สถานะของ ‘แรงงาน’ และวาทกรรมประวัติศาสตร์ชาตินิยม ในเรื่องสั้นขององค์ บรรจุน / บทความพิเศษ ชาคริต แก้วทันคำ

บทความพิเศษ

ชาคริต แก้วทันคำ

 

สถานะของ ‘แรงงาน’

และวาทกรรมประวัติศาสตร์ชาตินิยม

ในเรื่องสั้นขององค์ บรรจุน

“ขอมอบคุณค่าความดีอันเกิดขึ้นจากหนังสือเล่มนี้ให้กับ ‘ผู้อ่าน’ ที่ได้ผ่านพบความงามอันเกิดจากความหลากหลายของผู้คนและวัฒนธรรม อันเป็นเสน่ห์เฉพาะพื้นที่ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการเดินทาง การเดินทางทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ย่อมทำให้เกิดความเข้าใจ และความเข้าใจย่อมนำมาซึ่งความผาสุกระหว่างกัน”

ข้อความข้างต้น เป็นคำอุทิศจากรวมเรื่องสั้น “บังไพรแห่งซับจำปาและเรื่องอื่นๆ” ขององค์ บรรจุน นักเขียนไทยเชื้อสายมอญ ผู้ทำหน้าที่สะท้อนภาพสังคมปัจจุบันจากประสบการณ์และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยก่อนเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

โดยเขายอมรับและแสดงตัวตน ความเป็นชาติพันธุ์ผ่านงานวรรณกรรมประเภทเรื่องเล่าที่มุ่งเน้นความเข้าใจ “ตนเอง” ไปสู่ความเข้าใจ “คนอื่น” เพื่อการเรียนรู้และอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ (identity)

รวมเรื่องสั้น “บังไพรแห่งซับจำปาและเรื่องอื่นๆ” ขององค์ บรรจุน ประกอบด้วยเรื่องสั้นจำนวน 13 เรื่อง กล่าวถึงคนชายขอบหรือแรงงานต่างด้าวที่อพยพหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายก่อนประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

โดยสะท้อนความเป็นอื่นของคนชายขอบและแรงงานต่างด้าวในบริบทภูมิศาสตร์และชาติพันธุ์ เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ผ่านมุมมองความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างแรงงานต่างด้าวกับเจ้าหน้าที่รัฐ และแรงงานต่างด้าวกับนายจ้างที่ถูกกดขี่ข่มเหงทั้งกายและใจ การใช้ความรุนแรงและเอารัดเอาเปรียบ

บทความนี้จะศึกษาเรื่องสั้น “สับสวิตซ์” ขององค์ บรรจุน พิมพ์อยู่ในรวมเรื่องสั้น “บังไพรแห่งซับจำปาและเรื่องอื่นๆ” ซึ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง จากการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัลเซเว่นบุ๊ค อวอร์ด ครั้งที่ 14 ปี 2560 โดยจะวิเคราะห์สถานะตัวละครผู้เล่าเรื่องและแรงงานต่างด้าวที่ถูกกล่าวถึงกับวาทกรรมชาตินิยม (nationalism)

เรื่องสั้น “สับสวิตซ์” ให้ “ฉัน” หรือสรรพนามบุรุษที่ 1 เป็นตัวละครผู้เล่าเรื่องที่เป็นพยานแบบผู้รู้ในแนวกระแสสำนึก เล่าถึงที่มาที่ไปของตัวเองและแรงงานต่างด้าว

กล่าวเฉพาะ “ฉัน” ที่ “ถูกปลุกขึ้นมาโดยหญิงชายคู่หนึ่งเมื่อตอนโพล้เพล้ ปกติแล้วฉันมักอยู่ในห้องแคบๆ เงียบๆ ตามลำพังตลอดช่วงพระอาทิตย์ส่องเกือบทุกวัน บางทีจึงจะมีคนนั้นคนนี้นั่งพูดคุยให้เห็นในวันหยุด แต่ไม่บ่อยครั้งนัก แม้ร่างกายของฉันจะคล้ำเกรียมเหมือนกิ่งไม้โยกคลอนทั้งร่าง” (น.53)

ข้อความข้างต้น เป็นบางส่วนจากย่อหน้าแรกที่ผู้เขียนใช้เปิดเรื่องสั้น ที่กล่าวถึง “ฉัน” เสมือนแนะนำตัวละครให้ผู้อ่านได้รู้ว่า “ฉัน” เป็นใคร? แต่ยังคลุมเครือ ไม่ลงรายละเอียดให้ผู้อ่านคาดเดาได้อย่างแน่ชัดนัก

ทั้งนี้ “สิ่งที่ฉันได้รับ มีเพียงสัมผัสทักทายลูบไล้แผ่วเบา มีบ้างที่พวกเขาบางคนหยอกล้อประสาคุ้นเคย เท่านี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับฉัน” (น.54-55) หรือ “คนหนึ่งเดินมาทางฉัน ท่ามกลางความมืด เดินเซมาโดนเข้าพลอยทำฉันตื่นไปด้วย ห้องสว่างพรึบทำให้ทุกคนมองหน้ากันไปมา…” (องค์ บรรจุน, 2560 : 60)

