กองทัพกับรัฐประหาร (จบ) / นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

กองทัพกับรัฐประหาร (จบ)

 

ความเปลี่ยนแปลงที่กระทบถึงกองทัพพม่า, ไทย, อินโดนีเซียอย่างสำคัญคือ อำนาจการนำในกองทัพ

ดังที่กล่าวแล้วว่า ในพม่าและอินโดนีเซีย กองกำลังที่ประกอบกันขึ้นเป็นกองทัพแห่งชาติมาจากหลายฝ่าย รัฐบาลของนักชาตินิยมอ่อนแอเกินกว่าจะควบคุมกองทัพได้ ไม่ว่าในแง่บังคับบัญชาหรือปฏิบัติการ เอาเข้าจริง แม้แต่ในกองทัพเองก็คุมอะไรกันไม่ได้

คนหรือกลุ่มคนที่โผล่ขึ้นมาเป็นผู้นำกองทัพ คือคนที่ได้รับการยอมรับนับถือจากหน่วยทหารกว้างขวางที่สุด มีคุณสมบัติและความสามารถที่ถูกใจทหาร พูดอย่างวิชาการคือคนที่มี charisma ซึ่งบางคนแปลว่า “อาณาบารมี” (บารมีที่เกิดจากอำนาจ – ฟังดูเหมือนไม่ได้แปล แต่ผมก็นึกคำแปลที่ดีกว่านี้ไม่ออก)

คนอย่างเนวินและตาน ฉ่วย ในกองทัพพม่า, จอมพล ป. พิบูลสงคราม และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในกองทัพไทย, นายพลสุดีร์มันและซูฮาร์โตในกองทัพอินโดนีเซีย ล้วนอาศัยความสำเร็จทางการทหาร ซึ่งบางครั้งอาจหมายถึงการเข่นฆ่าพลเมืองของตนเองอย่างโหดร้าย (แต่ปัญหาคือเข่นฆ่าอย่างไรให้เป็นที่ยอมรับในกองทัพ ในโลกนี้มีคนโหดร้ายซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับอยู่เยอะแยะ) และการสร้างเครือข่ายของตนเองในกองทัพอย่างชาญฉลาด จนในที่สุดเข้าถืออำนาจทางการเมืองสูงสุด โดยทุกฝ่ายต้องยอมรับ

กองทัพทั้งสามจึงเป็นใหญ่ในตัวเองเป็นประเพณี คือไม่อยู่ภายใต้การกำกับควบคุมขององค์กรจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร, นิติบัญญัติ หรือประมุขของประเทศ แม้นายทหารเหล่านี้ยังต้องฟังคำพิพากษา แต่เมื่อกำกับควบคุมฝ่ายตุลาการได้เสียแล้ว ย่อมไม่มีคำพิพากษาใดที่กองทัพรับไม่ได้อย่างแน่นอน กองทัพกลายเป็นอำนาจอธิปไตยในตัวเองควบคู่กันไปกับอธิปไตยอีกสามด้านของชาติ

 

จนถึงทุกวันนี้ ในกองทัพพม่าและอินโดนีเซีย การเลื่อนขั้นขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำก็ยังเป็นการตัดสินใจภายในกองทัพเองในสัดส่วนที่สูง แต่ในกองทัพไทย จนถึงช่วงปลายทศวรรษ 1970 ก่อนที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จะเข้าดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. กองทัพก็ยังมีส่วนในการตัดสินใจอยู่มาก แต่หลังจากนั้นอำนาจนี้ของกองทัพก็ลดสัดส่วนลงเรื่อยๆ จนในที่สุดแทบจะไม่เหลือเลย อำนาจการนำเลื่อนไปอยู่นอกกองทัพ

