เศรษฐกิจ/บาทแข็งรอต้อนรับ 20 ปีลอยตัวค่าเงิน แบงก์ชาติออกมาตรการสกัด… ไม่ปล่อยซ้ำรอย “วิกฤตต้มยำกุ้ง”

เศรษฐกิจ

บาทแข็งรอต้อนรับ 20 ปีลอยตัวค่าเงิน

แบงก์ชาติออกมาตรการสกัด… ไม่ปล่อยซ้ำรอย “วิกฤตต้มยำกุ้ง”

 

ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2560 จะครบรอบ 20 ปีของการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ซึ่งเป็นผลจากค่าเงินบาทถูกต่างประเทศ โดยกองทุนจอร์จ โซรอส โจมตีอย่างหนัก ยากที่จะต้านทานไหว

ค่าเงินบาทจากที่ใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังประกาศใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว ค่าเงินบาทก็รูดลงทันทีไปแต่ที่ระดับ 50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

เดือดร้อนถึงธุรกิจที่กู้เงินเป็นสกุลดอลลาร์เมื่อแปลงเป็นเงินบาทกลายเป็นหนี้พุ่งขึ้นอีกเท่าตัว

ส่งผลเจ๊งเป็นโดมิโน กระทบระบบเศรษฐกิจรวมอย่างมหาศาล

เปิดต้นปี 2560 จนถึงปัจจุบัน เหมือนภาพเก่าเมื่อเกือบ 20 ปี จะย้อนกลับมาฉายซ้ำ

เมื่อมีเงินทุนจากต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในพันธบัตรรวมทั้งลงทุนในตลาดหุ้นของไทย

ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง จากระดับ 35.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2559 และ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2560 มาอยู่ที่ 34.35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าไปแล้วกว่า 1 บาท และยังคงแข็งค่าต่อเนื่องทำสถิติแข็งค่าสูงสุดในรอบ 2 ปี นับตั้งแต่ปี 2558 เมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ระดับ 34.05 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนเดือนมิถุนายน ค่าบาทแข็งโป๊ก หลุด 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ไปอยู่ที่ 33.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

หรือช่วงประมาณ 5 เดือนของปีนี้ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเกือบ 2 บาทแล้ว

สำหรับผู้ที่มีหน้าที่ทำนโยบายการเงินและดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ อย่างแบงก์ชาติไม่ได้นิ่งนอนใจ จากเงินทุนที่ไหลเข้ามา

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ประกาศว่า ไม่ชอบเงินทุนต่างชาติที่เข้ามาพักในประเทศในระยะสั้น ๆ เพื่อเก็งกำไร

พร้อมทั้งออกมาตรการลดปริมาณการออกพันธบัตร (บอนด์) ธปท. อายุต่ำกว่า 1 ปี

และล่าสุดได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินซึ่งมีความล้าสมัยและไม่ทันกับความเสี่ยงในโลกใหม่ที่เทคโนโลยีเปลี่ยนไปรวดเร็ว

แนวทางการผ่อนคลายกฎเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงิน อาทิ ใบอนุญาตประกอบธุรกิจเงินตราต่างประเทศกับบริษัทหลักทรัพย์ สามารถซื้อขายเงินตราต่างประเทศกับลูกค้าทั้งไทยและต่างชาติได้ ตัวกลางอื่นๆ นอกจากบริษัทหลักทรัพย์ เช่น ผู้ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจตราสารหนี้ จัดการกองทุน และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นตัวกลางพานักลงทุนไทยไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ

ผ่อนคลายให้บุคคลรายย่อยที่มีสินทรัพย์ทางการเงินตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศโดยไม่ผ่านตัวแทนได้ วงเงินไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยสินเชื่อเป็นสกุลเงินบาทแก่ผู้ประกอบการต่างประเทศที่ไม่มีแหล่งที่อยู่ในไทยเพื่อลงทุนในไทย หรือลงทุนในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

รวมทั้งให้ลูกค้าสามารถโอนเงินออกนอกประเทศเพื่อชำระค่าสินค้าในต่างประเทศผ่านตัวแทนโอนเงินได้ และลงเงินได้มากขึ้น ให้ธุรกิจรับแลกเงินซื้อขายธนบัตรต่างประเทศกับธนาคารพาณิชย์และธุรกิจรับแลกเงินในต่างประเทศ

การผ่อนเกณฑ์เหล่านี้จะเริ่มมีผลตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้ จนถึงปี 2561

ซึ่งแม้จะไม่ได้เป็น “มาตรการที่ออกมาดูแลค่าเงินบาท” แต่นัยหนึ่งช่วยให้เงินทุนที่ไหลเข้าออกมีความสมดุลมากขึ้น

และยังเป็นผลให้ธุรกิจสามารถปรับตัวได้ สามารถบริหารจัดการเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงินและอัตราแลกเปลี่ยนได้รวดเร็ว ทันการณ์

