ก้าวแรกที่สหรัฐประกาศ สวมบท ‘ตำรวจโลก’ / กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

ก้าวแรกที่สหรัฐประกาศ

สวมบท ‘ตำรวจโลก’

 

สหรัฐเริ่มเล่นบท “มหาอำนาจ” หลังสงครามโลกครั้งที่สอง…ขณะที่จีนยังอยู่ในสภาพของสงครามแก่งแย่งอำนาจระหว่างกลุ่มเจียงไคเช็กกับเหมาเจ๋อตุง

หลังสงครามยุติลงในปี 1945 ขณะที่ยุโรปพยายามจะฟื้นจากซากสลักหักพังของสงคราม สหรัฐกลับกลายเป็นผู้ชนะที่แท้จริง

เศรษฐกิจสหรัฐหลังสงครามเฟื่องฟูกว่าเดิม ประชาชนคนอเมริกันมีความปึกแผ่นเหนียวแน่นกว่าก่อน และมีความพร้อมจะเล่นบทเป็น “ผู้จัดระเบียบโลกใหม่” อย่างเปิดเผยและมั่นใจ

สงครามมีส่วนสำคัญในการส่งให้เศรษฐกิจสหรัฐก้าวกระโดดอย่างชัดเจน

อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 50%

รายได้เฉลี่ยต่อหัวก้าวกระโดดถึง 75%

อเมริกาเป็นประเทศเดียวในโลกที่หลุดรอดจากสงครามโดยไม่ได้รับความเสียหายหรือมีความเสียหายน้อยกว่าทุกคน

 

สถานภาพแห่งความเป็น “มหาอำนาจ” เริ่มจากที่สหรัฐในวันนั้นเป็นผู้ผลิตสินค้าและบริการป้อนโลกถึง 60%

ตลอด 25 ปีหลังสงคราม เศรษฐกิจสหรัฐเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยประชากรที่เพิ่มขึ้นและการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ที่ก้าวล้ำนำหน้าประเทศอื่นๆ หลายขุม

เพราะยุโรปถูกสงครามทำลายล้างอย่างใหญ่หลวง

เยอรมนีกับญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามอย่างราบคาบ

โลกหลังการเข่นฆ่าต้องการสินค้าและอาหารจำนวนมหาศาล

สหรัฐเป็นประเทศเดียวที่อยู่ในฐานะที่จะผลิตสินค้าเหล่านั้นป้อนโลก

อเมริกายื่นตระหง่านเป็นมหาอำนาจแต่เพียงผู้เดียว

อีกทั้งยังยื่นมือช่วยเหลือยุโรปในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่พังพาบเพราะสงคราม

 

อเมริกาเรียกแผนช่วยฟื้นฟูยุโรปที่ร่างขึ้นในปี 1948 ว่า Marshall Plan หรือชื่อทางการว่า European Recovery Program (ERP)

ที่เรียกว่า Marshall Plan เพราะคนร่างแผนนี้ขึ้นมาคือนายพล George Marshall รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐในขณะนี้

เป้าหมายสำคัญคือการช่วยประเทศยุโรปตะวันตกฟื้นจากความเสียหายย่อยยับของสงคราม

ด้วยการลดกำแพงภาษีและปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อกู้ความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจ

แต่จุดประสงค์สำคัญข้อหนึ่งของอเมริกาคือการสกัดการเติบใหญ่ของลัทธิคอมมิวนิสต์

ซึ่งมีสหภาพโซเวียตเป็นแกนนำ ยืนจังก้าท้าทายระบอบ “เสรีนิยม-ทุนนิยม” ที่สหรัฐผงาดขึ้นมาเป็นหัวหอก

รอยปริแยกระหว่างสองประเทศนี้เริ่มจะเด่นชัดขึ้นหลังร่วมกันเผด็จศึกจัดการกับเยอรมนีภายใต้ฮิตเลอร์

เพราะอเมริกากับสหภาพโซเวียตมีความต้องการเหมือนกันประการหนึ่ง

นั่นคือการเป็นผู้มีอำนาจเหนือส่วนอื่นๆ ของโลกหลังสงครามใบนี้

สหรัฐจัดสรรงบประมาณก้อนใหญ่ (กว่า 12,000 ล้านเหรียญ) เพื่อให้โลกกลับไปมาสู่ภาวะปกติ

