สิ่งที่ต้องระวังใน Clubhouse | จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin
An illustration photo taken on January 25, 2021 shows the application Clubhouse on a smartphone in Berlin, after Thuringia's state premier Bodo Ramelow admitted on the chat app to playing Candy Crush on his phone during online pandemic response meetings with German Chancellor Angela Merkel. - Bodo Ramelow, head of the eastern Thuringia state, made the confession during what he thought was a closed meeting on the invitation-only audio chatroom app Clubhouse at the weekend. (Photo by Odd ANDERSEN / AFP)

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

Clubhouse

ฟังก็ได้ พูดก็ดี

 

ช่างพอดิบพอดีกับช่วงที่ฉันพยายามลดการใช้ Facebook ให้น้อยลง โซเชียลมีเดียหน้าใหม่ก็เข้ามา แถมเป็นโซเชียลที่มีคอนเซ็ปต์ค่อนข้างสดใหม่ และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว

โซเชียลมีเดียที่ว่าก็คือ Clubhouse (คลับเฮาส์) ค่ะ

คำอธิบายสั้นๆ สำหรับใครที่อาจจะยังไม่มีโอกาสได้ทดลองใช้ Clubhouse คือโซเชียลมีเดียแบบ audio-based นั่นหมายความว่าเน้นการใช้เสียงเป็นหลัก และเราเข้าไปเราจะทำได้สองอย่าง คือไม่พูด ก็ฟัง หรือทั้งฟังทั้งพูด

คล้ายๆ กับเราเดินเข้าไปในตึกที่เต็มไปด้วยห้องสัมมนาเรียงรายกัน เราอ่านป้ายหัวข้อหน้าห้องแล้วสนใจห้องไหนก็ผลักประตูเข้าไปนั่งฟัง สงสัยอะไร หรืออยากแบ่งปันมุมมองของตัวเองเราก็ยกมือเพื่อขอพูด เบื่อเมื่อไหร่ก็เดินย่องออกมาเงียบๆ แล้วหาห้องอื่นเข้าต่อไปเรื่อยๆ

ความพิเศษของแอพพลิเคชั่นนี้ก็คือการไม่เปิดให้ใครก็ได้เข้าไปเล่นง่ายๆ คนที่จะเข้าไปในแอพพ์ได้ นอกจากจะต้องมีปัจจัยพื้นฐานคือการใช้ iPhone หรือ iPad แล้ว ก็ยังจะต้องได้รับคำเชื้อเชิญให้เข้าไปเล่นจากคนที่เป็นสมาชิกอยู่ก่อน คล้ายๆ กับการเป็นสมาชิก Private Club ที่ถ้าหากไม่มีคนให้การรับรอง เราก็ไม่สามารถเข้าถึงได้

ด้วยความที่ธรรมชาติของแพลตฟอร์มนี้ส่งเสริมให้มีการถกเถียงกันในหัวข้อต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนงานเสวนาแบบเสมือนจริง

ผนวกกับความรู้สึกแสนพิเศษที่มาพร้อมกับการได้รับ “อนุญาต” ให้เข้าไปได้ ก็ไม่น่าแปลกใจที่ Clubhouse จะได้รับความนิยมรวดเร็วแม้จะเพิ่งเปิดตัวไปได้ไม่ถึงหนึ่งปีเท่านั้น

หลังจากทดลองใช้งานอย่างจริงจังมาหลายวัน ฉันก็แบ่งความรู้สึกที่มีต่อ Clubhouse ออกเป็น 2 มุมมอง

มุมมองแรก คือมุมมองของการเป็นคนทำคอนเทนต์ หน้าที่ของฉันคือต้องเข้าไปทำความรู้จักแอพพลิเคชั่นนี้ให้มากที่สุดเพื่อดูว่าจะใช้ศักยภาพของมันในการสื่อสารกับผู้ติดตามได้อย่างไรบ้าง

นั่นก็แปลว่าฉันต้องทดลองรับบทบาทของการเป็นผู้พูด ภายใต้โจทย์ว่าทำอย่างไรให้เราสามารถสื่อสารได้รอบด้านที่สุดโดยใช้เพียงแค่เสียงเท่านั้น และจะต้องทำให้ผู้ที่เข้ามาฟังรู้สึกว่าได้มีส่วนร่วมและกระตุ้นให้เกิดการแสดงออกความคิดเห็นด้วย

ข้อดีของการเปิดห้องจัดรายการบน Clubhouse เมื่อเทียบกับการทำรายการโทรทัศน์ ทำคลิปออนไลน์ หรือการไลฟ์บน Facebook หรือ YouTube ก็คือ การจัดรายการบน Clubhouse ทำได้โดยที่แทบจะไม่ต้องมีการเตรียมตัวอะไรมากมายนอกจากเนื้อหาว่าจะพูดอะไรแล้ว พิธีกรก็ไม่ต้องแต่งหน้า ไม่ต้องทำผม

อันที่จริงจะไม่แต่งตัวเลยก็ไม่มีใครว่า อยู่ในลุคที่สบายที่สุด จะนั่งท่าไหน เลื้อยบนโซฟากี่องศาก็ได้ นึกครึ้มอกครึ้มใจอยากสื่อสารเรื่องอะไรออกไปตอนดึกๆ ก็ไม่ต้องลุกขึ้นมาปัดแก้ม ทาปาก เขียนคิ้ว เป็นการทลายข้ออ้างของความไม่พร้อมไปโดยสิ้นเชิง

