นางละคร ประโลมโลกย์ในนิยาย / อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

นางละคร

ประโลมโลกย์ในนิยาย

 

ปูมักคะเนียจ้ะ นายโรลองด์ มิเยร์ (Roland Meyer) ผู้แต่ง “สารามณี” นวนิยายเรื่องแรกๆ ของกัมพูชาที่เกี่ยวกับนาฏการนางระบำในราชสำนักเขมรในปลายรัชสมัยพระบาทนโรดมและพระบาทสีสีวัตถิ์

ปูมักคะเนีย สารามณีเป็นนิยายประโลมโลกย์ที่คล้ายจะบอกเล่าชีวิตสาวชาววังที่ลึกลับและยากจะเข้าใจ โดยยิ่งเวลาผ่านไป ความสมจริงต่างๆ ที่มีอยู่ในตัวละครนั้น ก็ทำให้เกิดการติดตามและโยงหาตัวละครเหล่านั้น อีกทั้งการที่หนังสือเล่มนี้ถูกแบนในเขมรและผู้ประพันธ์สาบสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอยนั้น ก็ยิ่งทำให้นวนิยายเล่มนี้มีแต่สิ่งน่าค้นหา

บอกเล่าคุณค่าความเป็นมาของประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ผ่านตัวละครในนิยายตั้งแต่สารามณีหรือแยม ไปจนถึงบรรดาเมียๆ หรือสนมเอกของหลวง-พระมหากษัตริย์ที่เป็นเจ้าของคณะละครอีกที

นาฏการนางละครเหล่านี้ ที่ช่างบังเอิญว่า มีความพ้องกันทางประวัติศาสตร์ระหว่างไทย-กัมพูชา ราวกับเป็นความร่วมสมัยในนิยายประโลมโลกย์

โดยเฉพาะเรื่องราวของใครคนหนึ่งที่มีนามว่า “เญียด” (ออกเสียงว่า ‘ญาติ’ แบบไทย)

ก็คุณพระเญียดนี่แหละจ้ะ ที่เป็นสนมเอกของหลวงตัวละครในเรื่องและคาดว่าไม่ใช่ใครอื่นแต่เป็นพระบาทนโรดม ผู้สะสมสนมจำมากจนถูกพวกฝรั่งล้อว่าเป็นกษัตริย์ที่มีเมีย 500 คน

ปูมักคะเนีย สนมเอกเขมรสมัยนั้นของกัมพูชามีกันถึง 2 ตำแหน่ง คือ คุณพระและคุณท่านที่เรียกกันในนิยายเรื่องนี้

ปูมักคะเนียจ้ะ ร่ำลือกันว่า คุณพระเญียดเธอสวยมากไม่แพ้ใคร และคู่แข่งของเธอก็คือคุณท่านผู้มีคณะละครของตนเช่นเดียวกับคณะคุณพระเญียดที่มักประชันขันแข่งจนอื้ออึงไปทั้งวัง

ตัวอย่างฉากหนึ่งคือตอนที่ “นังแย้ม” หรือสารามณีนางเอกของเราเข้าเฝ้าถวายตัวเป็นนางรำ ในวันนั้น ก็มีคุณพระเญียดคนนี้ ไปช่วงชิงหวังได้แย้มมาเป็นสาวกในคณะ

ใครจะไปรู้ว่าวันหน้านางรำคนนี้ อาจได้รับโปรดเกล้าขึ้นเป็นคนโปรด เป็นคุณท่าน หม่อมคนใหม่ ฉะนั้น การรับนางไว้ในคณะ นอกจากจะเพิ่มบารมีเป็นศรีแก่หม่อมแล้ว ยังมีเงินแนนเบี้ยหลวงนางรำสำหรับคณะและนางรำอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ ยิ่งเสาะแสวงนางรำละอ่อนมาถวายตัวจึงเท่ากับได้เงินทองและอำนาจแฝงสำหรับว่าที่หม่อมสนมคนต่อไปที่มาอยู่ใต้อาณัติตน

เรื่องช่วงชิงพวกนี้ดูจะเกิดขึ้นทุกๆ วันในท้องพระโรงที่สร้างความหงุดหงิดแก่ตำหนักสนมน้อยใหญ่ เช่นกรณีนังแย้มนางรำบ้านนอกเด็กคนนั้นที่ในหลวงออกปากยกให้เจ้าคุณท่านรับไปดูแล คุณพระเญียดก็ออกอาการไม่สบอารมณ์

เรื่องอยู่อาศัยในวังหลวงก็ต้องรู้ด้วยว่า ฉันเป็นคนของใคร?

