เกษียร เตชะพีระ : บริบทแห่งการปฏิวัติเสรีนิยม [อ่านไปให้หายแปลก]

เกษียร เตชะพีระ

อ่านไปให้หายแปลก (3) : บริบทแห่งการปฏิวัติเสรีนิยม

ย้อนอ่านตอน  2   1

หน้าในของหนังสือ “ศาสตร์นิพนธ์แห่งการปกครองสองบรรพ” (Two Treatises of Government, ค.ศ.1690) อันถือเป็นตำราคลาสสิคของแนวคิดเสรีนิยมทางการเมือง ซึ่งแต่งโดย จอห์น ล็อก (ค.ศ.1632-1704) นักปรัชญาแห่งการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (the Glorious Revolution ค.ศ.1688) ของอังกฤษนั้น ปรากฏข้อความว่า :

“ศาสตร์นิพนธ์แห่งการปกครองสองบรรพ :

ในบรรพแรก หลักการและรากฐานอันเป็นเท็จของ เซอร์โรเบิร์ต ฟิลเมอร์ กับบรรดาสาวกของเขาถูกตรวจจับและโค่นลง

บรรพหลังเป็นความเรียงว่าด้วยกำเนิด, ขอบเขต และจุดมุ่งหมายที่แท้ของการปกครองพลเมือง

ลอนดอน,… ค.ศ.1690”

อย่างไรก็ตาม การตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ในชั่วชีวิตของล็อกไม่ระบุชื่อผู้เขียน เพื่อความรอบคอบปลอดภัยท่ามกลางความขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองของการปฏิวัติในอังกฤษสมัยนั้น จนกระทั่งล็อกยอมรับออกมาเองว่าตนเขียนในพินัยกรรมบั้นปลายชีวิต

ความข้อนี้ไม่แปลกและเป็นที่เข้าใจได้หากคำนึงว่า จอห์น ล็อก ร่วมขบวนต่อต้านขัดขวางการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าเจมส์ที่สองของอังกฤษ โดยพรรควิก (เสรีนิยม) ในสภาภายใต้การนำของเอิร์ลแห่งชาฟต์สเบอรี่ (ค.ศ.1621-1683) มหาเสนาบดีผู้นำพรรควิกและเจ้านายผู้อุปถัมภ์ล็อก

ทั้งนี้ เพื่อคัดค้านป้องกันแนวโน้มสมบูรณาญาสิทธิราชย์อำนาจนิยมคาทอลิก (Catholic theocratic authoritarian absolute monarchy) ของพระเจ้าเจมส์ที่สอง ตามรอยพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ พระญาติและพันธมิตรอุปถัมภ์ ผู้ทรงปกครองโดยเผด็จอำนาจและกดขี่ข่มเหงพวกชาวคริสต์นอกนิกายคาทอลิกอยู่ในฝรั่งเศส

เพื่อประโยชน์แก่การเข้าใจสภาพเงื่อนไขของกำเนิดลัทธิเสรีนิยม มีบริบททางการเมืองและวัฒนธรรมของยุโรปยุคต้นสมัยใหม่ (Early Modern Europe) อันผิดแผกแตกต่างจากโลกปัจจุบันที่พึงตระหนักอยู่สองสามประการ

ประการแรก ในยุโรปสมัยนั้น (สิ้นยุคกลางไปจนถึงเริ่มการปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือจากราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 ถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17) การเมืองกับศาสนายังไม่ได้แยกขาดจากกันเสียทีเดียว เมื่อเทียบกับยุคก่อนหน้าคือยุคกลางที่การเมืองกับศาสนากลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งกระบวนการทำให้การเมืองเป็นเรื่องโลกวิสัย (secularization of politics) หลุดพ้นไปจากกรอบทางศาสนายังไม่เสร็จสิ้นเด็ดขาด

นี่คือมูลเหตุที่ทำให้การปฏิวัติอังกฤษมีชื่อเรียกควบกันไปว่าการปฏิวัติพิวริแตนด้วย (the English Revolution/the Puritan Revolution, ค.ศ.1640-1660)

