ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 กุมภาพันธ์ 2564 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ
มงคล วัชรางค์กุล
คนไทยรอวัคซีนได้
ไม่จำเป็นต้องเป็น
‘หนูทดลองยา’ จริงหรือ?
พร้อมปิดกั้นห้ามเอกชนและ อปท.นำเข้า
ผมเขียนบทความเรื่อง “วัคซีนอินเดีย Covishield” ลงในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 29 มกราคม-4 กุมภาพันธ์ 2564 เล่าว่า
อินเดียมอบวัคซีน Covishield ที่เป็นสูตรของ AstraZeneca กับ Oxford U. ของอังกฤษ ผลิตในอินเดีย ให้เป็นของขวัญแก่ประเทศเนปาล, บังกลาเทศ, พม่า, มัลดีฟส์, ภูฏาน, เซเชลส์, มอริเชียส และกำลังจะมอบให้ศรีลังกาและอัฟกานิสถาน
ตอนที่เขียนต้นฉบับนั้น แอบนึกในใจว่า ทำไมอินเดียไม่มอบวัคซีน Covishield ให้เป็นของขวัญแก่ประเทศไทยบ้าง
พอถึง 28 มกราคม 2564 ผมเห็นคลิปของ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล “คุณปลื้ม” เล่าว่า “ลุงตู่” ปฏิเสธวัคซีนของขวัญ 2 ล้านโดสจากอินเดีย
ปล่อยให้คนไทยเป็นพลเมืองชั้นสองของโลก ยังไม่ได้รับวัคซีนจนทุกวันนี้
คำถามในใจผมคือ เป็นเรื่องจริงหรือ ที่เราปฏิเสธวัคซีนของขวัญจากอินเดีย ไม่มีสื่อไหนลงข่าวเลย
30 มกราคม 2564 เฟซสบุ๊กของธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ลงว่า
“ตามที่มีข่าวว่ากระทรวงการต่างประเทศปฏิเสธข้อเสนอวัคซีนจากอินเดียนั้น ขอแจ้งให้ทราบว่า กระทรวงการต่างประเทศได้รับข้อเสนอวัคซีนดังกล่าวผ่านสถานทูตอินเดียจริง แต่ไม่ได้ปฏิเสธข้อเสนอ และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว”
แปลความตรงๆ ได้ว่า อินเดียได้เสนอให้วัคซีน Covishield เป็นของขวัญแก่ไทยจริง โดยเสนอให้ผ่านช่องทางการทูตอย่างเป็นทางการ
แต่ทางรัฐบาลไทยนิ่งเฉย ไม่ตอบรับและปิดข่าวเงียบไม่ออกสื่อใด
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศต้องออกมาแย้มเรื่องจริงที่เกิดขึ้นทางเฟซบุ๊กส่วนตัว เพราะมีคนไปกล่าวหาว่ากระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ปฏิเสธวัคซีนของอินเดีย จึงต้องแฉให้คนได้รู้เรื่องที่เกิดขึ้น
ต้องขอบคุณโฆษกกระทรวงการต่างประเทศที่แย้มออกมาให้ได้เห็น “ธาตุแท้” ของฟากรัฐบาล
เรื่องของเรื่องก็คือ เมืองไทย “อีโก้ (Ego)” หยิ่ง ไม่ยอมรับวัคซีนของขวัญจากอินเดีย ที่ทางอินเดียเรียกว่า “วัคซีนการทูต (Vaccine Politics)”
ได้แต่บอกให้คนไทยรอวัคซีน AstraZeneca ที่ผลิตในเมืองไทย จะฉีดให้คนไทยเดือนมิถุนายน รอไปอีก 5 เดือน
ก่อนหน้านั้น ในเดือนมกราคม ทางการไทยประกาศว่าจะมีการฉีดวัคซีนเข็มแรกให้คนไทยในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ (มติชน 25 มกราคม 2564) ความหมายคือให้เป็นของขวัญวันวาเลนไทน์แก่คนไทย