จากสองข้อความข้างต้น อาจคาดเดาได้ว่า “ฉัน” คือใคร? โดยพิจารณาจากชื่อเรื่องประกอบด้วย “ฉัน” คือสวิตซ์ไฟ ตัวละครผู้เล่าเรื่องที่เป็นพยานแบบผู้รู้ที่เห็นสิ่งต่างๆ และเล่ามันออกมาผ่านแสงไฟ จากการ “ถูกปลุกขึ้นมาโดยหญิงชายคู่หนึ่ง” หรือ “เดินเซมาโดนเข้าพลอยทำฉันตื่นไปด้วย”

นับเป็นตัวละครที่เป็นวัตถุหรือสิ่งไม่มีชีวิตที่ผู้เขียนใช้ “บุคคลวัต” (personification) กล่าวถึงสวิตซ์หรือแสงไฟซึ่งไม่ใช่คน แต่มีกิริยาอาการ ความรู้สึกนึกคิดเหมือนอย่างคนนั่นเอง

 

สถานะของ “ฉัน”

และ “แรงงานต่างด้าว” ในเรื่องสั้น

ก่อนที่แรงงานต่างด้าวจะมาอยู่ในห้องของตึกสูง 7 ชั้นนี้ มีหนุ่ม-สาวที่หมุนเวียนกันมาไม่ซ้ำหน้า และรุ่นก่อนคงเป็นแรงงานไทยจากภูมิภาคอื่นที่อพยพเข้ามาทำงานในโรงงานที่ผู้เขียนระบุสถานที่ในเรื่องสั้นว่า “อยู่ในซอยโรงแก๊ส ถนนพระราม 2 ใกล้กับสะพานแม่น้ำท่าจีน”

แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย เป็นแรงงานข้ามชาติในบริบทเศรษฐกิจก่อนเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งมีทั้งพม่า ลาว กัมพูชา และอื่นๆ

“ตามมุมห้องด้านที่ชิดกับกระดานอัดมีหิ้งพระอยู่ 4 หิ้ง วางพระพุทธรูปองค์เล็ก เป็นพระพุทธรูปหยกสีขาวปากแดงปางถวายเนตรต่างจากที่เคยเห็นเป็นสีทอง บนหิ้งมีลูกประคำไม้และของจิปาถะวางไว้รวมกัน แจกันดอกไม้สดหิ้งละสองใบ ฉันเห็นเขามักซื้อดอกไม้สดมาเปลี่ยนให้เสมอ อันนี้แหละที่ฉันเห็นว่ามันไม่เป็นขยะ มันทำให้ฉันรู้สึกสดชื่นทุกครั้งเมื่อได้เห็น อีกอย่างที่ฉันสังเกตมานานแล้วคือรูปเจดีย์สีทององค์ใหญ่ แต่แปลกที่ฐานมันแจ้ มีฉัตรข้างบน ไม่เหมือนพระปฐมเจดีย์ในรูปที่คุ้นเคย ส่วนหงส์สีทองน่ารักดีเหมือนกัน แต่ตัวค่อนข้างอ้วน ขาสั้น คอสั้น ไม่เหมือนหงส์ตามเสาไฟข้างทางที่สวยกว่าเป็นไหนๆ…” (น.59)

ข้อความข้างต้น เป็นกระแสสำนึกของฉันที่บรรยายสภาพห้องที่แรงงานต่างด้าวอยู่ร่วมกัน แสดงให้ผู้อ่านรู้ว่าพวกเขานับถือศาสนาพุทธ เพราะมีหิ้งพระอยู่ตามมุมห้อง และพวกเขายังเป็นแรงงานต่างด้าวชาวพม่าสัญชาติมอญ สังเกตจาก “รูปเจดีย์สีทองฐานแจ้” และ “หงส์สีทอง” ที่วางอยู่บนหิ้งพระ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนมอญเคารพนับถือ

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังกล่าวถึงอาหารการกิน ตัวอักษรและการแต่งกาย ซึ่งระบุถึงชาติพันธุ์มอญที่มีอัตลักษณ์และนำติดตัวมาคราอพยพย้ายถิ่นด้วย

แต่ข้อความสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามในตัวบทที่หยิบยกมาข้างต้นคือ “อันนี้แหละที่ฉันไม่เห็นว่ามันเป็นขยะ” ซึ่งฉันมีอคติที่มองว่าแรงงานต่างด้าวชาวมอญที่อยู่ร่วมห้องและตึกเดียวกันเป็น “ขยะ” เพราะ “จะว่าไปแล้ว คนพวกนี้ไม่มีอะไรเหมือนฉันสักอย่าง พวกเขาไม่มีประโยชน์อะไรกับฉัน คงไม่ผิดนักหรอกหากว่าฉันจะมองพวกเขาเหล่านั้นเป็นขยะเคลื่อนที่ได้ พวกเขาเป็นขยะในสายตาของฉันอย่างแน่นอน…” (น.64)

