โฟกัสพระเครื่อง /โคมคำ/เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.2504 หลวงพ่อย่น ฐิตปัญโญ วัดบ้านฆ้อง โพธาราม

หลวงพ่อย่น ฐิตปัญโญ

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.2504

หลวงพ่อย่น ฐิตปัญโญ

วัดบ้านฆ้อง โพธาราม

“พระครูพิพิธธรรมาภิรม” หรือ “หลวงพ่อย่น ฐิตปัญโญ” อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านฆ้อง ต.บ้านฆ้อง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี พระเกจิชื่อดัง ต้นตำรับเหรียญเต่า แห่งลุ่มแม่น้ำแม่กลอง

ด้านวัตถุมงคลมีหลายรูปแบบทั้งเหรียญ, เหรียญพระนาคปรก ล็อกเกต ฯลฯ แต่ที่สร้างชื่อเสียงและได้รับการยอมรับมากที่สุด คือ “เหรียญเต่า”

กล่าวได้ว่า หลวงพ่อหลิว ปัณณโก วัดไร่แตงทอง มีวัตถุมงคลที่สร้างชื่อเสียงและได้รับการยอมรับมากที่สุดก็คือ พญาเต่าเรือน

สำหรับหลวงปู่หลิวเคยฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษาการสร้างวัตถุมงคลเต่ามาจากหลวงพ่อย่น วัดบ้านฆ้อง นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม เหรียญหลวงพ่อย่นรุ่นแรก ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน ด้วยความที่มีชาวบ้านให้ความศรัทธาเป็นจำนวนมาก เหรียญพระได้รับความเลื่อมใส นำไปคล้องติดคอ

รุ่นแรก จัดสร้างในปี พ.ศ.2504 ที่ระลึกในงานวางศิลาฤกษ์โรงเรียนวัดบ้านฆ้อง สร้างเป็นลักษณะเหรียญทรงเสมา แบบมีหูในตัว ปั๊มตัดขอบ สร้างด้วยเนื้อโลหะ เนื้อทองแดง และเนื้อฝาบาตร มีทั้งกะไหล่เงินและกะไหล่ทอง จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุไว้

มี 2 พิมพ์ด้วยกัน คือ พิมพ์ห่มดองและพิมพ์ห่มคลุม

ลักษณะเป็นเหรียญเสมา มีหูห่วง ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนหันหน้าตรง ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนเขียนคำว่า “หลวงพ่อย่น” ด้านล่างเขียนคำว่า “พระครูพิพิธธรรมาภิรม”

ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ และมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า “ที่ระลึกในงานวางศิลาฤกษ์โรงเรียน วัดบ้านฆ้อง”

ปัจจุบันนับเป็นที่นิยมและหายากในพื้นที่

เหรียญหลวงพ่อย่น วัดบ้านฆ้อง รุ่นแรก 2504

 

 

สําหรับอัตโนประวัติ เกิดเมื่อวันพุธที่ 18 เมษายน 2431 ที่บ้านฆ้อง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เล่าเรียนศึกษาที่วัดในหมู่บ้าน จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากนั้นบวชเป็นสามเณรศึกษาเล่าเรียนที่วัดบ้านฆ้องได้ 3 ปีเศษ

อายุครบ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันศุกร์ ปี พ.ศ.2451 อยู่ในปกครองพระอธิการปัด วัดบ้านฆ้อง ปฏิบัติศึกษาเล่าเรียนตามกิจ ลงอุโบสถ สวดมนต์ภาวนาอยู่เป็นนิจมิได้ขาด จนสามารถขึ้นสวดพระปาฏิโมกข์ได้ตั้งแต่ในพรรษาแรก

พรรษาที่ 2 มีความรู้เรื่องงานช่างไม้ ช่วยพระอาจารย์สร้างโบสถ์ ทำใบฎีกา ช่อฟ้า ทำด้วยตนเองไม่ต้องจ้างช่าง

พรรษาที่ 3 เล่าเรียนภาษาขอม แปลอธิบายพระปาฏิโมกข์ แล้วก็ได้จารเขียนหนังสือเป็นตัวขอมโบราณ หนังสือเจ็ดตำนาน และหนังสือพระปาฏิโมกข์ เขียนด้วยมือของหลวงพ่อเอง สร้างไว้ในพระพุทธศาสนา

