ผี พราหมณ์ พุทธ : ว่าด้วยเรื่อง ‘สายยัชโญปวีต’ หรือ ‘สายธุรำมงคลพราหมณ์’ (1)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

ว่าด้วยเรื่อง ‘สายยัชโญปวีต’

หรือ ‘สายธุรำมงคลพราหมณ์’ (1)

 

พราหมณ์สยามเรียกสายที่คล้องจากไหล่ขวามาสะเอวซ้ายหรือสายมงคลสวมร่างกายว่า “สายธุรำ” หรือ “ธุหร่ำ” บางทีก็เรียกยาวๆ ว่า “สายธุรำมงคลพราหมณ์” ซึ่งในบริบทสังคมไทยเป็นเครื่องหมายภายนอกแสดงถึงความเป็นพราหมณ์ที่ได้รับการบวชพราหมณ์แล้ว

ผมพยายามค้นหาสุดชีวิตว่าคำนี้มาจากไหน มีที่มาอย่างไร เพราะค้นเท่าไหร่ก็มิเคยเจอคำนี้ในภาษาอินเดียท้องถิ่นใดๆ เลย

เมื่อค้นพจนานุกรมของบ้านเราเอง ท่านก็อธิบายเพียงว่า “ธุรำ = สายเครื่องหมายวรรณะพราหมณ์ กษัตริย์ และแพศย์ สวมจากไหล่ซ้ายเฉียงลงไปทางขวา, ยัชโญปวีต หรือสายมงคล ก็เรียก”

ค้นไปอีกก็พบคำอธิบายว่า สายธุรำใช้คู่กับแหวน “เกาบิล” หรือแหวนที่พราหมณ์สยามใช้ในพิธีกรรม

แต่ในสุภาษิตสอนหญิง วรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นให้ความหมายของเกาบิลอีกอย่าง คือเป็นเครื่องประดับร่างกายเหมือนสังวาล “ความสัตย์กตัญญูยุพิน เป็นสายเกาบิล สังวาลแลสร้อยสวมทรง”

ผมจึงสงสัยที่มาของคำ “เกาบิล” หรือบางครั้งเรียก “เกาบิน” ไปด้วย

 

ครั้นเมื่อไปดูคำใกล้เคียงในภาษาสันสกฤตก็พบคำว่า “เกาปีน” ที่อาจเลือนมาเป็นเกาบินได้ คำนี้แปลว่าสายคาดเอวและผ้าเตี่ยว หรือเครื่องนุ่งปกปิดที่ลับ

บางครั้งก็แปลว่าเครื่องแต่งกายอย่างซอมซ่อหรือผ้าขี้ริ้ว ก็พอจะเข้าเค้าที่ในบ้านเราถือว่าเป็นเครื่องประดับร่างกายอย่างหนึ่งอยู่ เพียงแต่ไม่ใช่แหวน

ในอินเดีย เกาปีนหรือผ้าเตี่ยวเป็นสัญลักษณ์ของนักบวชสันยาสีผู้สละโลกหรือพรหมจารี เพราะไม่มีสมบัติอะไร แม้เครื่องแต่งกายก็มีเพียงแค่ปกปิดของลับและไร้ค่าราคาที่สุด

ปกติเมื่อทำพิธี พราหมณ์อินเดียจะสวมแหวนถักด้วย “หญ้ากุศะ” ที่นิ้วนาง เรียกว่า “ปวิตรี” เมื่อธรรมเนียมนี้เข้ามาในบ้านเราแล้วคงจะเลือนๆ ไปสวมแหวนอย่างอื่น เช่น แหวนพิรอดหรือนพรัตน์ (พราหมณ์พัทลุงสวมแหวนโคนนทิ)

