ปริศนาโบราณคดี : ‘มะเมียะ’ ยังมีตัวตนอยู่จริงไหม? เมื่อถอดเรื่องราวดราม่าออก (3) / เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

‘มะเมียะ’ ยังมีตัวตนอยู่จริงไหม?

เมื่อถอดเรื่องราวดราม่าออก (3)

 

ยังเหลืออีก 3 ประเด็นที่ต้องไขปริศนา

แต่เนื่องจากประเด็นที่ 5 ว่าด้วยชีวิตเจ้าน้อยศุขเกษมหลังมะเมียะกลับสู่มะละแหม่งแล้วนั้น มีรายละเอียดค่อนข้างมาก

จึงคงนำเสนอประเด็นนี้ได้เพียงประเด็นเดียว

“บัวนวล” – “บัวชุม”

 

สตรีสองนางที่ถูกปฏิเสธ?

มีชื่อของสตรีชั้นสูงเชื้อสายเจ้าสองนางปรากฏแทรกขึ้นมาในหน้าตำนานรักอมตะระหว่าง “มะเมียะ-เจ้าน้อยศุขเกษม” ไม่ว่าจะเป็นผู้มาก่อน (บัวนวล) หรือผู้มาหลัง (บัวชุม) ล้วนถูก “ปฏิเสธ” ด้วยการ “ไม่ให้หัวใจ” โดยเจ้าน้อยศุขเกษม จริงหรือ? คนแรกโดยนิตินัย คนหลังโดยพฤตินัย

กรณีของ “เจ้านางบัวนวล สิโรรส” ธิดาของเจ้าสุริยวงศ์ (คำตั๋น สิโรรส) กับเจ้าแม่สุคันธา ณ เชียงใหม่ ในหนังสือเพ็ชร์ลานนาของคุณปราณี ศิริธร ณ พัทลุง กล่าวไว้ค่อนข้างยาว สรุปใจความได้ว่า

ก่อนที่เจ้าน้อยศุขเกษมจะเดินทางไปศึกษาต่อที่มะละแหม่ง เจ้าพ่อ (เจ้าแก้วนวรัฐ ขณะเป็นเจ้าราชวงศ์อินทแก้ว) ได้หมั้นหมายเจ้านางบัวนวลให้กับเจ้าน้อยศุขเกษม เมื่อเรียนจบค่อยแต่งงานกัน แต่เมื่อเจ้านางบัวนวลทราบเรื่องว่าเจ้าน้อยศุขเกษมนำภริยาชาวพม่ากลับมาด้วย จึงได้ขอถอนหมั้นทันที

พิเชษฐ ตันตินามชัย นักประวัติศาสตร์ล้านนา เคยสัมภาษณ์น้องสาวแท้ๆ สองท่านของเจ้านางบัวนวล สิโรรส ได้แก่ เจ้านางแสงสว่าง และเจ้านางบุษบรรณ สิโรรส เมื่อสองทศวรรษก่อน เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่าจริงเท็จประการใด ได้คำตอบจากทั้งสองท่านว่า

“ย่าเคยได้ยินเจ้าพ่อ (เจ้าสุริยวงศ์คำตั๋น) พูดให้ย่าฟังว่า เจ้าหลวงมาสู่ขอพี่บัวนวลให้หมั้นกับเจ้าน้อยก่อนไปเรียนหนังสือที่เมืองพม่า จะปฏิเสธก็คงไม่งาม เพราะท่านเป็นถึงลูกชายเจ้าราชวงศ์ เมื่อกลับมาเชียงใหม่ เจ้าน้อยพาเมียมาด้วย พี่บัวนวลโกรธ และไปบอกให้เจ้าพ่อไปขอถอนหมั้น”

ถ้าเช่นนั้น เรื่องราวที่ถกเถียงกันมากว่าเจ้าน้อยศุขเกษมเคยมีคู่หมั้นและถูกถอนหมั้นเพราะมะเมียะ เป็นจริงละหรือ? ก็คงได้คำตอบ ณ ที่นี้แล้วว่า เป็นเรื่องจริง เนื่องจากผู้ยืนยันคือน้องสาวแท้ๆ ของผู้ขอถอนหมั้น

ต่อไปก็คือประเด็นชีวิตของเจ้าน้อยศุขเกษม ภายหลังจากที่มะเมียะถูกส่งตัวกลับไปแล้ว ได้สมรสกับสตรีที่ชื่อ “เจ้านางบัวชุม” นั้นมีความเป็นมาอย่างไร