ฉะนั้น หากเปรียบเทียบกับจอมพล ป. หรือจอมพลสฤษดิ์แล้ว คุณภาพและคุณสมบัติของผู้นำกองทัพเสื่อมโทรมลงอย่างมากจนมาถึงระดับภูเขาอัลไต การประจบเอาใจหรือทำตัวให้เป็นที่น่าไว้ใจของอำนาจภายนอก กลับมีความสำคัญกว่าการแสดงความสามารถของตนให้เป็นที่ยอมรับภายในกองทัพเอง

คนอย่างนายพลเนวิน ซึ่งไม่เป็นที่ชื่นชมของฝ่ายประชาธิปไตยเลยนั้น ไม่ได้ผงาดขึ้นเป็นผู้นำกองทัพได้ด้วยการคืบคลานไปเลียแข้งเลียขาใคร แต่เขา “โดดเด่น” ในหมู่นายทหารกว่าใคร

ซูฮาร์โตไม่ได้เป็นเพียงนายพลที่รอดจากการสังหารหมู่ในเหตุการณ์ 30 กันยายน 1965 (เกสตาปู) เท่านั้น แต่เขาคือคนเดียวที่สามารถใช้โอกาสนั้นพลิกสถานการณ์ให้ฝ่ายกองทัพและตัวเขาเองกลับมาเป็นผู้กุมอำนาจได้ (หากเขาไม่ได้มีส่วนร่วมกับฝ่ายกบฏมาแต่แรก ดังที่ลือๆ กัน)

จอมพล ป.นั้นเป็นนายพันคนเดียวในรุ่นนั้นที่คิดเชิงยุทธศาสตร์เป็น ในขณะที่คู่แข่งของเขาทำได้แต่เพียงการคิดเชิงยุทธวิธีอย่างที่นายพันทั่วไปทำได้เท่านั้น ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงความสำเร็จในการปราบกบฏบวรเดช และการขยายกำลังของกองทัพบกอย่างเป็นล่ำเป็นสันตั้งแต่ก่อนจะดำรงตำแหน่งนายกฯ แล้ว

นอกจากปราบ “กบฏ” สำเร็จแล้ว จอมพล ส.ธนะรัชต์ ยังสร้างเครือข่ายอุปถัมภ์ภายใต้ตนเองขึ้นในกองทัพอย่างกว้างขวาง และทำให้ทหารเชื่อว่าสวัสดิการทหารจะได้รับการดูแลเอาใจใส่ดีขึ้น นับตั้งแต่เขายังไม่ขึ้นดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.ด้วยซ้ำ

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ แม่ทัพจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำได้ ก็ต้องอาศัยความสามารถส่วนตัว และความสำเร็จเชิงประจักษ์บางอย่าง (ไม่ว่าจริงหรือประดิษฐ์ขึ้นก็ตาม) ในการช่วงชิงตำแหน่งกันเองระหว่างนายทหาร ซึ่งเรียกโดยสรุปในที่นี้ว่าอาณาบารมี โดยไม่ต้องพึ่งอำนาจจากภายนอกกองทัพ

 

แต่ความเปลี่ยนแปลงทางเศษฐกิจ-สังคมซึ่งเกิดขึ้นในสามประเทศ – ไทยและอินโดนีเซียหลังนโยบายพัฒนาของสฤษดิ์และซูฮาร์โต, พม่าหลังรัฐธรรมนูญ 2008 และประธานาธิบดีเต็ง เส่ง – ทำให้ความคิดในหมู่ทหารเกี่ยวกับ “อาณาบารมี” เปลี่ยนไป ผู้นำที่จะได้รับการยอมรับนับถืออาจไม่ใช่ “นักเลง” อย่างสฤษดิ์ การเข้าไปกินนอนกับนักธุรกิจ “เจ๊ก” หรือ “Tyok” จนมั่งคั่ง หรือพ้นตำแหน่งด้วยทรัพย์สินหลายร้อยล้าน อาจไม่ใช่ภาพที่น่านับถืออีกต่อไป ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ นายพลมือสะอาดอย่างเต็ง เส่ง กลับน่านับถือกว่า แม้ไม่ใช่นับถือในเชิงผู้นำก็ตาม

