วิทยาลัยสงฆ์ จังหวัดระยอง อุทยานการเรียนรู้ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

โครงการใหญ่ๆ ทั้งสองแห่งนี้กำลังดำเนินการจัดสร้างขึ้นที่จังหวัดระยอง ตามที่เคยทำตัวเป็นประชาสัมพันธ์ให้จังหวัด เนื่องจากเดินทางไปเยี่ยมเยียนเพื่อนสูงวัยเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ จนกว่าจะไร้เรี่ยวแรงอันสืบเนื่องมาจากวัยอันไม่แตกต่างกัน และได้เคยเขียนรายงานในพื้นที่แห่งนี้ไปแล้ว

ทั้งโครงการก่อสร้าง “วิทยาลัยสงฆ์ระยอง (วิทยาเขต) มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)” และโครงการจัดสร้าง “อุทยานการเรียนรู้ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดระยอง” ต่างก็เร่งระดมหาทุนซึ่งต้องใช้เป็นจำนวนมากด้วยกัน

จะก่อสร้างวิทยาลัยสงฆ์ คณะสงฆ์ของจังหวัดย่อมต้องรับหน้าเสื่อไปเต็มๆ ในการจัดหาทุน แม้วิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้จะอยู่ในกำกับของรัฐ แต่คงไม่มีงบประมาณสนับสนุนพอเพียงแน่นอน เพราะโครงการใหญ่ๆ อย่างนี้อย่างน้อยก็ต้องใช้กว่า 100 ล้านขึ้นไปทั้งนั้น

เริ่มต้นตั้งแต่การจัดหาที่ดินเพื่อก่อสร้างตัวอาคาร ซึ่งต้องอยู่ในสถานที่ (Location) เหมาะสม ไม่ห่างไกลตัวเมืองจนเกินไป

ขณะเดียวกันก็ไม่อยู่ในสภาพอันแออัดหนาแน่น ที่ดินจะต้องซื้อหามาอย่างแน่นอน ไม่มีผู้มั่งมีที่ไหนมาบริจาค ในเขตอำเภอเมือง ราคาของที่ดินในทุกวันนี้ราคาค่อนข้างสูง

อันที่จริงราคาที่ดินนั้นมันสูงลิบลิ่วทั่วประเทศมานานนักหนาตั้งแต่สมัยรัฐบาล (น้าชาติ) พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี มีนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ที่ดินทางซีกจังหวัดภาคตะวันออกราคาเกินจริงตั้งแต่นั้นมา และได้เปลี่ยนมือไปจนคนพื้นถิ่นแทบไม่ได้ถือครองอีกต่อไป

ที่ดินซึ่งวิทยาลัยสงฆ์ระยอง กำลังช่วยระดมหาทุนจัดซื้ออยู่ที่ตำบลน้ำคอก อำเภอเมือง จังหวัดระยอง แต่เดิมแถบนั้นก็เรียกว่าชานเมือง แต่ทุกวันนี้ก็ได้กลายเป็นที่ดินอยู่ในทำเลดี เพราะฉะนั้น ราคาจึงไม่น้อยกว่าตารางวาละ 3,000 บาท ไร่ละประมาณ 1.2 ล้านบาท

คณะสงฆ์จังหวัดระยองต้องการจำนวน 43 ไร่ รวมเป็นเงิน 51.6 ล้านบาท

การระดมทุนของคณะสงฆ์จังหวัดระยอง เป็นการร่วมมือกันขอรับบริจาคจากพุทธศาสนิกชนทั่วๆ ไปที่มีจิตศรัทธา ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นคนในพื้นที่จังหวัดระยองเท่านั้น เนื่องจากวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้มิได้เป็นที่ศึกษาเล่าเรียนของสามเณร หรือพระสงฆ์ แต่เพียงอย่างเดียว ลูกหลานชาวจังหวัดระยองและใกล้เคียงทั่วๆ ไปสามารถสมัครเข้าเรียนได้

เคยได้ออกตัวบอกเล่าไปแล้วว่าไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องวัตถุมงคล “พระเครื่อง” ขณะเดียวกันก็มิได้มีพระเครื่องจากกรุสำคัญๆ ไว้เหมือนดังเศรษฐีนักสะสมทั้งหลาย

เพราะเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่าพระเครื่องรุ่นต่างๆ แต่เก่าก่อนดั้งเดิมซึ่งมีประวัติเป็นตำนาน มีที่มาที่ไปหลังจากใครมีไว้ในครอบครองเพื่อบูชาล้วนเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและครอบครัว

เพราะฉะนั้น การได้มาซึ่งเป็นการเช่าซื้อ แลกเปลี่ยน ซึ่งก็คือการ “ซื้อขาย” นั้นมีราคาเป็นตัวเลขสูงยิ่ง คนฐานะธรรมดาๆ ทั่วๆ ไปไม่สามารถได้มีไว้ในครอบครอง

เหรียญ “หลวงปู่ทิม” วัดละหารไร่ อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง นับว่าโด่งดังมีชื่อเสียงติดอันดับในภาคตะวันออก และเป็นที่รู้จัก นักสะสมต้องการมีไว้บูชา

แต่จะเป็นรุ่นไหน เก่าแก่อย่างไรย่อมต้องศึกษา หรือไต่ถาม “นักเลงพระ” นักสะสมพระเครื่องเอาเอง รู้แต่เพียงว่าราคาเช่าซื้อสำหรับรุ่นที่นิยมกันนั้นสูงมากๆ ทีเดียว

เหรียญหลวงปู่ทิมก็มีการสร้างกันขึ้นมาเรื่อยๆ เหมือนกับพระเกจิทั้งหลายในประเทศของเรา ซึ่งก็ไม่รู้จริงๆ ว่าเป็นรุ่นที่เท่าไร? ใครเป็นผู้สร้างบ้าง?

ที่แน่ๆ ขณะนี้หลวงปู่ทิมได้รับการสร้างขึ้นมาอีกรุ่นหนึ่ง เพื่อนำทรัพย์บริจาคไปสร้างวิทยาลัยสงฆ์จังหวัดระยอง ดังกล่าว

คณะสงฆ์จังหวัดระยอง โดยเจ้าคณะจังหวัด พระเดชพระคุณพระราชสิทธินายก (สมอิง โชติกโร) ได้เห็นชอบมอบหมายให้ “พระครูสุภัททาจารคุณ (หลวงพ่อสิน) เจ้าอาวาสวัดละหารใหญ่ และ “พระครูวิจิตรธรรมาภิรัต” (หลวงพ่อเชย) เจ้าอาวาสวัดละหารไร่ เป็นที่ปรึกษาในการสร้าง “หลวงปู่ทิม อิสริโก รุ่นมหาบารมี 59” เพื่อมอบเป็นวัตถุมงคลที่ระลึกแด่ผู้ร่วมบริจาคทรัพย์ “เพื่อซื้อที่ดินก่อสร้างวิทยาลัยสงฆ์”

เรื่องนี้ได้ดำเนินการไปสักระยะหนึ่งแล้ว โดยมี “วัดต่างๆ” ในจังหวัดระยองให้ความร่วมมือในการรับบริจาค ส่วนจะได้เงินมาเท่าไร?

ขณะนี้น่าจะยังไม่มีการสรุป

ขณะเดียวกัน จังหวัดระยองกำลังมีการดำเนินการเพื่อสร้าง “อุทยานการเรียนรู้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดระยอง” ขึ้น

ซึ่งที่มาของเงินทุนสำหรับการก่อสร้างส่วนใหญ่ก็เป็นการรับบริจาคจากประชาชนชาวจังหวัดระยอง ตลอดจนหน่วยงาน บริษัทใหญ่ๆ สำคัญๆ ในจังหวัดให้การสนับสนุนตามกำลัง

กลายเป็นว่าในระยะเวลาที่ไม่ห่างไกลกันหรือเกือบจะพร้อมๆ กันที่มีการสร้างโครงการใหญ่ๆ ถึง 2 โครงการ ซึ่งโดยหลักๆ แล้ว “คณะสงฆ์ของจังหวัดระยอง” น่าจะต้องทำงานกันอย่างหนักด้วยการบอกบุญ และจัดสร้างวัตถุมงคลอันเป็นที่ศรัทธาเชื่อถือของชาวระยอง และประชาชนทั่วไป

โครงการนี้ก็ใช้งบฯ ไม่มากไม่น้อยไปกว่าการสร้าง “วิทยาลัยสงฆ์ระยอง” เท่าไรนัก แต่ก็น่าจะเข้าสู่หลัก 100 ล้านบาททั้งสองโครงการ

เพราะถึงแม้จะไม่ต้องสร้างอาคารขึ้นมาใหม่เนื่องจากไปใช้ชั้น 2 ของอาคาร “โรงเรียนปริยัติธรรม” ในบริเวณวัดลุ่ม (พระอารามหลวง) เจ้าของสถานที่อันเป็นที่ตั้ง “ศาลพระเจ้าตากสิน” แต่เดิม ซึ่งพระโบราณพิทักษ์ เจ้าอาวาสได้ทำการก่อสร้างมาใกล้จะเสร็จแล้ว