ถ้าอยากให้เนื้อหาหลากหลายขึ้นด้วยการเชิญสปีกเกอร์คนอื่นมาก็สามารถทำได้ง่ายๆ เพียงแค่กดเชิญเข้ามาในห้อง ทำให้หัวข้อที่คุยมีอรรถรสและมีความคิดเห็นที่รอบด้านมากขึ้น เมื่อใช้แค่เสียง ไม่ต้องมีการเดินทางมาเจอกัน ไม่ต้องเปิดกล้อง

การจะเชิญคนอื่นเข้ามาพูดคุยด้วยกันในห้องก็ทำได้ง่ายแสนง่าย

 

หากมองในมุมมองที่สอง คือมุมมองของผู้ฟัง ฉันคิดว่า Clubhouse เป็นโซเชียลมีเดียที่ตอบโจทย์สำหรับฉันมากๆ

ทุกวันนี้ โซเชียลมีเดียที่เราใช้หลักๆ จะสื่อสารผ่านภาพและข้อความ

นั่นแปลว่าเราจะต้องอยู่กับจอตรงหน้าเท่านั้น ไม่สามารถทำอย่างอื่นไปด้วยได้

ถ้าจะเดินไปด้วย เล่น Facebook ไปด้วย ก็เสี่ยงกับการหกล้ม ชนนั่นชนนี่ หรือเกิดอุบัติเหตุ

แต่พอเป็น Clubhouse ที่เราใช้แค่ทักษะการฟังเท่านั้น มือและตาของเราก็ว่างที่จะไปทำอย่างอื่น เราขับรถไปด้วยก็ได้ ทำงานบ้านไปด้วยก็ได้ เรายังเห็นคนในครอบครัวของเราอยู่ในสายตาได้ตลอดเวลา

การใช้หูในการฟังยังช่วยกระตุ้นให้เราขบคิดเนื้อหาที่กำลังฟังไปพร้อมๆ กัน และฝึกจินตนาการของเราด้วย เพราะบน Clubhouse เราไม่สามารถส่งภาพหรือข้อความหากันได้เลย

และถ้าวันไหนอยากลองเปลี่ยนสถานะจากผู้ฟังเป็นผู้พูดดูบ้าง แค่กดปุ่มยกมือ และเปิดไมโครโฟน ก็ได้ฝึกการแสดงออกความคิดเห็นและฝึกทักษะการพูดด้วย

หากเปิดเข้าไปสำรวจ Clubhouse ในไทยตอนนี้ก็จะพบว่าเนื้อหาหลักๆ จะเทไปทางด้านสาระเสียเป็นส่วนใหญ่ ห้องที่ได้รับความนิยมคือห้องที่ถกเถียงกันในเรื่องอย่างการลงทุน การตลาด เทคโนโลยี ไปจนถึงวิเคราะห์การเมือง ซึ่งก็สะท้อนถึงความสนใจของกลุ่มสมาชิกในช่วงต้น

อย่างไรก็ตาม ไม่นานหลังจากนี้เมื่อมีจำนวนผู้ใช้งานเยอะขึ้นเราก็น่าจะได้เห็นห้องเสวนาที่แยกย่อยและหลากหลายมากขึ้น และแน่นอนจะต้องมีความบันเทิงเพิ่มขึ้นมากกว่านี้

 

สิ่งที่ผู้ก่อตั้ง Clubhouse ต้องการเน้นย้ำมากๆ ก็คือ อยากให้ผู้ใช้งานทุกคนใช้โปรไฟล์จริง ใช้ชื่อจริง แสดงตัวตนของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา

อันที่จริงแล้วตัวระบบเองไม่ได้ถึงกับบังคับไม่ให้ใช้นามแฝงเลย แต่ก็มีการสงวนสิทธิ์ว่าหากไม่ใช้ชื่อจริงก็จะถือว่าขัดกับกฎระเบียบของการใช้งานแพลตฟอร์ม ก็เลยทำให้ในตอนนี้ผู้ใช้งานส่วนใหญ่มีตัวตนที่ตามหาได้ ทุกคนจึงต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองพูด

แต่ในขณะเดียวกันก็จะไม่ตอบโจทย์เรื่องความเป็นส่วนตัว

อันนี้เราเคยเห็นตัวอย่างจาก Facebook มาแล้วว่าช่วงหนึ่ง Facebook พยายามบังคับให้เราทุกคนใช้ชื่อจริง นามสกุลจริง แต่ในที่สุดก็ต้องยอมถอยทัพและให้ทุกคนกลับมาตั้งชื่ออะไรก็ได้เหมือนเดิม

ก็น่าสนใจว่าวัฒนธรรมของ Clubhouse จะแข็งแกร่งและยืนหยัดเรื่องหนึ่งได้แค่ไหน

อีกเรื่องที่ Clubhouse จะต้องระวังในการก้าวเดินไปข้างหน้าก็คือจะสร้างสมดุลอย่างไรให้เกิดอิสรภาพในการถกเถียงแม้กระทั่งหัวข้อที่อ่อนไหวบนแพลตฟอร์มนี้ได้โดยไม่ถูกเซ็นเซอร์หรือลงโทษ

แต่ในขณะเดียวกันก็จะต้องระมัดระวังการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ ข่าวปลอม ข่าวลวง และทฤษฎีสมคบคิดทั้งหลาย เพราะว่านี่น่าจะเป็นแพลตฟอร์มที่จะเติบโตและอยู่ต่อกันไปได้ยาวๆ

ถ้าคุณผู้อ่านคนไหนอยู่บน Clubhouse ก็อย่าลืมแวะมาติดตาม @sueching บ้างนะคะ