พรรษาที่ 4 กราบลาพระอาจารย์จากวัดบ้านฆ้อง เพื่อเดินทางออกธุดงค์ไปปฏิบัติธรรมยังสถานที่อื่นๆ เดินทางมาอยู่ที่วัดสระสี่เหลี่ยม อ.สามแก้ว จ.นครปฐม (ปัจจุบันคือ อ.ดอนตูม จ.นครปฐม) อยู่ในปกครองของพระอธิการวัดสระสี่เหลี่ยม ศึกษาปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดสระสี่เหลี่ยมได้ 2 ปี

พ.ศ.2457 กราบลาเจ้าอาวาสวัดสระสี่เหลี่ยม ออกเดินทางไปปฏิบัติธรรมยังสถานที่อื่นๆ เดินทางขึ้นไปทางเหนือ แวะพำนักพักอาศัยอยู่ที่วัดสมอบท บ้านเสี้ยน แขวงเมืองชัยนาท (ปัจจุบันวัดสมอบทแห่งนี้เป็นโบราณสถานอยู่ใน ต.หนองแซง อ.หันคา จ.ชัยนาท) เป็นวัดร้างอยู่ในพื้นที่ป่าทุรกันดาร

แวะพักอาศัยอยู่ พวกชาวบ้านทั้งหลายต่างพร้อมใจนิมนต์ให้เป็นสมภารที่วัดสมอบท

รับปกครองพระอารามเป็นเวลา 4 ปีบริบูรณ์

 

พ.ศ.2461 เดินทางกลับมาอยู่ที่วัดบ้านฆ้อง อยู่ในการปกครองของพระอธิการชื่น เจ้าคณะตำบลบ้านฆ้อง ช่วยปฏิสังขรณ์กุฏิสงฆ์ ก็มีคนเดินทางมานิมนต์ให้ไปจำพรรษาเป็นสมภารปกครองที่วัดแห่งอื่นอีก

กระทั่งในปี พ.ศ.2469 พระอธิการชื่นมรณภาพ จึงรับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านฆ้องตั้งแต่นั้นมา อยู่ในการปกครองของเจ้าคณะอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี มีวัดที่ขึ้นอยู่ในการปกครองทั้งหมด 6 วัด มีโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรม มีครูสอนอยู่ในวัดทุกปีมิได้ขาด ปฏิบัติสวดมนต์อยู่เป็นนิจ มีอุบาสก-อุบาสิกา รักษาศีลอุโบสถในพรรษาทุกปี

พ.ศ.2472 ได้รับตราตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลบ้านฆ้อง

สร้างหอระฆังขึ้นอีก 1 หลัง เป็นแบบอิฐและปูน สร้างด้วยมือของตนเอง ร่วมมือร่วมใจกับญาติโยมสร้างขึ้นมาจนสำเร็จ

พ.ศ.2476 พร้อมใจกับชาวบ้านช่วยกันเฉลี่ยทรัพย์กันตามศรัทธาร่วมสร้างกุฏิสงฆ์ขึ้นอีก 1 หลัง เป็นแบบมุงกระเบื้อง

พ.ศ.2483 สร้างโรงเรียนสอนเด็กขึ้นมาอีก 1 หลัง แต่ยังไม่ได้ทาสี เนื่องจากอยู่ในช่วงสงครามโลก ข้าวของหายาก ก็สร้างเสร็จในปี พ.ศ.2484

พ.ศ.2485 ได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2497 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ในราชทินนามที่ พระครูพิพิธธรรมาภิรม

ในปี พ.ศ.2506 อนุสรณ์อีกหนึ่งชิ้นสำคัญที่หลวงพ่อได้สร้างไว้ คือ ได้สร้างโรงเรียนวัดบ้านฆ้องขึ้น (ปัจจุบันคือ วิทยาลัยเทคนิคโพธาราม) ได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2506 ปัจจุบันยังคงเปิดให้มีการเรียนการสอนอยู่ นับว่าเป็นสถานที่ที่มีคุณประโยชน์ต่อลูกหลานในเขตอำเภอโพธารามเป็นอย่างมาก

มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2509

สิริอายุ 78 ปี พรรษา 57