จัดบ้านครั้งเดียว เรื่องนี้เต็มไปด้วยขยะ / บทความพิเศษ มีเกียรติ แซ่จิว

บทความพิเศษ

มีเกียรติ แซ่จิว

 

จัดบ้านครั้งเดียว

เรื่องนี้เต็มไปด้วยขยะ

 

มิต้องยกยอปอปั้นกันให้มากความ ถ้าเรื่องมันดีก็ต้องบอกว่าดีกับเรื่องสั้นที่มีชื่อว่า ‘จัดบ้านครั้งเดียว’ ของจำลอง ฝั่งชลจิตร ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2561 และในฐานนะเรื่องสั้นเรื่องใหม่ของยักษ์ใหญ่แห่งวงการวรรณกรรมที่ผู้คนขนานนามว่า ‘ลอง เรื่องสั้น’ เรื่องนี้ ก็ไม่ถึงกับยาวจนเกินไป (กาแฟร้อนยังไม่หมดถ้วยก็อ่านจบ)

แต่สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นคือ ข้อมูลที่ยังหนักอึ้งอยู่ในหัว ก่อนจะค่อยๆ ตกตะกอน ชวนครุ่นคิดตามเกี่ยวกับ ‘เสื้อผ้ามือสอง’ และกองขยะที่ขนย้ายข้ามประเทศมาล้นเกร่อในบ้านเมืองของเรา

ต้นทางที่มาของเสื้อผ้ามือสองดังกล่าว ประวัติความเป็นมา เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย รวมทั้งนัยของหนังสือเรื่องการจัดบ้านของญี่ปุ่นและจีนแดง ถูกเล่าผ่านบทสัมภาษณ์ของนักศึกษาสาวคนหนึ่ง โดยผู้เขียนผูกโยงเรื่องได้อย่างชำนิชำนาญ แปรข้อมูลข่าวสารเชิงสารคดีให้กลายเป็นเรื่องสั้นได้อย่างกระชับ น่าอ่าน และประทับในความทรงจำ

ซึ่งเรื่องสั้นในแบบจำลองเรื่องนี้ ก็ไม่ควรเข้าข่ายอ่านเพียงครั้งแล้วผ่านเลย แต่ควรจะอ่านซ้ำแล้วจดจำน่าจะเหมาะสมกว่า

 

ทีนี้เราลองมาทำความรู้จักกับเรื่องสั้นชื่อ ‘จัดบ้านครั้งเดียว’ กันให้มากขึ้นไปพร้อมๆ กับศึกษากลวิธีการเขียนของจำลอง ฝั่งชลจิตร แล้วนำมาวิเคราะห์วิจารณ์ไปพร้อมๆ กัน น่าจะเป็นประโยชน์กับการอ่านบทความชิ้นนี้ไม่มากก็น้อย

‘14.20 น. นักศึกษาสาวผลักประตูเหล็กแผ่น พาร่างสูงโปร่งออกจากร้าน ตรงหน้าประตูเธอเกือบชนกับฟู้ดแพนด้าหนุ่ม ทั้งสองมองหน้ากันและกันแค่วินาทีก่อนเบี่ยงตัวหลีกทางอย่างสุภาพ’ (หน้า 167)

ฉากเปิดในย่อหน้าแรกคือ ‘ตอนจบ’ ของเรื่อง หลังจากการสัมภาษณ์นักเขียนอาวุโสเสร็จแล้ว เป็นฉากที่ใช้บอกช่วงเวลาเดินออกจากร้านของ ‘นักศึกษาสาว’ และบอกถึงเรื่องราวในโลกยุคปัจจุบันไปพร้อมกันว่าได้มีอาชีพใหม่เกิดขึ้น มีบริการสั่งอาหารออนไลน์กันเยอะขึ้น กำเนิดบริษัทเดลิเวอรี่มากมาย ซึ่งแทบทุกร้านแม้จะมีคนนั่งบางตา แต่พนักงานรอคิวรับ-ส่งอาหารกลับมีเยอะขึ้น ผู้เขียนจึงได้บอกผู้อ่านแต่เนิ่นๆ ว่าเรากำลังอ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้อยู่ในปีพอศอใด