ปูมักขญม เรื่องสนมเอกเขมรนี้ ในสารามณีพบว่าผู้ประพันธ์มิได้ให้รายละเอียด “หลวง” ตัวละครกษัตริย์ผู้ชราองค์นั้น แค่ว่าพูดแต่ภาษาไทย และตรัสเขมรไม่ค่อยได้

ก็นังแย้ม-สารามณีสิคะ มันอ้างว่า คุณพระเญียดพูดภาษาเสียมหรือภาษาไทยกับในหลวงท่าน และมันไม่เข้าใจ และพวกคนในวังก็พากันหัวเราะไป

ดังนี้ (ใน) หลวงตัวละครดังกล่าวจึงไม่ใช่ใครอื่นของจากพระบาทนโรดมผู้ทรงโปรดปรานประเพณีของราชสำนักไทย ทรงเติบโตในเขตพระราชฐานเป็นหน่อเนื้อเชื้อเจ้าอย่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ก็ใช่จะแปลกอะไร? ในขนบธรรมเนียมของราชสำนักไทย เขมรก็รับไปไม่น้อย ทั้งธรรมยุติกนิกาย ปราสาทราชวังล้วนแต่ไอเดียเดียวกันที่พระบาทบริรักษ์จำลองไปจากไทยนั้น รวมทั้งละครที่ทรงโปรดนั่น

อีกลูกท่านหลานเธอที่เติบโตมาเป็นสหายกันและชอบละครพอกันก็ทรงความสัมพันธ์เป็นสหาย

หนึ่งในนั้น มีศักดิ์เป็นท่านป้าแท้ๆ ของ ม.ร.ว.ศึกฤทธิ์ ปราโมช

เจ้าป้าท่านแหละที่เล่าว่ามีอุปนิสัยแก่นเซี้ยวกว่าคนยุคเดียวกัน จนหนหนึ่งเกิดเรื่องขัดกันระหว่างวังหน้าวังหลัง ไม่ทราบท่านไปเกี่ยวด้วยอะไร จึงจู่ๆ หนีไปพนมเปญ

เรื่องก็อื้ออึงไปว่า กลายเป็นสนมโปรดกษัตริย์เขมรไปจนราชบุตรคนหนึ่ง

แต่เมื่อเจ้าป้ากลับมาไทยมิได้มีสังคมชาววังเช่นทั่วไป ก็ใช้เวลาส่วนใหญ่เล่าเรื่องแปลกๆ จากเขมรให้หลานชายผู้ชมชอบโขนและละครโบราณ จริงบ้างเท็จบ้างไม่มีใครทราบ

แต่คุณชายคึกฤทธิ์ท่านนิยมการประพันธ์โดยเฉพาะเรื่องชาววังเขมร เขียนทีไรก็ขายดิบขายดีทีนั้น จนลือกันไปว่า คุณชายเป็นญาติกากับกษัตริย์กัมพูชาไปนั่น!

ที่อ้างท่านป้าของคุณชายคึกฤทธิ์ ก็เหตุที่เธออ้างถึงละครละเม็งทางแขฺมร์และราชสำนักกัมโพชแม้จะไม่เป็นทางการ ก็พอจะทำให้ทราบว่าสมัยนั้นเขมรรับละครไทยไปจากสยามจริง อีกข้าหลวงหรือสตรีเหล่านั้นเห็นจะเป็นนางละครด้วยกระมัง

ส่วนคุณพระเญียด-และสนมเอกคนอื่นซึ่งพูดไทยในนิยายสารามณี เธอมีความเกี่ยวข้องเป็นคนไทยด้วยหรือไม่ มิอาจระบุได้ นอกจากคนหนึ่งคือท่านป้าของคุณชายคึกฤทธิ์ที่ไม่ได้เป็นนางรำ เพียงแต่ชมชอบด้านละครเท่านั้น

