแต่ละกลุ่มก็จะได้ผลประโยชน์เมื่อทหารหมดอำนาจลง

ชาติมหาอำนาจต่างๆ ก็คงไม่ยอมอยู่เฉย เพราะจุดนี้เป็นยุทธศาสตร์สำคัญระดับโลกทั้งการค้าการศึกสงคราม ถ้าจะปราบประชาชน แล้วถูกต้านทั้งภายในภายนอก หลักพิงของกลุ่มเผด็จการพม่าก็มีจีนกับไทยเท่านั้น

ซึ่งไม่แน่ว่าทั้งสองประเทศจะเดินแต้มอย่างไร เพราะต่างก็มุ่งหวังจะเก็บประโยชน์จากฝ่ายชนะ ถ้ามองว่าฝ่ายเผด็จการจะแพ้แน่นอนก็คงจะไม่มีใครหนุนรัฐบาลทหาร

ในเชิงการเมืองระหว่างประเทศ แม้มหาอำนาจใหญ่ เช่น อเมริกา และยุโรป หนุนฝ่ายประชาชน แต่จีนไม่จำเป็นต้องหนุนฝ่ายเผด็จการเพราะต่อให้ฝ่ายประชาธิปไตยชนะจีนก็สามารถสนับสนุนได้และจะมีลักษณะที่ยืนยาวถาวรมากกว่าหนุนกลุ่มทหาร

ส่วนฝ่ายประชาธิปไตยในพม่าถึงเวลานี้ก็ไม่มีทางเลือกมาก ต้องรุกหนักอย่างเดียว ถ้าถอยก็คือแพ้ จะต้องจมอยู่ใต้ตีนไปอีกเป็น 10 ปี

ประเมินเวลานี้ โอกาสที่ฝ่ายประชาชนจะชนะยังมีสูง

ฝ่ายรัฐบาลทหารถ้าจะปราบประชาชน กลุ่มทหารที่เป็นผู้ทำการรัฐประหารจะต้องเตรียมการลี้ภัยให้ดี เพราะถ้ามีคนเสียชีวิตจากการปราบปราม ประเทศที่จะไปลี้ภัยไม่ใช่หาง่ายๆ

ความลังเลและการตัดสินใจในการถอยแบบไหนดีจึงเป็นเรื่องที่ยาก สำหรับผู้นำในเวลานี้

ส่วนไทยนั้น เนื่องจากชนชั้นปกครองก็ได้อำนาจมาด้วยวิธีเดียวกัน ดังนั้น จึงมีลักษณะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ก็ได้แต่อมไว้ไม่กล้าพูด

แต่สิ่งที่ควรทำขณะนี้คือต้องส่งสินค้าที่มีความจำเป็นต่อชีวิตความเป็นอยู่เข้าไปในพม่าให้มากที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดการขาดแคลนและอดอยากจนกระทั่งมีคนลี้ภัยเข้ามาในประเทศไทย

เพราะจะมีปัญหาเรื่องโรคระบาด covid ตามมาด้วย

การเปิดชายแดนทำการค้าขายจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นในทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธี

 

ความสามารถและอุปสรรค

ของชนชั้นปกครองไทย

เมื่อเทียบกับพม่าชนชั้นปกครองไทยก้าวไปสู่ขั้นที่ 4 แล้ว คือรัฐประหาร ร่างรัฐธรรมนูญที่ตัวเองได้เปรียบแล้วเลือกตั้งและตั้งรัฐบาลได้แล้ว เพียงแต่เกิดปรากฏการณ์ไม่ยอมรับและการต่อต้านเกิดขึ้น

ถ้าหากรัฐบาลชุดนี้มีความสามารถสร้างประโยชน์ให้ประเทศกระแสนี้จะลดลง แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีผลงานและทำไม่ได้ มีคนนำไปเปรียบเทียบรัฐบาลชุดนี้กับรัฐบาลนายกฯ เปรม โดยบอกว่าประยุทธ์อาจจะอยู่นานถึง 8 ปีแบบนายกฯ เปรม แต่ผู้รู้ประวัติศาสตร์การเมืองบอกว่ามีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

นายกฯ เปรม ติณสูลานนท์ ชิงอำนาจ นายกฯ เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ กลางสภา โดยร่วมกับพรรคการเมือง เมื่อเข้ามาก็มีทั้ง ส.ส. และ ส.ว.อยู่พร้อมในสภา ไม่ต้องใช้กำลังมายึดอำนาจ จากนั้นทำการปกครองต่อโดยที่ไม่ได้ตั้งพรรคการเมือง แต่อาศัย ส.ว. และ ส.ส.ของพรรคต่างๆ โดยดึงเข้ามาร่วมรัฐบาล และแบ่งโควต้ารัฐมนตรีไปให้ โดยตัวนายกฯ เองก็ยึดโควต้ากระทรวงสำคัญไว้