‘เช้าวันศุกร์ที่ผ่านมา นักเขียนตื่นมาพบข้อความในกล่อง นางสาวกนกวลี จันทร์จำปา นักศึกษาชั้นปีที่ 3 วิชาเอกภาษาไทย ส่งมาขออนุญาตสัมภาษณ์หัวข้อไม่เกี่ยวกับนิยายหรือเรื่องสั้นได้รับรางวัลระดับชาติเหมือนนักศึกษาหลายสถาบันกลุ่มก่อนๆ’ (หน้าเดียวกัน)

จากนั้นผู้เขียนจึงค่อยเท้าความหรือย้อนเล่าก่อนการสัมภาษณ์ให้เราได้ประจักษ์อย่างหนึ่งว่าการเขียนเรื่องสั้นนั้น ไม่จำเป็นต้องเล่าตามเข็มนาฬิการเสมอไป วัตถุดิบเดียวกัน (เรื่องที่นำมาเล่า) อยู่ในมือของใคร ประสบการณ์ของใคร ก็เล่าตามความถนัดของคนนั้น

และในย่อหน้านี้ ผู้เขียนก็บอกให้เรารู้ว่าผู้ที่จะมาสัมภาษณ์เป็นใครและตัวผู้ถูกสัมภาษณ์นั้นเป็นใคร ได้สั้น กระชับ ไม่เยิ่นเย้อ ได้รู้ทั้งวัน เวลา และความทันสมัยของการสื่อสาร

 

ยิ่งไปกว่านั้น เรื่องสั้นเรื่องนี้ ยังเป็นช่วงจังหวะเวลาเดียวกับที่คนทั้งโลกกำลังเผชิญหน้ากับการระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ต้องสวมหน้ากากอนามัยเก็บตัวอยู่กับบ้าน การสั่งของออนไลน์ แกร็บฟู้ดมากมายจึงวิ่งเต็มท้องถนน กลายเป็นรายได้หลักของคนว่างงานจากพิษเศรษฐกิจซบเซาและเป็นรายได้พิเศษของคนต้องการมีรายได้เสริมไปอีกทาง

ทำนองเดียวกัน ชุดข้อมูลที่นำเสนอในเรื่องของเสื้อผ้ามือสองหรือขยะที่กล่าวไปแต่แรก ก็เล่าอย่างเนียนๆ ผ่านทางอาหารจั๊งฟู้ดหรือ ‘อาหารขยะ’ ที่เรามักชอบสั่งมากินกันเป็นเรื่องปกติและทิ้งกันเป็นเรื่องปกติ (ทั้งกล่องโฟม ถุงพลาสติกที่ใช้ใส่อาหารก็กลายเป็นขยะตามมา)

ซึ่งตรงส่วนนี้ผู้เขียนก็ทยอยหั่นออกมาเล่าได้อย่างมีชั้นเชิง โดยค่อยๆ รินเติมใส่เข้าไปทีละช่วงอย่างพอเหมาะ สิ่งที่ผู้เขียนหยิบจับเข้ามาใส่ในเรื่อง จึงแทบไม่เห็นความล้นเกิน ระเกะระกะ รกหูรกตา แต่เป็นความพบดิบพอดีของมือเรื่องสั้นโดยแท้ (อาทิ ฉากบรรยายหนึ่งย่อหน้าแต่ทรงพลังของภาพกองขยะในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ (ทุ่งท่าลาด) เป็นต้น)

ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ผู้เขียนอธิบายภาพตัวละครนักเขียนอาวุโส (หรือผู้มีประสบการณ์ในการทำงานมากกว่า) โดยการใส่รายละเอียดเพิ่มเติมเข้าไปว่า

‘เขาลุกยืน เข่าข้อแข้งขาติดๆ ขัดๆ พาร่างหนาๆ ตรงไปหน้าเคาน์เตอร์ บาริสต้าสาวสวมเชิ้ตดำ คาดผ้ากันเปื้อนยิ้มอย่างคุ้นเคย เขาสั่ง จ่ายเงิน รับเงินทอนพร้อมสลิปพิมพ์รหัสไวไฟกลับมานั่งรอ’ (หน้า 169)