ดังนั้น การที่เกาบิน (เกาปีน) ไม่ว่าจะในความหมายของเครื่องแต่งกายหรือแหวนมาข้องเกี่ยวกับการสวมธุรำของพราหมณ์สยาม ผมเดาว่า ก็เพราะวัยพรหมจารีหรือนักเรียนในอาศรมเองก็สวมเกาปีน (ผ้าเตี่ยว) เมื่อจะเข้ารับสายธุรำ (คือรับสภาพนักบวชชั่วคราวในช่วงเรียน) ความทรงจำนี้คงยังอยู่ในพราหมณ์สยาม จึงมีคำว่าสายเกาบินปรากฏในวรรณกรรม

ครั้นต่อมาความหมายก็เลือนกลายมาเป็นชื่อแหวน

 

ที่จริงในภาษาสันสกฤตเรียกสายธุรำว่า “ยัชโญปวีต” มาจากคำว่ายัชญะ ที่หมายถึงพิธีบูชายัญต่างๆ ของฮินดู และคำว่า อุปวีต แปลว่าสายที่คล้องด้านบน จึงแปลว่า สายที่คล้องแล้วทำให้ผู้คล้องมีสิทธิ์ในยัชญพิธีกรรม หรือเรียกว่า “พรหมสูตร” แปลง่ายๆ ว่าสายพรหม หรือสายที่ทำให้ศักดิ์สิทธิ์อย่างพรหม ประพฤติอย่างพรหม

ในภาษาท้องถิ่นต่างๆ ของอินเดียมักเรียกสายยัชโญปวีตนี้เพี้ยนหรือเลือนไปตามปากตน

เช่น ในภาษาฮินดีเรียกว่าชเนอู (janeu) มาราฐีเรียกชานะเว พังคละเรียกอุปพีต

ผมพยายามค้นภาษาทางใต้ของอินเดีย เพราะเรารับวัฒนธรรมจากที่นั่น เช่น ภาษาทมิฬเรียกว่า ปูณูล (punul) หรือปูณาล, เตลุคุ เรียก ชันธยามุ, กรรณาท เรียก ชานิวาระ ดูไม่เข้าเค้ากับธุรำสักภาษา แต่ที่น่าสนใจคือในภาษาเสาราษฎร์ เรียกพิธีกรรมสำหรับคล้องสายนี้ว่าวทุโหม (vaduhom)

ถ้าคำนี้กร่อนเป็นทุโหม เป็นไปได้ไหมที่จะกลายเป็นธุรำในภาษาเรา พวกเสาราษฎร์เองแม้จะมาจากตอนใต้ของคุชราต แต่ก็อพยพลงมาทางใต้ตั้งแต่สมัยวิชยนคร จะมีความสัมพันธ์กับบ้านเราก็อาจเป็นไปได้อยู่

หรือจะมาจาก “มธุรัม” ซึ่งแปลว่าหวานฉ่ำ พอเสียงมะหายไป ก็เหลือเพียงธุรัม คำนี้มักใช้บรรยายถึงพระคุณลักษณะของพระเจ้า คือเยือกเย็นหวานฉ่ำ แต่ผมก็นึกไม่ออกว่ามันจะมาจากคำนี้ด้วยเหตุผลอะไรอีก

หากสันนิษฐานง่ายที่สุดแบบตรงๆ กันไปเลย ธุรำ อาจมาจาก ธุระ หรือ ธุรฺในภาษาสันสกฤต ลงท้ายอัมให้เป็นคำนาม คำนี้มีความหมายหลายอย่าง ตั้งแต่จินตนา ความระลึกได้ ประกายไฟ ธุระ ภาระ ภาคส่วนหรือเป็นนามแห่งคงคา ก็ฟังดูเกี่ยวกับศาสนาเกี่ยวกับพราหมณ์อยู่

คือเมื่อสวมแล้วก็พึงระลึกถึงบทสวด หรือเมื่อสวมก็เป็นอันมี “ธุระ” ทางศาสนาที่ต้องกระทำ

 

