‘ศึกใน’ รถไฟฟ้าสายสีเขียว-ส้ม ร้อยรัด ‘อนุพงษ์-ศักดิ์สยาม’ สู่ ‘ศึกนอก’ เวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจ / รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

กีรติ เอมมาโนชญ์

 

‘ศึกใน’ รถไฟฟ้าสายสีเขียว-ส้ม

ร้อยรัด ‘อนุพงษ์-ศักดิ์สยาม’

สู่ ‘ศึกนอก’ เวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจ

 

ระหว่างวันที่ 16-20 กุมภาพันธ์ 2564 นี้ เป็นช่วงเวลาแห่งการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยมีรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายจำนวน 10 ราย และถือเป็นครั้งแรกหลังเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่จะมีการซักฟอกพรรคร่วมรัฐบาล 2 พรรคคือ พรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์

ซึ่งในจำนวน 10 รัฐมนตรีที่ถูกกาชื่อจองกฐิน มีนามของ “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งฝ่ายค้านได้ระบุถึงพฤติการณ์และเรื่องที่จะอภิปรายของทั้ง 2 ราย ว่า

พล.อ.อนุพงษ์ : “บริหารราชการแผ่นดินโดยมิได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม แต่กลับใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้อง ใช้กลไกทางกฎหมายเพื่อวางแผนในการทุจริตอย่างเป็นระบบและแยบยล ปล่อยปละละเลยให้องค์กรในกำกับมีการทุจริตอย่างกว้างขวาง ใช้อำนาจด้วยความไม่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่เสียสละ ไม่เปิดเผย แต่กลับปกปิดการกระทำความผิดของตนและบุคคลแวดล้อม ไม่ยึดถือและปฏิบัติตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาด บกพร่องอย่างร้ายแรง ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง”

ส่วนศักดิ์สยาม ฝ่ายค้านระบุไว้ว่า “บริหารราชการแผ่นดินโดยเห็นแก่ผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง โดยไม่คำนึงถึงผลเสียหายที่เกิดกับประเทศชาติและประชาชน เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนผูกขาด เพื่อให้มีสิทธิดำเนินงานในกิจการของรัฐ โดยไม่รักษาผลประโยชน์ของรัฐ ทุจริตต่อหน้าที่และปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในหน่วยงานที่กำกับดูแล สมคบกันเพื่อปิดบังการทุจริต ไม่ยึดถือและปฏิบัติตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง”

แม้ประเด็นที่ฝ่ายค้านพูดถึงจะเป็นเชิงพรรณนา ไม่ระบุชัดเจนว่าจะอภิปรายในประเด็นอะไรแน่ ซึ่งก็เข้าใจได้ว่า เป็นยุทธวิธีในการอภิปราย เพราะหากบอกไปก่อน จะกลายเป็นการบอกการบ้านให้รัฐมนตรีทั้ง 2 ตั้งหลักได้ แต่ประเด็นที่คาดว่าทั้ง พล.อ.อนุพงษ์และนายศักดิ์สยามจะต้องเจออย่างแน่นอนคือ “ปมปัญหารถไฟฟ้า”

 

ปมปัญหานี้จะพุ่งเข้าใส่ พล.อ.อนุพงษ์อย่างสาหัสแน่นอน เพราะตลอด 2-3 เดือนที่ผ่านมา โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นประเด็นที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหู จากการที่รถไฟฟ้าสายนี้มีกรุงเทพมหานคร (กทม.) หน่วยงานใต้กำกับของกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดูแลโดยตรง

สำหรับประเด็นที่วิจารณ์หนักมากคือ การขึ้นค่าโดยสารในอัตราใหม่ 15-104 บาท และกลายเป็นประเด็นให้เกิดศึกในระหว่างคนกันเองของรัฐบาลด้วย

สำหรับการขึ้นค่าโดยสารในอัตราให้ 15-104 บาท เป็นผลมาจากการที่ กทม.เปิดให้บริการส่วนต่อขยายสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 18.4 ก.ม. และช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ ระยะทาง 12.8 ก.ม. ฟรีโดยไม่เก็บค่าโดยสารเลย โดยทยอยเปิดให้บริการตั้งแต่ปลายปี 2561 จนครบทุกสถานีเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา แล้วให้ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ซึ่งได้รับจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวอยู่แล้ว ให้มาเดินรถในส่วนต่อขยายทั้ง 2 เส้นทางไปพลางก่อน โดยที่ กทม.ไม่ได้นำงบประมาณใดๆ มาช่วยชำระค่าเดินรถในช่วงส่วนต่อขยายดังกล่าว

