นิทรรศการเชิดชูเกียรติ มูลนิธิศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ “ศิลปินแห่งชาติ”

อาจารย์ชลูด นิ่มเสมอ จากลาครอบครัว บรรดาศิษย์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และวงการศิลปะ ไปเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2558 ซึ่งครบรอบปีไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อันเป็นธรรมดาโลกของการเกิดแก่เจ็บตาย ไม่มีใครอยู่เหนือกาลเวลา นอกจากคุณงามความดี และผลงานเท่านั้น

ผลงานศิลปะประเภทประติมากรรม จิตรกรรม และอื่นๆ อันเป็นรูปธรรมของท่านมีมากเกินกว่าจะนำมาเสนอ

อีกทั้งได้เคยบอกกล่าวไปมากพอสมควร เรียกว่าในระดับหนึ่งทีเดียว

ผลงานที่ปรากฏตามสถานที่สาธารณะอันเป็นงานประติมากรรมส่วนใหญ่นั้นมีอยู่หลายที่ทาง ทั้งสถานที่ราชการ อาคารสำนักงาน และธนาคารต่างๆ

แต่ผลงานที่เด่นชัดซึ่งจะต้องยืนยงเจริญก้าวหน้าไม่รู้จักจบสิ้นต่อไป ก็คือ “การวางรากฐานเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนศิลปะในคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์”

ซึ่งเป็นการสืบทอดเจตนารมณ์ของท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (Prof.Corrodo Feroci) ผู้ให้กำเนิด

30 กว่าปีท่านเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาศิลปะในคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เป็นผู้สร้างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สร้างอาจารย์ผู้สอนวิชาศิลปะ” ให้เป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์ ก่อตั้งคณะศิลปกรรมไทย

เปิดการเรียนการสอนศิลปะในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก

เฉพาะคณะจิตรกรรมไทยนั้นทำให้เกิดศิลปินไทยร่วมสมัยโด่งดังคับบ้านคับเมืองเป็นจำนวนมาก

โดยเฉพาะ “ศิลปินอาจารย์” ซึ่งได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม+ประติมากรรม+สื่อผสม) เป็นลูกศิษย์อาจารย์ชลูดแทบทั้งสิ้น

ซึ่งก็ต้องเขียนแปะเอาไว้ล่วงหน้าต่อไปอีกว่า “ศิลปินอาจารย์” ละแวกหน้าพระลาน ผลิตผลจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ซึ่งศาสตราจารย์เกียรติคุณชลูด นิ่มเสมอ อดีตคณบดีคณะจิตรกรรมฯ อดีต “ศิลปินแห่งชาติ” เป็นผู้สร้าง ยังจะต้องเดินตามกันเข้ารับการเชิดชูเกียรติดังกล่าว

“ศิลปินแห่งชาติ” สาขาทัศนศิลป์ เป็นอีกเป้าหมายหนึ่งสำหรับ “ศิลปินอาจารย์” ละแวกหน้าพระลาน นอกเหนือจาก “ศิลปินชั้นยี่ยม” จากการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ

คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สามารถรับนักศึกษาได้ปีละไม่มาก ปัจจุบันมีนักศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรี-โท-เอก ทั้งหมดรวมกันประมาณ 800 คน อาจเป็นเพราะว่าการเรียนการสอนเรื่องศิลปะนั้นย่อมจะต้องมีพื้นฐานความชอบพอ มีนิสัยรักในศิลปะ ซึ่งก็สอนได้เพียงการพัฒนาฝีมือขั้นพื้นฐานส่วนทางด้านจิตวิญญาณคงเข้าไปสัมผัสได้ยากอยู่

เพราะฉะนั้น จำนวนนักศึกษาจึงต้องจำกัด ขณะเดียวกัน งบประมาณ สถานที่ศึกษาก็จำกัดไปด้วย แม้จะมีการขยายไปยังวิทยาเขต พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐมแล้วก็ตาม

ว่ากันว่านักศึกษาศิลปะส่วนใหญ่จะมีอุปนิสัยแตกต่างออกไปจากนักศึกษาสาขาวิชาอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ค่อยจะสนใจกฎระเบียบอะไรบางอย่างที่จำกัดขอบเขต

และดูเหมือนจะอ่อนด้อยเรื่องการบริหารจัดการเพราะมุ่งสู่ความเป็นศิลปิน?

คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ จึงเพิ่งจะมีการก่อตั้ง “สมาคมนักศึกษาเก่า คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร” ขึ้นเมื่อไม่นาน เพิ่งหมดเทอมนายกสมาคมนักศึกษาเก่าไปเพียงคนเดียว

ปัจจุบันอยู่ในเทอมของนายกสมาคมคนที่ 2

สมาคมนักศึกษาเก่ามีนโยบายและเป้าหมายอย่างไรก็เป็นที่รับรู้รับทราบกันเป็นส่วนใหญ่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอดีตนักศึกษา หรือศิษย์เก่าของคณะวิชานี้ที่ให้ความสนใจติดตามความเคลื่อนไหวในสังคมอยู่บ้าง ไม่ถึงกับจมหายไปในสังคมหลังจบการศึกษาไปเรียบร้อยแล้ว

ติดตามความเคลื่อนไหวในการทำงานของสมาคมนักศึกษาเก่า คณะจิตรกรรมฯ อยู่อย่างต่อเนื่องพอสมควร ความเคลื่อนไหวเป็นไปจึงไม่ค่อยหลุดรอดความรับรู้ไปได้กับการสื่อสารอันง่ายดายรวดเร็วในโลกยุคปัจจุบัน ซึ่งก็แบ่งใจเพื่อให้ความเข้าใจเห็นใจคนทำงานที่เสียสละเนื่องจากการทำงานเพื่อส่วนรวมนั้นต้องเป็นผู้ที่มีจิตอาสาอย่างแท้จริง เพราะกรรมการทุกท่านก็ต้องประกอบอาชีพเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวเช่นเดียวกัน

การพบปะเพื่อปรึกษาหารือกันอย่างใกล้ชิดสม่ำเสมอแบบเห็นหน้าเห็นตากันนั้นเป็นไปอย่างจำกัด นอกเสียจากว่าจะมีงานเร่งด่วน และระเบียบปฏิบัติของสมาคมบีบรัดซึ่งกว่าจะได้พบกันแบบครบองค์ประชุมเพื่อการตัดสินใจลงมติในแต่ละเรื่องก็ค่อนข้างเหนื่อยพอสมควร ซึ่งในทุกวันนี้แม้จะมีการสื่อสารทางช่องทางโซเชียลมีเดียช่วยประหยัดผ่อนคลายเรื่องเวลา และการเดินทาง การประชุมก็ยังยากอยู่พอสมควรในเรื่องของสถานที่

คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ จึงเป็นเป้าหมายสำหรับอาคารสถานที่ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะคณบดี ก็เป็นกรรรมการอยู่ด้วยโดยตำแหน่ง ติดขัดอยู่ตรงที่ว่าเวลานี้ มหาวิทยาลัยศิลปากรกำลังอยู่ช่วงเวลาของการซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ (Renovate) ซึ่งก็หมายรวมถึงคณะจิตรกรรมฯ ด้วย

วันหนึ่งมีอาจารย์ของคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ เสียชีวิตลง สมาคมนักศึกษาเก่าคณะจิตรกรรมฯ ได้ร่วมมือร่วมใจกันช่วยเหลือด้วยการจัดงานแสดงศิลปะผลงานของตัวท่านเอง

ขณะเดียวกัน บรรดารุ่นพี่รุ่นน้องก็เสียสละผลงานมาจำหน่ายเพื่อหารายได้ช่วยเหลือครอบครัว รุ่นต่างๆ รวมทั้งรุ่นลุง รุ่นน้า อา ทราบข่าว และมีเวลาพอก็ไปร่วมงาน

