เช็กสต็อกหนังสือ : นิตยสารศิลปวัฒนธรรมฉบับประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2564/สํานึกของช้าง/สู้โควิดแบบไทยๆ

เช็กสต๊อกหนังสือ

กาสะลอง

นิตยสารศิลปวัฒนธรรมฉบับประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ราคา 120 บาท

ในวาระครบรอบ 100 ปีของกบฏ ร.ศ.130 จึงนำเสนอเรื่องราวคณะ “เก๊กเหม็ง” สยาม ที่ค้นคว้าผ่านหนังสืออนุสรณ์งานศพเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของไทย จากที่นริศ จรัสจรรยาวงศ์ ผู้เขียน เคยค้นคว้าจากหนังสืองานศพคณะราษฎรไปก่อนหน้านี้

หลังปฏิวัติ 2475 คณะ ร.ศ.130 หลายคนที่ออกจากคุกแล้วผันตัวไปเป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ได้พากันเขียนเบื้องหลังการก่อการ เพื่อให้สังคมและคนรุ่นหลังได้เรียนรู้ จึงเกิด “หลังฉากการปฏิวัติ ร.ศ.130” ของสมจิตต์ เทียนศิริ “ประวัติปฏิวัติครั้งแรกของไทย ร.ศ.130” ของ ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ และ ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ ซึ่งได้ถูกนำมาพิมพ์ครั้งแรกในงานศพนายแพทย์เหล็ง ศรีจันทร์ หัวหน้าผู้ก่อการในชื่อ “หมอเหล็งรำลึก” ที่ถือเป็น 1 ในหนังสือ 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน

อย่างไรก็ตาม จากการค้นคว้าผ่านหนังสืองานศพชาวคณะเก๊กเหม็งเท่าที่มีจัดพิมพ์ สิ่งที่พบในเนื้อหาคือความงดงามของมิตรภาพอันแนบแน่นของผู้ก่อการและการรักษาอุดมการณ์ร่วมกันตราบจนวาระ “จากตาย” ซึ่งล้วนเป็นความภาคภูมิใจต่อสิ่งที่กระทำลงไปด้วยใจบริสุทธิ์ต่อประเทศชาติ แม้ว่าจะถูกตราหน้าว่า “กบฏ”

นอกจากนี้ ในหนังสืองานศพของคณะผู้ก่อการที่มีชีวิตยาวนานจนได้เห็นการก่อการของคณะราษฎรในปี 2475 กระทั่งถึงบทจบ เราจะยังได้เห็นความสัมพันธ์และการส่งต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยที่มีระยะเวลาห่างกันถึง 20 ปีผ่านข้อเขียนในหนังสืองานศพเหล่านี้ เป็นความสัมพันธ์ที่ทำให้พระยาพหลพลพยุหเสนาหลุดวาทะจากขั้วหัวใจแด่คณะ ร.ศ.130 ในบ่ายวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ว่า “ถ้าไม่มีคณะคุณก็เห็นจะไม่มีคณะผม”

ยังมีเรื่องน่าสนใจอื่นๆ อีก เช่น โรคระบาดกับจำนวนประชากรไทยในอดีต, แผนการต้านญี่ปุ่นของ “สันติบาลใต้ดิน” เป็นต้น

สํานึกของช้าง (IL SENSO DELL’ ELEFANTE) สำนักพิมพ์กำมะหยี่ มาร์โค มิสซีรอลี (MARCO MISSIROLI) ผู้แต่ง นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ แปล จำนวน 196 หน้า ราคา 200 บาท

นวนิยายร่วมสมัยจากนักเขียนดาวรุ่งของอิตาลีฝีมือเยี่ยม เรื่องราวของชะตาชีวิตอันซับซ้อนที่ต้องเก็บซ่อนความรักอันยิ่งใหญ่ และต้องใช้ความกล้าหาญอย่างยิ่งเพื่อแสดงมันออกมา

