สวนผักชี / พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

สวนผักชี

 

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการรายงานข่าวว่าทางเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครได้ทำการปรับภูมิทัศน์โดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยทำเป็นโครงเหล็กคลุมบันไดโดยรอบทั้งหมด และใช้แผ่นพื้นปูทับเพื่อเปลี่ยนพื้นที่ทั้งหมดเป็นทางลาดสำหรับวางกระถางต้นไม้และดอกไม้

การนำดอกไม้มาวางในลักษณะนี้ได้สร้างความไม่สบายใจให้กับหลายฝ่าย

เพราะจากภาพข่าวที่ปรากฏ มีการติดตั้งโครงสร้างกึ่งถาวรลงไปในพื้นที่จนทำให้เกิดความสงสัยว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจะถูกปรับสภาพฐานอนุสาวรีย์ไปเป็นสวนดอกไม้แบบถาวรที่ประชาชนไม่สามารถเดินเข้าไปได้อีกต่อไปแล้วหรือไม่

ยิ่งไปกว่านั้นยังก่อให้เกิดคำถามถึงการติดตั้งโครงเหล็กที่มีน้ำหนักไม่น้อยเลยลงบนฐานอนุสาวรีย์ที่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติไปแล้วตั้งแต่เมื่อปี 2558 นั้น เป็นเรื่องสมควรหรือไม่

และจะส่งผลกระทบต่อโบราณสถานมากน้อยแค่ไหน

ผมติดตามข่าวนี้ด้วยความสนใจและอยากชวนให้มองการปรับภูมิทิศน์นี้ในความหมายและบริบทที่กว้างขึ้น

ผมอยากเสนอว่า รูปแบบการปรับภูมิทัศน์ดังกล่าวซึ่งมิใช่ปรากฏแค่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเท่านั้น เกิดขึ้นอย่างแยกไม่ออกจากบรรยากาศการเมืองไทยหลังรัฐประหาร 2557

การจัดสวนดอกไม้บนพื้นที่สาธารณะเพื่อความสวยงามไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด โดยเฉพาะถนนราชดำเนินที่เป็นถนนสายประวัติศาสตร์ที่มีแขกบ้านแขกเมืองเดินทางผ่านถนนเส้นนี้อยู่เสมอ

ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะต้องได้รับการดูแลและตกแต่งให้สวยงามอยู่เสมอ

แต่การตกแต่งถนนสายนี้ในอดีตก็ไม่เคยล่วงล้ำเข้ามาในบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแต่อย่างใด

ส่วนใหญ่จะเป็นการประดับตกแต่งด้วยไฟเพื่อเสริมความสง่างามของอนุสาวรีย์เป็นหลัก

หากจะมีบ้างก็เป็นเพียงการทำซุ้มชั่วคราว ประดับธงทิว และวางกลุ่มกระถางดอกไม้เป็นหย่อมๆ มากกว่าที่จะวางคลุมพื้นที่ทั้งหมดของฐานจนไม่สามารถเดินเข้าไปที่ตัวอนุสาวรีย์ได้เช่นที่ปรากฏในปัจจุบัน

พูดให้ชัดก็คือ การจัดสวนเพื่อส่งเสริมอนุสาวรีย์ให้สวยงามขึ้น ประชาชนเดินเข้าไปศึกษาและซึมซับศิลปะ สถาปัตยกรรม และประวัติศาสตร์ได้อย่างมีสุนทรียรสเพิ่มขึ้นเป็นเรื่องปกติ

แต่การจัดสวนล้อมเต็มพื้นที่รอบอนุสาวรีย์แบบถาวรที่คนไม่สามารถเดินเข้าใกล้อนุสาวรีย์ได้เลยคือสิ่งผิดปกติ

ซึ่งความผิดปกตินี้เกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังรัฐประหาร 2557

หลังรัฐประหารเราจะพบการนำรั้วเหล็กมาล้อมรอบอนุสาวรีย์และสถานที่สำคัญที่เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองหลายแห่งแทบจะทันที เพื่อกันไม่ให้กลุ่มคนที่ต่อต้านรัฐประหารมาแสดงออกสัญลักษณ์ทางการเมือง

เช่น ป้ายสี่แยกราชประสงค์, อนุสาวรีย์ปราบกบฏ, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ขอนแก่น เป็นต้น

ต่อมาไม่นาน วิธีการเริ่มเปลี่ยนไป เริ่มมีการนำกระถางต้นไม้และดอกไม้มาจัดวางล้อมรอบสัญลักษณ์ทางการเมืองดังกล่าวแทนรั้ว (บางกรณีใช้ผสมกับการล้อมรั้ว)

