On History : กรมพระปวเรศฯ คนสนิทของรัชกาลที่ 4 ไม่รู้จักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
(ซ้าย) สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ (ภาพจาก : www.wikipedia.org) (ขวา) ศิลาจารึกหลักที่ 1

กรมพระปวเรศฯ

คนสนิทของรัชกาลที่ 4

ไม่รู้จักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง?

 

“อยู่ทำไมกลางป่า ไปอยู่บางกอกด้วยกัน จะได้ฟังเทศน์จำศีล”

ข้อความข้างต้นอยู่ในบทความที่ชื่อว่า “อภินิหารการประจักษ์” ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 8 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งได้ทรงบันทึกถึงเหตุการณ์เมื่อปี พ.ศ.2376 ที่รัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งยังผนวชเป็นวชิรญาณภิกขุ ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ ได้เสด็จธุดงค์ไปยังเมืองเก่าสุโขทัย และได้ทรงพบ “แท่นศิลา” ที่ต่อมาคนไทยต่างรู้จักกันดีในชื่อของ “พระแท่นมนังคศิลาบาตร” เอาไว้

บทความดังกล่าวตีพิมพ์อยู่ในหนังสือวชิรญาณ ฉบับประจำเดือนกันยายน ปี พ.ศ.2400 นับเป็นข้อเขียนชิ้นแรกที่กล่าวถึงประวัติการค้นพบพระแท่นมนังคศิลา

และก็เป็นข้อเขียนชิ้นเดียวกันนี้เองที่กรมพระยาปวเรศฯ ยังได้เล่าต่อไปว่า หลังจากนั้นรัชกาลที่ 4 ได้เสด็จฯ กลับบางกอก พร้อมกับทรงรับสั่งให้ชะลอเอาพระแท่นมนังคศิลาบาตร พร้อมกับจารึกหลักที่ 4 วัดป่ามะม่วงที่พบอยู่คู่กันกลับมาด้วย

แต่พระนิพนธ์ชิ้นนี้กลับไม่กล่าวถึงจารึกสุโขทัย หลักที่ 1 พ่อขุนรามคำแหง?

 

โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเข้าใจตรงกันว่า วัตถุโบราณที่รัชกาลที่ 4 นำกลับมาจากสุโขทัยในครั้งนั้น มีจารึกพ่อขุนรามคำแหงหลักที่ว่ารวมอยู่ด้วยนะครับ

ซ้ำร้ายจารึกพ่อขุนรามคำแหงยังกลายเป็นวัตถุสำคัญชิ้นโด่งดังที่สุดในบรรดาข้าวของที่เชื่อว่าพบอยู่ร่วมกันทั้งหมด

ไม่ใช่ทั้งพระแท่นมนังคศิลาบาตร และจารึกวัดป่ามะม่วงของพญาลิไท ที่อ้างไว้ชัดเจนในอภินิหารการประจักษ์

แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า จารึกของพ่อขุนรามคำแหงกลับไม่ถูกกรมพระยาปวเรศฯ เอ่ยถึงมันเสียดื้อๆ อย่างนั้น?

ปรากฏการณ์นี้เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจมากพอสมควร เพราะชนนั้นนำชาวสยามและชาวต่างชาติที่ให้ความสนใจกับประวัติศาสตร์หรือวัฒนธรรมสยามในสมัยนั้นต่างก็เชื่อกันว่า แท่นศิลาที่รัชกาลที่ 4 โปรดให้ชะลอกลับมานั้น เป็นพระแท่นที่พ่อขุนรามคำแหงโปรดให้สร้างขึ้น และมีชื่อว่ามนังคศิลาบาตร ดังมีข้อความที่ปรากฏอยู่ในจารึกหลักดังกล่าวนั่นเอง

