วิกฤตินิเวศกับระบบทุนนิยม / วิกฤติศตวรรษที่21 อนุช อาภาภิรม

วิกฤติศตวรรษที่21

อนุช อาภาภิรม

 

วิกฤตินิเวศ

เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (12)

 

วิกฤตินิเวศกับระบบทุนนิยม

มีนักเคลื่อนไหวและนักวิชาการจำนวนมากที่เห็นว่าระบบทุนนิยมเป็นสาเหตุของวิกฤตินิเวศ และปัญหาต่างๆ

จะขอยกตัวอย่างที่โดดเด่น 3 รายได้แก่

 

ก) สันตะปาปาฟรานซิส ตั้งแต่ขึ้นดำรงฐานะในปี 2013 ได้ออกสารและปราศรัย วิจารณ์ลัทธิทุนนิยมและการบริโภคของฟุ่มเฟือยต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อการกวาดล้าง ทำความสะอาดภายในนิกายคาทอลิกเอง ที่มีเรื่องอื้อฉาว ในวันคริสต์มาสปี 2016

ท่านได้เตือนชาวคาทอลิกและชาวโลกว่า “ความหมายของคริสต์มาสถูกครอบงำโดยกระแสวัตถุนิยม เราห่วงกังวลแต่กับเรื่องของขวัญ และเย็นชาต่อคนเล็ก คนน้อย ที่ถูกมองข้าม”

ในสารล่าสุดเดือนตุลาคม 2020 ท่านได้กล่าวว่า “ความเปราะบางของระบบโลกในการรับมือกับโรคระบาดใหญ่ได้แสดงว่า ระบบตลาดเสรีไม่ได้แก้ปัญหาได้ทุกอย่าง” จำเป็นต้องปฏิรูปเศรษฐกิจแบบเชิงรุก “ส่งเสริมการผลิตที่หลากหลายและความริเริ่มทางธุรกิจ เพื่อการสร้างงาน ไม่ใช่ลดทอนการมีงานทำ”

ท่านได้ปฏิเสธกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลอย่างสมบูรณ์ อยู่เหนือ ‘วัตถุประสงค์ของสังคม’ และการมีผลประโยชน์ร่วมกัน ในการแบ่งปัน หรือการใช้ทรัพยากรของโลกร่วมกัน ท่านยังได้ย้ำข้อวิจารณ์ถึงทุนนิยมที่ ‘วิปริต’ ในการทำให้คนยากจนมีชีวิตยากลำบาก ขณะที่ทำให้คนหยิบมือเดียวรวยขึ้น

ท้ายสุดสันตะปาปาฟรานซิสได้โจมตีทฤษฎีไหลหยาดที่กล่าวว่าคนยากจนสามารถดื่มน้ำใต้ศอกของคนรวยได้ แต่มีข้อเท็จจริงน้อยมากที่แสดงว่า “การล้นออก” จะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ “ซึ่งนำมาสู่ความรุนแรงใหม่ที่ทำลายสายใยของสังคม”

(รายงานข่าวของ Nicole Winfield ชื่อ Pope : Market capitalism has failed in pandemic, need reform ใน apnews.com 04/10/20 สารนี้ยาวมาก ครอบคลุมประเด็นหลากหลาย ผู้รายงาน จับเฉพาะบางประเด็น)

 

ข) โนอามิ ไคลน์ (เกิด 1970) นักเขียน นักเคลื่อนไหวชาวแคนาดา ที่วิพากษ์วิจารณ์โลกาภิวัตน์แบบบรรษัท และระบบทุนนิยมอย่างต่อเนื่อง

ครอบครัวเป็นชาวฮิปปี้ เคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพ อพยพจากสหรัฐไปที่แคนาดาในปี 1967

ไคลน์มีผลงานเป็นงานเขียนที่ขายดีหลายเล่ม เล่มแรกชื่อว่า “โน โลโก” (เผยแพร่ครั้งแรกปี 1999 มีฉบับภาษาไทยด้วย) เป็นหนังสือขายดี ชี้ว่าผู้บริโภคทั้งหลายจะต้องไม่ติดยึดในตรายี่ห้อเพื่อจะได้พ้นจากการเป็นผู้บริโภคที่เชื่อง สู่การเป็นพลเมืองโลกที่มีศักดิ์ศรี