ในข่าวตอนนั้นบอกว่า อย.ไทยจะให้การรับรองฉุกเฉินวัคซีน Sinovac ที่ไทยสั่งซื้อจากจีน 2 ล้านโดส
ต่อมาก็มีการออกข่าวว่า อย.ไทยจะให้การรับรองวัคซีน AstraZeneca ที่ไทยสั่งซื้อจากอิตาลีล็อตแรก 50,000 โดส รวมทั้งให้ข่าวว่าวัคซีนจากอิตาลีไม่มีปัญหา จะใช้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีให้ได้รับวัคซีนตามกำหนดเวลา
ขณะที่เขียนต้นฉบับนี้ 7 กุมภาพันธ์ 2564 ทั้งวัคซีน Sinovac ของจีน และ AstraZeneca ของอิตาลี ต่างได้รับการรับรองจาก อย.ไทยแล้ว
วัคซีน Sinovac เพิ่งได้รับการรับรองในจีนเมื่อวานนี้
ทั้งนี้ ยังไม่มีวัคซีนแม้แต่เข็มเดียวในเมืองไทย
แถม รมต.สาธารณสุขยังออกมาปฏิเสธว่าตนไม่เคยพูดว่า คนไทยจะได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกวันที่ 14 กุมภาพันธ์ (ข่าวสด 4 กุมภาพันธ์ 2564)
จริงอยู่ รมต.อาจจะไม่ได้เอ่ยปากพูด แต่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้แถลงเอง แล้วจะแตกต่างอะไร
29 มกราคม 2021 Reuters รายงานข่าวว่าสหภาพยุโรป (The European Commission) เซ็นสัญญากับ AstraZeneca ในยุโรปห้ามส่งออกวัคซีนไปยังประเทศนอก EU ต้องส่งให้แต่ประเทศ EU 27 ประเทศก่อนเท่านั้น
ความหวังวัคซีน AstraZeneca จากอิตาลีของไทยสูญสลายมลายสิ้น
รมต.อนุทิน ชาญวีรกูล บอกว่า การที่ไทยได้รับวัคซีนล่าช้า เกิดจากการขนส่งที่ผิดพลาด ไม่ใช่การเจรจาที่ล้มเหลวของรัฐบาล
ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่น่าตกใจคือ
ไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ไม่เข้าร่วมโครงการวัคซีนระดับโลก COVAX
COVAX คือโครงการที่จัดตั้งในเดือนเมษายน 2020 ภายใต้การนำขององค์การอนามัยโลก (WHO)
เพื่อที่จะสนับสนุนการพัฒนา จัดซื้อ และจัดส่งวัคซีน Covid-19 ไปยังทั่วทุกมุมโลก
COVAX ถือธงนำโดย WHO ร่วมมือกับองค์การพันธมิตรเพื่อวัคซีน (The Vaccine Alliance) ซึ่งก่อตั้งโดยบิล เกตส์ (Bill Gates) และภรรยาเมลินดา (Melinda) รวมทั้งกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations)
จุดมุ่งหมายของ COVAX ที่มากไปกว่าการแจกจ่ายวัคซีน Covid-19 คือการที่ COVAX ถือพันธกิจหลักว่าจะต้องมีการแบ่งปันวัคซีน Covid-19 ที่เท่าเทียมกันระหว่างประเทศยากจนกับประเทศร่ำรวย อันเป็นจุดมุ่งหมายหลักของ COVAX
COVAX เริ่มจัดสรรวัคซีนในต้นเดือนกุมภาพันธ์ให้แก่ประเทศยากจนและประเทศระดับปานกลางแล้ว ตัวอย่างเช่น
บรูไน 100,000 โดส
บราซิล 10,672,800 โดส
กัมพูชา 1,296,000 โดส
อินโดนีเซีย 13,708,800 โดส
เกาหลีเหนือ 1,992,000 โดส
เกาหลีใต้ 2,713,800 โดส
ลาว 564,000 โดส
มาเลเซีย 1,624,800 โดส
ฟิลิปปินส์ 5,617,800 โดส