การที่จะเอ่ยถึงแท่นศิลาที่ว่า โดยไม่อ้างอิงถึงจารึกพ่อขุนรามคำแหงที่สามารถเนรมิตสถานภาพจาก “แท่นศิลา” ที่ไม่มีหัวนอนปลายตีน กลายเป็น “พระแท่นมนังคศิลาบาตร” ของพ่อขุนรามคำแหง จึงเป็นเรื่องที่ออกจะพิลึกพิลั่นเอาการเลยทีเดียว

 

กว่าที่จะมีเอกสารระบุว่า จารึกของพ่อขุนรามคำแหงถูกพบพร้อมกับพระแท่นมนังคศิลาบาตรและจารึกวัดป่ามะม่วง ก็ต้องรอจนถึงช่วงหลังรัชกาลที่ 4 สวรรคตไปแล้ว

ซึ่งเป็นเอกสารที่อายุถัดลงมาจากอภินิหารการประจักษ์ไม่ต่ำกว่า 25 ปีเลยทีเดียว

ส่วนข้อเขียนชิ้นที่ว่านี่ก็คือ พระนิพนธ์เรื่อง “เทสนาพระราชประวัติพระบาดสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งตีพิมพ์อยู่ในหนังสือวชิรญาณ เมื่อปี พ.ศ.2425 ดังมีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า

“…เมื่อเสด็จไปถึงเมืองสุโขทัยครั้งนั้น ทอดพระเนตรเห็นศิลาจารึกสองหลักคือ ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง (หลักที่ 1) และศิลาจารึกของพระธรรมราชาลิไท (หลักที่ 4) กับพระแท่นมนังคศิลาอยู่ที่เนินปราสาท ณ พระราชวังกรุงสุโขทัยเก่า…พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพิจารณาดูเห็นว่าเป็นของสำคัญ ทิ้งไว้จะเป็นอันตรายเสีย จึงโปรดฯ ให้ส่งลงมายังกรุงเทพฯ เดิมเอาไว้ที่วัดราชาธิวาสทั้งสามสิ่ง…”

และก็เป็นข้อความตอนนี้นี่เองนะครับ ที่ใครต่อใครพากันเอาไปใช้อ้างอิงว่า จารึกพ่อขุนราม ได้มาพร้อมจารึกป่ามะม่วง และพระแท่นมนังคศิลาบาตร โดยมีที่มาเริ่มต้นมาจากการที่นักอ่านจารึกตัวกลั่นอย่างศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (Goerge Cœdès) ใช้เป็นหลักฐานของประวัติการค้นพบจารึกพ่อขุนรามคำแหง ในหนังสือ “ประชุมจารึกสยาม ภาคที่ 1 จารึกสุโขทัย” ของท่าน ที่ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2467 ในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็นบรรณารักษ์ ประชุมหอพระสมุดวชิรญาณ

จนทำให้ข้อความตอนนี้กลายเป็นประวัติการค้นพบจารึกพ่อขุนรามคำแหงฉบับทางการของไทยนั่นแหละ

 

แต่ก็ไม่ใช่ว่าคนอื่นๆ โดยเฉพาะผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรงอย่างกรมศิลปากรจะไม่เคยอ่านอภินิหารการประจักษ์นะครับ โดยอาจจะเห็นได้จากการที่บทความเรื่อง “ประวัติและการศึกษาเกี่ยวกับศิลาจารึกหลักที่ 1” ของหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้อ้างถึงอภินิหารการประจักษ์ ที่ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือวชิรญาณเมื่อ พ.ศ.2400 ว่ามีต้นฉบับเป็นสมุดไทยเล่มหนึ่ง ซึ่งเดิมเป็นของกรมพระปวเรศฯ นั่นเอง บทความชิ้นนี้ยังคัดข้อความในสมุดไทยฉบับดังกล่าวมาตอนหนึ่ง มีข้อความว่า