หนังสือที่ลึกซึ้งกว่านั้นได้แก่ “ลัทธิภาวะช็อก” (The Shock Doctrine : The Rise of Disaster Capitalism เผยแพร่ปี 2007) ชี้ว่าผู้กำหนดนโยบายตะวันตก อาศัยเหตุการณ์หายนะที่ประชาชนในชาตินั้นกำลังอยู่ในภาวะช็อกทำอะไรไม่ถูก เผยแพร่นโยบายเศรษฐกิจตลาดเสรีและโลกาภิวัตน์เข้าไป

และหนังสือชื่อ “สิ่งนี้เปลี่ยนทุกสิ่ง” (This Changes Everything : Capitalism vs. The Climate เผยแพร่ปี 2014) ชี้ว่าลัทธิเสรีนิยมใหม่และการคลั่งตลาดที่ครอบงำอยู่ เป็นอุปสรรคใหญ่ที่จะก่อการปฏิรูปจริงจัง เพื่อการแก้ไขปัญหาโลกร้อนและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

 

ค) เดวิด คอร์เทน นักเศรษฐศาสตร์และนักเขียน เกิด 1937 วิพากษ์โลกาภิวัตน์แบบบรรษัทและระบบทุนนิยมมาก่อนไคลน์ แต่เขียนและเคลื่อนไหวในวงนักวิชาการจึงเป็นที่รู้จักน้อยกว่า

งานเขียนสำคัญคือ “เมื่อบรรษัทครองโลก” (เผยแพร่ปี 1995) มีความคิดสำคัญในการสร้างโลกหลังบรรษัทขึ้น

งานต่อมาคือ “หัวเลี้ยวใหญ่ : จากจักรวรรดิสู่ชุมชนโลก” ชี้ว่าจักรวรรดิที่ผ่านมาสร้างความเหลื่อมล้ำรุนแรง

จักรวรรดิสมัยใหม่ได้แก่บรรษัทที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี ควบคุมการค้าการลงทุน ได้ทำลายชุมชนและสิ่งแวดล้อม เกิดภัยพิบัติทั่วด้าน

ได้แก่ ความเสื่อมโทรมสิ่งแวดล้อมจากการกระทำของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ร่อยหรอ และวิกฤติเศรษฐกิจ เป็นโอกาสให้มีการลุกขึ้นสู้เพื่อสร้างชุมชนโลกที่ยั่งยืน เป็นธรรมและใส่ใจขึ้น เขาเป็นผู้เสนอนโยบายการพัฒนาที่ถือประชาชนเป็นศูนย์กลางให้แก่องค์การสหประชาชาติที่เขาทำงานอยู่ ผลักดันให้มีการนำไปปฏิบัติทั่วโลก

แต่ทั้งหมดไม่มีใครกระทำอย่างเป็นระบบ ถึงที่สุดและองอาจเหมือนกับคาร์ล มาร์กซ์ (1818-1883) อาจารย์และนักปฏิวัติสังคมนิยม

คำสอนของมาร์กซ์อาจสรุปได้ทำนองนี้ว่า “ชนชั้นคนงานทั่วโลกจงรวมกันเข้า จัดตั้งขึ้นเป็นพรรค ใช้การวิจารณ์เป็นอาวุธ อาวุธเป็นการวิจารณ์ ลั่นระฆังมรณะของทุนนิยม สร้างเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ ริบทรัพย์ชนชั้นนายทุนผู้ริบทรัพย์คนอื่น พวกท่านไม่มีอะไรจะสูญเสียนอกจากโซ่ตรวน แต่มีโลกทั้งโลกที่จะได้”

มาร์กซ์เติบโตในยุคของการปฏิวัติและลุกขึ้นสู้ของคนงานในยุโรปและสหรัฐ ตั้งแต่ปี 1830 เขาได้รับอิทธิพลทางความคิดแนววิภาษวิธีของเกออร์ค ฟรีดริช เฮเกล (1770-1831) ที่เสนอว่าสิ่งทั้งหลายเคลื่อนที่ไปด้วยความขัดแย้งภายใน หรือการปฏิเสธของการปฏิเสธ เป็นพลวัตหรือกฎการเคลื่อนที่ของสิ่ง