ปิเอโตร อดีตบาทหลวงหนุ่มที่ตกหลุมรักสาวน้อยเซเลสเต สัมพันธ์อันลึกซึ้งได้ให้กำเนิดลูกชายที่เขาไม่มีโอกาสได้ล่วงรู้หรือใกล้ชิด วันหนึ่งหลังพ้นชีวิตบาทหลวง เขาถูกเรียกตัวมารับงานเป็นผู้ดูแลตึกแห่งหนึ่งในมิลานที่หลายครอบครัวพักอยู่ร่วมกัน แน่นอน…เขาไม่ได้มาที่นี่ด้วยความบังเอิญ เพราะตึกแห่งนี้มีผู้จัดการซึ่งเป็นทนายเกย์ช่างสังเกตและเก็บข้อมูลผู้คนในตึกไว้เพียบ จงใจเลือกเขาด้วยเหตุผลพิเศษ นั่นคือ ให้พ่อ-ลูกชายที่เป็นนายแพทย์หนุ่มผู้อุทิศชีวิตให้คนไข้ ได้มีโอกาสสัมผัส “ความรัก” จากความผูกพันซ่อนเร้นอดีตนั้น

ยังมี “ความรัก” แฝงเร้นในมุมอื่น ไม่ว่าจะเป็นในครอบครัวหมอมาร์ตินีที่ภายนอกดูอบอุ่นสวยงาม แต่ภายในต่างปวดร้าว ความรักของพ่อเฒ่าเจ้าของปั๊มน้ำมันเล็กๆ ที่ปรารถนาให้ลูกชายอดีตนักบอลดาวเด่นพ้นทรมานจากสภาพคนครึ่งชีวิต โดยคาดหวังความช่วยเหลือจากหมอ อดีตเพื่อนรักของลูก เช่นเดียวกับที่ภรรยาอดีตครูของหมอคาดหวังให้เขาช่วยให้สามีเธอพ้นทรมานจากมะเร็งระยะสุดท้าย ความรักแสนซื่อใสของเฟอร์นันโด-หนุ่มเพี้ยนที่มีต่ออลิเช-สาวร้านกาแฟ

โดยมีตุ๊กตาช้างตัวน้อยที่ปิเอโตรให้ไว้กับเด็กชายลอเลนโซคนไข้ตัวน้อยของลูกชายที่ป่วยหนักและเจ้าหนูก็กอดมันเป็นเพื่อนจนลมหายใจสุดท้าย สะท้อนสื่อสายใยรักและสำนึกของความเป็นพ่อ

สู้โควิดแบบไทยๆ จัดทำโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ (มยส.) สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ และสาขาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ผู้เขียน จำนวน 397 หน้า

รวมผลงานของผู้เขียนที่ได้ชื่อว่าเป็นนักระบาดวิทยาที่ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ ที่เขียนวิเคราะห์การระบาดของโรคโควิด-19 ยกแรกที่เริ่มพบในไทยตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงช่วงสามารถคุมสถานการณ์ได้ คือราวเดือนกันยายน 2563 (น่าเสียดายที่ยังไม่ครอบคลุมการระบาดรอบใหม่ที่โจทย์ยากกว่า)

นพ.ประเวศ วะสี เขียนคำนิยมไว้ว่า งานด้านระบาดวิทยาไม่ต่างจากบทบาทนักสืบแบบเชอร์ล็อก โฮล์มส์ เพียงแต่เป็นการสืบสวนหาที่มาของการแพร่ระบาดของโรค ซึ่ง ศ.นพ.วีระศักดิ์ได้ใช้หลักวิชาและหลักคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ รวมทั้งประสบการณ์และองค์ความรู้ด้านต่างๆ ทั้งประวัติศาสตร์ สถิติ ฯลฯ มานำเสนออย่างน่าสนใจ

นอกจากสาระที่เกี่ยวกับโควิด-19 โดยตรงแล้ว ผู้เขียนยังพยายามเชื่อมโยงความคิดกับคนรุ่นใหม่ให้คลายความเคร่งเครียดจากความต่างระหว่างรุ่นและวัยที่สะท้อนผ่านการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงปีที่ผ่านมาด้วย

ไม่มีจำหน่ายทั่วไป แต่ถ้าใครสนใจสามารถสอบถามได้จากหน่วยงานที่เป็นผู้สนับสนุนการจัดพิมพ์ข้างต้น

คํา คม คิด

“มีบางคนตำหนิพวกเธอว่าชิงสุกก่อนห่าม แต่ฉันคัดค้านว่าสัญชาตญาณของมนุษย์นั้นไม่เหมือนผลไม้ จะสุกเมื่อใดก็ย่อมได้ ไม่มีหลักเกณฑ์อันใดว่ามันจะต้องห่ามเสียก่อน”

เสด็จในกรมหมื่นพงศาดิศรมหิป (พระองค์เจ้าไชยานุชิต) กล่าวถึงคณะ “เก๊กเหม็ง” สยาม ร.ศ.130