การศึกษา / ผ่า ‘ข้อดี-ข้อเสีย’ เพิ่ม ’20 สพม.’ ‘ตอบโจทย์’ หรือแค่ ‘หาเสียง’ ครู??

ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ

การศึกษา

ผ่า ‘ข้อดี-ข้อเสีย’ เพิ่ม ’20 สพม.’

‘ตอบโจทย์’ หรือแค่ ‘หาเสียง’ ครู??

เห็นความชัดเจนเสียที หลังจากมีกลุ่มที่เคลื่อนไหวเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพม.) ให้ครบ 77 เขต หรือให้ครบทุกจังหวัด จากเดิมที่มี 42 เขตเท่านั้น โดยให้เหตุผลว่าเพื่อให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

ซึ่งนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้ส่งสัญญาณชัดเจนตั้งแต่ปี 2563 แล้วว่าจะจัดตั้ง สพม.เพิ่มขึ้นเเน่นอน โดยได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปหาแนวทางการเพิ่ม สพม. แต่จะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ด้วย

ประกอบกับสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) ได้ออกมาเคลื่อนไหว และเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.มอบของขวัญปีใหม่ โดยขอให้เพิ่ม สพม.เป็นจังหวัดละ 1 เขต

แต่หากเพิ่มครบทุกจังหวัดไม่ได้ ก็ขอให้เพิ่มเฉพาะในเขตพื้นที่ฯ ที่ห่างไกล เพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปอย่างคล่องตัวมากขึ้น

การเพิ่ม สพม.เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น เมื่อนายณัฏฐพลได้ออกมาเปิดเผยว่า ได้อนุมัติให้ สพฐ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับโครงสร้าง สพม.จากเดิมที่มีอยู่ 42 เขต เพิ่มขึ้นเป็น 62 เขต เพื่อให้การทำงานคล่องตัว และสอดรับกับการพัฒนาโรงเรียนดีสี่มุมเมือง

“อย่างไรก็ตาม หากมีการเพิ่ม สพม.ขึ้นมา แน่นอนจะต้องเพิ่มงบประมาณด้วย ซึ่งผมได้หารือกับ สพฐ.เพื่อเตรียมความพร้อมจัดสรรงบประเมินเพื่อรองรับแล้ว”

นายณัฏฐพลระบุ

 

สําหรับ สพม.ที่จะจัดตั้งเพิ่มขึ้นอีก 20 เขตในอนาคตอันใกล้นี้ ได้แก่

สพม.พระนครศรีอยุธยา สพม.สระบุรี สพม.ลพบุรี สพม.สมุทรปราการ สพม.สระแก้ว สพม.กาญจนบุรี สพม.นครปฐม สพม.สมุทรสาคร สพม.ประจวบคีรีขันธ์ สพม.ชุมพร สพม.พัทลุง สพม.ยะลา สพม.ปัตตานี สพม.มุกดาหาร สพม.ยโสธร สพม.แม่ฮ่องสอน สพม.น่าน สพม.ตาก สพม.พิจิตร และ สพม.อุทัยธานี

เมื่อมีความชัดเจน และการตั้ง สพม.เพิ่มอีก 20 เขต เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้ว นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ออกมารับลูกทันที พร้อมทั้งระบุว่า ขณะนี้ทราบว่านายณัฏฐพลได้ลงนามอนุมัติเพิ่ม สพม.อีก 20 เขตแล้ว หากประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อใด จะมีผลบังคับใช้ทันที

ทั้งนี้ สพฐ.ได้เตรียมการต่างๆ เพื่อรับมือให้สามารถจัดตั้ง สพม.โดยมอบให้สำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย (สมป.) เป็นผู้รับผิดชอบในการเตรียมสถานที่ บุคลากร วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องมือต่างๆ รวมถึงการวางแผนการบริหารจัดการด้วย

แต่ก็มีการตั้งคำถามตามมาว่า เมื่อเพิ่ม สพม.อีก 20 เขตแล้ว จะต้องเพิ่มงบประมาณและอัตรากำลังหรือไม่

ซึ่งนายอัมพรระบุว่า การเพิ่ม สพม.ครั้งนี้ สพฐ.จะไม่ขอตำแหน่งเพิ่ม และจะไม่ของบประมาณในการดำเนินการเพิ่มจากสำนักงบประมาณ เพราะจะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่มาบริหารจัดสรรต่อไป ส่วนการจัดสรรงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการจัดการตั้ง สพม.นั้น จะใช้งบฯ พื้นฐานของ สมป.มาบริหารจัดการไปก่อน

“การเพิ่ม สพม.ไม่อยากให้มองว่าดีหรือไม่ดี แต่การเพิ่ม สพม.ขึ้นมา จะช่วยให้ประสิทธิภาพการบริหารจัดการของ สพม.ดีขึ้นกว่าเดิม เพราะปัจจุบัน สพม.บางเขตต้องดูแลการศึกษาถึง 4 จังหวัด แต่ถ้าแบ่งพื้นที่ใหม่จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ และมีความคล่องตัวมากขึ้น” นายอัมพรกล่าว

 