“…เมื่อศักราช 1195 (พ.ศ.2376) ปีมเสง เบญศก จะเสด็จขึ้นไปประภาสเมืองเหนือ นมัศการเจตียสฐานต่างๆ…ครั้น ณ วันขึ้นหกค่ำกลับมาลงเรือ เจ็ดค่ำเวลาเที่ยงถึงท่าธานี เดินขึ้นไปเมืองศุโขทัย ถึงเวลาเยนอยู่ที่นั้นสองวัน เสด็จไปเที่ยวประภาษ พบแท่นสีลาแห่งหนึ่งอยู่ริมเนินปราสาท ก่อไว้เปนแท่นหักพังลงมา ตะแคงอยู่ที่เหล่านั้น ชาวเมืองเขาเครพย์ สำคัญเปนสานเจ้า เขามีมวยสมโภธทุกปี…รับสั่งให้ฉลองลงมา ก่อเปนแท่นขึ้นไว้ใต้ต้นมะขามที่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) กับเสาสิลาที่จารึกเปนหนังสือเขมร (จารึกวัดป่ามะม่วง) ที่อยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น เอามาคราวเดียวกันกับแท่นสีลา…”

ข้อความข้างต้นทั้งหมดตรงกับอภินิหารการประจักษ์จริงดังที่หอสมุดแห่งชาติได้อ้างไว้ โดยจะสังเกตได้ชัดเจนว่า เนื้อความไม่ได้กล่าวถึงจารึกพ่อขุนรามคำแหงเลย

แต่บทความของหอสมุดแห่งชาติกลับอ้างไว้ด้วยว่า ในสมุดไทยฉบับเดียวกันนี้ กรมพระปวเรศฯ ได้ทรงกล่าวถึงเสาศิลาอีกเสาหนึ่ง ว่าเป็นเสาศิลาที่ได้มาแต่เมืองสุโขทัย มีข้อความเกี่ยวกับหนังสือไทยแรกมีขึ้นในเมืองนั้น และพรรณนาข้อความที่ปรากฏในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงด้านที่ 4

แต่ถ้าจะเป็นเช่นนั้นจริง ก็คงจะเป็นเรื่องแปลกชะมัด ที่อภินิหารการประจักษ์ ฉบับที่ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือวชิรญาณและฉบับที่ถูกตีพิมพ์ครั้งถัดๆ มา ไม่เคยมีข้อความที่กล่าวถึงจารึกหลักนี้เลย

 

คงจะเป็นเรื่องที่ประหลาดและมหัศจรรย์เอามากๆ ถ้ากรมพระปวเรศฯ จะไม่รู้จักจารึกพ่อขุนรามคำแหง ที่เชื่อกันว่าเจออยู่คู่กับพระแท่นมนังคศิลาบาตร เพราะท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารลำดับถัดจากพระวชิรญาณเถระที่ลาสิกขาออกไปครองราชย์

และยังเคยดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะใหญ่ของธรรมยุติกนิกาย (อันเป็นนิกายที่รัชกาลที่ 4 สถาปนาขึ้น) เป็นพระองค์แรก ซ้ำยังได้เขียนถึงประวัติการค้นพบพระแท่นมนังคศิลาบาตรอย่างละเอียดถึงขนาดอ้างได้ว่า รัชกาลที่ 4 ในขณะนั้นได้ตรัสเอาไว้ว่าอย่างไรบ้างเลยเสียด้วยซ้ำ

ข้อมูลทั้งหมดนี้จึงล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นว่าท่านใกล้ชิดกับรัชกาลที่ 4 ขนาดไหน

อันที่จริงแล้วยังมีบทความอีกเรื่องหนึ่งของกรมพระปวเรศฯ ที่กล่าวถึงประวัติการค้นพบพระแท่นมนังคศิลาบาตรและจารึกวัดป่ามะม่วง ที่อ้างว่าได้พบจารึกพ่อขุนรามคำแหงในสถานที่ และคราวเดียวกันนั้นด้วย

