สรรหา กสทช.ชุดใหม่ใกล้คลอด นับหนึ่งภารกิจขับเคลื่อนดิจิตอลไทย ผู้เชี่ยวชาญชี้จะสานต่อ-สร้างใหม่… ไม่ได้โรยกลีบกุหลาบ / เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจ

 

สรรหา กสทช.ชุดใหม่ใกล้คลอด

นับหนึ่งภารกิจขับเคลื่อนดิจิตอลไทย

ผู้เชี่ยวชาญชี้จะสานต่อ-สร้างใหม่…

ไม่ได้โรยกลีบกุหลาบ

 

ใกล้มาถึงปลายทางการคัดเลือกกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าทางวุฒิสภาได้เลือกการยกมือผ่านร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่…) พ.ศ. … โดยยืนร่างเดิมจากสภาผู้แทนราษฎร ไม่รับข้อเสนอการแก้ไขของคณะกรรมาธิการ

กรรมการ กสทช.ชุดใหม่ที่มารับภารกิจอันหนักหน่วง ต้องสานต่อ ก่อร่างใหม่ การขับเคลื่อนดิจิตอลประเทศไทย ก็เริ่มเห็นหน้าเห็นตากันชัดเจนมากยิ่งขึ้นนับจากนี้!

แต่ก่อนจะเห็นหน้าตาของกรรมการ กสทช.ชุดใหม่ ลองมาฟังความเห็นของ 2 นักวิชาการโทรคมนาคม ว่าด้วยอนาคตของ กสทช.และดิจิตอลไทย ต้องทำอะไรบ้าง

 

นายสืบศักดิ์ สืบภักดี กรรมการบริหารและเลขาธิการสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สทค.) ระบุถึงภารกิจเร่งด่วนของ กสทช.ชุดใหม่ว่า ต้องมีการออกกฎระเบียบเพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ กฎระเบียบที่มีอยู่ตอนนี้ไม่สอดรับกับปัจจุบัน อาทิ กิจการตัวใหม่อย่างกิจการดาวเทียม ที่ กสทช.ได้รับมอบอำนาจจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ขณะนี้สตาร์ลิงก์ บริษัทของนายอีลอน มัสก์ เปิดให้จองอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียมทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย

แต่ล่าสุดทาง กสทช.ก็ออกมาเบรก โดยนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า การให้บริการอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียมต่างชาติในประเทศไทย ต้องได้รับการอนุญาตจาก กสทช.ก่อนเริ่มให้บริการ

อย่างไรก็ตาม มิใช่ว่า กสทช.จะรับลูกอยู่เพียงแค่องค์กรเดียว แต่ทุกหน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องรับลูกด้วยเช่นกัน

ซึ่งหนึ่งในข้อเสนอที่นายสืบศักดิ์ได้ยื่นต่อกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) คือ การปรับปรุงกฎระเบียบ อาทิ การนิยามอุปกรณ์แอปเปิลวอทช์ ซึ่งได้รับการอนุญาตให้ใช้คลื่นไฟฟ้าวัดคลื่นหัวใจได้ มีระเบียบที่ว่าอุปกรณ์การวัดคลื่นหัวใจเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ นอกจากจะต้องขออนุญาตจาก กสทช.แล้ว จะต้องไปขออนุญาตกับกระทรวงสาธารณสุขอีก

หรืออย่างการใช้รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติที่ยังไม่สามารถใช้งานในไทยได้ เพราะกรมการขนส่งทางบกยังไม่แก้กฎระเบียบ และการยังไม่ออกกฎระเบียบใหม่มารองรับ อาทิ การให้บริการผ่านอินเตอร์เน็ต (โอทีที) ที่ยังคาราคาซังกันมาตลอด

 

