คงสร้างแรงสั่นสะเทือนได้บ้าง? / หน้าพระลาน จัตวา กลิ่นสุนทร

หน้าพระลาน

จัตวา กลิ่นสุนทร

 

คงสร้างแรงสั่นสะเทือนได้บ้าง?

 

วันที่มติชนสุดสัปดาห์ถึงมือท่านผู้อ่าน การอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เดินทางมาถึงวันสุดท้าย หรือไม่ก็จบสิ้นไปเรียบร้อย และอาจรู้ผลการลงมติแล้ว

คงเป็นไปตามคาดหมายเนื่องจากเสียงรัฐบาลมีมากกว่าดังที่ทราบ ขณะเดียวกันหัวหน้ารัฐบาลเคยบอกไว้ว่า “มาด้วยกัน ไปด้วยกัน–”

แปลว่า ไม่ว่ารัฐมนตรีท่านไหนจะถูกฝ่ายค้านเปิดแผลเหวอะหวะแค่ไหน ถึงอย่างไรก็ต้องลากกันไป เพียงแต่คะแนนสียงไว้วางใจจะเท่ากันหรือไม่?

เขียนต้นฉบับล่วงหน้าหลายวันจึงยังไม่ทราบว่าฝ่ายค้านจะเป็น “เพื่อไทย” หรือ “ก้าวไกล” พรรคใดพรรคหนึ่งย่อมต้องอภิปรายสอบถามเรื่องการจัดหา “วัคซีน” (Vaccine) อันสลับซับซ้อนที่สืบเนื่องมาจากรายงานข่าวว่ามันมีอะไรลึกลับสับสนจนถึงผิดพลาดในการเจรจาจัดหาเกิดขึ้นบ้าง หรือไม่อย่างไร?

เรียกว่าค่อนข้างมีปัญหาอันเกิดจากความประมาท และอ่อนด้อยในการบริหารงาน และอื่นๆ พอสมควร

ซึ่งคนส่วนใหญ่ของประเทศต้องการรู้เหมือนกันว่าประเทศไทยทำไมจึงได้รับวัคซีนช้ากว่าประเทศอื่นๆ

ยิ่งกว่านั้นวัคซีนบางตัวที่ประเทศในเอเชีย และรอบๆ บ้านเราได้รับการมอบมาให้แบบฟรีๆ จากประเทศผู้ผลิตจึงไม่มีประเทศไทยได้รับด้วย

ประชาชนได้รับคำตอบชัดเจนขึ้นมาบ้างหรือยัง?

เช่นคำตอบที่เคยหลุดออกมาจากปากคนใหญ่คนโตระดับรองนายกรัฐมนตรี ว่า การทำสัญญาจัดหาสั่งจองซื้อ-ขายวัคซีน (Vaccine) ได้ทำเป็นความลับเปิดเผยไม่ได้ ซึ่งย่อมเป็นเรื่องน่าแปลกใจเพราะเงินที่นำเอามาซื้อหามันคืองบประมาณประเทศ เป็นเงินจากภาษีของประชาชน เขาจึงมีสิทธิ์รับรู้รับทราบว่าผู้บริหารท่านจะเอาไปทำอะไร?

จะมีการเปิดเผยในสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่?

 

ประชาชนกำลังอยู่ในสภาพค่อนข้างลำบากตั้งแต่มากไปจนถึงอดอยากยากแค้น และเขาคิดว่าตั้งแต่รัฐบาลของคณะผู้ยึดอำนาจ พ.ศ.2557 ต่อมาจนถึงรัฐบาลชุดนี้เป็นต้นเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจทรุดตกต่ำติดต่อเรื่อยมาหลายปี ก่อนจะโดนกระหน่ำซ้ำด้วยการระบาดของไวรัสโคโรนา (Covid-19) กระทั่งประเทศเราต้องกู้เงินมาเพื่อต่อสู้กับไวรัส และ แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

เมื่อถึงเวลาที่ทั่วโลกคิดกันว่าวัคซีน (Vaccine) ที่หลายประเทศผลิตออกมาเป็นทางออกหนึ่งที่จะป้องกันเยียวยาเรื่องไวรัสได้ เพื่อที่จะได้เปิดประเทศเปิดน่านฟ้าเดินทางติดต่อไปมาหาสู่ทำธุรกิจระหว่างกัน นักท่องเที่ยวก็จะเข้ามาท่องเที่ยว เพราะรายได้จากการท่องเที่ยวจะเป็นอันดับแรกๆ ของบ้านเรา

ถ้าประชาชนของประเทศยังไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับทีหลังประเทศอื่นๆ เฉพาะในเอเชียรอบๆ บ้าน หากเปิดน่านฟ้าเดินทางไปมาหาสู่กันได้ เขาคงต้องเลี้ยวเที่ยวกันอยู่รอบๆ บ้านเรา

