ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | เผด็จการพม่า จะแพ้อารยะขัดขืนของประชาชน

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

พม่าทั้งประเทศกำลังเกิดสถานการณ์ที่คนไทยไม่เคยพบเคยเห็นจนไม่มีใครรู้ว่าจะจบอย่างไร การรัฐประหารของนายพลมิน อ่อง ลาย ในวันที่ 1 ก.พ. เผชิญแรงต้านจากประชาชนอย่างต่อเนื่องแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

ยิ่งไปกว่านั้นก็คือการต่อต้านมีที่มาจากทุกกลุ่มในสังคมพม่าอย่างสมบูรณ์

คนพม่าเริ่มลงถนนต้านรัฐประหารในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ หลังจากมีตีหม้อไล่เผด็จการและโพสต์รูปชูสามนิ้วต้านรัฐประหารตั้งแต่วันแรกที่นายพลมิน อ่อง ลาย ยึดอำนาจ และถึงแม้รัฐทหารจะเหนี่ยวไกปืนใส่ประชาชนนัดแรกในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ และประกาศกฎอัยการศึกวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ก็ไม่สามารถหยุดประชาชนได้เลย

แน่นอนว่าคนพม่ารับรู้ถึงความอำมหิตของทหารพม่าจากการมีชีวิตใต้ระบอบรัฐประหารตั้งแต่ ค.ศ.1988 ซึ่งเท่ากับถูกกระบอกปืนจ่อกระเดือกมาแล้วกว่า 30 ปี

การที่คนในสังคมแบบนี้ลุกฮือต้านรัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ อย่างต่อเนื่องจึงไม่ใช่เรื่องปกติ ไม่ต้องพูดถึงจำนวนคนที่กว้างขวางเหลือเกิน

คนพม่าประกาศตัวว่าเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารด้วยวิธี “อารยะขัดขืน” นับตั้งแต่ต้นจนปัจจุบัน

ยุทธวิธีเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าจึงรวมศูนย์ที่การใช้สันติวิธีต่อสู้กับเผด็จการทหารซึ่งเลวร้ายที่สุดในโลก

หรืออีกนัยคือคนพม่าใช้มือเปล่าสู้กับรัฐซึ่งอำมหิตขั้นพัวพันกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ตรงข้ามกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในไทยที่จบด้วยติดคุกคดีมโนสาเร่มากกว่าตาย

การเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าหมายถึงความเสี่ยงที่ถ้าไม่ตายก็ใช้เวลาส่วนใหญ่ในคุก การต่อสู้กับเผด็จการทหารในพม่าจึงเป็นการต่อสู้ที่ต้องเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าชนะ หรือไม่ก็ไม่สนใจเรื่องนี้ไปเลย

การต่อสู้ของคนพม่ารอบนี้ไม่มี “แกนนำ” หนึ่งสัปดาห์ของการต่อต้านรัฐประหารจึงผ่านไปโดยแทบไม่เห็นใครขึ้นปราศรัยในฐานะ “ผู้นำ” ต้านรัฐประหารด้วยซ้ำ

พรรค NLD เป็นตัวแทนคนส่วนใหญ่ในประเทศที่ถูกปล้นอำนาจ แต่พรรค NLD ก็ไม่ได้เป็น “ผู้นำ” ต้านรัฐประหารด้วยเช่นกัน

การต่อต้านรัฐประหารในพม่าคล้ายการชุมนุมของกลุ่มปลดแอกในไทยช่วงก่อนตุลาฯ ที่ยังไม่มีใครเป็นแกนนำ

พื้นฐานของการต่อต้านจึงเป็นการลุกขึ้นสู้แบบเป็นไปเองแทบทั้งหมด แต่ขณะที่ผู้ร่วมชุมนุมในไทยเป็นปัจเจกที่แทบไม่มีการรวมกลุ่มกันมาก่อนเลย พม่ากลับมีเครือข่ายบางอย่างชัดเจน

ไม่ใช่ความลับว่าคนพม่าต้านรัฐประหารโดยแต่ละอาชีพโพสต์รูปชูสามนิ้วและลงถนนจริงๆ และถึงแม้คนส่วนใหญ่จะเป็นปัจเจกชนที่มาชุมนุมด้วยตัวเอง ความสามารถระดมหมอ, ครู, วิศวกร, อาจารย์มหาวิทยาลัย, กรรมกร ฯลฯ ก็แสดงว่าการชุมนุมทำงานบน “เครือข่าย” บางอย่างในสังคม

การโพสต์รูปชูสามนิ้วต้านรัฐประหารเป็นอันตรายในสังคมเผด็จการ การชุมนุมหรือเดินขบวนจึงย่อมเป็นเรื่องยากขึ้นไปอีก ไม่ต้องพูดถึง “อารยะขัดขืน” ในพม่าที่ลุกลามขั้นคนงานหยุดงาน, หมอปิดโรงพยาบาล, เจ้าหน้าที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ ฯลฯ