แต่อุตส่าห์หนีไปอยู่ถึงที่นั่น คงมีสมัครพรรคพวกที่รู้จักกันบ้างเป็นอดีตข้าหลวงหรือนางรำ อันนี้ คุณชายคึกฤทธิ์เป็นเด็กที่ทุกคืนค่ำต้องไปฟังเรื่องเล่าแปลกๆ จากเขมรของท่านป้า ก็มิได้เอามาเขียนไว้

ว่ากันว่า คุณชายยังมีลูกพี่มีเชื้อสายเขมร-ไทยและเป็นบุตรของท่านป้า หากมิได้เกี่ยวข้องกับราชวงศ์นโรดมแต่อย่างใด

เรื่องนี้พระนางมัลลิกาพระธิดาในพระบาทนโรดมเคยเขียนเป็นจดหมายเล่าไว้

แถมด้วยวีรกรรมท่านป้าและลูกพี่ของคุณชาย แต่มิถูกแพร่งพรายให้เสื่อมเสียชื่อเสียงทั้งสองฝ่าย

อย่างไรก็ตาม การที่ท่านป้าแห่งราชสกุลปราโมชเคยไปใช้ชีวิตที่วังเขมรในวัยสาว ว่าไป ก็สร้างแรงบันดาลใจให้คุณชายนักเขียนอยู่ไม่น้อย

โดยเฉพาะเรื่องทำนอง “ถกเขมร” ที่สนุกราวกับเห็นผู้คนที่นั่นอยู่ในงานเขียนของท่าน

แต่สำหรับเรื่อง “สี่แผ่นดิน” นั้น ให้น่าฉงนว่า หรือนี่จะตะเภาเดียวกัน? กับพล็อตนิยายดังของต่างประเทศที่คุณชายนำมาดัดแปลงและโด่งดังอย่างเรื่อง “ไผ่แดง” และเรื่อง “กาเหว่าที่บางเพลง”?

แต่สำหรับเรื่องสี่แผ่นดินนั้น มีบางอย่างที่ให้รู้สึกว่า ดำเนินเรื่องคล้ายสารามณี เป็นเรื่องของเด็กสาวชาวบ้านที่ไปเป็นนางข้าหลวงในวังเจ้า ซึ่งนังแย้มเองนั้นก็มีเพื่อนนิสัยนักเลงแบบเดียวกับช้อยเพื่อนสนิทของแม่พลอย

ปูมักคะเนียจ้ะ ในสารามณีตอนเกริ่นนำ มีฉากหนึ่งซึ่งกล่าวถึงศูนย์กลางอำนาจพระบรมมหาราชวัง และการถ่ายผ่านรัชกาลจากการเสด็จสวรรคตของกษัตริย์องค์ก่อน

สารามณีดูจะมีอารมณ์โหยหาอาดูรเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันในภวังค์ของสามีที่เธอไม่เคยเข้าใจนั้น จึงเต็มไปด้วยคำตัดพ้อต่อว่าและคำถาม แบบเดียวกับที่พบในสี่แผ่นดิน ตอนที่แม่พลอยตัดพ้อลูกๆ ต่อความคิดอ่านของพวกเขาที่ต่างไปจากตน

อย่างไรอย่างนั้น

ปูมักคะเนียจ้ะ การตั้งข้อสังเกตแบบนั้น อาจไม่เป็นสาระสำคัญ แต่ฉันเห็นว่าเรื่องสารามณีนี้มีอะไรที่ลึกลับเหนือจริงมากกว่าเรื่องของวัฒนธรรมและตัวละคร

และด้วยเหตุนั้น มันจึงถูกขุดคุ้ยมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไปหลังจากสารามณีตีพิมพ์ (1919) และโรลองด์ มิเยร์ ถูกย้ายไปประจำที่ลาวใต้

12 ปีต่อมา “คนหนุ่มผู้เห็นต่าง” (1931) คือวิสัยทัศน์ระหว่างผิวขาว-ผิวเหลือง ตะวันออก-ตะวันตกของมิเยร์ที่ตีพิมพ์ออกมาอีกครั้ง ก่อนจะหายตัวไปอย่างลึกลับ

บ้างว่า เขาถูกโจรป่าปล้นสะดมตรงระหว่างพรมแดนเขมร-ลาว

และบ้างก็ว่า เขาถูกอุ้มหายโดยราชสำนัก