ด้วยเหตุดังนั้น แม้แต่แม่ทัพที่ขึ้นสู่ตำแหน่งในพม่าและอินโดนีเซียด้วยการแข่งขันกันเองภายในกองทัพ ก็เสื่อมความนับถือศรัทธาจากทหารไปมากแล้ว ทั้งนี้ โดยไม่ต้องพูดถึงแม่ทัพในกองทัพที่ต้องอาศัยอำนาจภายนอกแต่งตั้งค้ำจุน ซึ่งย่อมยากที่จะเรียกร้องความนับถือศรัทธาอย่างจริงจังจากกองทัพได้

สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นท่ามกลางระบบราชการที่ซับซ้อนขึ้น เช่น จำนวนของฝ่าย “วิชาชีพ” (ซึ่งทำงานด้วยความสามารถเฉพาะของตนเอง) ย่อมเพิ่มขึ้นในระบบราชการเป็นธรรมดา ระบบเศรษฐกิจที่ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วสร้างอาชีพการงานให้แก่คนในเขตเมืองจำนวนมาก ซึ่งอยากก้าวหน้าในอาชีพการงานของตนเอง โดยไม่ต้องหลีกทางให้แก่อำนาจ “นอกระบบ” ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ, นักการเมืองขี้ฉ้อ, หรือสถาบันตามประเพณี

“ระบบ” กลายเป็นเรื่องสำคัญ เพราะอย่างน้อยที่สุด “ระบบ” (ซึ่งอาจเป็นประชาธิปไตยแบบเบี้ยวๆ เช่น พม่าและไทยก็ได้) ทำให้เกิดความสามารถที่จะ “ทำนายล่วงหน้า” หรือ predictability แก่ทุกคนได้ ความสามารถเช่นนี้มีความสำคัญแก่คนในเศรษฐกิจทุนนิยม ความเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้กระทบต่อสังคมโดยรวมเท่านั้น ยังกระทบไปถึงกองทัพเองด้วย ดังที่ได้กล่าวแล้วในตอนก่อน

อย่างไรก็ตาม แม้กองทัพขาดผู้นำที่มากอาณาบารมีไปแล้ว แต่กองทัพในสามประเทศก็ยังทำให้ “ระบบ” ไม่มีความมั่นคงแน่นอนอยู่นั่นเอง (อาจน้อยที่สุดในอินโดนีเซีย ด้วยเหตุผลซึ่งไม่มีพื้นที่จะอธิบายในที่นี้) ผู้นำรัฐบาลพลเรือนพยายามดำเนินนโยบายไม่สร้างความเป็นปฏิปักษ์กับกองทัพ บางครั้งถึงกับเอาใจด้วยซ้ำ แต่กาลเวลาก็พิสูจน์ให้เห็นในกรณีรัฐบาลยิ่งลักษณ์และออง ซาน ซูจี แล้วว่า นโยบายนี้ไม่สามารถรักษา “ระบบ” ไว้ได้

 

แม้กระนั้น ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมในสามประเทศนี้ ก็ทำให้การแทรกแซงการเมืองของกองทัพ ถึงทำได้ก็ไม่อาจรักษาอำนาจกองทัพไว้เหนือการเมืองไปได้อย่างยั่งยืน มีเหตุผลสามอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อการรักษาอำนาจของกองทัพไว้เหนือการเมือง (ไม่ว่ากองทัพมีอำนาจในตัวเอง หรือกองทัพเป็นเพียงเครื่องมือของ “อำนาจนอกระบบ”)