หากดูในแง่นักคิดทางการเมืองคนสำคัญที่สะท้อนสภาพเปลี่ยนผ่านนี้ ก็จะเห็นได้ เช่น :-

– นิกโคโล มาเคียเวลลี (Niccol? Machiavelli, ค.ศ.1469-1527) ผู้เขียนคู่มือการเมืองเรื่อง “เจ้า” (The Prince, ค.ศ.1513) อันโด่งดังฉาวโฉ่ในนครรัฐของอิตาลี เขาเป็นนักคิดการเมืองยุคใหม่คนแรกที่พยายามปลดปล่อยการเมืองให้เป็นอิสระจากเอเธนส์ (ในความหมายเมืองอันเป็นตัวแทนปรัชญาเชิงอุดมคติของกรีกโบราณ) และเยรูซาเลม (ในความหมายเมืองอันเป็นตัวแทนหลักศีลธรรมของคริสต์ศาสนา) โดยนำเสนอตรรกะเฉพาะพิเศษต่างหากของการคิดและปฏิบัติการทางการเมืองเรื่องอำนาจที่เป็นอิสระของมันเองบนพื้นฐานความเป็นจริง

– โธมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes, ค.ศ.1588-1679) ผู้เขียนปรัชญาการเมืองแห่งระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์เรื่อง “เลอเวียธัน” (Leviathan, ค.ศ.1651) อันได้รับยกย่องว่าเป็นงานปรัชญาการเมืองคลาสสิคที่ดีที่สุดในภาษาอังกฤษ แต่เจ้าตัวกลับกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์รังเกียจเดียดฉันท์ของฝ่ายนิยมกษัตริย์ในอังกฤษ ความที่ในหนังสือเล่มนั้น ฮอบส์วาดวางการปกป้องรับรองความชอบธรรมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ไว้บนฐานคติใหม่คือสัญญาประชาคมสมัครใจของปัจเจกบุคคลเสรีทั้งหลายในภาวะธรรมชาติ (individualistic social contract theory) แทนที่จะอ้างอิงสิทธิธรรมที่ประทานให้โดยพระผู้เป็นเจ้าและสืบทอดมาจากอาดัมตามพระคริสตธรรมคัมภีร์ (ตามหลักปิตาธิปไตยแบบเทวาธิปไตย หรือ theocratic patriarchy) ดังแต่ก่อน

อีกทั้งฮอบส์ยังจัดวางรัฐไว้เหนือศาสนจักร ให้องค์อธิปัตย์กุมอำนาจตัดสินชี้ขาดสุดท้ายในการตีความหลักธรรมทางศาสนาในสังคม ไม่อนุญาตให้พระนักบวชหรือใครอ้างการตีความหลักธรรมหรือพระเจ้าของตัวเองมาคัดค้านต่อต้านองค์อธิปัตย์

– หรือแม้แต่ในกรณี จอห์น ล็อก ซึ่งถือหลักเสรีภาพในศรัทธาทางศาสนา ส่งเสริมให้อดกลั้นต่อความแตกต่างหลากหลายทางความเชื่อศาสนา เพราะศรัทธาและมโนธรรมทางศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัว และฉะนั้นจึงควรได้รับการปกป้องคุ้มครอง อดกลั้นและปฏิบัติต่ออย่างเที่ยงธรรมไม่ลำเอียงจากรัฐบาล ในฐานะที่มันเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เอกชนเหมือนทรัพย์สินและผลประโยชน์ทั้งหลายนั้น

แต่ก็มีข้อยกเว้นว่าไม่นับรวมพวกอเทวนิยม (ไม่เชื่อพระเจ้า) และคาทอลิก เพราะพวกแรกถือว่านอก (คริสต์) ศาสนา ส่วนพวกหลังก็ขึ้นต่อไท้ต่างด้าวท้าวต่างแดนคือองค์พระสันตะปาปาในกรุงวาติกัน