พระนิพนธ์เรื่องดังกล่าวคือ “ขอมและไทยโบราณ อักษรจารึกในเสาศิลา ณ เมืองสุโขทัย” ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือวชิรญาณเมื่อ พ.ศ.2427 (สองปีหลังจากที่กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เขียนว่าจารึกพ่อขุนรามคำแหงได้มาพร้อมกับพระแท่นมนังคศิลาบาตร)

และคงเป็นเพราะพระนิพนธ์ชิ้นนี้เองที่ทำให้หอสมุดแห่งชาติเกิดความเข้าใจผิดว่า มีการกล่าวถึงจารึกพ่อขุนรามคำแหงในอภินิหารการประจักษ์

 

ผมยอมรับว่า ไม่เคยเห็นต้นฉบับ หรือแม้กระทั่งสำเนาใดๆ ของสมุดไทยฉบับที่หอสมุดแห่งชาติอ้างถึง แต่ก็อยากจะตั้งข้อสังเกตเอาไว้ด้วยว่า เนื้อหาเกี่ยวกับจารึกพ่อขุนรามคำแหงที่อยู่ในสมุดไทยของกรมพระปวเรศฯ น่าจะเป็นต้นฉบับในส่วนของขอมและไทยโบราณ อักษรจารึกในเสาศิลา ณ เมืองสุโขทัย ที่ตีพิมพ์ลงหนังสือวชิรญาณในชั้นหลัง มากกว่าที่จะเป็นต้นฉบับของอภินิหารการประจักษ์ ที่ไม่เคยกล่าวถึงจารึกพ่อขุนรามคำแหงเลยสักนิด

ขอมและไทยโบราณ อักษรจารึกในเสาศิลา ณ เมืองสุโขทัย เป็นบทความสั้นๆ ที่เล่าถึงจารึกสองหลักได้แก่ จารึกวัดป่ามะม่วง และจารึกพ่อขุนรามคำแหง

ในส่วนของจารึกวัดป่ามะม่วงนั้นกรมพระปวเรศฯ ได้ทรงแปลและเรียบเรียงเนื้อความอย่างค่อนข้างละเอียดถี่ถ้วน เช่นเดียวกับที่มีอยู่ในอภินิหารการประจักษ์เช่นกัน แต่ในส่วนของจารึกพ่อขุนรามคำแหงนั้นกลับเป็นการกล่าวถึงอย่างสรุปความเท่านั้น

ควรสังเกตด้วยว่า กรมพระปวเรศฯ กล่าวถึงจารึกพ่อขุนรามคำแหงในบทความชิ้นนี้อย่างค่อนข้างที่จะหลากใจ ดังความที่ว่า

“…เสาศิลาอีกเสา 1 อยู่ใกล้เคียงแท่นแผ่นศิลาที่ว่ามาข้างต้นนั้นแล้ว แต่เสาศิลาต้นนี้มีเปนอักษรไทยโบราณชาวเหนือ รูปอักษรก็ไม่เหมือนอักษรไทยทุกวันนี้ รูปคล้ายหนังสือย่อ แต่ว่าประสมสระข้างหลังทุกสระ สระเบื้องบนลากข้างหามีไม่ ประหลาดนัก ถึงเช่นนั้นก็ยังมีผู้อ่านเอาความได้โดยมาก คนอ่านถูกต้องกันเป็นที่เชื่อไว้ใจได้จึงได้แปลความในเสาศิลา อ้างถึงแท่นศิลาที่ว่าไว้ข้างต้นนั้น…”

น่าสงสัยใจนะครับว่า นอกเหนือจากรูปอักษรในจารึกพ่อขุนรามคำแหงที่ชวนให้กรมพระปวเรศฯ รู้สึกว่า “ประหลาดนัก” แล้ว อะไรเกี่ยวกับจารึกหลักนี้ที่ทำให้คนใกล้ชิดของรัชกาลที่ 4 อย่างกรมพระปวเรศฯ จึงรู้สึกไม่เชื่อ และไม่ไว้ใจในจารึกพ่อขุนรามคำแหง?