แปลว่าเมื่อได้รับวัคซีนช้ากว่าคนอื่นๆ กว่าจะฉีดให้ประชาชนได้เป็นจำนวนพอเพียง เวลาย่อมเดินทางข้ามปี 2564 ไปถึงกลางปี พ.ศ.2565

 

ธุรกิจต่างๆ ของประเทศไทยเอาเฉพาะที่มันเกี่ยวพันกับการท่องเที่ยว เช่น สถานที่พัก โรงแรมหลายระดับ ร้านอาหาร ร้านนวดแบบสปา นวดแผนโบราณ ทุกสิ่งทุกอย่าง เกาะแก่งจำนวนมากในเมืองไทยทั้งภาคใต้ ตั้งแต่เกาะใหญ่ เช่น ภูเก็ต พังงา เกาะสมุย เกาะพงัน ทะเลกระบี่ ตรัง จังหวัดอะไรต่อมิอะไรทั้งสองฝั่งทะเลด้ามขวานย่อมล้มลง เพราะทุกวันนี้รายใหญ่ๆ เท่านั้นที่ยังนอนหายใจรวยรินรออยู่

ฝั่งทะเลตะวันออกตั้งแต่เมืองพัทยา เกาะล้าน เกาะเสม็ด เกาะเต่า เกาะช้าง ฯลฯ ซบเซาจนแทบสิ้นเนื้อประดาตัว ต้องกัดฟันกลืนเลือดกันไป ยังหายใจทนแบกหนี้อยู่ได้โดยเจ้าหนี้ไม่ฟ้องล้มละลายขายทอดตลาด จำทนรอวันลุกขึ้น

ทนไม่ไหวต้องขายให้นายทุนต่างชาติที่เริ่มเข้ามากว้านซื้อกิจการราคาถูก เพราะเวลานี้หาแหล่งเงินกู้โดยเฉพาะธนาคารนั้นยากลำบาก ไม่ค่อยมีใครยอมปล่อยให้

ตรงนี้ยกตัวอย่างเล็กๆ เฉพาะเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลเกาะแก่งแหล่งสวยงามทั้งหลาย ยังมิได้พาเดินทางขึ้นไปทางภาคเหนือ และภาคอื่นๆ ที่อากาศค่อนข้างดีมีทิวทัศน์สวยงามทั้งภูเขา ป่าไม้ น้ำตกต่างๆ ซึ่งได้รู้ได้เห็นได้อ่านได้ศึกษาพูดคุยถึงสภาพการเปลี่ยนแปลงในเวลาปีเศษที่ผ่านต้องพบกับความเงียบเหงา การเลิกจ้างงานพนักงานคนงานทั้งหลายล้วนแล้วแต่น้ำตาซึม

รัฐบาลช่วยเหลืออะไรไม่ได้เท่าไร เยียวยาก็ไม่มีทางที่จะทั่วถึงเพียงพอ เกาไม่ถูกที่คัน เอาเพียงแค่บุคลากร พนักงานที่ต้องถูกลดเงินเดือน ถูกปลดออกจากงานกันจำนวนมากต้องหอบลูกหอบเมียกลับไปสู้ตายที่บ้านเกิด รายที่พอมีที่ดินทำกินอยู่บ้างยังสามารถดิ้นรนกัดฟันกันไป รายที่สิ้นไร้หนทางก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร

ผู้ประกอบการทั้งหลายล้วนไปไม่รอดหนักหนาสาหัสจริงๆ ไม่มีทางอื่นใดที่เราจะลุกขึ้นได้จนกว่าไวรัสโควิด-19 มันเดินจากไป แต่ถ้าหากประเทศต่างๆ รอบๆ บ้านเขาได้รับวัคซีนกันทั้งหมด เหลือแต่บ้านเราก็แปลว่าโควิด-19 ยังเหลืออยู่ นักท่องเที่ยวเขาจะต้องเลือกเดินทางไปยังประเทศที่ปลอดภัย

แต่ในความมืดมิดกลับปรากฏแสงสว่างขึ้นบ้าง เกิดมีข่าวดีว่าเราได้รับวัคซีน “ซิโนแวค” จากประเทศจีนจำนวน 2 ล้านโดส โดย 2 แสนโดสจะถึงเมืองไทยปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 (แต่ไม่ใช่วันวาเลนไทน์อย่างที่รองนายกรัฐมนตรีคุยโวไว้) อีก 8 แสนโดสจะเป็นในเดือนมีนาคม และสุดท้ายอีกจำนวน 1 ล้านโดสจะถึงเมืองไทยเดือนเมษายน 2564