ซึ่งแสดงว่า “เครือข่าย” มีพลังมากเหลือเกิน

การชุมมุมต้านเผด็จการในไทยไม่มี “โครงสร้างทางสังคม” ที่เป็นพื้นฐานแบบนี้

และนี่อาจจะเป็นปัญหาที่ทำให้การชุมนุมต้านเผด็จการในไทยมีปัญหาเรื่องการจรรโลงความเคลื่อนไหวในระยะยาว

นอกจากการต้านรัฐประหารในพม่าจะทำงานบนเครือข่าย หรือ “ประชาสังคม” ที่มีอยู่ในสังคม การชุมนุมในพม่ายังเดินหน้าบนความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่า “ประชาสังคม” แข็งแกร่งพอจะต่อสู้กับเผด็จการทหาร เจ้าหน้าที่รัฐในพม่าจึงแต่งเครื่องแบบมาชุมนุมต้านรัฐประหารอย่างไม่หวั่นเกรง

นับตั้งแต่นายพลมิน อ่อง ลาย รัฐประหารพม่าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่รัฐที่ต่อต้านรัฐประหารมีตั้งแต่หมอ, ผู้พิพากษา, พยาบาล, ครู, ป่าไม้, พนักงานรถไฟ , ต.ม. กระทรวงเกษตร, ทูต, กระทรวงพัฒนาสังคม ฯลฯ โดยทั้งหมดใส่เครื่องแบบเดินขบวนชูสามนิ้วอย่างไม่หวั่นเกรงต่ออำนาจเผด็จการมิน อ่อง ลาย

ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ซึ่งเผด็จการพม่าใช้ทหารคุมการชุมนุม รวมทั้งให้ตำรวจใช้กระสุนจริงจนมีคนตาย 1 คน ตำรวจอย่างน้อย 4 รายตัดสินใจเลิกรับใช้เผด็จการทหาร ขึ้นเวทีต้านรัฐประหารกับประชาชน

ขณะที่ตำรวจจากเมืองพะสิมถึงขั้นเปิดด่านให้ประชาชนเดินขบวนอย่างไม่มีใครคิดมาก่อนเลย

เจ้าหน้าที่รัฐแบบนี้เป็นตัวอย่างของ “กบฏในระบบ” ที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยพูดถึงเผด็จการไทย และถึงแม้รัฐประหารพม่าจะไม่มีใครเซ็นรับรองอย่างไทย รัฐประหารก็ทำให้มิน อ่อง ลาย เป็นผู้บังคับบัญชาของ “ข้าราชการ” ที่เป็น “กบฏในระบบ” ที่ต่อต้านนายพลมิน อ่อง ลาย ทั้งหมดอย่างไม่มีทางเกิดเลยในไทย

ขณะที่อาจารย์นิธิพูดถึง “กบฏในระบบ” ว่าเกิดขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐถูกอำนาจเผด็จการบีบบังคับให้ทำเรื่องที่ฝืนมโนธรรมจนทนรับใช้เผด็จการไม่ได้ต่อไป “กบฏในระบบ” กรณีพม่ากลับเกิดโดยที่นายพลมิน อ่อง ลาย ยังไม่ได้ให้ใครทำอะไร หรืออีกนัยคือเกิดเพราะความไม่พอใจรัฐประหารโดยตัวเอง

ด้วยการบรรจบกันของอารยะขัดขืนซึ่งมีฐานจาก “ประชาสังคม” และ “กบฏในระบบ” พม่าหลังรัฐประหารกลายเป็นประเทศเผชิญภาวะชะงักงันทั้งในรูปของการ “หยุดงาน, “เดินขบวน” และ “ชุมนุม” ซึ่งทำให้อำนาจรัฐที่นายพลมิน อ่อง ลาย ยึดด้วยกระบอกปืนนั้นไม่มีความหมายอะไรเลย

นายพลมิน อ่อง ลาย เลยแก้ปัญหาอำนาจที่เป็นอัมพาตด้วยการประกาศกฎอัยการศึก, เคอร์ฟิว, ใช้รถฉีดน้ำสลายชุมนุม, ยิงด้วยกระสุนจริง รวมทั้งออกคำสั่งเตือนเจ้าหน้าที่รัฐห้ามร่วมชุมนุม

แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ คำสั่งและกฎหมายเหล่านี้ยังไม่ประสบความสำเร็จในการยุติการชุมนุม

ปฏิบัติการต้านรัฐประหารในพม่าเกิดขึ้นโดยคนแทบทุกกลุ่มในพม่าทำทุกทางเพื่อไม่ให้นายพลกดคนเป็นไพร่ต่อไป