แต่เฮเกลมีความคิดแบบจิตนิยม เห็นว่า กฎการเคลื่อนที่นี้เป็นไปตามจิตสมบูรณ์

ส่วนมาร์กซ์มองด้านวัตถุนิยม ผสานวิภาษวิธีเข้ากับขบวนการเคลื่อนไหวของคนงาน

การเคลื่อนไหวของคนงานและประชาชนอังกฤษที่เกิดปฏิวัติอุตสาหกรรมก่อนใคร เป็นไปอย่างคึกคัก เช่น เกิดขบวนการกฎบัตรของประชาชน (People’s Charter เคลื่อนไหวระหว่างปี 1838-1857) นำโดยคนงานในหลายเมืองเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางการเมือง เปิดการเลือกตั้งทั่วไป ไม่ใช่จำกัดอยู่ในชนชั้นสูง ตามแม็กนาคาร์ตา ได้แก่ ขอให้ยกเลิกข้อกำหนดที่ระบุว่าผู้สมัครเป็นสมาชิกสามัญ (สภาผู้แทนราษฎร) จะต้องมีทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ เป็นการกีดกัน กรรมกรผู้ไร้ทรัพย์สินจะมาลงสมัคร และให้สมาชิกสภาสามัญมีเงินเดือนที่พอเพียง ไม่ต้องทำงานหาเลี้ยงชีพทางอื่น ตัวแทนคนงานจะได้ทำหน้าที่ได้เต็มที่

การเคลื่อนไหวไม่ประสบความสำเร็จ แต่จุดประกายการต่อสู้ของประชาชนอังกฤษต่อมา

เป็นที่สังเกตว่าการต่อสู้ของคนงานอังกฤษ มักเป็นไปเพื่อยกระดับมาตรฐานการครองชีพทางวัตถุของตน ไม่ใช่ต้องการปฏิวัติเข้ายึดอำนาจรัฐ

 

กลับมากล่าวถึงมาร์กซ์ ในปี 1842 เขาได้เป็นบรรณาธิการ “หนังสือพิมพ์ชาวไรน์” ออกในเมืองโคโลญจ์ อันเป็นเมืองใหญ่ของเยอรมนีขณะนั้น ด้วยเหตุนี้ได้พบกับฟรีดริช เองเงิลส์ (1820-1895 เดิมนิยมเขียนเองเกลส์) ซึ่งได้เป็นคู่คิดร่วมสร้างลัทธิมาร์กซ์จนตลอดชีวิต

งานสำคัญร่วมกันครั้งแรกคือ “แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์” (เผยแพร่ครั้งแรกปี 1848) ของสันนิบาติชาวคอมมิวนิสต์ อันเป็นสมาคมลับ ในปี 1848 ได้เกิดกระแสสูงของการปฏิวัติและการลุกขึ้นสู้ของคนงานในยุโรปอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ถึงขั้นยึดอำนาจจากพระเจ้าหลุยส์-ฟิลิปที่ 1 แห่งฝรั่งเศสได้ แต่การเคลื่อนไหวนั้นถูกปราบอย่างรุนแรงจากรัฐบาลของยุโรป

มาร์กซ์เองต้องระเหเร่ร่อน จนกระทั่งไปพำนักอยู่ที่กรุงลอนดอนในความยากจน

ปี 1949 มีงานหลักในการเขียนงานชิ้นเอกคือ “ทุน” ของเขา และเขียนบทรายงานเหตุการณ์ในยุโรป ลงในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กเฮอรัลทรีบูนของอเมริกาเพื่อเลี้ยงชีพ

งานสำคัญของเขาในช่วงนี้อีกอย่างหนึ่งได้แก่ การเข้าร่วมการก่อตั้งสมาคมคนงานสากล หรือสากลที่หนึ่ง (1864-1876) ศูนย์กลางอยู่ที่ลอนดอน

