ทาเคชิ : ทองเนื้อแท้ของญี่ปุ่น / บทความพิเศษ สุภา ปัทมานันท์

บทความพิเศษ

สุภา ปัทมานันท์

 

ทาเคชิ : ทองเนื้อแท้ของญี่ปุ่น

 

ได้อ่านข่าวจากสื่อญี่ปุ่นว่าที่จังหวัดไซตามะซึ่งเป็นจังหวัดที่ติดกับโตเกียว  ได้ทำการสำรวจนักเรียนมัธยมปลาย ม. 5 ประมาณ 55,000 คน เพื่อประเมินหานักเรียนที่เข้าข่ายเป็น young caregiver หรือ “ผู้ดูแลวัยเยาว์” (ヤングケアラー)

ญี่ปุ่นให้คำจำกัดความของ “ผู้ดูแลวัยเยาว์” คือ ผู้เยาว์ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี  มีภาระต้องดูแลคนในครอบครัวที่เป็นผู้ป่วย หรือ ผู้พิการ โดยไม่มีผู้ใหญ่อื่นช่วย

เรื่องที่เป็นภาระต้องดูแล เช่น การพาเข้าห้องน้ำ อาบน้ำ เช็ดตัว จ่ายตลาด ทำอาหาร ทำความสะอาดบ้าน  ซักผ้า เป็นต้น

ผลการสำรวจในจังหวัดไซตามะ พบว่ามีนักเรียนมัธยมปลายที่เข้าข่ายเป็นผู้ดูแลวัยเยาว์ประมาณ 2,000 คน หรือประมาณ  25 คน 1 คน  และมากกว่า 35% บอกว่าต้องทำหน้าที่ดูแลทุกวัน  ที่น่ากังวลใจ คือ เด็กเหล่านี้บอกว่า “รู้สึกโดดเดี่ยว”  “เหนื่อยและเรียนได้ไม่เต็มที่”  นี่เป็นเพียงการสำรวจนักเรียนมัธยมปลาย ม.5เท่านั้น   แน่นอนว่าคงมีผู้ดูแลวัยเยาว์ที่เป็นนักเรียนต่ำกว่ามัธยมปลายอีก

 

ในความเป็นจริง ไม่ใช่ไม่รู้ว่ามี “ผู้ดูแลวัยเยาว์” แต่ผู้คนในสังคมยังไม่ตระหนักถึงปัญหานี้ จึงยังไม่ได้ให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม เพราะเป็นเรื่อง “ในครอบครัว” ตัวเด็กเองเมื่อต้องรับภาระนี้ตั้งแต่เด็ก ก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องทำให้คนในครอบครัว กว่าจะรู้ตัวว่านี่ “ไม่ใช่เรื่องธรรมดา” ส่วนใหญ่ก็เข้าสู่วัยมัธยมปลายแล้ว อีกทั้งไม่รู้ว่าจะเอ่ยปากขอความช่วยเหลือจากใคร

มีเสียงเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ตัวเด็ก อาจเป็นเพื่อนบ้าน ครูที่โรงเรียน นักสังคม-สงเคราะห์ ช่วยใส่ใจสังเกตเด็กอย่างจริงจัง ให้คำแนะนำและขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานสวัสดิการสังคม

คำถามคือ ทำไมจึงเป็นภาระของเด็กในการดูแลคนในครอบครัว สภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ผู้คนมีอายุยืนยาวขึ้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะมีคนในครอบครัวเป็นผู้สูงอายุ นอกจากนี้ โครงสร้างของครอบครัวที่ไม่เหมือนเดิม จำนวนครอบครัวที่พ่อ-แม่หย่าร้างเพิ่มสูงขึ้นจนน่าตกใจ ลูกต้องอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งถ้าเป็นการอยู่กับแม่ แม่ไม่ใช่ผู้ทำงานหลักของครอบครัวมาแต่แรก เมื่อต้องทำงานหาเงินเลี้ยงดูลูกหากพลาดพลั้งเกิดเจ็บป่วยเรื้อรัง ภาระการดูแลจึงตกเป็นของลูกอย่างช่วยไม่ได้ และครอบครัวลักษณะนี้มักเป็นผู้มีรายได้น้อย

ญี่ปุ่นมีระบบประกันสุขภาพการดูแลผู้ป่วย (介護保険制度)และระบบสวัสดิการผู้พิการ(障害者福祉制度)เป็นระบบให้บริการสาธารณะ เพื่อลดภาระในครอบครัวของประชาชน แต่ก็ไม่ได้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด บางกรณีมีส่วนที่เกินต้องจ่ายแก่หน่วยงานด้านสวัสดิการครอบครัว ดังนั้น คนในครอบครัวก็ต้องดูแลกันเองในระดับหนึ่ง นี่ก็เป็นเหตุให้ภาระการดูแลต้องตกอยู่กับเด็กนั่นเอง

 

มาดูตัวอย่างของ “ผู้ดูแลวัยเยาว์” ทาเคชิ (ชาย นามสมมุติ)