ทั้งๆ ที่ฉันมีสถานะเป็นวัตถุหรือสิ่งไม่มีชีวิต แต่กลับกล่าวถึงแรงงานต่างด้าวชาวมอญว่าเป็นขยะ เพราะพวกเขา “ไม่มีอะไรเหมือนฉันและไม่มีประโยชน์อะไรกับฉัน” ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นอคติทางเชื้อชาติที่ถูกแบ่งแยกความเป็นเขาและเราจนกลายเป็นคนอื่น (others)

นอกจากสวิตซ์ไฟจะมองแรงงานต่างด้าวชาวมอญร่วมห้องเป็นคนอื่นแล้ว ลูกชายนายจ้างก็มีอคติไม่ต่างกันและยังปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความไม่เท่าเทียม กดขี่ข่มเหงและละเมิดสิทธิมนุษยชน

ในขณะที่ฉันมองแรงงานต่างด้าวชาวมอญเป็นขยะไร้ประโยชน์ และอาจลืมไปว่าตนเป็นวัตถุหรือสิ่งไม่มีชีวิต เมื่อถึงวันหมดสภาพใช้งานก็มีสภาพไม่ต่างจากขยะเช่นเดียวกัน

ดังนั้น ไม่ว่าแรงงานต่างด้าวชาวมอญหรือสวิตซ์ไฟต่างก็มีสถานะไม่ต่างกัน ทั้งความเป็นอื่นและขยะ ซึ่งผู้เขียนเปรียบเทียบให้เห็นภาพ โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวชาวมอญเพศหญิงที่ถูกลูกชายนายจ้างฉุดไปข่มขืนและห่อด้วยผ้าถุงสีแดงยกดอกดำละเอียดเชิงลายดอกพิกุลทิ้งลงมาจากชั้น 7

สะท้อนความรู้สึกสะเทือนใจและหดหู่ไปกับชะตากรรมของแรงงานต่างด้าว ผู้กลายเป็นเหยื่อจากวาทกรรมประวัติศาสตร์ชาตินิยม

 

แรงงานต่างด้าว

กับวาทกรรมประวัติศาสตร์ชาตินิยม

พฤติกรรมของลูกชายนายจ้างที่ชอบดื่มเป็นประจำและมักฉวยข้อมือ กอดรัดแรงงานต่างด้าวเพศหญิง บางครั้งก็ใช้อำนาจข่มขู่หรือใช้กำลังฉุดไปทำร้ายและข่มขืน จากความเชื่อผ่านข้อความว่า “โสนะน่า… พวกมึงเผากรุงศรีอยุธยาของกู มึงเลยต้องมาเป็นขี้ข้ารับใช้พวกกู…” (น.58) ซึ่งเป็นความคิดเชิงอุดมการณ์เรื่องประวัติศาสตร์และชาตินิยม ที่ใช้เป็นข้ออ้างบีบบังคับ เอาคืนหรือกดทับแรงงานต่างด้าวด้วยการ “ต้องมาเป็นขี้ข้ารับใช้” ที่มีลักษณะแนวคิดแบบคลั่งชาติ (chauvinism)

ซึ่งในเรื่องสั้นนี้คือ การคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ตนหรือพวกพ้องจะได้รับจากแรงงานต่างด้าว

เรื่องสั้น “สับสวิตซ์” ขององค์ บรรจุน มีความโดดเด่นในการใช้ “สวิตซ์ไฟ” เป็นตัวละครผู้เล่าเรื่องที่แตกต่างจากเรื่องอื่นๆ ในเล่ม แม้จะสะท้อนแนวคิด ความรู้สึกด้วยสายตาแบ่งเขาแบ่งเราจากความเป็นอื่นด้วยอคติแบบเดิมอยู่ แต่เป็นการตอกย้ำความสัมพันธ์เชิงอำนาจก่อนเข้าสู่บริบทสังคมอาเซียน

นอกจากนี้ ฉันหรือสวิตซ์ไฟยังมองคนอื่นเป็นขยะที่ไร้ประโยชน์ โดยลืมหันมองตนเอง เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นมิติความสัมพันธ์ผ่านภาษากับสถานะของแรงงานและวาทกรรมประวัติศาสตร์ชาตินิยม ไม่เฉพาะลูกชายนายจ้างที่ปฏิบัติต่อแรงงานต่างด้าวเท่านั้น

แต่ฉันหรือสวิตซ์ไฟยังมีสายตาที่ “ไม่แน่ใจว่ามันอาจเป็นผลเสียต่อแผ่นดินที่ฉันอยู่นี้อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้” เป็นอุดมการณ์ชาตินิยมแบบคลั่งชาติ ไม่ต่างจาก “พวกมึงเผากรุงศรีอยุธยาของกู มึงเลยต้องมาเป็นขี้ข้ารับใช้พวกกู” ที่ยังถูกปลูกฝังในสังคมไทย

ซึ่งสวนทางกับการพัฒนาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและกระแสโลกาภิวัตน์ที่เปลี่ยนแปลงไป