ก็ทำให้เรารู้ถึงสรีระท่าทางของตัวละครนักเขียนอาวุโสมากขึ้น มีมิติมากขึ้น ไม่แบนราบในจินตนาการคนอ่านจนเกินไป

และยังได้รู้ว่าเป็นร้านกาแฟที่นักเขียนมาใช้บริการบ่อยจนคุ้นหน้าตากัน

 

หรือตอนนักเขียนเล่าผ่านสายตาพระเจ้าก็ทำออกมาได้อย่างลึกและชัดเจน (หรือ ‘Point of View’ โดยผู้เขียนจะทำหน้าที่เหมือนผู้กำกับฯ รู้เห็นทุกอย่างทั้ง ความใกล้-ไกล ฉาก สถานที่ อารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร ประดุจดังสายตาพระเจ้าที่มองลงมา)

‘ตอนนักเขียนลุกจากเบาะนั่งเบี่ยงตัวหลบเก้าอี้ของเธอ เด็กสาวได้กลิ่นคุ้นจมูก กลิ่นหม่นๆ ชวนหดหู่ คล้ายสูดดมเนยเทียมในแป้งโรตี ทุกครั้งที่กอดพ่อเธอจะได้กลิ่นนี้และแกล้งบ่นว่าเหม็นเปรี้ยว พ่อบอกว่าเป็นกลิ่นคนแก่ มันออกมาจากข้างใน ร่างกายจัดการกรดไขมันกับไขมันอิ่มตัวไม่สมบูรณ์อย่างคนหนุ่มสาว คราบไขมันตกค้างในรอยเหี่ยวย่นสบู่ชำระล้างไม่หมด’ (หน้า 169)

รวมทั้งการหยิบยกหนังสือทั้งสองเล่มอย่าง ‘ตาคลี…น้ำตาไม่มีเสียงร้องไห้’ ของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์’ และ ‘ชีวิตดีทุกด้านด้วยการจัดบ้านครั้งเดียว’ ของ ‘คนโด มาริเอะ’ มาอ้างถึง ก็เป็นไปอย่างสมเหตุสมผลและไหลลื่นไปกับเรื่องราวที่กำลังให้สัมภาษณ์และให้ความรู้คนอ่านไปพร้อมกันว่า การบ่าทะลักเข้ามาของเสื้อผ้ามือสองในสองช่วงเวลาจากยุคของอเมริกาและญี่ปุ่นนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร

“เอาจริงๆ ต้องย้อนกลับไปตอนอเมริกามาตั้งฐานทัพที่ตาคลี อู่ตะเภา โคราช อุดรฯ อุบลฯ ขอนแก่น สงครามเวียดนามเริ่มปีไหนไปเปิดกูเกิลเอาเอง แต่ราวๆ ปี 2513 ผมยังนุ่งขาสั้นกากี เด็กรุ่นนั้นได้ยินเพลงฝรั่งทางวิทยุทหารบกถี่ขึ้นๆ เมืองนครบ้านเราพบเห็นทหารอเมริกันบ่อยๆ ปี 2515 ตอนไปเรียนรามฯ อยู่บ้านพักศุลกากรแถวคลองเตยกับอา เยื้องๆ กรมศุลกากรมีศูนย์สินค้าอเมริกันใหญ่โต วันเสาร์-อาทิตย์ทหารผิวขาวผิวสีควงสาวไทยมาซื้อของกินของใช้จำเป็น ที่นี่ผมเห็นเมียเช่าตัวเป็นๆ ครั้งแรกและเริ่มตามอ่านข้อเขียน ‘ตาคลี…น้ำตาไม่มีเสียงร้องไห้’ ของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์’ ในหนังสือพิมพ์…ยังอยู่ในประเด็นหรือเปล่า” (หน้า 171-172)