ทาเคชิ เสียพ่อไปในอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่ออายุ 3 ขวบ เขาจึงอาศัยอยู่กับแม่และยาย โดยอาศัยบำนาญผู้ชราของยายและเงินเก็บไม่มากนัก ต่อมาแม่ก็ป่วยด้วยโรคหัวใจ เมื่อเขาอยู่ชั้นประถม 3 ยายก็ชราจนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เขาต้องพยุงยายเข้าห้องน้ำซึ่งบางครั้งต้องใช้เวลากว่า 30 นาที เขาต้องไปโรงพยาบาลคนเดียวเพื่อรับยามาให้ยาย เพราะแม่ก็อ่อนแอเกินกว่าจะให้ออกไปข้างนอกได้

บางครั้งที่อาการของแม่ไม่หนักหนา แม่ก็ทำอาหารให้ โดยทาเคชิต้องออกไปจ่ายตลาดและต้องซื้ออาหารคราวละมากๆ ถุงสัมภาระต่างๆจึงหนักเกินไปสำหรับเด็กชายตัวเล็กๆ แต่เขาไม่เคยบ่น เพราะคิดว่าเป็น “เรื่องธรรมดา” ที่ต้องอดทน

ชีวิตวัยมัธยมต้นของทาเคชิจึงมีแต่เรื่องของยายและแม่ แน่นอนว่าเขาต้องหยุดเรียนบ่อยครั้ง เขาเลือกเรียนมัธยมปลายภาคค่ำ แต่เมื่ออาการของแม่ทรุดลงอีกคน ภาระของเขาก็หนักยิ่งขึ้นอีกเท่าตัว เวลากลางวัน เขาไปซื้อของ ทำอาหาร ทำความสะอาด ป้อนอาหารยายและแม่ ตกค่ำไปโรงเรียน กลับมาบ้านก็เช็ดตัวยายและแม่ ชีวิตวนเวียนอยู่อย่างนี้

เขาเคยคิดอยากไปเที่ยวเล่นแบบคนวัยเดียวกันบ้าง อยากมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นที่ไม่ใช่ยายและแม่บ้าง แต่ก็ไม่เคยบอกความรู้สึกนี้กับใครเพราะภาระเฉพาะหน้ามีมากเหลือเกิน

 

หลังจบมัธยมปลาย เขามีโอกาสทำงานพิเศษสัปดาห์ละ 6 ชั่วโมงที่ร้านหนังสือใกล้บ้าน รู้สึกมีความสุขมาก เพราะการทำงานเป็นช่องทางเดียวที่ให้เขาติดต่อกับโลกภายนอกได้ แต่…ก็ไม่นานนัก เมื่อยายเสีย เหลือเพียงทาเคชิกับแม่ ขณะนั้นเขาอายุ 28 ปีแล้ว เขาดูแลแม่ที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงอย่างดี ป้อนอาหารและยา เช็ดตัวทำความสะอาดเรื่องการขับถ่ายของแม่อย่างไม่รู้เหน็ดรู้เหนื่อย กว่าจะรู้ตัวอีกทีว่าที่ประจำของเขาคือข้างเตียงแม่นั่นเอง เวลาก็ล่วงเลยมาอีก 10 ปี

ในที่สุดเวลา 30 ปีแห่งการอุทิศตัวดูแลยายและแม่ก็สิ้นสุดลง ทาเคชิกลายเป็นหนุ่มใหญ่วัย 38 ปีแล้ว เขาบอกว่าความฝันของเขาคือ อยากมีงานทำ มีครอบครัว และมีลูก เขายอมรับว่าลึกๆแล้วเคยท้อใจ

ทาเคชิ เป็นตัวอย่างของกรณี “ทองเนื้อแท้” ที่ปฏิบัติต่อบุพการีอย่างน่ายกย่อง เขาต้องสูญเสียเวลาเกือบครึ่งชีวิตไปกับภาระหน้าที่ที่หนักเกินวัย กว่าภาระนี้จะจบลงได้ เขายังต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่เขาไม่เคยมี “สายใย”เชื่อมโยงมาเลย แต่เขาก็ไม่ตำหนิโชคชะตา แต่อยากบอกให้สังคมรับรู้ว่าถ้าผู้คนรอบข้างมี “น้ำใจ” ไถ่ถามความเป็นอยู่ของเขาบ้าง ก็คงช่วยไม่ให้เขารู้สึก “โดดเดี่ยว” ได้

ยังมีอีกหลายกรณีที่ผู้ดูแลวัยเยาว์ ไม่อาจทนต่อภาระหนักอึ้งได้ และก่อเหตุน่าสลดใจสังหารบุพการี หรือไม่ก็เคยคิดที่จะดับชีวิตตัวเองเพื่อหนีภาระนี้

ดังนั้นจึงมีการตื่นตัวขององค์กรต่างๆพยายามยื่นมือเข้าช่วยเหลือ “ผู้ดูแลวัยเยาว์” อย่างเป็นการเร่งด่วนเบื้องต้น ไปจนถึงปรับปรุงระบบสวัสดิการการให้บริการการดูแลผู้ป่วย ผู้พิการ ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมและครอบครัวที่เปลี่ยนไป

มิฉะนั้นแล้ว “ทองเนื้อแท้” อาจถูกหลอมละลายหายไปเป็นแน่แท้…