 

ความลับนิรันดร์กาล

เบื้องหลังเรือนหอบ้านพายัพ

เอกสารฝ่ายล้านนาระบุว่า เจ้าน้อยศุขเกษมเข้ารับราชการเป็นทหารยศร้อยตรี อยู่ค่ายทหารบกเชียงใหม่ ฝ่ายติดต่อต่างประเทศ เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี ด้วยเคยเรียนหนังสือในโรงเรียน International ที่ St. Patrick เมืองมะละแหม่งมาก่อน

ทว่าอาจารย์วรชาติ มีชูบท วิเคราะห์จากภาพถ่ายชุดขาวที่เราเห็นกันชนชินตา (ต้นฉบับปรากฏในหนังสืองานศพของเจ้าน้อยศุขเกษม) ซึ่งเป็นชุดของนายทหารหน่วยรบยศชั้นนายร้อยนั้น พบว่าไม่มีการประดับจักรหมายชั้นยศบนอินทรธนู

ดังนั้น ขณะถ่ายภาพ น่าจะมียศเป็นเพียงว่าที่ร้อยตรีมากกว่า

อย่างไรก็ดี อาจารย์วรชาติให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นายพลโท พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ กำลังจะมีพระบัญชาแต่งตั้งให้เจ้าน้อยศุขเกษมเป็นนายร้อยตรีทหารบกอยู่

ส่วนบรรดาศักดิ์ “เจ้าอุตรการโกศล” นี้ก็มีการถกเถียงกันอย่างมากว่า ทำไมเจ้าน้อยศุขเกษมจึงได้รับตำแหน่งดังกล่าว

ไยจึงไม่ถูกวางตัวให้อยู่ในกลุ่มตำแหน่ง “เจ้าขัน 5 ใบของทางล้านนา” กอปรด้วย เจ้าหลวง เจ้าอุปราช เจ้าราชบุตร เจ้าราชวงศ์ และเจ้าบุรีรัตน์

ทั้งๆ ที่ช่วงนั้นเจ้าพ่อแก้วนวรัฐได้เลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอุปราชเชียงใหม่แล้ว

 

กรณีของ “เจ้านางบัวชุม ณ เชียงใหม่” นั้น (ในเพ็ชร์ลานนาใช้คำว่า “เจ้าหญิง” แต่ดิฉันเห็นว่า ธิดาของเจ้านายฝ่ายเหนือชั้นรองที่ไม่ได้เป็นระดับเจ้าผู้ครองนครควรใช้ “เจ้านาง” มากกว่า) เป็นธิดาของเจ้าพ่อดวงทิพย์ (สายเจ้าราชวงศ์มหาพรหมคำคง ผู้เป็นอนุชาของเจ้าหลวงอินทวิชยานนท์ พระบิดาของเจ้าดารารัศมี)

เจ้านางบัวชุมมีศักดิ์เป็นหลานสาวของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ได้ติดตามพระราชชายาฯ ไปใช้ชีวิตในวังหลวงที่กรุงเทพฯ ด้วยตั้งแต่วัยเยาว์ จึงมีสถานะเป็นข้าหลวงฝ่ายในที่คุ้มของเจ้าดารารัศมี

การพบกันครั้งแรกระหว่างเจ้าน้อยศุขเกษมกับเจ้านางบัวชุม เกิดจากการที่เจ้าน้อยศุขเกษมได้ตามเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ลำดับที่ 8 ลงมาเฝ้าฯ ถวายเครื่องราชบรรณาการต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2447 (เอกสารเล่มอื่นระบุปี 2448 ยกเว้นของอาจารย์วรชาติระบุปี 2447) ขณะนั้นเจ้าน้อยศุขเกษมอายุได้ 24 ปี

ครั้งนั้น พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ได้ประทานจัดงานเลี้ยงอาหารค่ำให้แก่เจ้านายฝ่ายเหนือที่ตำหนักของพระองค์ในพระบรมมหาราชวัง

เจ้านางบัวชุมอายุ 20 ปีได้ร่วมแสดงดนตรีในงานนั้นด้วย

กล่าวกันว่าเจ้านางมีความสามารถในการเล่นเครื่องดนตรีหลายประเภท ทั้งซออู้ ซอด้วง แม้กระทั่งเปียโนซึ่งได้รับการฝึกฝนจากแหม่มแบลล่าครูสอนดนตรีย่านถนนสุริวงศ์