สิงคโปร์ 288,000 โดส
เวียดนาม 4, 886,400 โดส เป็นต้น
COVAX วางแผนว่า จะสามารถแจกจ่ายวัคซีนไปทั่วโลกภายในปี 2021 นี้ ในจำนวนมากกว่า 2 พันล้านโดส โดย 1.8 พันล้านโดสจะถูกส่งไปยัง 92 ประเทศยากจน ซึ่งจะทำให้ประชากรโลกกว่า 20 % เข้าถึงวัคซีนโควิด-19
มีรัฐกว่า 180 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมโครงการนี้ ยกเว้นประเทศไทย
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ออกมาชี้แจงว่า ไทยไม่ได้สั่งจองวัคซีนของ COVAX เนื่องจากมีความยุ่งยากในการทำสัญญา และทางการไทยมองว่าการสั่งจองวัคซีนจาก COVAX อาจทำให้การได้รับวัคซีนมีความไม่แน่นอน เนื่องจากไทยอยู่ในประเทศปานกลางที่จะต้องซื้อวัคซีนในราคาที่แพงกว่าประเทศยากจน
รมต.สาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกุล บอกว่า ไทยพยายามเจรจากับ COVAX มาโดยตลอด แต่ไทยไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่จะได้รับวัคซีนฟรี และถ้าต้องซื้อจะเลือกยี่ห้อไม่ได้ มีความไม่แน่นอนทั้งชนิด จำนวนและราคา ต้องจ่ายเงินล่วงหน้า ไม่รู้ว่าจะได้วัคซีนเมื่อไร
การที่เราจัดหาเอง จะได้วัคซีนที่เหมาะสมกับการใช้ มีเงื่อนไขเรื่องราคาและเวลาที่ชัดเจนกว่า จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยมากกว่า
ข้อเท็จจริงที่ รมต.ไม่พูดคือ ถึงจะไม่ได้รับวัคซีนฟรี แต่ซื้อผ่าน COVAX จะได้วัคซีนราคาถูกกว่าท้องตลาด เช่น Pfizer-BioNTech ขายวัคซีนในราคาต้นทุนให้ COVAX 40 ล้านโดส
ตามหลักสหกรณ์คือรวมกันซื้อจำนวนมากจะได้สินค้าราคาถูกกว่า
มีคนสงสัยว่า รัฐบาลต้องซื้อวัคซีนจากโรงงานไทยราคาโดสละเท่าไร เปรียบเทียบกับราคา COVAX
ส่วนเงื่อนไขเรื่องเวลาคือ ประเทศเพื่อนบ้านเราที่ซื้อหรือได้รับบริจาควัคซีนผ่าน COVAX ได้รับวัคซีนล็อตแรกกันหมดแล้ว ในตารางที่นำมาให้ดู มีทั้งลาว กัมพูชา มาเลเซีย เวียดนาม และประเทศเศรษฐีอย่างบรูไน, สิงคโปร์
ยุทธศาสตร์เพื่อประชาชนไม่ได้อยู่ที่ตัววัคซีนว่าจะเป็นยี่ห้ออะไร แต่อยู่ที่เงื่อนไขเรื่องเวลาว่าจะได้มาเมื่อไร
การได้รับวัคซีนเร็วเท่าไร จะช่วยเพิ่มขวัญกำลังใจให้ประชาชนมากขึ้น ทำให้สถิติการติดเชื้อลดลงอย่างเห็นได้ชัด เศรษฐกิจจะฟื้นตัวดีขึ้นโดยรวดเร็ว
นี่คือความจริงที่รัฐบาลไทยมองข้าม
สถิติในอิสราเอลที่ฉีดวัคซีนได้สูงสุดในโลกเมื่อเทียบตามสัดส่วนประชาชน คือฉีดได้ 1 ใน 3 ของตนในประเทศ ใช้วัคซีนของไฟเซอร์
การติดตามผลในอิสราเอล เห็นผลว่าผู้สูงอายุที่เกินกว่า 60 ปี มีอัตราป่วยลดลงอย่างเห็นได้ชัด (กรุงเทพธุรกิจ 26 มกราคม 2564)