ส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคมอีกคน นายเจษฎา ศิวรักษ์ หัวหน้าธุรกิจสัมพันธ์และรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด มีความเห็นว่า ประเทศไทยมี พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ แต่ความเป็นจริงยังต้องเข้าไปทำเอกสารในหลายหน่วยงาน ทำยังไงให้เกิดช่องทางเดียวที่จะติดต่อราชการ กรอกข้อมูลเอกสารชุดเดียว แล้วไปกระจายข้อมูลให้หลายหน่วยงานราชการไปออกใบอนุญาตได้ ไม่ใช่หน้าที่ของเอกชนที่จะต้องรับทราบว่าต้องไปขอใบอนุญาตกับหน่วยงานราชการไหน อาทิ หากต้องการขออนุญาตประกอบกิจการ 5 จี ในโรงงานอุตสาหกรรม กสทช.ควรทำหน้าที่รับเรื่องแล้วกระจายการขออนุญาตต่างๆ ให้กับหน่วยงานราชการอื่นๆ เป็นการนำเทคโนโลยีการสื่อสารมายกระดับบริการภาครัฐให้เป็นดิจิตอลมากขึ้น

อีกประเด็นที่ กสทช.ชุดใหม่ควรดำเนินการคือ ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ จะดำเนินการอย่างไร ต้องไปดูถึงผู้ผลิตอุปกรณ์เลยหรือไม่ ไทยมีศักยภาพเพียงพอหรือไม่ ถ้ามีผู้นำเข้าอุปกรณ์หุ่นยนต์เข้ามาในไทย จะมั่นใจได้อย่างไรว่าข้อมูลการผลิตของบริษัทจะไม่รั่วไหลไปที่อื่น จะเกิดการชี้นิ้วกันไป-มาระหว่างคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) กับ กสทช.หรือเปล่า ไม่ใช่มากาง พ.ร.บ.ดูอำนาจหน้าที่กัน ต้องดูภาพใหญ่ ต้องดูวัตถุประสงค์เป็นหลัก เป็นยุคแห่งการดิสรัปต์ ทั้งระบบกฎหมาย ระบบราชการ

ต่อมาเรื่องการขับเคลื่อน 5 จี ที่รัฐบาลโดย กสทช.วางเป้าให้ประเทศไทยเปิดการประมูล 5 จี เป็นประเทศแรกในภูมิภาค แม้จะมีการวางโครงข่ายไว้แล้ว 77 จังหวัด แต่นับถึงตอนนี้ก็ยังไม่ครอบคลุมการใช้งานที่เต็มประสิทธิภาพ

 

ลองมาฟังความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคมทั้งสองคน เริ่มจากนายสืบศักดิ์บอกว่าได้เสนอถึงกระทรวงดีอีเอสเกี่ยวกับการขับเคลื่อน 5 จี ไว้ดังนี้

1. สนับสนุนให้เกิดการใช้โครงข่ายร่วมกัน ใช้เสาสัญญาณต้นเดียวกัน ในทางวิศวกรรมไม่มีปัญหาที่แต่ละเครือข่ายจะมาใช้เสาสัญญาณร่วมกัน แต่ติดปัญหาเรื่องแรงจูงใจ ถ้าภาครัฐระบุว่าให้ใช้เสาของค่ายเอ จะลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตลง มีแรงจูงใจแน่นอน แต่ปัจจุบันไม่มีแรงจูงใจ ทำให้มีจำนวนเสามากขึ้น เกิดทัศนวิสัยไม่ดี มีการลงทุนซ้ำซ้อน ต้องนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศมากขึ้น

2. ส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศในการใช้ 5 จี ปัจจุบันโครงข่ายสัญญาณมีทั่วเมืองใหญ่ 77 จังหวัด แต่ความต้องการใช้งานยังต่ำอยู่ การใช้งานของภาครัฐไม่ชัด ทั้งแอพพลิเคชั่นที่ใช้ในการเกษตร การศึกษา การเสริมทักษะ ควรมีกองทุนหรือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ให้กับธุรกิจสตาร์ตอัพ เพื่อเติมเต็มให้กับระบบนิเวศนี้ ซึ่งภาครัฐต้องทำให้เกิดการใช้งานเป็นหลัก