ไม่ว่าธุรำจะมีความหมายอย่างไร แต่การสวมสายธุรำหรือยัชโญปวีตนี้มีพิธีกรรมอยู่ ไม่ใช่จะนึกเอามาสวมก็สวมได้ บางคนไปอินเดีย พราหมณ์ในวัดหยิบๆ เอาสายมาคล้องให้เพื่อให้ได้รับอภิสิทธิ์ในการเข้าไปไหว้พระในคูหาชั้นใน (กันคนนินทาด้วยว่าทำไมให้คนไม่มีสายยัชโญปวีตเข้า) ก็คิดเอาเองว่าได้รับการสวมอย่างถูกต้อง เอามาอวดมาอ้างเป็นสถานะกัน ที่จริงการคล้องสายยัชโญปวีตต้องผ่านพิธีกรรมที่เรียกว่า “อุปนยนะ สัมสการ” เสียก่อน

อุปนยนะ แปลว่า เข้าไปใกล้ๆ มีความหมายถึง ศิษย์เข้าไปใกล้ครู เพื่อจะขอรับคำสอนและใช้ชีวิตอยู่กับครู ส่วนคำว่าสัมสการ หมายถึงความสืบเนื่อง, แนวโน้ม ซึ่งหมายถึงแนวโน้มและความสืบเนื่องของชีวิต เพราะใช้ในความหมายถึงพิธีกรรมต่างๆ ในช่วงชีวิต ตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนตาย

สัมสการของฮินดูมีถึงสิบหกสัมสการ เริ่มต้นตั้งแต่ปฏิสนธิก็มีพิธีแล้ว แต่ในปัจจุบันยังนิยมปฏิบัติอย่างแพร่หลายเพียงห้าสัมสการ คือ นามกรรม – การตั้งชื่อเมื่อมีอายุได้สิบห้าวัน, อุปนยนะ สวมสายยัชโญปวีต เพื่อเข้าเรียนในอาศรมของครู, สมาวรตนะ – พิธีสำเร็จการศึกษา, วิวาหะ – แต่งงาน และอันตเยษฏิ – พิธีการตาย

ในอดีต การเข้าพิธีอุปนยนะ มีคนสามวรรณะแรกที่กระทำคือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ มนูสมฤติ กำหนดให้พราหมณ์ทำได้ตั้งแต่อายุแปดขวบ ส่วนวรรณะอื่นๆ ก็มีอายุต่างกันออกไป เมื่อผ่านพิธีนี้ถึงได้ชื่อว่า “เกิดครั้งที่สอง” (ทวิชา) คือคนคนนั้นเกิดจากพ่อ-แม่ในครั้งแรก เกิดครั้งที่สองมีคุรุเป็นบิดา มีมารดาคือเทวีคายตรี

เทวีคายตรีคือใคร สำคัญอย่างไร เดี๋ยวจะเล่าต่อไป

 

ขั้นตอนของการทำอุปนยนะ ศิษย์จะไปหาครู มีพิธีในสองส่วน

ส่วนแรกเป็นการทำยัชญกรรมบูชาไฟบวงสรวงเทพเจ้า จากนั้นจะเป็นส่วนพิธีอุปนยนะ ครูจะคล้องสายยัชโญปวีตให้ บางครั้งหากบิดาเป็นผู้มีความรู้ทางศาสนาดีและประสงค์จะให้บุตรสืบตำแหน่งหรือธรรมเนียมครอบครัวต่อจากตน บิดาก็จะเป็นผู้คล้องให้เอง

ต้องเล่าเพิ่มว่า ในสมัยโบราณ คืนวันสุกดิบนอกจากการเตรียมปะรำพิธีแล้ว จะมีพิธีกรรมที่บุตรจะกินอาหารกับแม่ของตนเป็นครั้งสุดท้ายด้วยความโศกเศร้า เพราะเมื่อทำอุปนยนะแล้ว ก็ถือว่าต้องไปอยู่ในฝ่ายบิดา ไม่สามารถกินข้าวร่วมกับแม่ได้อีก (สมัยโบราณไม่ได้กินข้าวพร้อมกัน แต่แม่กินทีหลังพ่อกับลูกชาย) หรืออาจต้องไปอยู่ในสำนักของครูอีกหลายปีจนกว่าจะสำเร็จการศึกษา