การบริหารรัฐภายใต้กองทัพเปลี่ยนความแน่นอนของ “ระบบ” ไปเป็นความสัมพันธ์กับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เป็นผู้นำกองทัพ จึงเป็นธรรมดาที่ “ความเป็นระเบียบและกฎหมาย” ย่อมพังทลายลง ทั้งๆ ที่สิ่งนี้มักเป็นข้ออ้างสำคัญของการยึดอำนาจของกองทัพเสมอก็ตาม คอร์รัปชั่นที่หนักขึ้นเพราะไม่มีใครตรวจสอบได้กลับปรากฏให้รู้โดยทั่วไป และเพราะอำนาจที่ขาดความชอบธรรม ทำให้กองทัพไม่อาจดึงเอาคน “มือดี” จริงมาช่วยบริหาร ทั้งเพราะคนเหล่านั้นไม่ไว้วางใจกองทัพ และกองทัพเองก็ไม่ไว้วางใจคนเหล่านั้น

เทคนิคการต่อต้านการยึดอำนาจของกองทัพเปลี่ยนไป แทนที่จะจัดการชุมนุมใหญ่เผชิญหน้ากับกองทัพโดยตรง กลับใช้การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ หรือการชุมนุมระยะสั้นที่ทำให้การปราบปรามของกองทัพ (ไม่ว่าจะทำโดยสไนเปอร์หรือนิติสงคราม) ขาดความชอบธรรม การต่อต้านในลักษณะนี้ให้ผลสองอย่างคือ หนึ่ง การประท้วงกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของผู้คนจำนวนมาก ไม่ก่อให้เกิดความเครียดจนเกินไป เพราะไม่กระทบต่อชีวิตปรกติมากนัก และสอง หากทำไปได้ในระยะยาว ย่อมดึงดูดให้คนในระบบเข้าร่วม และสักวันหนึ่งก็อาจรวมกลุ่มนายทหารในกองทัพบางหมู่บางเหล่าด้วย

เทคนิคที่เปลี่ยนไปนี้ เข้าใจว่าเป็นผลมาจากจำนวนของคนชั้นกลางในเขตเมืองเพิ่มสูงขึ้นด้วย

เหตุผลข้อสุดท้ายก็คือ โลกาภิวัตน์ทางการเงินและการลงทุนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ทุนสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย (สักวันหนึ่งโควิดก็ต้องกลายเป็นไข้หวัดใหญ่ไปจนได้) ภาวะไร้ระเบียบและขาดความแน่นอน จะผลักให้ทุนส่วนหนึ่งเคลื่อนย้ายไปยังแหล่งที่มีบรรยากาศการลงทุนที่ดีกว่าประเทศของตนเอง (ถึงอย่างไรทุนก็ไม่มีชาติอยู่แล้ว) จริงอยู่ ทุนใหญ่ๆ ในสามประเทศนี้ ล้วนอาศัยอำนาจรัฐในการมีอำนาจเหนือตลาดหรือได้อภิสิทธิ์ในการใช้ทรัพยากรทั้งสิ้น แต่ทุนใหญ่มหึมาเหล่านี้เพียงส่วนเดียว ไม่เพียงพอจะรักษาสภาวะปรกติของชีวิตทางเศรษฐกิจของประเทศได้ (ไม่ว่าจะดูจากการจ้างงานหรือประเภทของบริการที่ผลิตขึ้นในตลาด) ยังไม่พูดถึงว่า “ค่าต๋ง” ก็น่าจะสูงขึ้น เมื่อไม่สามารถเรียกจากทางอื่นได้

การเมืองของสามประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน ถ้าผู้ประท้วงในไทยและพม่า “ไม่แพ้” (คืออาจไม่ถึงกับชนะขาด) รัฐธรรมนูญพม่าและไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไรย่อมคาดเดาได้ยาก แต่ที่แน่นอนก็คืออำนาจของกองทัพที่สงวนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ (25% ของที่นั่งในสภาชาติและท้องถิ่น และวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง) ย่อมไม่อาจธำรงไว้ได้อย่างไม่ปรับเปลี่ยนอย่างแน่นอน