และนั่นคือการพบกันครั้งแรกระหว่างเจ้าน้อยศุขเกษมกับเจ้านางบัวชุม

นำไปสู่การสมรสของทั้งคู่ในเวลาต่อมาอีกไม่นาน โดยพระราชชายาฯ เป็นประธานจัดงานให้ กระทำพิธีที่ห้างกิมเซ่งหลีจำกัด ของพระโสภณเพชรรัตน (กิ๊/อูเต็ง โสภโณดร) ผู้รับสัมปทานป่าไม้ขอนสักและนักธุรกิจรายใหญ่ของมณฑลพายัพ

พระราชชายาฯ ประทานบ้านพัก 1 หลังให้เป็น “เรือนหอ” แก่คู่บ่าว-สาวที่ถนนสามเสน ริมน้ำเจ้าพระยา

อาจารย์ลาวัณย์ โชตามระ กล่าวไว้ในหนังสือ “พระมเหสีเทวี” ว่า “บ้านพายัพ ตึกนั้นเป็นที่พำนักของพระญาติวงศ์ฝ่ายเหนือ เดิมทีเดียวเป็นเรือนหอของร้อยตรี เจ้าอุตรการโกศล กับเจ้านางบัวชุม ซึ่งเสกสมรสกันในปี 2448”

 

ปริศนาเรื่องการวิวาห์กันแบบปุบปับสายฟ้าแลบระหว่างเจ้าน้อยศุขเกษมกับเจ้านางบัวชุมนี้ มีความเห็นเป็นสองกระแสเช่นเคย

บ้างว่า พระราชชายาฯ เป็นผู้จัดการให้ทั้งหมด เพื่อเจ้าน้อยศุขเกษมจะได้ลืมความโศกเศร้าเรื่องมะเมียะ

แต่ก็มีผู้เห็นว่า น่าจะเกิดจากความรักความพิศวาสระหว่างชายหนุ่มหญิงสาวมากกว่ากระมัง เหตุที่ผู้ชายก็หล่อเหลาขั้นเทพ และผู้หญิงก็สวยคมเข้ม แถมมีเสน่ห์เล่นดนตรี มีอารมณ์ศิลปิน น่าจะเป็นคนโรแมนติก

ในเพ็ชร์ลานนาของคุณปราณีเอง เล่าว่า เจ้านางบัวชุมเป็นสาวเนื้อหอมแถวหน้าของ “วังเจ้าลาว” เลยทีเดียว มีเจ้านายชั้นสูงของสยามหลายพระองค์ที่ให้ความสนพระทัยเข้ามาทาบทามพระราชชายาฯ ขอเจ้านางบัวชุมไปเป็นหม่อม

อาทิ เสด็จเตี่ยกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช รวมไปถึงหม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร (ภายหลังเป็นพลเอกพระองค์เจ้า) รายหลังนี้พระราชชายาฯ ประทานให้เสกสมรสกับ “เจ้าทิพวรรณ ณ เชียงใหม่” แทน ด้วยมีพระประสงค์จะสงวนเจ้านางบัวชุมให้สมรสเฉพาะกับเครือญาติเจ้านายฝ่ายเหนือเท่านั้น

กิตติศัพท์ความเป็นสาวเจ้าเสน่ห์ของเจ้านางบัวชุมน่าจะดึงดูดให้เจ้าน้อยศุขเกษมหันมาสนใจได้อยู่บ้างไม่มากก็น้อย การสมรสคงไม่ได้เกิดจากการคลุมถุงชนของพระราชชายาฯ ตามที่ฝ่ายดราม่าอยากให้เจ้าน้อยศุขเกษมยึดมั่นในรักเดียวต่อมะเมียะจินตนาการเอาเอง

ประเด็นนี้ ดิฉันขอสารภาพว่าจนด้วยเกล้าจริงๆ ไม่รู้จะแสดงความเห็นประการใดได้ ด้วยมิอาจเอาความงามสง่า ความสามารถของอิตถีเพศท่านหนึ่งไปเป็นเครื่องตัดสิน ใช้ยืนยันว่าบุรุษผู้เพิ่งสูญเสียรักครั้งแรกไปหมาดๆ เมื่อพบเห็นนางแล้วต้องสยบยอมอย่างไร้ข้อแม้ ได้จริงหรือไม่?