และ 3. การสร้างแรงจูงใจกับผู้ให้บริการ 5 จี หรือการให้ผลประโยชน์ตอบแทน ด้วยการลดภาษีหรืองดเก็บค่าธรรมเนียม กับผู้ให้บริการที่ไปตั้งเสาโครงข่ายในพื้นที่ที่ห่างไกล แม้ว่ารัฐจะเสียผลประโยชน์ แต่ได้สิ่งอื่นกลับเข้ามา

อย่างเด็กในพื้นที่ห่างไกลได้รับการศึกษาทางอินเตอร์เน็ต ยกระดับอุตสาหกรรมครัวเรือน ภาครัฐอยากให้ประชาชนทำแบบนั้นแบบนี้ แต่ขาดเรื่องมาตรการแรงจูงใจชัดเจน การประมูลคลื่นความถี่ที่ผ่านมา

มีข้อกำหนดต้องแบ่งปัน (แชร์) เครือข่ายให้กับผู้ประกอบการอื่น 10% แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการแชร์แบบหลอก อาทิ ค่ายเอตั้งบริษัทลูกขึ้นมา เพื่อสร้างค่ายมือถือใหม่ชื่อว่าจี ใช้โครงข่ายเดียวกัน

มันเป็นเงื่อนไขที่ทำไม่ได้จริง แต่ไม่ผิดเงื่อนไขที่ภาครัฐได้กำหนดไว้

 

ด้านนายเจษฎามีความเห็นว่า คลื่น 5 จี ที่ประมูลไปก่อนหน้านี้ ไม่เพียงพอต่อการใช้งานในอนาคต คลื่นหลักขนาดใหญ่อย่างคลื่น 3500 เมกะเฮิร์ตซ์ ยังไม่มีการประมูล และในปี 2566 จะมีคลื่น 6 กิกะเฮิร์ตซ์ ที่เตรียมนำออกมาใช้งาน ถ้าประเทศไทยยังงกความถี่เพื่อประมูลในราคาสูง จะมีปัญหาแน่ อุปกรณ์ 5 จี ไม่ได้รองรับอยู่แค่คลื่นเดียว ถ้าอุปกรณ์ไม่รองรับจะเปล่าประโยชน์

คลื่น 3500 เมกะเฮิร์ตซ์ จะถูกนำไปใช้เป็นไพรเวตเน็ตเวิร์ก ซึ่งคือการใช้เครือข่ายส่วนตัวภายในสถานที่ของตัวเอง อาทิ ใช้หุ่นยนต์ภายในพื้นที่โรงงาน จำเป็นต้องไปประมูลกับคนอื่นด้วยหรือเปล่า ในเมื่อไม่ได้กระจายสัญญาณรบกวนกับคนอื่น แค่ใช้ภายในกิจการของตัวเอง คำถามต่อมาคือ ไพรเวตเน็ตเวิร์กต้องมีใบอนุญาตหรือไม่ เรื่องนี้ กสทช.ชุดใหม่ต้องมีคำตอบ

อีกประเด็นที่เป็นคำถาม คือในปี 2566 จะมีการประชุม World Radiocommunication Conferences หรือ WRC-23 เพื่อใช้คลื่นความถี่ย่าน 6 กิกะเฮิร์ตซ์ในระบบ 5 จี ผู้ผลิตอุปกรณ์เตรียมพร้อมผลิตในปี 2565 แต่ในประเทศไทยคลื่นย่าน 3500 เมกะเฮิร์ตซ์ ยังไม่ได้ออกมาใช้เลย แล้วประเทศจะมีแผนไปทางไหนต่อ

ดูแล้วภารกิจ กสทช.ข้างหน้าไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

แต่อย่างไรก็ตาม ประชาชนก็ได้ฝากความหวังไว้กับกรรมการ กสทช.ชุดใหม่ ให้ทำหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ประเทศ เพื่อประโยชน์ของประชาชน