สิ่งแวดล้อม : แก้ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ‘เหลว’ / ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]

แก้ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ‘เหลว’

ช่วงบ่ายวันหยุดก่อนเทศกาลตรุษจีนเป็นวันที่มีแสงแดดจ้าอากาศร้อนจัด ผมนั่งรถเพื่อนเข้าไปทำธุระใจกลางกรุงเทพมหานคร ระหว่างอยู่บนทางด่วน กวาดตามองไปรอบๆ เห็นยอดตึกสูงโผล่กลางกลุ่มควันสีเทาหม่นโพลนปกคลุมท้องฟ้า ในบางมุมแทบมองปลายตึกไม่เห็น คล้ายดั่งเข้ามาเมืองในหมอก

เพื่อนบอกกลุ่มควันที่เห็นเป็นฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ให้ดูเว็บ air4thai ของกรมควบคุมมลพิษ

เมื่อคลิก air4thai ได้คำตอบว่าในช่วงเวลานั้น คุณภาพอากาศของพื้นที่กรุงเทพมหานครมีปริมาณฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เกินค่ามาตรฐาน (ค่ามาตรฐานบ้านเรา 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) มีผลต่อสุขภาพ ประชาชนควรงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นช่วงวันหยุดและอยู่ในภาวะการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ถนนโล่ง รถบนทางด่วนน้อยกว่าวันปกติ สภาพอากาศยังเลวร้ายขนาดนี้

ขอย้อนเวลากลับไปที่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา หยิบเอาปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 มาชูให้เป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากสถานการณ์ในขณะนั้นอยู่ในขั้นวิกฤต ฝุ่นพิษฟุ้งกระจายไปทั่วกรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่ๆ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือมีทั้งฝุ่นและหมอกควันพิษ

อีก 8 เดือนต่อมา รัฐบาลลุงตู่ประกาศแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง”

แผนดังกล่าวแบ่งขั้นตอนการปฏิบัติงานชัดเจนใน 3 ข้อหลัก

1.ในช่วงสถานการณ์วิกฤตปัญหาฝุ่นละอองระหว่างเดือนธันวาคม-เมษายน เช่น ระดับที่ปริมาณฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 มีค่าระหว่าง 51-75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ให้ทุกส่วนราชการเพิ่มและยกระดับมาตรการต่างๆ ให้เข้มงวดขึ้น

ในระดับนี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดที่ประสบปัญหาฝุ่นละอองเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบสําหรับส่วนราชการอื่นๆ เป็นหน่วยสนับสนุนปฏิบัติการ

หรือหากปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กพีเอ็ม 2.5 มีค่ามากกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แนวทางปฏิบัติกําหนดให้ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นกรณีเร่งด่วน

2.การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทางมุ่งให้ความสําคัญในการควบคุมและลดการระบายมลพิษทางอากาศจากแหล่งกําเนิดรวมถึงลดจํานวนแหล่งกําเนิดมลพิษ มีมาตรการระยะสั้น (พ.ศ.2562-2564) เช่น ส่งเสริมให้นําน้ำมันเชื้อเพลิงมีกํามะถันไม่เกิน 10 ส่วนต่อล้านส่วนหรือพีพีเอ็ม (part per million) มาขายก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้

บังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ยูโร 5 ภายในปี 2564 และเร่งรัดเชื่อมโยงโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งสาธารณะ

ด้านควบคุมและลดมลพิษจากการเผาในที่โล่งภาคการเกษตร มาตรการระยะสั้น เช่น ส่งเสริมให้จัดการเศษวัสดุทางการทําเกษตร นํามาใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ ห้ามเผาในพื้นที่ชุมชน ริมทาง และเผาขยะโดยเด็ดขาด กำหนดพื้นที่ปลอดการเผาอ้อยเพื่อเป็นจังหวัดต้นแบบปลอดการเผาอ้อย

ในมาตรการควบคุมและลดมลพิษจากการก่อสร้างและผังเมืองระยะสั้น เช่น กําหนดกฎระเบียบมาตรการและเกณฑ์ปฏิบัติที่ดีในการควบคุมฝุ่นละอองจากการก่อสร้างประเภทต่างๆ ส่งเสริมให้จัดทําผังเมืองและการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ต้องคํานึงถึงปัจจัยที่จะมีผลต่อการระบายอากาศและการสะสมของมลพิษทางอากาศ

มาตรการระยะสั้นในการควบคุมและลดมลพิษจากอุตสาหกรรม เช่น กําหนดมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศในรูปขนถ่าย หรือ Loading ในพื้นที่ที่มีปัญหาฝุ่นละอองโดยคํานึงถึงความสามารถหรือศักยภาพในการรองรับมลพิษทางอากาศของพื้นที่ การจัดทําเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ

ส่วนมาตรการระยะยาว เช่น ทบทวนและปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรมให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือกในการผลิตไฟฟ้า

ด้านควบคุมและลดมลพิษจากภาคครัวเรือน มาตรการระยะสั้น และมาตรการระยะยาว (พ.ศ.2565-2567)

สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดในครัวเรือน พัฒนาและส่งเสริมการใช้เตาหุงต้มและเตาปิ้งย่างปลอดมลพิษ พัฒนาและส่งเสริมการใช้เตาเผาอิฐและถ่านปลอดมลพิษ

3.การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นการพัฒนาระบบ เครื่องมือ กลไกในการบริหารจัดการ รวมถึงการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจและกําหนดแนวทางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาในอนาคต ประกอบด้วย มาตรการระยะสั้น (พ.ศ.2562-2564) ด้านการแก้ไขปัญหามลพิษข้ามแดน เช่นการขับเคลื่อนเรื่องมลพิษหมอกควันข้ามแดนตามโรดแม็ปอาเซียนปลอดหมอกควันข้ามแดน (ASEAN Transboundary Haze – Free Roadmap)

เมื่อถึงช่วง “ฤดูฝุ่น” ต้นปี 2563 รัฐบาลระดมสรรพกำลังลุยตามแผนปฏิบัติการปราบฝุ่นพิษทั้งโชว์ดักจับรถที่พ่นควันดำ คุมเข้มโรงงานอุตสาหกรรม พื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้า อาคารสูง ในพื้นที่เกษตร สั่งห้ามเผาเศษหญ้าฟาง ต้นอ้อย

แต่สารพัดวิธีการที่รัฐบาลลุงตู่งัดมาใช้ “ล้มเหลว” ไม่เป็นท่า เพราะเครื่องตรวจวัดค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในหลายพื้นที่ทั้ง กทม. และหัวเมืองใหญ่ๆ ในภาคเหนือส่งสัญญาณบอกว่า ปริมาณฝุ่นสูงมาก บางพื้นที่ค่าฝุ่นติดอันดับโลก เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

มาปีนี้ “ฤดูฝุ่น” วนกลับมาเป็นปีที่ 2 การตรวจวัดปริมาณฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ทั้งในกรุงเทพมหานคร และเมืองใหญ่ๆ ภาคเหนือ อีสาน มีค่าสูงเกินมาตรฐานต่อเนื่องกัน นั่นแสดงให้เห็นว่าปฏิบัติการแก้ฝุ่นพิษประสบความล้มเหลวซ้ำรอยเดิม

คำถามง่ายๆ ว่า เมื่อแก้ปัญหาล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่า รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบกับผลเสียหายจากฝุ่นพีเอ็ม 2.5 อย่างไร?