ความแตกต่างอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนรอบข้างของนายกฯ เปรมเป็นผู้รู้ด้านต่างๆ และมีผู้มีความสามารถเข้ามาช่วยงานจำนวนมาก ไม่ใช่มีแต่พวกประจบสอพลอ ตีความกฎหมายหลอกชาวบ้าน ทำงานไม่ได้เรื่อง การวางบทบาทแสดงออกทางการเมืองก็มีความสุขุมมากกว่า จะไม่ค่อยเห็นลักษณะตัวตลกหรือการแกว่งปากไปหาเรื่อง

การอยู่เป็นผู้นำของนายกฯ เปรมในระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยครึ่งใบจึงมีประโยชน์ต่อชนชั้นปกครอง พ่อค้านายทุน ข้าราชการ และประชาชนทั่วไปมากกว่ายุคนี้มากนัก

ลักษณะการปกครองและการบริหารของรัฐบาลชุดนี้ที่ต่อเนื่องมาหลังรัฐประหาร 2557 แทบมองไม่เห็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การเมืองและการค้าใดๆ เลย มีแต่ความยากลำบากมากขึ้นของคนส่วนใหญ่ แม้แต่คนรวยก็มีน้อยกลุ่ม น้อยคนที่จะได้ประโยชน์

นี่จึงเป็นสาเหตุสำคัญให้รัฐบาลชุดนี้ถูกด่าและต่อต้านต่อเนื่อง แต่อาศัยความด้านทนอยู่ต่อ แม้ประชาชนจะมองว่าเข้าสู่ปีที่ 7 แล้วยังไม่ได้สร้างสรรค์ประโยชน์อะไรให้กับประเทศชาติเลย

อุปสรรคของรัฐบาลชุดนี้คือ เศรษฐกิจที่ตกต่ำ และแรงต้านจากนักศึกษา ประชาชน ไม่ใช่เกมในสภา วิธีแก้ไขที่ได้ผลและเป็นไปอย่างถาวรก็คือต้องสร้างผลงานการบริหารทางเศรษฐกิจและการเมืองให้อยู่ในมาตรฐาน แต่ความสามารถของผู้นำและรัฐบาลชุดนี้ในสภาพเศรษฐกิจแบบธรรมดายังไม่ผ่านเลยในเศรษฐกิจการเมืองวิกฤต จะต้องลำบากกันทั้งประเทศ

ที่ใช้อยู่ จึงเป็นการใช้อำนาจและเล่ห์เหลี่ยม เช่น จับกุมคุมขังผู้เห็นต่าง การคิดจะยุบพรรคฝ่ายตรงข้าม มีการแจกเงินประชาชน แจกกล้วยแก่ ส.ส.ลิง และใช้ตำแหน่งล่อซื้องูเห่า จึงกลายเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย

ถ้าเป็นแบบนี้รัฐบาลจะสืบทอดอำนาจต่ออย่างไร? และด้วยวิธีการใด?

 

ยุทธวิธีของชนชั้นปกครองไทย

ยืดเวลาอยู่ในอำนาจ

1.ในเมื่อไม่สามารถสร้างสรรค์ผลประโยชน์ผลงานขึ้นมาให้เป็นที่ชื่นชอบชื่นชมก็จะต้องกดฝ่ายที่ต่อต้านลงไปด้วยการใช้อำนาจที่เป็นยอดนิยมตอนนี้ก็คือต้องใช้มาตรา 112 และ 116 จับกุมแจ้งข้อหาฝ่ายต่อต้านให้มากที่สุดที่จะทำได้ การปราบปรามฝ่ายต่อต้านโดยใช้กำลังจะยิ่งถูกโต้ตอบจากต่างชาติและอาจจะทำให้การต่อต้านขยายตัวมากขึ้น ดังนั้น ยุทธวิธีทางกฎหมายจึงถูกนำมาใช้ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา จับ ขัง ดำเนินคดี ให้ขึ้นศาลบ่อยๆ

2. รัฐบาลรู้อยู่แล้วว่าตัวเองไม่มีผลงาน ไม่มีความสามารถที่จะกู้เศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้ในระยะสั้น สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดก็คือต้องนำเงินภาษีและเงินกู้มาทำโครงการแจกเงินคนละเล็กคนละน้อยเพื่อเป็นการซื้อใจประชาชน ที่อยู่ในสภาพยากแค้นแสนเข็ญ จะหลอกชาวบ้านไปเรื่อยๆ ต้องแจกทีละน้อยเพื่อดึงเวลาไม่ให้คนลุกฮือขึ้นมาต่อต้าน ยืดไปนานที่สุด