เกิดจากการรวมตัวอีกครั้งจากการต่อสู้ของคนงานในโปแลนด์ ฝรั่งเศส และอังกฤษ ซึ่งมีความคิดเห็นหลากหลาย ส่วนหนึ่งเป็นพวกปฏิรูปต้องการเพียงการครองชีพทางวัตถุที่ดีขึ้น มีส่วนในการปกครอง

ที่เป็นพวกปฏิวัติ ก็แตกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มถือแนวอนาธิปไตย ต้องการเข้าถึงสังคมคอมมิวนิสต์ทันที ไม่ต้องผ่านสังคมนิยมและเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพอย่างที่มาร์กซ์เสนอ ด้วยความเหนือกว่าทางระบบคิดและรูปธรรมของเหตุการณ์ มาร์กซ์ได้เข้าคุมการนำได้ในการประชุมปี 1868 แต่ความขัดแย้งบานปลายจนกระทั่งล่มสลายในปี 1872

จากประสบการณ์การต่อสู้ และการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก มาร์กซ์ได้ปรับความคิดบางประการ ได้แก่

ก) ในประเทศทุนนิยมพัฒนาแล้ว อาจเปลี่ยนผ่านโดยการออกเสียงเลือกตั้ง ไม่จำเป็นต้องใช้ลูกปืนเสมอไป

ข) ให้ความสำคัญแก่ประเทศทุนล้าหลังอย่างรัสเซียว่าอาจมีบทบาทในการปฏิวัติได้ รวมทั้งบรรดาอาณานิยมอย่างเช่นอินเดีย

ค) เพิ่มความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่เริ่มปรากฏปัญหารูปธรรมในการผลิตแบบทุนนิยม มาร์กซ์สนใจศึกษาเรื่องนี้ตั้งแต่กลางทศวรรษ 1860 ปรากฏในสมุดบันทึกของมาร์กซ์ระหว่างปี 1864 ถึง 1872 แต่เพิ่งมีการรวบรวมเผยแพร่ไม่นานมานี้เอง ก่อนหน้าปี 1860 มาร์กซ์เห็นว่า วิทยาศาสตร์การเกษตรสมัยใหม่จะสามารถแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของดินได้

บุคคลที่มีอิทธิพลต่อมาร์กซ์ในการสร้างความคิดทางนิเวศวิทยา ได้แก่

 

ก) จัสตุส วอน ไลบิก (1803-1873) ได้ชื่อว่าเป็นบิดาการเกษตรเคมีสมัยใหม่ เป็นผู้บุกเบิกด้านเกษตรอินทรีย์ในเยอรมนี ไลบิกได้แสดงให้เห็นชัดว่าแร่ธาตุในดินมีส่วนสำคัญในการเติบโตของพืชโดยกระบวนการ “เมแทบอลิซึม” เป็นปฏิสัมพันธ์ทางเคมีระหว่างพืชกับดิน และการเปลี่ยนแปลงอินทรีย์วัตถุเป็นพลังงาน

มาร์กซ์ได้สร้างทฤษฎีของตนที่ซับซ้อน เริ่มจากการที่มนุษย์มีความสัมพันธ์แบบเมแทบอลิซึมกับธรรมชาติ (คล้ายกับความสัมพันธ์ระหว่างพืชและดิน) “ทำให้ธรรมชาติทั้งหมดเป็นร่างกายของเขา” แต่ความสัมพันธ์นี้กระทำโดยผ่านการทำงานของมนุษย์ การทำงานของมนุษย์เป็นกระบวนการที่มนุษย์ “จัดระเบียบและควบคุมเมแทบอลิซึมระหว่างตัวเขากับธรรมชาติ”

การทำงานของมนุษย์ที่เป็นเชิงสังคม มีขั้นตอนแบบวิธีการผลิตของตน ได้พัฒนาจนถึงขั้นเป็นระบบทุนนิยม ที่ก่อให้เกิด “การรวมกันระหว่างเกษตรกรรมกับอุตสาหกรรม” เกิดการเป็นเมืองซึ่งเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนทางประวัติศาสตร์ แต่ในขณะเดียวกันได้ “กระทบกระเทือนต่อปฏิสัมพันธ์ทางเมแทบอลิซึมระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ… ดังนั้น การผลิตแบบทุนนิยมจำต้องพัฒนาเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตทางสังคม โดยการทำลายแหล่งกำเนิดของความมั่งคั่งทั้งหลายได้แก่ดินและคนงาน”