ในอเมริกามีรายงานว่าภายหลังจากมีการฉีดวัคซีนเข็มแรกเมื่อ 14 ธันวาคม 2020 จนถึงปัจจุบันมีผลดีทำให้อัตราติดเชื้อลดลงอย่างเห็นชัด รวมทั้งอัตราเสียชีวิตลดลงอย่างมาก เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นมาก ตอนนี้มีการเปิดภัตตาคารทั่วประเทศให้นั่งกินได้ แต่ต้องนั่งโอเพ่นแอร์ภายนอก อนุญาตให้ใช้พื้นที่ 50%
ในเมืองเรดดิ้ง รัฐเพนซิลเวเนีย อนุญาตให้นั่งกินในภัตตาคารได้แล้ว แต่ให้ใช้พื้นที่ไม่เกิน 50%
4 กุมภาพันธ์ 2564 มีรายงานข่าว รมต.สาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล เปิดเผยในการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ก้าวต่อไปการ์ดไม่ตก หลังโควิดระลอกใหม่” ในงานสัมนา “พลิกหลักสูตรวัคซีนสู้โควิด พลิกวิกฤตเศรษฐกิจไทย” ความตอนหนึ่งว่า
สถานการณ์ในประเทศถือว่าไม่รุนแรง สามารถควบคุมได้
“จึงไม่จำเป็นต้องเป็นหนูทดลองเรื่องวัคซีน”
เป็นการเบี่ยงเบนประเด็นที่ไม่สามารถจัดหาวัคซีนให้คนไทยได้ มาพูดเอาบุญคุณว่าเป็นการปกป้องคนไทย “ไม่ให้เป็นหนูทดลองยา”
นอกจากนี้ ทางรัฐบาลยังปิดกั้นไม่ให้ภาคเอกชนและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นนำเข้าวัคซีน
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงเมื่อ 26 มกราคม 2564 ว่านายกรัฐมนตรียินดีให้เอกชนนำเข้าวัคซีน
แต่เมื่อมีข่าวว่าองค์กรเอกชนใน จ.ภูเก็ต ขออนุญาตนำเข้าวัคซีน เพื่อฉีดให้บุคลากรภาคท่องเที่ยว รวมทั้ง อบจ.ภูเก็ตจะใช้เงินสะสมซื้อวัคซีนฉีดให้ประชาชนในท้องถิ่นเพื่อหวังฟื้นภาคท่องเที่ยว จ.ภูเก็ต
ปรากฏว่า กระทรวงมหาดไทยออกหนังสือด่วนที่สุด 6 กุมภาพันธ์ 2564 ลงนามโดยปลัดกระทรวงมหาดไทย อ้างถึงคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินว่า
วัคซีนป้องกันโควิด-19 มีปริมาณจำกัด ประกอบกับเพื่อให้การบริหารจัดการวัคซีนเป็นประโยชน์กับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงสุด รวมทั้งเกิดความปลอดภัยกับผู้ได้รับวัคซีนอย่างสูงสุด
จึงออกคำสั่งห้ามเอกชนและ อปท. (องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น) จัดหาวัคซีนโดยตรง ให้เฉพาะภาครัฐเท่านั้นที่จะดำเนินการจัดซื้อและบริหารจัดการวัคซีนและกระจายวัคซีนตามแผนการบริการจัดการวัคซีน เพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายและเพื่อให้สามารถติดตามอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังการได้รับวัคซีน
ล่าสุด ภาคเอกชน 14 องค์กรใน จ.ภูเก็ต ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี คัดค้านคำสั่งห้ามเอกชนนำเข้าวัคซีน
งานนี้ “วัดใจ” ลุงตู่ว่าจะเห็นใจความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจของประชาชน ที่ต้องดิ้นรนแก้ไขด้วยการนำเข้าวัคซีนเอง
หรือจะ “บังคับ” ให้รอวัคซีนไทยเดือนมิถุนายน อย่างเดียว