แต่เป็นความปกติใหม่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐ

สหภาพโซเวียตก็ต้องการจะมีอิทธิพลเหนือโลกหลังสงครามเช่นกัน

เพราะมอสโกมีความเชื่อว่าหากสหภาพโซเวียตไม่ได้ทุ่มเททำสงครามอย่างหนักหน่วงรุนแรงก็คงจะไม่สามารถจัดการกับฮิตเลอร์ได้สำเร็จ

 

เงินก้อนใหญ่จากกองทุน Marshall Plan ไปอยู่ที่อังกฤษซึ่งได้งบฟื้นฟูไปประมาณ 26% ของทั้งหมด

(เชื่อไหมว่า กว่าอังกฤษจะส่งคืนเงินที่ค้างจ่ายอเมริกาภายใต้ข้อตกลง Lend-Lease Agreement ที่มาในรูปการให้ยืมและให้เช่าซื้อจากอเมริกาช่วงสงครามนั้นกว่าจะเคลียร์บัญชีกันได้ก็ปาเข้าปี 2006 หรือ 58 ปีให้หลัง)

ฝรั่งเศสได้ไป 18% ขณะที่ส่วนแบ่งสำหรับเยอรมนีตะวันตกอยู่ที่ 11%

รวมความแล้วประเทศยุโรปตะวันตกที่ได้ประโยชน์จากงบฯ ฟื้นฟูของอเมริกาก้อนนี้มีทั้งหมด 18 ประเทศ

อเมริกาถามสหภาพโซเวียตว่าต้องการจะได้รับความช่วยเหลือจากเงินก้อนนี้ด้วยหรือไม่

คำตอบจากมอสโกคือ “ไม่…ขอบใจ”

ไม่เพียงเท่านั้น โยเซฟ สตาลิน ผู้นำสหภาพโซเวียตขณะนั้นยังสกัดไม่ให้ฮังการีและโปแลนด์เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือนี้ด้วย

เพราะมอสโกเริ่มตีเส้นแบ่งระหว่างโลกคอมมิวนิสต์กับโลกเสรีแล้ว

ร่องรอยแห่ง “สงครามเย็น” เริ่มปรากฏให้เห็นแล้วเช่นกัน

 

สหภาพโซเวียตประกาศแผนฟื้นฟูโลกค่ายสีแดงของตนเองชื่อ Molotov Plan (ตามชื่อ Vyacheslav Molotov รัฐมนตรีต่างประเทศโซเวียตขณะนั้น)

สหรัฐก้าวเข้าสู่การเมืองโลกด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้าง “ระเบียบโลกใหม่” หลังสงคราม

สหรัฐตอกย้ำ “ค่านิยม” ของคำว่าประชาธิปไตย, เสรีภาพ และความเสมอภาค

เป็นที่มาของนโยบายบนพื้นฐานของคำว่า Idealism หรือ “อุดมคติ”

และคำว่า Exceptionalism หรือ “สถานภาพพิเศษ” หรือแปลตรงตัวคือ “ฉันคือข้อยกเว้นจากค่าเฉลี่ย”

เป็นจุดเริ่มต้นของการที่สหรัฐมองว่ารูปแบบการปกครองและ “สังคมในอุดมคติ” แบบของตนคือสิ่งที่ทั่วโลกควรจะลอกเลียนแบบ

อเมริกามองว่าตนมี “คุณสมบัติพิเศษที่ไม่มีใครเหมือน” โดยยึดเอาหลักการ

เสรีภาพ

ความเท่าเทียมภายใต้กฎหมาย

ความรับผิดชอบของปัจเจก

ระบบเศรษฐกิจเสรี (laissez-faire)

นั่นแปลว่าใครที่ไม่ยึดหลักการเหล่านี้ก็เป็นประเทศ “ด้อย” การพัฒนา

สหรัฐถือเป็นภารกิจของตนที่จะ “เปลี่ยนโลก” ให้เข้าสู่เบ้าหลอมเดียวกับอเมริกา

 

ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ก่อนหน้าสหรัฐจะตั้งตนเป็นมหาอำนาจ นักรัฐศาสตร์และนักประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส Alexis de Tocqueville เป็นนักคิดนักวิเคราะห์คนแรกๆ ที่ไปเยือนสหรัฐ ในปี 1831 และ 1840