แต่ที่น่าสนใจคือชนชาติต่างๆ ทั้งที่เป็นประชาชนมือเปล่าหรือกองกำลังติดอาวุธก็ออกมาต่อต้านรัฐประหารด้วย ถึงแม้กลุ่มมิน อ่อง ลาย จะพยายามดึงเป็นพวกด้วยวิธีต่างๆ ก็ตาม

ล่าสุด หลังจากนายพลมิน อ่อง ลาย ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเหนือรัฐคะฉิ่น, กะเหรี่ยง, ฉาน ฯลฯ เพราะไม่พอใจที่คนชนชาติเหล่านี้ชุมนุมต้านเผด็จการ รัฐฉานถึงกับแถลงว่าฟังแต่รัฐบาลจากการเลือกตั้ง ไม่ฟังเผด็จการทหาร ขณะกองทัพกะเหรี่ยงระบุไม่ยอมให้พม่าคุกคามคนกะเหรี่ยงที่ชุมนุม

ถ้าการนัดหยุดงานของหมอและเจ้าหน้าที่รัฐพม่าคือการ “อารยะขัดขืน” ต่อเผด็จการ ส่วนการย้ายข้างของตำรวจจากฝั่งเผด็จการทหารมาสู่ประชาชนคือ “กบฏในระบบ” สิ่งที่รัฐฉานและรัฐกะเหรี่ยทำก็คือการ “อารยะขัดขืน” หรือ “กบฏในระบบ” ต่อรัฐชาติพม่าที่อยู่ภายใต้อำนาจทมิฬของนายพล

รัฐประหารของนายพลมิน อ่อง ลาย กำลังถูกต่อต้านทุกระดับจากประชาชน การต่อต้านไม่ได้เกิดขึ้นจาก “แกนนำ” แต่เป็นการต่อต้านที่เป็นไปเองเพราะทุกกลุ่มมีฉันทานุมัติร่วมกันว่าเผด็จการทหารคือภัยคุกคามประชาชนทั้งหมด การต่อต้านจึงไม่มีศูนย์กลางและไม่มีทางที่รัฐทหารจะจัดการได้ง่ายดาย

เผด็จการพม่าคล้ายเผด็จการไทยในแง่เขียนรัฐธรรมนูญด้วยความกะล่อนและหน้าด้านเพื่อสืบทอดอำนาจตัวเอง

ยิ่งกว่านั้นก็คือความไร้ยางอายในการเตะถ่วงหรือล้มล้างการเลือกตั้งเพื่อปล้นอำนาจไปไม่สิ้นสุด

แต่ปฏิกิริยาที่สังคมพม่ามีต่อเผด็จการทหารแตกต่างจากสังคมไทยบางส่วนโดยสิ้นเชิง

ฉันทานุมัติต้านเผด็จการในพม่าเกิดได้เพราะเผด็จการพม่าไร้ซึ่งความชอบธรรมทางอุดมการณ์

ขณะที่เผด็จการไทยเต็มไปด้วยการประดิษฐ์วาทกรรมเพื่อรองรับการยึดอำนาจเต็มไปหมด เผด็จการพม่าไม่มีข้ออ้างให้แถวว่าทำเพื่อชาติหรือสถาบันต่างๆ ส่วนเผด็จการไทยอ้างเรื่องนี้ได้เยอะเหลือเกิน

อำนาจวางอยู่บนการบังคับและการยอมรับของประชาชน ปัญหาของเผด็จการพม่าคือไม่มีฐานในการสร้างความยอมรับจนต้องปกครองด้วยกำลังและการบังคับไปหมด เผด็จการพม่าจึงมีแต่จะนำสังคมพม่าไปสู่การเผชิญหน้าและการนองเลือด เพราะไม่มีอะไรให้ใช้อ้างว่ายึดอำนาจได้เลย

เผด็จการไทยยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดของประเทศไทย แต่อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ได้ด้วยการบังคับ, เอาผ้าดำคลุมหัวคน, อุ้มเข้าค่ายทหาร, ยัดข้อหา ฯลฯ พอๆ กับวาทกรรมลวงโลกเรื่องรัฐประหารเพื่อภารกิจพิเศษบางอย่างที่เลื่อนลอยจนไม่มีใครเถียงได้เลย

การสร้างเครือข่ายทางสังคมที่เข้มแข็งเพื่อต้านเผด็จการคือบทเรียนสำคัญที่ขบวนการประชาธิปไตยในพม่ามีต่อสังคมไทย หากไม่อยากอยู่ในประเทศที่ พล.อ.ประยุทธ์หรือคนแบบ พล.อ.ประยุทธ์ยึดครองประเทศไปอีก 20 ปี หรืออย่างน้อยจนถึงปี 2569 ตามกติกาที่ พล.อ.ประยุทธ์เขียนไว้เอง