จึงยังพอตัดอกตัดใจให้คำชมความพยายามของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเรื่องการจัดหาวัคซีน แทนที่จะเอาแต่ฉุนเฉียวเกรี้ยวกราดสวนกลับถึงฟ้องร้องผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงาน

รัฐบาล คณะรัฐมนตรี ท่านต้องเปลี่ยนแปลงวิธีคิด การทำงานในหน้าที่ให้รวดเร็วฉับพลันทันสมัยเพราะประชาชนฉลาดขึ้น ไม่ได้โง่งมงายเหมือนที่เข้าใจดังแต่ก่อน ฉะนั้น พวกท่านทำอะไรปิดบังแอบอิงเอื้อประโยชน์ให้กับใครโดยไม่เลือกประโยชน์ของประชาชนว่าต้องมาก่อน ไม่มีทางที่จะปิดบังหลีกหลบไปได้

 

สถานการณ์การเมืองจะต้องเกิดความวุ่นวายตึงเครียดแบบยืดเยื้อต่อไปอีกจากความไม่จริงใจในการแก้ไข “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” ของรัฐบาล ซึ่งแน่นอนที่สุดฝ่ายกุมอำนาจที่ได้ประโยชน์อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รวมทั้งพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ย่อมไม่ต้องการให้มีการแก้ไข เพราะได้รับประโยชน์เต็มๆ

สำหรับประชาชนคนรุ่นใหม่ คนรัก “ประชาธิปไตย” นักเรียน นิสิต นักศึกษา– “กลุ่มราษฎร 2563” ที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีความจำเป็นต้องอย่าลืมคน 2 คนนี้ต้องจำไว้ให้ขึ้นใจ คือ–นายไพบูลย์ นิติตะวัน ที่ได้เป็น ส.ส.แบบพิสดารโดยที่ตัวเขาเองยังตอบสังคมไม่ได้ว่าเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่ออันดับที่เท่าไร ของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กับนายสมชาย แสวงการ วุฒิสมาชิก ที่เลื้อยเกาะเกี่ยวผู้มีอำนาจจนได้รับแต่งตั้ง (ลากตั้ง) มาอย่างต่อเนื่อง

เพราะเขา 2 คนนี้รวมหัวกันยื่นญัตติขอให้รัฐสภาส่งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย? และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ร่วมมือกับวุฒิสมาชิก (ลากตั้ง) ลากจนผ่านสภาด้วยจำนวนเสียงที่มากกว่า เพื่อเป็นการยื้อซื้อเวลา

ผมจึงมีความเชื่อว่า ต่อจากวันนี้จะเป็นการเรียก “ม็อบ” ออกมาให้เต็มเมืองอีก

 

เคยเรียนไว้ว่าผมเขียนต้นฉบับล่วงหน้า จึงอาจเกิดการขัดข้องผิดพลาดได้บ้าง โดยเฉพาะเรื่องการเปิด “อภิปรายไม่ไว้วางใจ” รัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีรวม 10 ท่านครั้งนี้อาจจะไม่เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ พล.อ.ประยุทธ์บอกกับผู้สื่อข่าวว่า “พร้อมตลอด พร้อมทุกวัน–”

แต่อีกด้านหนึ่งคนของเขา หรือคนที่พยายามปกป้องเอาใจ พล.อ.ประยุทธ์ คือ นายไพบูลย์ นิติตะวัน (เจ้าเก่า) จะสร้างผลงานด้วยการพยายามยื้อ หรือล้ม โดยให้สภาส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความญัตติว่าขัดรัฐธรรมนูญ? เพื่อจะไม่ให้การอภิปรายครั้งสำคัญหนนี้เกิดขึ้น

เราเริ่มสับสนกับสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งไม่รู้จะมีไว้ทำไมตั้ง 500 คน โดยไม่มีอำนาจการตัดสินใจอะไรได้เลย ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความเสมอๆ ยุบสภาผู้แทนฯ เสียเลยดีไหม? ยกบ้านเมืองให้เผด็จการไปปกครองกันตามสบายเสียเลยจะดีกว่า เพราะถ้ามี “ฝ่ายค้าน” แล้วไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลแทนประชาชนได้– หรือการอภิปรายครั้งนี้จะเข้มข้นมีข้อมูลมากมาย– จึงจะต้องหาวิธี “ล้มการอภิปราย” ให้ได้

การอภิปรายไม่ไว้วางใจ (ถ้ามี) ถึงจะไม่ทำให้รัฐบาลที่มีเสียงข้างมากล้มลงได้ แต่คิดว่ามีความสำคัญด้านข้อมูลมาก ไม่อย่างนั้นจะไม่ถึงกับต้องดิ้นรนเพื่อล้มญัตติ

ประชาชนคงตาสว่างขึ้น ขณะเดียวกันรัฐบาลย่อมสั่นสะเทือนหวั่นไหวที