มาร์กซ์เรียกสิ่งนี้ว่า “รอยแยกทางเมแทบอลิซึม”

ดังนั้น การปฏิวัติสังคมนิยมจึงไม่ใช่เพียงเพื่อการปลดแอกคนงานกรรมกร ยังเป็นเพื่อการปลดแอกโลกใบนี้ด้วย เป็นการสร้างสังคมและการมีชีวิตที่เสรี ไม่แปลกแยกกับธรรมชาติและตนเอง และยั่งยืน

ข) นักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมที่มาร์กซ์สนใจอีกคนหนึ่งได้แก่ คาร์ล นิโคลัส ฟราสส์ (Karl Nikolaus Fraas 1810-1875) นักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมัน ซึ่งได้ชี้ปัญหาการทำลายป่าเพื่อการทำฟาร์มขนาดใหญ่แบบทุนนิยม ได้ก่อผลกระทบต่อภูมิอากาศและการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศรุนแรง จากการศึกษาการเติบโตของพืชในกรีซและโรมันโบราณ ได้ชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศเกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกและการทำลายป่า ซึ่งการทำลายป่าอาจก่อให้เกิดทะเลทรายและการล่มสลายของอารยธรรมได้ นั่นคือ สิ่งแวดล้อมและเงื่อนไขการผลิตที่เป็นธรรมชาติถูกทำลายด้วยอารยธรรมมนุษย์โดยเฉพาะการเกษตร

ค) จอร์จ ลุดวิก วอน เมาเรอ Georg Ludwig von Maurer 1790-1872) นักประวัติศาสตร์กฎหมายชาวเยอรมัน ชี้ว่าสังคมเยอรมนีโบราณมีลักษณะการทำงานและเป็นเจ้าของที่ดินแบบรวมหมู่ มีการบริหารแบบคอมมูน สามารถทำการเกษตรที่ยั่งยืนได้ ทำให้เขาหันมาศึกษาภาษารัสเซียเพื่อให้เข้าใจหมู่บ้านคอมมูนในรัสเซีย

ง) ในบั้นปลายชีวิตเขาได้เขียนจดหมายติดต่อกับวีร่า ซาซูลิช (Vera Zasulich 1849-1919) นักปฏิวัติสตรีชาวรัสเซีย นักเขียนของกลุ่มเมนเชวิก ไม่เห็นด้วยกับแนวทางปฏิวัติของเลนิน ผู้แปลงานของมาร์กซ์เป็นภาษารัสเซียหลายชิ้น มาร์กซ์ได้กล่าวถึงประเด็นคอมมูน ว่าสังคมในยุโรปและสหรัฐกำลัง “เกิดวิกฤติกับมวลชนอันไพศาลกับวิทยาศาสตร์ และกับพลังการผลิตที่มันสร้างขึ้น กล่าวอย่างสั้นคือ เป็นวิกฤติที่จบลงด้วยการทำลายตนเอง โดยการย้อนกลับสังคมสมัยใหม่ สู่สังคมโบราณในระดับสูงขึ้น ที่มีการผลิตและกรรมสิทธิ์แบบรวมหมู่”

กล่าวกันว่าในช่วงนี้มาร์กซ์ได้เห็นชัดว่าวิกฤตินิเวศไม่สามารถแก้ไขได้โดยวิทยาศาสตร์และเคมีสมัยใหม่ แต่โดยการเปลี่ยนแปลงฐานรากของกำลังการผลิตและความสัมพันธ์ทางการผลิต (ดูบทความของ Gus Fagan ชื่อ Was Marx an ecologist? ใน climateandcapitalism.com สิงหาคม 2019)

ทัศนะเหล่านี้มีทั้งคล้ายและต่างกับของนักสิ่งแวดล้อมจำนวนหนึ่งในปัจจุบัน

ฉบับต่อไป