– ต้องรอจนถึง ฌอง-ฌากส์ รูสโซ (Jean-Jacques Rousseau, ค.ศ.1712-1778) พลเมืองชาวเจนีวาในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ผู้ดลบันดาลใจการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ.1789 เราจึงจะเห็นการแยกการเมืองออกจากศาสนาอย่างเด็ดขาดดังในงานของเขาเรื่อง “สัญญาประชาคมหรือหลักแห่งสิทธิทางการเมือง” (Du contrat social ou , Principes du Driot Politque, ค.ศ.1762) ตอนที่ 4 บทที่ 8 ศาสนาพลเมือง (De la religion civile สำนวนแปลของ คุณวิภาดา กิตติโกวิท)

นอกจากนี้ เราก็ไม่พึงมอง “ศาสนา” อย่างคับแคบว่าเป็นแค่เรื่องของ “ความเชื่อ” เท่านั้น หากควรเล็งเห็นดังที่ ศาสตราจารย์ ควาเม แอนโธนี อัพเพียห์ เสนอว่าองค์รวมของศาสนาเป็นทั้งเรื่องของ [ความเชื่อ+วัตรปฏิบัติ+ชุมชน/สหธรรมิก] หรือ [creed+practice+community/fellowship] ควบขนานไปพร้อมกัน (www.matichonweekly.com/column/article_33006)

การพาดเกี่ยวระหว่างการเมืองกับศาสนา – โดยเฉพาะในยุคที่ศาสนายังครอบกลืนชีวิตผู้คนอย่างเบ็ดเสร็จโดยไม่แยกส่วนพื้นที่ชีวิตทางการเมืองหรือเศรษฐกิจออกมาเป็นอิสระต่างหาก และในแง่กลุ่มก้อนกำลังการจัดตั้งรวมหมู่ของผู้คนในฐานะชุมชนต่างๆ ที่รวบรวมเอาสหธรรมิกสังกัดเดียวกันไว้ด้วยกัน – จึงย่อมเกิดได้ง่ายเป็นธรรมดา

ส่วนบริบทแห่งกำเนิดเสรีนิยมที่สำคัญในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐของยุโรปยุคต้นสมัยใหม่ก็คือเรากำลังพูดถึงยุคก่อนชาตินิยมและก่อนรัฐชาติ, ที่ซึ่งรัฐทั้งหลายอยู่ในรูปรัฐเจ้าและรัฐกษัตริย์ (princely state & kingly state) เป็นหลัก ตามแนวคิดการตีความประวัติศาสตร์ของ ครูเบน แอนเดอร์สัน (ชุมชนจินตกรรม : บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม, ค.ศ.1983) และ ฟิลิป บ๊อบบิตต์ (Philip Bobbitt, The Shield of Achilles : War, Peace and the Course of History, ค.ศ.2002)

นั่นแปลว่า ด้านหนึ่ง เจ้านายและกษัตริย์ผู้ครองราชย์เหนือรัฐต่างๆ ในยุโรปยุคนั้นมักสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นพระญาติพระวงศ์กันโดยผ่านการอภิเษกสมรสทางการเมืองเพื่อขยายอำนาจอิทธิพลทางการทูตเหนือแว่นแคว้นแผ่นดินออกไป โดยที่บ่อยครั้งราชวงศ์ผู้ปกครองรัฐหนึ่งๆ เอาเข้าจริงหาได้เป็นชนเชื้อชาติเดียวและพูดภาษาเดียวกับไพร่พลเมืองในราชอาณาจักรใต้การปกครองของตนมาแต่เดิมไม่ หากเป็นชนต่างชาติต่างภาษามาจากที่อื่น

ดังนั้น ในการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ของอังกฤษปี ค.ศ.1688 เจ้าชายวิลเลียมแห่งโอเรนจ์ของเนเธอร์แลนด์ (โปรเตสแตนต์) ที่กรีธาทัพข้ามทะเลมาขับโค่นพระเจ้าเจมส์ที่สองของอังกฤษ (คาทอลิก) ตามคำกราบบังคมทูลอัญเชิญลับของสภาอังกฤษนั้น เอาเข้าจริงก็เป็นราชบุตรเขยของพระเจ้าเจมส์ที่สองผู้ทรงเป็นพระสสุระ (พ่อตา) โดยผ่านการอภิเษกสมรสกับราชินีแมรี่ (โปรเตสแตนต์) พระราชธิดาของพระเจ้าเจมส์ที่สองนั่นเอง