ได้พบกับ “ศิลปินแห่งชาติ” หลายท่าน เช่น อาจารย์นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน อาจารย์ปรีชา เถาทอง อาจารย์เขมรัตน์ กองสุข เหล่าศิษย์ของอาจารย์ชลูด ซึ่งท่านให้การสนับสนุนให้เข้ามาเป็นอาจารย์สืบทอดต่อมา ซึ่งนานๆ หรือโอกาสพิเศษๆ เท่านั้นจะได้พบเจอกัน หลังจากที่ต่างคนต่างเดินไปตามเส้นทางของตนเองในสังคมอันกว้างใหญ่ ได้นั่งสนทนากันอยู่ตรงโต๊ะหน้าห้องนิทรรศการร่วมกับเพื่อนพ้องน้องพี่รุ่นต่างๆ กัน รวมทั้ง มนัส คงรอด นายกสมาคมนักศึกษาเก่า คณะจิตรกรรมฯ คนปัจจุบัน (คนที่ 2)

อาจารย์นนทิวรรธน์ เอ่ยปากกับนายกสมาคมนักศึกษาเก่าฯ เรื่อง “การทำอะไรสักอย่างให้กับท่านศาสตราจารย์เกียรติคุณชลูด นิ่มเสมอ” อาจารย์ของพวกเรา เพราะท่านเป็นผู้ซึ่งมีคุณูปการกับคณะจิตรกรรมฯ เป็นอาจารย์ที่หาได้ยากที่ทุ่มเทเสียสละเพื่อวงการศึกษาศิลปะ

โดยทุกท่านในวงสนทนานั้นไม่มีใครเห็นเป็นอย่างอื่น นอกจากจะให้คำเสนอแนะ เช่น การก่อตั้งเป็นมูลนิธิของท่านเพื่อดำเนินการจัดหาทุนรอนไว้ส่งเสริมสนับสนุนนักศึกษาศิลปะ

นายกสมาคมนักศึกษาเก่าคณะจิตรกรรมฯ ก็ยินดีนำเรื่องที่คุยกันวันนั้นไปพิจารณา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในคณะกรรมการ ซึ่งทราบต่อมาว่า คณะกรรมการก็ไม่มีใครขัดข้อง และเตรียมจะจัดงานเพื่อเชิดชูเกียรติในเดือนตุลาคม 2559 โดยเน้นที่ศิษย์ของอาจารย์นำผลงานมาร่วมกันจัดแสดงเพื่อหารายได้

ขณะเดียวกันก็จะเน้นงานให้ออกไปในทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ความรู้ให้เป็นประโยชน์แก่วงการศิลปะ นักศึกษาศิลปะ ฯลฯ

แต่ก็มีการท้วงติงกันมาว่า คณะกรรมการการจัดประกวด และแสดงงานศิลปกรรมแห่งชาติ จะจัดงานเพื่อเชิดชูเกียรติอาจารย์ชลูด ซึ่งก็มีคุณูปการมากมายแก่การประกวดงานศิลปกรรมแห่งชาติต่อเนื่องมายาวนาน ในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติในปีนี้ (2559) โดยได้รับการยืนยันมาจากทางลูกศิษย์ใกล้ชิดอาจารย์มาอีกทางหนึ่ง งานส่วนนี้ของสมาคมจึงหยุดชะงักลง

อันที่จริง ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการจัดงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ คณะกรรมการตัดสิน คณาจารย์ของคณะจิตรกรรมฯ คณะกรรมการสมาคมนักศึกษาเก่าคณะจิตรกรรมฯ ล้วนเป็น “ศิษย์+ทายาท” ท่านอาจารย์ทั้งสิ้น ถ้าหากมีการรวมศูนย์นัดหมายจัดประชุมใหญ่ร่วมกันสักครั้งหนึ่งเพื่อดำเนินการเรื่องของ “ศาสตราจารย์เกียรติคุณชลูด นิ่มเสมอ” สักครั้งหนึ่งก็จะดี ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องยากมากๆ ก็ได้?

ต้องหา “เจ้าภาพ” ให้ชัดเจน ไม่อย่างนั้นแล้วการทำอะไรเพื่อเชิดชูเกียรติอาจารย์ของ “ศิลปินอาจารย์” ละแวก “หน้าพระลาน” อาจเป็นเพียงแค่คำสนทนาไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีจุดจบ

การเชิดชูเกียรติ การก่อตั้ง “มูลนิธิศาสตราจารย์เกียรติคุณชลูด นิ่มเสมอ” อาจเป็นได้เพียงแค่นามธรรม?