โครงการนี้ก็มีการจัดทำวัตถุมงคล และสิ่งของมงคลเพื่อหารายได้นอกเหนือจากการรับบริจาคเช่นเดียวกันถึง 7 รายการ

ซึ่งแน่นอนย่อมต้องเป็นเรื่องราวของสมเด็จพระเจ้าตากสิน เป็นหลัก อาทิ การหล่อพระบรมรูป สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระบรมราชานุสาวรีย์

พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (จำลอง) 2 รูปแบบ แบบที่ 1 ทรงประทับนั่งบัลลังก์ ของวัดลุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ขนาด 5, 7, 9, 12 นิ้ว เนื้อทองเหลือง เนื้อทองสำริด (บรอนซ์) เนื้อทองเหลือง รูปแบบที่ 2 ทรงยืน พระหัตถ์ทั้งสองทรงดาบ ขนาด 5, 7, 9, 12 นิ้ว เนื้อรมดำ ปิดทองคำเปลว พ่นสีทอง และ ฯลฯ

สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ “เหรียญหลวงปู่ทิม” วัดละหารไร่ อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง รูปทรงเสมา 8 รอบ หลวงปู่ทิม (ด้านหน้า) ด้านหลังเป็นยันต์ 5 รูปเนื้อทองคำ เงิน ทองแดง และนวโลหะ ชื่อรุ่น “สร้างอุทยานการเรียนรู้ฯ หรือรุ่นมหาบารมี”, อธิษฐานจิต และพิธีพุทธาภิเษก วัดละหารไร่, พิธีเททอง ณ วัดลุ่ม (พระอารามหลวง)

ไม่ได้เรียนเศรษฐศาสตร์-การเงิน แต่ด้วยประสบการณ์พอจะสัมผัสได้ว่าเศรษฐกิจประเทศอยู่ในระยะไม่ดี ไม่ราบรื่นคล่องตัว การส่งออกลดลง การลงทุนค้าขายระดับไม่มีเงินทุนขนาดใหญ่ค่อยๆ ล้มหายไป การลงทุนไม่เกิด ดูได้จากเงินล้นระบบ ถึงขนาดธนาคารออกอาการ ประกาศลดดอกเบี้ยเงินฝากเป็น 0% ซึ่งไม่เคยมีในประเทศเรา

ว่ากันว่า เงินที่ล้นระบบอยู่ในมือคนรวยจำนวนน้อยซึ่งไม่ใช้จ่าย ของก็ขายไม่ออก เศรษฐกิจก็แย่ คนย่อมตกงาน เงินกู้ธนาคารมาก็ชำระหนี้ไม่ไหว บริษัททั่วไปก็เป็นหนี้ ในที่สุดก็ล้มลง ผู้อาสาเข้ามาบริหารประเทศควรจะรู้วิธีแก้ไขดี แต่มันติดขัดอะไรก็เป็นเรื่องที่ต้องไปพิจารณาไตร่ตรองกันดู?

สภาพดินฟ้าอากาศไม่ปกติ ฝนตกมาก ตกน้อย ไม่ตกต้องตามฤดูกาล มาเร็ว มาช้าไม่มีน้ำเพียงพอเพื่อทำการเกษตรอย่างที่ปรากฏอยู่ เรื่องที่ต้องลงทุนทำอย่างทันท่วงทีคือ “การบริหารจัดการน้ำ” เพื่อใช้ในภาคการเกษตรได้ตลอดทั้งปี เพราะประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศนี้มีอาชีพทำการเกษตร เมื่อเกษตรกรไม่มีเงินใช้จ่ายมันก็กระทบทั้งหมด

ฝั่งตะวันออกไม่เฉพาะจังหวัดระยอง (ขณะกำลังมีการขอรับเงินบริจาคกันจำนวนมากมาย) สำหรับสวนผลไม้อันเป็นหนึ่งในอาชีพหลัก แต่ผลผลิตในฤดูผลไม้ที่ผ่านมา กลับกระท่อนกระแท่นไม่สมบูรณ์ และมีมากพอจำหน่าย ชาวสวนก็ประสบปัญหาการขาดทุน ไม่มีทุนในฤดูกาลต่อไป

การก่อสร้างโครงการใหญ่ๆ 2 โครงการ ที่ได้กล่าวมาแล้วเป็นเรื่องที่ดีน่าสนับสนุน แต่บางทีอาจจะต้องประสานงานเพื่อหาช่วงจังหวะเวลาอันเหมาะสมเช่นเดียวกัน เพื่อเรียกหาเงินบริจาค

“สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” และ “หลวงปู่ทิม” จะได้ไม่ต้องทำงานหนักมากเหมือนอย่างที่กำลังเป็นอยู่?