หลังเลนส์ในดงลึก : ‘ภาพจำ’ / ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
กระทิง - กระทิงเป็นสัตว์สังคม ตัวเมียอาวุโสเป็นผู้นำฝูง ส่วนใหญ่เมื่อได้กลิ่นสัตว์ผู้ล่า พวกมันเลือกจะผละหนี

‘ภาพจำ’

ทุกครั้งที่เห็นปลากระป๋อง จะเกิดสิ่งที่เรียกได้ว่า คล้ายเป็น “ภาพจำ” สำหรับผมอย่างหนึ่ง นั่นคือ น้ำพริกปลากระป๋อง

น้ำพริกปลากระป๋อง ที่เพื่อนอันเป็นคู่หูของผมนำเสนอเป็นเมนูอาหารเสมอ มันไม่ได้เป็นน้ำพริกปลากระป๋องซึ่งมีรสชาติดีเด่น หรือเป็นเมนูที่ผมชอบมากแต่อย่างใดเลย

แต่จะกล่าวโทษคู่หูผู้ทำให้กินคงไม่ได้ เพราะว่าตามจริงแล้ว ในกล่องเสบียงไม่ได้มีวัตถุดิบในการประกอบอาหารได้หลากหลายเมนูหรอก

สิ่งที่ดูจะหลากหลายคือ ผัก หรือใบไม้ต่างๆ นั่นเองที่คู่หูเก็บมาให้กินกับน้ำพริก

ไม่ใช่แค่ผักกูด, ผักหนาม, เร่ว, หน่อไม้, ดอกกระเจียว รวมทั้งเห็ดตามฤดูกาล คู่หูทำราวกับว่า ใบไม้ในป่านั้น นำมากินได้หมด เขารู้ว่า ชนิดใดต้องต้ม ชนิดใดกินสดๆ ทุกชนิดคู่หูจะบอกว่า ช่วยแก้เรื่องปวดเมื่อย และน้ำพริกปลากระป๋องก็ดูจะเข้าได้กับใบไม้สารพัดชนิดนี่ได้ดี

คู่หูที่ผมพูดถึงบ่อยๆ นี้มีชื่อว่า อดิเทพ เขาเป็นชาวกะเหรี่ยงจากบ้านช่องสามัคคี ไม่ไกลจากหมู่บ้านจะแก

ความคล่องแคล่ว มีทักษะในการใช้ชีวิตในป่าอย่างสูงยิ่งของเขาทำให้ “ภาพจำ” อีกอย่างเมื่อผมนึกถึงคู่หูคนนี้

คือ คล้ายผมเป็นเด็กที่ทำงานอยู่ในป่า มีอดิเทพคอยดูแล

“วันนี้ไม่เจอ พรุ่งนี้ก็เจอ สักวันก็เจอนะ หม่องโจ” อดิเทพพูดประโยคนี้เกือบทุกค่ำในตอนที่เขาเดินมารับผมที่ซุ้มบังไพร พูดอย่างรู้ว่า ตลอดทั้งวันตั้งแต่เช้าถึงค่ำ ผมเฝ้ารออยู่กับความว่างเปล่า

วันเวลาของผมในป่าทุ่งใหญ่ พบเจอกับสภาพนี้ เฝ้ารอโดยมีความว่างเปล่าเป็นเพื่อน ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

ไม่ใช่เพราะป่าทุ่งใหญ่ไร้สัตว์ป่า แต่เพราะที่นี่มีความหลากหลายแหล่งอาหารของสัตว์ป่ามีมาก

ช่วงฤดูแล้ง ก็มีแหล่งทั่วไป พืชอาหาร เช่น ไทร, ตาเสือ, มะขามป้อม และอื่นๆ สารพัด ทยอยออกลูกสุก

ตำแหน่งที่ดีสำหรับเฝ้ารอสัตว์อย่างโป่งที่สัตว์ใช้ตลอดปีที่นี่ ไม่มีโป่งอันมีพื้นที่กว้างๆ มาก มีเพียง 2-3 แห่ง และมีช่วงเวลาที่สัตว์ใช้แค่ระยะเวลาสั้นๆ

โป่งส่วนใหญ่เป็นโป่งเล็กๆ อยู่ในหุบมีเขาขนาบ ไม่มีตำแหน่งให้ตั้งซุ้มบังไพร กระแสลมพัดไป-มา กลิ่นกายผมลอยไปทั่ว สัตว์สัมผัสได้

เส้นทางเดินก็ไม่ง่ายนัก ต้องใช้เส้นทางเดียวกับที่สัตว์ใช้ ด่านที่สัตว์เดิน เป็นทางเชื่อมระหว่างแหล่งอาหาร

อดิเทพพาผมเดินอ้อม ใช้เวลาเพิ่มขึ้น เหนื่อยมากขึ้น

“กลิ่นเราจะติดที่ทาง สัตว์มันรู้” เขาบอก

สาเหตุหลักที่ด่านที่สัตว์ป่าที่นี่เดินไม่ง่าย เพราะเส้นทางไม่ได้ทำโดยช้าง ไม่มีประชากรช้างอาศัยประจำในพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่ฝั่งตะวันตก มีเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่จะเดินผ่านในช่วงปลายๆ ฤดูฝน