พร้อมการให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องของการปรับภูมิทัศน์เพื่อความสวยงาม

กรณีจัดสวนรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยล่าสุดสะท้อนการให้เหตุผลชุดนี้ชัดเจน

เพจ “กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์” โพสต์ในเพจเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า การจัดสวนรอบอนุสาวรีย์เป็นไปเพื่อสร้างความสวยงามสดชื่นด้วยไม้ดอกสีแดงเนื่องในเทศกาลตรุษจีน

ไม่นับรวมกรณีอีกมากมายก่อนหน้านี้ที่หน่วยงานภาครัฐทั้งหลายก็มักจะให้เหตุผลไปในทำนองเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดสวนล้อมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ขอนแก่น และสวนดอกไม้ล้อมพื้นที่ที่เคยฝังหมุดคณะราษฎรเอาไว้

จนอาจกล่าวได้ว่า สวนดอกไม้หลังรัฐประหาร 2557 มิใช่มีความหมายเพียงการตกแต่งสร้างความสวยงามให้กับพื้นที่เท่านั้น แต่ได้เพิ่มบทบาทใหม่ทางการเมืองในฐานะของการเป็นเครื่องกีดขวางการเข้าถึงอนุสาวรีย์และสัญลักษณ์ในการต่อต้านรัฐประหารของประชาชน

ความพยายามเบี่ยงเบียนเป้าหมายจริงโดยให้เหตุผลเรื่องความสวยงามมาบังหน้า ทำให้นึกถึงสำนวน “ผักชีโรยหน้า” ขึ้นมาทันที

สำนวนนี้มีความหมายสื่อถึงการกระทำใดๆ ที่ทำไปเพียงเพื่อให้ผู้อื่น (โดยเฉพาะเจ้านาย) เห็นว่างานสำเร็จเรียบร้อย เพื่อปิดบังความจริงของงานที่ไร้ประสิทธิภาพเอาไว้

หรือถ้าเป็นอาหาร การเอาผักชีมาโรยหน้าก็เพื่อทำให้หน้าตาอาหารดูดีแค่เปลือกนอกเพื่อซ่อนรสชาติที่อาจไม่ได้ความเอาไว้

การจัดสวนในพื้นที่การเมืองต่างๆ หลังรัฐประหารก็มีลักษณะไม่ต่างกัน เป็นเพียง “สวนผักชี” ที่โรยหน้าโชว์ความสวยงามอย่างฉาบฉวยเพื่อปิดบังซ่อนเร้นเป้าหมายแท้จริงที่ไม่น่าอภิรมย์เอาไว้

ไม่เพียงแค่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนะครับ สวนผักชียังถูกใช้เป็นสิ่งโรยหน้าเพื่อปิดความล้มเหลวหลายอย่างของ กทม.ในการบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะ ที่ชัดเจนคือกรณีสวนสาธารณะป้อมมหากาฬ

ภายหลังการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬได้สำเร็จในนามของการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ กทม.ได้ทำการปรับปรุงสภาพพื้นที่และออกแบบขึ้นจนเป็นสวนสาธารณะสำหรับคนเมือง เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2561

ในเวลาเพียงไม่ถึง 1 ปี สวนสาธารณะป้อมมหากาฬก็ได้พิสูจน์คำทำนายของนักวิชาการมากมายก่อนหน้านี้ที่เสนอว่าการทำสวนที่นี่จะล้มเหลว เพราะแทบไม่มีคนมาใช้งาน สภาพเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว

เป็นพื้นที่ปิดที่อันตราย และคงไม่เกินไปนักหากจะกล่าวว่า สวนสาธารณะแห่งนี้คือสวนสาธารณะที่แห้งแล้งและไร้ชีวิตที่สุดในพื้นที่กรุงเทพฯ

ต่อมาไม่นาน สวนสาธารณะแห่งนี้ก็ปิดตัวลงอีกครั้ง ทำการปรับสภาพพื้นที่ และเปิดโฉมใหม่เมื่อต้นปีที่ผ่านมาในภาพลักษณ์ของสวนผักชีที่โรยหน้าไปด้วยดอกไม้หลากหลายสีเพื่อปิดบังนโยบายที่ล้มเหลวไม่เป็นท่าในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ชานกำแพงป้อมหากาฬแห่งนี้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ตามที่เคยขายนโยบายเอาไว้ก่อนไล่รื้อชุมชน

สวนผักชีไม่ดีอย่างไร หลายคนที่ชื่นชอบการถ่ายรูปกับดอกไม้อาจตั้งคำถาม

สวนผักชีอาจไม่เสียหายถ้าเป็นการทำโดยเอกชนที่ใช้เงินของตัวเองสร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว

แต่สวนผักชีจะเลวร้ายมากหากถูกสร้างขึ้นด้วยเงินภาษีของประชาชน เพราะเป็นการเททิ้งงบประมาณไปโดยเปล่าประโยชน์

ต้องเข้าใจก่อนนะครับว่า สวนผักชีเหล่านี้ไม่มีความยั่งยืนอะไรเลย เป็นเพียงกระถางดอกไม้ที่ตั้งอยู่บนพื้นคอนกรีต (แม้บางแห่งจะปลูกลงดินแต่ก็เรียกร้องการดูแลรักษามากจนเกินไป) ซึ่งต้องคอยเปลี่ยนอยู่เสมอ

จะเรียกสวนผักชีเหล่านี้ว่าเป็นปอดของเมืองก็ไม่ได้ เพราะไม่ได้เพิ่มออกซิเจนได้สักกี่มากน้อย ที่ตลกร้ายคือ กรณีชุมชนป้อมมหากาฬ หลังจากรื้อไล่ชุมชนแล้วได้มีการตัดต้นไม้ใหญ่ที่เป็นปอดให้แก่เมืองลงไปเป็นจำนวนมาก

ขัดแย้งกับการกล้าวอ้างอยู่เสมอของ กทม.ที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่เมือง

ไม่ต้องพูดถึงประวัติศาสตร์และคุณค่าของพื้นที่ชานกำแพงพระนครนะครับ เพราะสวนผักชีป้อมมหากาฬไม่ได้ทำหน้าที่ส่งเสริมประวัติศาสตร์เหล่านั้นเลยแม้เพียงเล็กน้อย

ในส่วนของสวนผักชีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หากใครตามดูก็จะทราบดีว่า ตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมา มีการเปลี่ยนดอกไม้ในบริเวณนี้ไปแล้วนับครั้งไม่ถ้วน นับรวมเป็นภาษีประชาชนไปแล้วเท่าไรก็ไม่ทราบ ซ้ำร้ายยังสุ่มเสี่ยงต่อการทำลายโบราณสถานอีกต่างหาก เพราะมีการติดตั้งโครงสร้างเหล็กเป็นจำนวนมากลงไปบนโบราณสถาน ก็น่าแปลกใจปนสงสัยอยู่นะครับว่า โครงการนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากกรมศิลปากรแล้วหรือยัง

แทนที่ประชาชนจะได้มีโอกาสเข้าไปเดินดูศิลปกรรมอันมีค่าทางประวัติศาสตร์ที่มีอยู่หลายชิ้นบนตัวอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

และได้มีโอกาสใช้พื้นที่โดยรอบในฐานะพื้นที่สาธารณะเพื่อแสดงออกทางการเมืองตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตยให้สมกับชื่อเรียกของอนุสาวรีย์

แต่ประชาชนกลับทำได้เพียงมองดูสวนผักชีที่รกล้นฐานอนุสาวรีย์จากระยะไกล

ความสิ้นเปลืองภาษีไม่ใช่ความน่าเสียดายเพียงอย่างเดียว เพราะสวนผักชีในบริบทหลังรัฐประหารคือการจัดสวนที่เป็นปฏิปักษ์โดยตรงต่อการแสดงออกทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

 

สําหรับใครก็ตามที่ชื่นชอบดอกไม้ ชอบการถ่ายรูปกับสวนดอกไม้ และเคยออกมาแสดงความเห็นชื่นชมการจัดสวนดอกไม้ที่ป้อมมหากาฬตลอดจนสวนดอกไม้รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผมอยากชวนลองให้ฉุกคิดอย่างจริงจังกับสวนผักชีเหล่านี้อีกครั้ง

แม้คุณอาจไม่รู้สึกอะไรเลยกับการปิดกั้นการแสดงออกทางการเมืองผ่านสิ่งเหล่านี้ แต่อย่างน้อยควรไตร่ตรองดูถึงงบประมาณและภาษีที่ต้องเสียไปกับการโรยหน้าด้วยผักชีเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 ในรอบปีที่ผ่านมา ที่ทำให้ผู้คนเป็นจำนวนมากต้องตกงาน จะดีกว่าไหม หากงบประมาณเหล่านี้ถูกเปลี่ยนมาเป็นงบประมาณในการช่วยเหลือผู้คนที่ประสบภัยเศรษฐกิจจากสถานการณ์โรคระบาดที่ดูทีท่าแล้วจะยังไม่จบลงได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว

จงอย่าปล่อยให้ผักชีที่โรยหน้า ปิดซ่อนการบริหารที่ล้มเหลวอีกต่อไป