ดิฉันมิอาจทราบรหัสนัย ความรู้สึกข้างในระหว่างคนสองคน เป็นความลับที่ไม่อาจเปิดเผยให้โลกล่วงรู้ได้ กรณีนี้จึงไม่ขอฟันธง ขอทำหน้าที่เสนอมุมมองสองด้านคู่ขนานกันไป ให้ผู้อ่านได้เห็นเองว่า ปมเรื่อง “มะเมียะ-เจ้าน้อยศุขเกษม” นี้มักมีข้อโต้แย้งเห็นต่างที่ตรงข้ามกันในทุกรายละเอียด ทุกประเด็นไป

 

อย่างไรก็ดี เจ้าน้อยศุขเกษมกับเจ้านางบัวชุมครองคู่กันเพียง 6 เดือนก็ต้องจากกันชั่วคราว เจ้าน้อยศุขเกษมขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่ที่เชียงใหม่ 1 ปี เจ้านางบัวชุมจึงกลับไปอยู่ตำหนักพระราชชายาฯ ทิ้งบ้านพายัพให้ร้างจนเป็นปริศนา

ประเด็นนี้ก็มีผู้วิเคราะห์ไปต่างๆ นานาในทำนองว่า ความที่เจ้าน้อยศุขเกษมไม่อาจลืมมะเมียะได้ใช่ไหม จึงหาทางเร่งย้ายตัวเองกลับไปอยู่เชียงใหม่โดยอ้างเรื่องงาน

แต่บางท่านก็เห็นว่า การแยกกันอยู่แค่ 6 เดือนของคู่ใหม่ปลามันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนัก จำเป็นด้วยหรือที่เจ้านางบัวชุมจะต้องรีบร้อนติดสอยห้อยตามสามีไปทุกหนแห่ง บางทีอาจเป็นช่วงเวลาที่เจ้านางเองถือโอกาสไปเคลียร์งานที่ค้างคาในตำหนักเจ้าดารารัศมีให้เสร็จก่อนก็เป็นได้

เพราะในท้ายที่สุด เจ้าน้อยศุขเกษมก็มารับเจ้านางบัวชุมให้ไปอยู่ด้วยกันที่คุ้มแถวเชิงดอยสุเทพ เชียงใหม่ หลังจากนั้น 7 ปีเจ้าน้อยศุขเกษมก็เสียชีวิต

หนังสือของพระยามหาอำมาตย์ รายงานต่อพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงปราจิณกิติบดี ราชเลขานุการ ลงวันที่ 26 มีนาคม 2456 ว่า

“กระทรวงมหาดไทยได้รับโทรเลขจากพระยาวรวิไชยวุฒิกร ปลัดมณฑลประจำนครเชียงใหม่ … ว่า เจ้าอุตรการโกศล (น้อยศุขเกษม) กรมการพิเศษเมืองเชียงใหม่ ได้ป่วยเป็นโรคเส้นประสาทพิการเรื้อรังมาช้านาน ได้ถึงแก่กรรมเสียเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พุทธศักราช 2456 นี้แล้ว อายุได้ 33 ปี”

คำว่า “โรคเส้นประสาทพิการเรื้อรัง” เป็นข้อมูลที่สะท้อนถึงการดื่มสุราอย่างหักโหมของเจ้าน้อยศุขเกษมได้หรือไม่ ดื่มเพราะไม่อาจลืมมะเมียะ หรือดื่มเพราะความชอบส่วนตัว? นอกจากนี้ ยังมีผู้ถามว่ามูลเหตุของโรคนี้ หากไม่ใช่ “ติดเหล้า” แล้ว สามารถเกิดขึ้นได้จากพฤติกรรมอื่นใดได้อีกหรือไม่?

และหากเจ้าน้อยศุขเกษมติดเหล้าจริง อะไรเป็นสาเหตุให้ต้องดื่มเหล้าเมามายมากเพียงนั้น ทั้งๆ ที่ได้ครองรักกับศรีภริยาผู้งามสง่า เครียดเรื่องงาน หรือรู้สึกผิดที่ทอดทิ้งมะเมียะ ซ้ำได้ข่าวว่านางตรอมใจถึงขนาดหนีไปบวชชี

สรุปว่าฉบับนี้นำเสนอให้เพียงแค่ประเด็นเดียวเท่านั้น โปรดติดตามตอนอวสานฉบับหน้า