ส่วนเหตุผลที่ กทม.ไม่เอางบประมาณมาจ่ายค่าเดินรถเลย ก็เพราะหวังว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเห็นชอบ “สัมปทานสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว” อย่างทันท่วงที

แต่จนแล้วจนรอดรัฐบาลก็ไม่เห็นชอบสัมปทานดังกล่าว จนทำให้ค่าเดินรถที่ไม่เคยจ่ายเลยพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นหนี้สะสมรวมกว่า 30,370 ล้านบาท

ดังนั้น กทม.จึงจำต้องออกประกาศ กทม.เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564 เพื่อเก็บค่าโดยสารในอัตรา 15-104 บาทมาจ่ายค่าเดินรถที่ติดค้างไว้นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อ กทม.ออกประกาศดังกล่าว ก็ถูกต่อต้านจากสังคมทันที และครั้งนี้กระทรวงคมนาคมพ่วงพรรคภูมิใจไทยร่วมคัดค้านด้วย ทั้งออกข่าวแจกขอให้ชะลอการขึ้นค่าโดยสาร แตะมือกรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร คัดค้านด้วย จนสุดท้ายนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทยและสมาชิกพรรคอีก 6 รายได้นำปมนี้ยื่นศาลปกครองค้านการบังคับใช้ประกาศดังกล่าว

จนสุดท้าย กทม.ต้องยอมถอย ออกประกาศฉบับใหม่เลื่อนเก็บค่าโดยสารดังกล่าวออกไปไม่มีกำหนด

 

มีการมองกันว่า การที่พรรคภูมิใจไทยออกมามีบทบาทในครั้งนี้ ถือเป็น “ภาคต่อ” หลังจากที่ช่วงปลายปี 2563 ออกมาค้านการที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ครม.เห็นชอบสัมปทานสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยโยนความเห็นเพิ่มเติมให้กระทรวงมหาดไทยและ กทม. 4 ข้อ ได้แก่ ความครบถ้วนตามหลักการ พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562, อัตราค่าโดยสารสูงสุด 65 บาท มีราคาสูงกว่าราคาโดยสารรถไฟฟ้าสายอื่น, เมื่อหมดสัญญาสัมปทานปี 2572 รัฐอาจเสียประโยชน์จากการใช้สินทรัพย์ที่รับโอนมา และประเด็นด้านกฎหมาย

ซึ่งจากประเด็นสายสีเขียวนี้ พรรคฝ่ายค้านบางส่วนให้ข้อมูลว่า อาจจะเชื่อมโยงกับปมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงินลงทุนมหาศาล 129,128 ล้านบาท ที่มีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) หน่วยงานสังกัดกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ดูแลด้วย

เพราะต้องไม่ลืม การประมูลสายสีส้มนี้ ถูก BTSC บริษัทเดียวกันกับที่กำลังเจรจาต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวกับ กทม. เป็นโจทย์ฟ้อง รฟม. จากกรณีที่เปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูลหลังปิดซื้อซอง TOR จากเดิมใช้เกณฑ์การเงินตัดสิน เปลี่ยนเป็นจะเอาเกณฑ์ด้านเทคนิคมาร่วมพิจารณาด้วยในสัดส่วน 30% ส่วนการเงินลดเหลือ 70%

ทำให้มองว่าอาจเกิดความไม่ชอบมาพากลในการดำเนินโครงการและอาจจะเอื้อประโยชน์ให้เอกชนบางราย

ซึ่งล่าสุด รฟม.ได้ยกเลิกประมูลโครงการนี้แล้ว ถอยกลับไปเริ่มขั้นตอนร่าง TOR ใหม่ และกำลังเป็นที่จับตาว่า จะเอาเกณฑ์ใหม่ “การเงินควบเทคนิค” มาเขียนลงไปตั้งแต่แรกเลยหรือไม่

จาก “ศึกใน” ระหว่างกระทรวงมหาดไทย-กระทรวงคมนาคม ลามสู่ “ศึกนอก” ในเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจ งานนี้แม้รัฐบาลจะชนะโหวตเสียงไว้วางใจในสภา แต่เชื่อแน่ว่ารอยร้าวในระหว่างคณะรัฐมนตรีจะยิ่งชัดขึ้น

…จนไม่แน่ว่าจะนำพารัฐนาวา “ประยุทธ์” ฝ่าคลื่นลมอยู่ครบเทอมหรือไม่ ต้องตามต่อกันยาวๆ