เมื่อคล้องสายยัชโญปวีตแล้ว มีพิธีที่สำคัญ คือ ครูจะกระซิบบอกมนต์ “คายตรี” ให้ มนต์นี้ถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์นัก นอกจากเป็นชื่อมนต์ยังเป็นชื่อฉันท์ที่มีทำนองบังคับ ต่อมานับถือว่าทั้งทำนองและตัวมนต์มีความศักดิ์สิทธิ์ไม่ด้อยกว่ากัน

มนต์นี้มีเนื้อความว่า “โอมฺ (ภูรฺภุวสฺวะ) ตตฺสวิตุรฺ วเรณยมฺ ภรฺโค เทวสฺย ธีมหิ ธิโย โย นะ ปฺรโจทยาตฺ” แปลอย่างคร่าวๆ ว่า โอม ข้าตั้งจินตนาถึงแสงสว่างของพระสวิตฤ ขอโปรดประทานความสร้างสรรค์แก่ปัญญาของข้าเทอญ

พระสวิตฤในมนต์นี้เป็นพระนามหนึ่งของพระสุริยเทพ มนต์นี้เป็นมนต์เก่าแก่ในพระเวท แต่ทั้งหมดของมนต์นี้ ท่านผูกบุคลาธิษฐานขึ้นเป็นเทวีองค์หนึ่ง คือพระเทวีคายตรี (มักเขียนผิดกันเป็นกายตรี) ถือกันว่าเป็นมารดาแห่งพระเวท พวกพราหมณ์นับถือกันอย่างที่สุด

เมื่อเรียนคายตรีแล้ว ท่านให้ภาวนามนต์นี้ค่ำ-เช้า เรียกว่าทำสันธยะ หากทำสม่ำเสมอจะมีความบริสุทธิ์สะอาด คงความศักดิ์สิทธิ์ของตนไว้ได้ ร่ำเรียนพระเวทก็ก้าวหน้า หากไม่ทำก็จะเสื่อมลง เพราะการภาวนาคายตรีเป็น “นิตยกรรม” หรือกรรมที่ต้องทำเสมอๆ

เมื่อเรียนคายตรีจากครูแล้ว บางครั้งก็จะทำพิธี “เวทรัมภา สัมสการ” หรือพิธีเริ่มต้นไหว้ครูเรียนพระเวทต่อไป

 

ที่จริงที่ผมมาเขียนเรื่องสายยัชโญปวีตหรือสายธุรำนี้ ก็เพราะในปัจจุบันมีผู้สนใจกันมาก อยากได้สวมใส่เพื่อยกสถานะตนเองบ้าง หรือมีไว้เป็นบารมีบ้าง จนเกิดมีธุรกิจพาคนไปสวมสายนี้กันถึงอินเดีย

ล่าสุดผมได้ยินมาว่า มีเทวสถานของฮินดูในเมืองไทยบางแห่งจะทำพิธีนี้ให้คนไทยอย่างกว้างขวาง ซึ่งมีคนไทยเป็นผู้ริเริ่ม ผมขออนุโมทนาด้วยอย่างใจจริง แต่ก็คิดว่า การรับสายยัชโญปวีต สิ่งสำคัญคือความรู้ความเข้าใจและทิฐิที่ถูกต้องที่ควรมีก่อนอะไรทั้งหมด

เพราะหากกระทำไปโดยขาดความรู้ความเข้าใจ สายยัชโญปวีตแทนที่จะช่วยให้เราได้พัฒนาตนเองทางความรู้และจิตวิญญาณ จะกลายเป็นเพียงเครื่องแบบไว้อวดกันเท่านั้นเอง หรือได้ไว้อัพราคาเวลาไปรับทำพิธีต่างๆ

ดังนั้น เรื่องยัชโญปวีตยังมีที่ต้องบอกต้องเล่าอะไรอีกมาก อยากสวมก็ควรอ่าน ไม่อยากสวมยิ่งควรอ่าน

โปรดติดตาม