“หนังสือเล่มนี้มีอิทธิพลต่อความคิด ความเชื่อและพฤติกรรมร่วมสมัยของคนญี่ปุ่นมาก ปกติคนญี่ปุ่นต้องรับมืออุบัติภัยจากแผ่นดินไหว สึนามิแทบทุกปี พวกเขาตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม สิบปีมานี้คนญี่ปุ่นลุกขึ้นจัดบ้านกันขนานใหญ่ อะไรไม่ใช้ทิ้งหมด บ้านโปร่งโล่งอยู่สบาย ถูกสุขลักษณะ มีความสุขเพิ่มขึ้น มีคนรวบรวมของญี่ปุ่น ยัดกระสอบใส่ตู้คอนเทนเนอร์ใส่เรือสินค้าส่งมาเมืองไทย จังหวัดเราตอนนี้มีร้านสินค้าญี่ปุ่นมือสองสิบกว่าร้าน กระจายอยู่เกือบทุกอำเภอ จังหวัดอื่นๆ ก็เหมือนกัน ของใช้จำเป็น เสื้อผ้า แว่นตา รองเท้า ปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน เฟอร์นิเจอร์ ไม้กอล์ฟ กระเป๋าแบรนด์เนมถูกกว่าของใหม่ๆ หลายเท่า ใครตาดีเห็นก่อนได้ก่อน ของก็มากชนิด ตั้งแต่หน้าบ้านถึงก้นครัว หลากหลายกว่ายุคคลั่งเสื้อผ้าอเมริกันหลายสิบเท่า” (หน้า 176)

ดังจะเห็นว่าผู้เขียนเน้นการปรากฏซ้ำๆ ในเรื่องของ ‘ขยะ’ (Motif) ขยายความจากเรื่อง ‘เสื้อผ้ามือสอง’ สู่การสัมภาษณ์นอกประเด็น เนื้อหาล้นเกินที่ “อาจกลายเป็นขยะรอทิ้ง” รวมทั้งภาพกองขยะที่เน่าเหม็นในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ (ทุ่งท่าลาด) ที่ยังเป็นปัญหาคาราคาซัง ก่อนขมวดรวมเป็นบทสรุปสั้นๆ ว่าขยะจากที่อื่น

“มันเข้าไปอยู่แทบทุกบ้าน” เขาพูด

“น่าจะใช่ค่ะ…บ้านย่าหนูขนาดอยู่ต่างอำเภอ เสื้อผ้าญี่ปุ่น เสื้อเกาหลีตัวสิบบาท ยี่สิบบาทไปถึง ถ้าแถวบ้านย่ามี ที่อื่นก็มีเหมือนกัน ตลาดเปิดท้ายไปถึงไหน ขยะที่ว่าไปถึงทุกที่ เหมือนเรานำขยะมาแล้วกระจายออกไปตามแหล่งต่างๆ ทั่วประเทศ” (หน้า 177)

จัดบ้านครั้งเดียว นอกจากเป็นชื่อเรื่องสั้นแล้ว จึงสื่อความข้ามพรมแดนไปไกลว่า ‘บ้านของคนอื่น’ กำจัดขยะออก แต่บ้านของเราเต็มใจรับขยะเข้ามาแทนที่

เรื่องนี้จึงเต็มไปด้วยขยะมือสองแต่ต้นจนจบเรื่อง

ตั้งแต่ขยะจากการบริโภคอาหารขยะที่มากเกิน

ขยะจากการจับจ่ายซื้อเสื้อผ้ามือสองราคาถูก

ขยะจากการนำเข้าสินค้าทิ้งแล้วขนถ่ายข้ามประเทศ

จากเรื่องที่ดูเหมือนว่าเป็นเรื่องเล็กๆ แต่เมื่อ ‘ลอง เรื่องสั้น’ หรือ ‘จำลอง ฝั่งชลจิตร’ กวาดภาพกว้างๆ ให้เห็นในรายละเอียดเพียงไม่กี่หน้ากระดาษ ‘จัดบ้านครั้งเดียว’ จึงทำให้เราเห็นถึงปัญหา ภูเขาเลากาลูกยักษ์ ที่ทิ้งถมอยู่ในบ้านเรา ที่ในวันนี้หากเรายังปล่อยปละละเลย ทำปิดตาไม่รู้ไม่เห็นและไม่ตระหนักถึง

วันหนึ่งข้างหน้าเราอาจจะต้องช่วยกัน ‘จัดบ้าน’ ขนานใหญ่

หมายเหตุ : เรื่องสั้น ‘จัดบ้านครั้งเดียว’ ตีพิมพ์ในนิตยสารราหูอมจันทร์ Vol.24 ฉบับต้นฤดูกาล 64 ‘ฉลามเสือและอื่นๆ’