ด้านนายวิสิทธิ์ ใจเถิง ผู้อำนวยการโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) และนายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) กล่าวว่า การเพิ่ม สพม.เป็นข้อเสนอที่ ส.บ.ม.ท.เสนอให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.พิจารณาเพิ่ม สพม.มากขึ้น เพื่อให้การบริหารงานมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

“ส่วนตัวมองว่าแม้จะเพิ่ม สพม.แล้ว แต่อยากให้ ศธ.กำหนดการทำงานของศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และศึกษาธิการภาค (ศธภ.) ให้มีความชัดเจนมากขึ้น เพราะปัจจุบันการทำงานยังซ้ำซ้อนกันอยู่ ซึ่งจะทำให้การทำงานในระดับพื้นที่เกิดความล่าช้า” นายวิสิทธิ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเลขาธิการ กพฐ.จะยืนยันว่าไม่มีการของบประมาณเพิ่ม และไม่ขอตำแหน่งเพิ่ม แต่การจัดตั้ง สพม.เพิ่ม ก็ต้องมีอาคาร และสถานที่ทำการของ สพม. รวมถึงต้องมีบุคลากรทำงาน และต้องมีตำแหน่งบริหารต่างๆ ตั้งแต่ผู้อำนวยการ สพม., รองผู้อำนวยการ สพม. และผู้อำนวยการระดับต่างๆ เพราะแม้จะเกลี่ยบุคลากรมาจากเขตพื้นที่ฯ อื่นทำงาน แต่เมื่อต้องนั่งบริหารงานในตำแหน่งต่างๆ ที่ว่ามา ก็ต้องมีการแต่งตั้ง และต้องจ่ายเงินเดือนเพิ่ม เพราะคงไม่สามารถให้นั่งรักษาการในตำแหน่งบริหารได้ตลอดไป

 

แม้ผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวให้มีการจัดตั้ง สพม.เพิ่ม ต่างยินดีปรีดากับความสำเร็จครั้งนี้ แต่ฟากฝั่งนักวิชาการกลับเห็นต่างออกไป เพราะพากันคัดค้านเสียงแข็ง เพราะยังไม่เห็น “ข้อดี” ของการเพิ่ม สพม.แต่อย่างใด

เริ่มที่ ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (มรภ.นม.) ให้ความเห็นไว้ว่า เท่าที่ดูท่าทีของนายณัฏฐพลในช่วงแรก ค่อนข้างไม่เห็นด้วยกับการเพิ่ม สพม. แต่มีนโยบายให้เพิ่มในช่วงนี้ อดคิดไม่ได้ว่าเป็นการหาเสียงกับกลุ่มผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมหรือไม่

“ทั้งนี้ ควรเร่งแก้ไขปัญหาในเรื่องสำคัญๆ ก่อน ทั้งการจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ แก้ปัญหาโครงสร้างในภาพรวม ทั้งการทำงานของ ศธจ.และ ศธภ.ก็ยังถูกสังคมตั้งคำถาม เพราะการทำงานที่ผ่านมา ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงในเรื่องการทำงานที่ชัดเจน” นายอดิศรระบุ

ด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา ระบุว่า การเพิ่ม สพม.ถือเป็นนโยบายที่สวนทางกับการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ ทั้งที่ควรทำให้โครงสร้าง และระบบการทำงานเล็กลง เพื่อให้การทำงานมีความคล่องตัว ทำให้คนในแวดวงการศึกษา มีความเคลือบแคลงในตัวนายณัฏฐพลเป็นอย่างมาก

“เรื่องนี้ผมไม่เห็นด้วย 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะไม่มีใครได้ประโยชน์นอกจากข้าราชการกลุ่มเล็กๆ ที่สำคัญ ยังย้อนแย้งกับหลักการปฏิรูปการศึกษา ที่ควรจะทำให้ระบบราชการเล็กลง ผมยังไม่เห็นข้อดี หากยกเลิกได้ก็ควรยกเลิก ครั้งนี้นายณัฏฐพลตัดสินใจผิดพลาดครั้งใหญ่ ทำให้คนในแวดวงการศึกษาหลายคนถึงขั้นส่ายหน้า”

ศ.ดร.สมพงษ์ระบุ

 

ต้องจับตาดูว่า การที่นายณัฏฐพลไฟเขียวให้เพิ่ม สพม. 20 เขต เป็นการมุ่งที่ประโยชน์ของการศึกษาไทย เพื่อให้การขับเคลื่อนการศึกษาดีขึ้น และทำให้การบริหารจัดการในระดับพื้นที่มีประสิทธิภาพจริงหรือไม่??

หรือเป็นเพียงแค่การ “หาเสียง” เพื่อเอาใจ “ผู้บริหารการศึกษา” และครูทั่วประเทศ ซึ่งเลี่ยงไม่ได้กับการที่ต้องใช้ทั้ง “คน” และ “งบฯ” เพิ่มมหาศาล!!

นอกจากจะ “เกาไม่ถูกที่คัน” แล้ว ยัง “สวนทาง” กับ “การปฏิรูปการศึกษา” และอาจกลายเป็นการสร้าง “ภาระ” ให้กับประเทศชาติที่อยู่ในภาวะวิกฤตอีกด้วย!!