และช่วยให้แบงก์ชาติไม่ต้องใช้ทุนสำรองดูแลค่าเงินบาท

ข้อมูลจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย โดย “อริยา ติรณะประกิจ” รองกรรมการผู้จัดการ ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีเงินทุนไหลเข้าในตลาดพันธบัตรไทยจากนักลงทุนต่างชาติสุทธิ 8 หมื่นล้านบาท และปริมาณการถือครองพันธบัตรของต่างชาติสะสมรวม 7.2 แสนล้านบาท โดยเห็นการไหลเข้ามาลงทุนต่อเนื่องในตลาดไทย รวมทั้งตลาดภูมิภาคและกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ แต่ปริมาณการถือครองยังต่ำกว่า ปี 2556 มีเงินไหลเข้ามาซื้อพันธบัตร จนถือครองสะสมสูงกว่า 8.3 แสนล้านบาท

“จิติพล พฤกษาเมธานันท์” นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย มองเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาตั้งแต่ต้นปี ไม่ได้อยู่ในระดับที่น่ากังวล เพราะเห็นการเข้ามาซื้อทั้งพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาวในสัดส่วนเท่าๆ กัน

และหากเทียบปริมาณเงินไหลเข้าของไทยกับประเทศในภูมิภาค ช่วงเวลาเดียวกัน เงินทุนไหลในไทยยังน้อยกว่าเงินทุนที่เข้าในอินโดนีเซียถึง 200,000 ล้านบาท เกาหลีใต้เข้ามากว่า 600,000 ล้านบาท

อีกทั้งการที่มีเงินทุนไหลเข้าดังกล่าวเป็นผลดี เพราะภาครัฐยังมีความต้องการที่จะใช้เงินทุนในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและโครงการลงทุนต่างๆ ซึ่งเมื่อออกพันธบัตรแล้วมีความต้องการซื้อ ดีกว่าที่ออกมาแล้วไม่มีคนซื้อ

ประเมินว่าหากเงินทุนเหล่านี้จะไหลออกรวดเร็ว ปัจจัยจะมาจากการที่มีเหตุการณ์มากระทบกระเทือนอย่างรุนแรงทางด้านการเมือง หรือในกรณีเลวร้ายที่เศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว รวมทั้งอยู่ในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับสูง ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มที่จะปรับสูงขึ้น การเข้ามาซื้อพันธบัตรมีโอกาสที่จะขาดทุน จึงจะมีการเทขาย

แต่ 3 ปัจจัยที่กล่าวมานี้ ณ ปัจจุบันมีความเป็นได้ที่จะเกิด น้อยมาก จึงไม่เชื่อว่าจะมีเงินไหลออกจำนวนมาก

สําหรับมาตรการดูแลค่าเงินบาทและการลดปริมาณการออกพันธบัตรระยะสั้นของแบงก์ชาติเพื่อลดนำเงินร้อนเข้ามาเก็งกำไร จิติพลมองว่าเป็นการส่งสัญญาณว่าไม่ชอบเงินร้อน เป็นอีกเครื่องมือการสื่อสารหนึ่ง นอกเหนือจากการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ไม่ได้ใช้การสื่อสารโดยดอกเบี้ย เพราะไม่ได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมานานแล้ว

ด้านความคิดเห็นจาก “อมรเทพ จาวะลา” ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มองทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐในช่วงที่ผ่านมา มาจากความไม่ชัดเจนของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ

ส่งผลให้เงินทุนที่เคยออกไปในช่วงปลายปีก่อนเคลื่อนย้ายกลับเข้ามาทำให้บาทแข็งค่า อีกทั้ง ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เองไม่ได้มีการส่งสัญญาณเร่งการขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ตลาดคาด นักลงทุนต่างชาติยังคงมองประเทศไทยมีเสถียรภาพการเงินดี เห็นได้จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินสำรองระหว่างประเทศที่สูง จึงเข้ามาพักเงินและแสวงหาผลกำไรจากส่วนต่างดอกเบี้ยไทยและสหรัฐ

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เหลือของปีนี้ หลังมีความชัดเจนในนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของทรัมป์ที่จะนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อที่เร่งขึ้น ทางเฟดคาดว่าจะมีการส่งสัญญาณการเร่งการขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า และจะทำให้นักลงทุนเตรียมโยกย้ายเงินลงทุนออก ทำให้บาทอ่อนค่าได้ในที่สุด

ท้ายที่สุดแล้ว เงินทุนเคลื่อนย้ายจะไปในทิศทางใด การป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด อย่างน้อยหากค่าเงินเคลื่อนไหวตรงข้ามกับทิศทางที่เราคาดก็จะช่วยบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้

…และไม่ต้องแพนิกว่า “ต้มยำกุ้ง” จะกลับมาทำให้ท้องไส้ปั่นป่วน