ช้างมีหน้าที่สำคัญคือ ทำทาง และบุกเบิกขยายพื้นที่ในโป่ง

ที่นี่ กระทิงทำหน้าที่แทน และดูเหมือนงานของกระทิงไม่ค่อยได้เรื่องสักเท่าใด พวกมันอยู่ร่วมฝูงก็จริง แต่ขณะเดิน หลายครั้งไม่เดินตามๆ กัน แยกไปทางโน้นทางนี้ เดินตามรอยกระทิง ผมพลัดออกนอกทางบ่อยๆ

ถ้ามีอดิเทพเดินนำ ผมไม่ใช้จีพีเอส “โกทู” สู่จุดหมาย

“ตามจีพีเอสเดินยาก ขึ้นลงชัน บางทีจะรกทึบไปตามด่านดีกว่า” เขาบอก ถ้าเป็นการเดินไปหาจุดหมายเพื่อตั้งแคมป์ ไม่ใช่เดินจากแคมป์ไปโป่ง เขาจะพาผมไปตามด่าน

ในระยะหลังเมื่อมีอดิเทพเป็นคู่หู ผมเลือกทำงานที่คล้ายจะยากมากขึ้น

เลือกเฝ้ารอในแหล่งที่พบร่องรอยสัตว์ที่ไม่ค่อยได้พบ อย่างตามปลัก หรือโป่งเล็กๆ รายล้อมด้วยป่ารกทึบ

ในที่แบบนี้ ไม่ค่อยมีความหลากหลายของสัตว์นัก

รออยู่กับความว่างเปล่า จึงเป็นเรื่องธรรมดา

จะพูดว่าว่างเปล่า อาจไม่ตรงกับความเป็นจริงเท่าใด เพราะรออยู่กับยุง, ทาก, งูในบางครั้ง รวมทั้งฝนซึ่งตกทุกๆ บ่าย

ในช่วงเดือนพฤศจิกายนแล้วฝนในป่าที่นี่ยังตกสม่ำเสมอ เช้ามืดอุณหภูมิลดเหลือ 10 กว่าองศา แสงแดดจัดจ้า ท้องฟ้าสีครามเข้ม หลังเที่ยง สภาพท้องฟ้าเปลี่ยน มีเมฆดำเคลื่อนเข้ามา ฝนโปรยพร้อมเสียงคำรามของท้องฟ้า

ไม่ถึงหนึ่งทุ่ม ป่ามืดมิด เดินกลับแคมป์ต้องใช้ไฟฉายคาดหัว

น้ำในห้วยเย็นจัด ท้องฟ้าไร้แสงจันทร์ และดาวระยิบ

ทุกครั้งที่เงยหน้ามองท้องฟ้ามืดมิด

ผมเชื่ออย่างที่เชื่อมาเนิ่นนานแล้วว่า ข้างหลังเมฆดำทะมึนนั่น มีแสงจันทร์อันอ่อนละมุน

ข้างกองไฟ หลังกินข้าวกับเมนูหลัก น้ำพริกปลากระป๋อง อดิเทพมวนยาเส้นและขึ้นเปล

ผมมองเปลวไฟร่ายรำ ผมเฝ้ารอมาหลายวัน

“สักวันก็เจอนะหม่องโจ” ผมได้ยินเสียงอดิเทพ หันไปมองเขา เอาไม้เขี่ยๆ งูปล้องทองตัวยาวที่มาขดอยู่ใต้เปล

ผมรู้ว่านี่ไม่ใช่ประโยคที่เขาพูดลอยๆ หรือพูดปลอบใจให้ผมรู้สึกดี

แต่เขาเชื่ออย่างที่พูดจริงๆ

ทุกครั้งที่เห็นปลากระป๋อง ผมนึกถึงน้ำพริกปลากระป่อง

คล้ายเป็นภาพจำอันทำให้นึกถึงอดิเทพผู้ทำกับข้าวไม่อร่อย พูดภาษาไทยไม่แข็งแรง คุยแต่เรื่องซ้ำๆ

ผมไม่ได้นึกถึงคู่หู แต่ผมนึกถึงเพื่อน

เราไม่ได้พบกันนาน

ถึงวันนี้ เขาออกจากป่า กลับไปอยู่บ้านเพื่อช่วยเมียทำงาน

ไม่ผิดนักหากพูดว่า วันเวลาในป่า ทำให้ “ภาพจำ” ผมชัดเจน

เขาบอกผมเสมอว่า ให้เชื่อคำว่า สักวัน

เช่นเดียวกับที่ผมเชื่อว่า หลังเมฆดำ มีแสงจันทร์อ่อนละมุน

แม้ในคืนที่ท้องฟ้ามืดมิด พายุรุนแรง ฝนตกราวกับจะไม่มีวันหยุดอีกแล้ว…