หนังสือที่เขาเขียนเกี่ยวกับความประทับใจส่วนตัวเกี่ยวกับสหรัฐที่ได้ประสบพบเห็นกลายเป็นตำราที่ผู้สนใจการเมืองสหรัฐยังใช้อ้างอิงถึงวันนี้

เขาเป็นคนใช้คำว่า “Exceptional” หรือ “ยกเว้นเป็นพิเศษ” กับสหรัฐ

เพราะได้สัมผัสกับคนและความเป็นไปที่แตกต่างไปจากยุโรปในหลายๆ ด้าน

เพราะสหรัฐในขณะนั้นเป็นประเทศใหม่ที่พยายามสร้างประเทศที่ไม่อิงตามแบบของยุโรป

โดยเน้นไปที่เสรีภาพของการแสดงความคิดเห็นและเป็น “สาธารณรัฐ” ที่แตกต่างไปจากระบบ “กษัตริย์” ของอังกฤษและยุโรปขณะนั้น

แต่คนที่ใช้คำว่า “American Exceptionalism” กับสหรัฐคนแรกน่าจะเป็นผู้นำสหภาพโซเวียตขณะนั้น…Joseph Stalin

ในปี 1929 สตาลินวิพากษ์คอมมิวนิสต์ในสหรัฐว่ามีความแปลกแตกต่างไปจากคอมมิวนิสต์ในประเทศอื่นเพราะแม้จะเชื่อในลักทธิเดียวกัน แต่ผู้เลื่อมใส “คอมมิวนิสต์” ในอเมริกาก็มีความแตกต่างในรายละเอียดไปจาก “ทฤษฎีมาร์กซิสต์” ที่ต้นตำหรับได้พร่ำสอนไว้

แต่เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำของเหมาเจ๋อตุงสถาปนา “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ในปี 1949 จีนกับสหภาพโซเวียตก็ประกาศเป็นพันธมิตรที่ต่อต้านอิทธิพล “เสรีนิยม” ของสหรัฐอย่างดุเดือด

กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “สงครามเย็น”

โลกถูกแบ่งเป็นสองค่ายที่ต่อสู้กันเพื่อช่วงชิงการนำภายใต้อุดมการณ์การเมืองที่ยืนอยู่คนละขั้วโดยสิ้นเชิง

 

สงครามเย็นทำให้สหรัฐเข้าแทรกแซงทางทหารในยุโรป (กรีซในปี 1947) เอเชีย (เกาหลีในปี 1950 และอินโดจีนระหว่าง 1954-73) กับตะวันออกกลาง (อิหร่านใน 1955 กับเลบานอน 1958)

นโยบายสกัดการขยายอิทธิพลของสหภาพโซเวียตและจีนในช่วงนั้นทำให้สหรัฐลงนามสนธิสัญญากับหลายประเทศ เช่น สนธิสัญญาสันติภาพกับญี่ปุ่นที่ลงนามที่ซานฟรานซิสโกในปี 1951 โดยยอมรับบทบาทปกป้องญี่ปุ่นในกรณีที่ถูกคอมมิวนิสต์รุกราน

ต่อมาสหรัฐก็ลงนามในสนธิสัญญาทางทหารกับอีกหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ฟิลิปปินส์, เกาหลีใต้ และไต้หวัน

และที่เกี่ยวกับประเทศไทยเราโดยตรงคือการก่อตั้ง “ซีโต้” SEATO (Southeast Asia Treaty Organization) หรือองค์การสนธิสัญญาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 1954

เมื่อยุโรปมี NATO (North America Treaty Organization) สำหรับการต่อต้านสหภาพโซเซียตโดยมีสหรัฐเป็นแกนหลัก เอเชียอาคเนย์ก็ต้องมี SEATO เพื่อเป็นปราการต่อต้านจีนคอมมิวนิสต์โดยเฉพาะ

สหรัฐไม่ขวยเขินที่จะประกาศตนเป็น “ตำรวจโลก” ที่ไม่มีใครหาญกล้าท้าทายอำนาจและบารมีได้

วันดีคืนดีเติ้งเสี่ยวผิงประกาศ “เปิดประเทศ” ในปี 1978

สิ่งที่เรียกว่า “ระเบียบโลก” ก็เริ่มถูกเขย่าอย่างแรงอีกครั้งหนึ่ง