3. ทางการเมือง ก็ใช้การเลือกตั้งท้องถิ่นระดับ อบต. และเทศบาลต่างๆ เพื่อตอบสนองการตื่นตัวของคน และเป็นการเช็กแผนที่ลายแทงของคะแนนเสียงในท้องถิ่นต่างๆ เพื่อจะได้รวบรวมหัวคะแนนเตรียมการไว้สำหรับการเลือกตั้งใหญ่

4. เรื่องร่างรัฐธรรมนูญและเลือก ส.ส.ร.ก็สามารถดึงเวลาช่วงเวลาออกไปอีกระยะหนึ่งให้สามารถบริหารและใช้งบประมาณไปในขณะที่คนไปสนใจเรื่องรัฐธรรมนูญ และการเลือกตั้ง ส.ส.ร. รัฐบาลเองยังมีแผนจะทุ่มกำลังเข้าไปแข่งขันในการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ต่อให้เลือกตั้งมาทั้งหมด 200 คนก็อย่าคิดว่ารัฐบาลจะแพ้ง่ายๆ

โอกาสที่ฝ่ายรัฐบาลจะได้ ส.ส.ร.ถึงครึ่งหนึ่งเป็นเรื่องไม่ยากนักถ้าประชาชนไม่ตื่นตัวจริง

และการร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่ว่าจะถูกกำหนดมาให้เป็นแบบที่ประชาชนต้องการอย่างง่ายๆ

หรือแม้ฝ่ายรัฐบาลจะได้น้อยกว่าก็ยังสามารถถ่วงเวลาให้การร่างรัฐธรรมนูญยาวนานออกไปอีกเรียกว่าอยู่ได้จนครบวาระ

หากฝ่ายรัฐบาลเกิดได้ ส.ส.ร.เกินกว่าครึ่งหนึ่งก็ยังไม่รู้เลยว่ารัฐธรรมนูญจะดีไซน์ออกมาแบบไหน

ดังนั้น ส.ส.ร.จะเป็นศึกครั้งใหญ่ที่ทุกฝ่ายจะต้องสนใจ

5. ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลชุดนี้ก็ยังคงเป็นการเลือกตั้งแบบเดิมคือใช้บัตรใบเดียวเลือกทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ถ้าหากเห็นแนวโน้มว่ารัฐธรรมนูญจะเปลี่ยนย้อนกลับไปเป็นแบบบัตร 2 ใบแยกกันมีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลก็จะชิงยุบสภา เมื่อเป็นเช่นนั้นการเลือกตั้งก็จะเลือกตามแบบรัฐธรรมนูญเดิมฉบับ 2560 ซึ่งการลดแลกแจกแถมตามโครงการต่างๆ ของรัฐบาลก็จะทำไปจนกระทั่งถึงวันเลือกตั้ง

รัฐบาลมั่นใจว่าวิธีนี้จะทำให้ได้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลรวมกันหลายพรรคเกินครึ่งตั้งรัฐบาลได้และจะได้เป็นรัฐบาลต่อไปอีก 1 สมัยภายใต้การสนับสนุนของ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน

แผนการสืบทอดอำนาจ 8 ปีมีความเป็นไปได้ตามแผนการที่วางเอาไว้

ถ้ายังเป็นอย่างนี้ต่อไป ไม่มีการเปลี่ยนแปลง อนาคตข้างหน้าก็มองเห็นแต่ความมืดมนเราคิดง่ายๆ ว่า ถ้าวัคซีนแก้ covid มาช้า หมายความว่าไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวปี 2564 ก็ยังจะไม่มีอะไรดีขึ้น และถ้ามีข่าวว่ายังมี covid ยังระบาดในประเทศไทยในต้นปี 2565 หมายความว่าในปี 2565 การท่องเที่ยวก็จะยังไม่ฟื้น

ความรับรู้ทางยุทธศาสตร์ต่อการได้วัคซีนช้าหรือเร็วของรัฐบาลจึงสะท้อนวิสัยทัศน์การแก้ปัญหาที่ผู้นำมองไม่ขาดว่าสิ่งเหล่านี้มีความจำเป็นและมีความสำคัญต่อภาวะเศรษฐกิจชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยจำนวนมากอย่างไร

ความยากลำบากจากนี้ไปคงสมความตั้งใจของผู้ที่สนับสนุนการรัฐประหาร

แต่พม่าโดนเข้าไป 50 ปีเข็ดขยาดจนจำเป็นต้องเอาหัวชนกะลาชั้นเดียวให้แตก ยอมตาย ยอมเจ็บ

ของไทยผ่านรัฐประหารมา 2 ครั้ง 15 ปี ถ้าทนกันได้ไม่รู้จักสู้ก็จะได้ใช้ยุทธศาสตร์ 20 ปีของ คสช. เพื่อย้อนเวลาไปอยู่แบบพม่า