มรดกตกทอดของการนี้ยังหลงเหลือสืบมาในชั้นหลังยุครัฐชาติสมัยใหม่แล้ว ดังเช่นช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (ค.ศ.1914-1918) นั้น พระเจ้าจอร์จที่ห้าแห่งราชอาณาจักรอังกฤษ (จอร์จี้), พระเจ้าซาร์นิโคลาสที่สองแห่งจักรวรรดิรัสเซีย (นิกกี้), และพระเจ้าไกเซอร์ วิลเฮล์มที่สองแห่งเยอรมนี (วิลลี่ – อันเป็นพระนามที่ทรงเรียกหากันเล่นในวัยเยาว์) ต่างก็เป็นพระญาติพระวงศ์สนิทกัน โดยทุกพระองค์ทรงสืบเชื้อสายหรือเกี่ยวดองเป็นพระราชนัดดาหรือพระราชนัดดาเขยของสมเด็จพระอัยยิกาเจ้าพระราชินีวิกตอเรียแห่งอังกฤษซึ่งเสด็จสวรรคตแล้ว (ค.ศ.1819-1901) โดยตรงทีเดียว

จนพระราชินีวิกตอเรียทรงได้พระสมัญญานามว่า “สมเด็จพระอัยยิกาเจ้าแห่งยุโรป” (Grandmamma of Europe) และพระเจ้าไกเซอร์ถึงแก่ตรัสว่าหากสมเด็จพระอัยยิกาเจ้าวิกตอเรียยังทรงพระชนม์ชีพอยู่แล้ว พระองค์จะไม่มีวันทรงปล่อยให้พวกตนทำสงครามกันเด็ดขาด (http://www.bbc.co.uk/history/british/britain_wwone/cousins_at_war_01.shtml)

และบูรพกษัตริยาธิราชเจ้าแห่งราชอาณาจักรอังกฤษรอบสามศตวรรษที่ผ่านมานั้นเอาเข้าจริงก็สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ฮาโนเวอร์ (House of Hanover, ค.ศ.1714-1901) และราชวงศ์แซก-โคเบิร์ก-โกธา (House of Saxe-Coburg and Gotha, ค.ศ.1901-ปัจจุบัน) ของเยอรมนี โดยที่ราชวงศ์หลังเพิ่งเปลี่ยนพระนามเป็นราชวงศ์วินด์เซอร์ (House of Windsor) เพื่อให้สอดรับกับความเป็นจริงที่อังกฤษรบกับเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเมื่อปี ค.ศ.1917 นี่เอง

อีกด้านหนึ่ง การลี้ภัยการเมืองข้ามรัฐไปมาระหว่างรัฐต่างๆ ในยุโรปก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา รวมทั้งการเคลื่อนไหววางแผนคบคิดกันเพื่อกลับไปยึดอำนาจในรัฐดั้งเดิมของตนด้วย โดยไม่มีนัยว่านี่เป็นการ “ทรยศชาติ”, “ขายชาติ” หรือ “สมคบคิดกับต่างชาติ” แต่อย่างใด

ดังที่ โธมัส ฮอบส์ ซึ่งอยู่ฝ่ายนิยมกษัตริย์ได้ลี้ภัยการเมืองจากฝ่ายรัฐสภาไปอาศัยอยู่ฝรั่งเศสในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่และหาเลี้ยงชีพโดยรับจ้างเป็นติวเตอร์เลขคณิตให้รัชทายาทว่าที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่สองของอังกฤษอยูที่นั่นตลอดช่วงสงครามกลางเมืองอังกฤษระหว่าง ค.ศ.1640-1652

และในทางกลับกัน จอห์น ล็อก ซึ่งอยู่ฝ่ายพรรควิกในสภาก็หลบลี้หนีราชภัยจากเกาะอังกฤษตามรอยเอิร์ลแห่งชาฟต์สเบอรี่ผู้เป็นนายไปอยู่เนเธอร์แลนด์ระหว่าง ค.ศ.1683-1689

และกลับอังกฤษหลังการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ประสบชัยแล้ว