ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 กุมภาพันธ์ 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | กาแฟโบราณ |
เผยแพร่ |
กาแฟโบราณ
มนัส สัตยารักษ์
สิทธิและเสรีภาพในการรังแกตำรวจ
บ่ายวันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ มีคลิปว่อนในโลกโซเชียล พาดหัวตัวหนา “ป่าเถื่อน ตบหัว ผกก.สน.บางซื่อ” อาจารย์นิด้าสุดทน จี้เอาผิดม็อบสุดเหิมเกริม
มีรายละเอียดจากเฟซบุ๊กโพสต์ข่าวว่า อาจารย์นิด้า ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ผู้เผยแพร่คลิประบุ
“ปล่อยให้เหิมเกริม ลามปามไปขนาดนี้ ตบหัวตำรวจได้ ต่อไปก็ตบหัวอัยการได้ แล้วจะไม่ลามปามไปตัวหัวผู้พิพาษาหรือ”
“จะปล่อยให้กร่างต่อไปได้อย่างไร ทำไมไม่จับกุมแล้วส่งฟ้อง ตัดสินเข้าคุกไปเลย กระทำความผิดซี่งหน้าขนาดนี้”
ตามไปเปิดดูคลิปเหตุการณ์ดังกล่าว ไม่ปรากฏว่ามีภาพตำรวจถูกตบหัว แต่เป็นภาพช่วงที่ พ.ต.อ.กฤษฎางค์ จิตตรีพล ผกก.สน.บางซื่อ พูดโต้ตอบกับผู้หญิงคนหนึ่งท่ามกลางผู้ชุมนุม
“ผมโดนตบหัว ลุงคนหนึ่งมาตบหัวผม”
เสียงผู้หญิงตอบว่า “ประชาชนไม่มีอาวุธ ไม่มีตำแหน่งเหมือนพวกคุณ”
“แล้วผมไปทำอะไรเขาล่ะ ผมก็ไม่มีอะไร แล้วมาตบหัวผมข้างหลัง ทำอย่างนี้ได้หรือ”
“เขามารอคำตอบ แต่คุณมาอ่านประกาศ (ให้ยุติ) แบบเดิม”
“มันผิดกฎหมาย พวกคุณเห็นมั้ย ผมโดนตบหัว หมวกผมหล่น”
แม้จะไม่เชื่อข่าวจากเพจข้างต้น 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะตรวจสอบข่าวนี้จากมุมอื่นก็ไม่พบ
ข่าวนี้อาจจะเป็นข่าวปั้นเพื่อเพิ่มความเกลียดชังระหว่างตำรวจกับผู้ชุมนุม โดยหวังจะให้ตำรวจปฏิบัติการต่อม็อบอย่างรุนแรงกว่าเดิม จะเพื่อจุดประสงค์ใดก็ไม่ยากที่จะเดา
คิดอีกที อาจจะเป็นเรื่องจริงก็ได้ เพียงแต่ถูกเพิ่มสีใส่ไข่จาก “ปัดหมวก” เป็น “ตบหัว” ก็ได้
หรืออาจจะเป็นจริงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ แต่ ผกก.สน.บางซื่อ หรือผู้บังคับบัญชา ถือเป็นเรื่องที่ให้อภัยกันได้ ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงถึงขั้นเสียศักดิ์ศรีตำรวจแต่อย่างใด
และที่สำคัญมากก็คือ หลายเรื่องที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ล้วนร้ายแรงและรุนแรงกว่า “ปัดหมวกหล่น” หลายเท่า ยังคงคาราคาซังจนจวนจะข้ามปีแล้วก็ยังไม่เห็นจุดจบ
ในฐานะตำรวจเก่า แม้เกษียณอายุราชการมานานถึง 24 ปีแล้ว แต่ข่าวนี้ก็ทำให้ตัวร้อนขึ้นมาวูบหนึ่ง เหมือนกับทุกครั้งที่เห็นตำรวจถูกรังแกโดยไม่มีเหตุผลนั่นแหละ
นึกย้อนไปถึงเหตุการณ์ “คุกคามตำรวจ” ที่ สน.สำราญราษฎร์ เมื่อ 28 สิงหาคม 2563 ซึ่งแอมมี่ เดอะบอตทอมบลูส์ (นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์) กับพวกกลุ่มหนึ่งใช้สีพลาสติกในถังสาดใส่ตำรวจ ทำให้ชุดเครื่องแบบของตำรวจ 14 นายได้รับความเสียหาย เป็นมูลค่าประมาณ 26,000 บาท
ตามข่าวในขณะนั้น (สิงหาคม 2563) ตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ รวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีแอมมี่ โดยในชั้นต้นก็เข้าข่ายผิดฐานทำให้เสียทรัพย์เป็นอย่างน้อย แต่คำพูดที่ว่า “สนุกจังเลย” ของเขาอาจจะช่วยให้ตำรวจแจ้งข้อหาเพิ่มเติมได้อีก
อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าเป็นประการใด แค่ไหน ไม่ได้ติดตาม แต่ก็มีพฤติการณ์ของผู้ชุมนุมทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นตามมาอีกหลายครั้ง แต่ละครั้งก็รุนแรงเพิ่มขึ้น และบางครั้งก็ลามปามไปถึงขั้นหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
มีความเคลื่อนไหวบางประการในระหว่างทางเดินแสนสั้นแต่ใช้เวลายาวนานของกระบวนการยุติธรรมไทย
เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ สำนักงานอัยการสูงสุดได้นัด 4 ผู้ต้องหาเพื่อนำส่งฟ้องต่อศาลอาญา คือนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นายอานนท์ นำภา นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องที่ 1-4 แกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎร
โดยยื่นฟ้อง 2 สำนวน คือ คดีหมายเลขดำ อ.286/2564 ยื่นฟ้องนายพริษฐ์เป็นจำลยเพียงคนเดียว กรณีระหว่าง 14-15 พฤศจิกายน 2563 นายพริษฐ์ได้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะที่บริเวณเวทีคอกวัว ยุยงผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 5,000 คนให้เกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่อง เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบัน ดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์ ตาม ม.112
อีกสำนวนเป็นคดีหมายเลขดำ อ.287/2564 ฟ้องนายพริษฐ์กับพวกรวม 4 คนเป็นจำเลย กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 19-20 กันยายน 2563 พวกจำเลยซึ่งเป็นแกนนำ จัดให้มีการชุมนุมบริเวณ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และท้องสนามหลวง โดยมีผู้ชุมนุมประมาณ 20,000 คน เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออก ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบัน
จำเลยแถลงให้การปฏิเสธฟ้องทุกข้อหา ขอต่อสู้คดีโดยจะจัดหาทนายมาเอง
จำเลยทั้งหมดได้ยื่นขอประกันตัว โดยวางหลักทรัพย์คนละ 5 แสนบาท
ศาลได้พิเคราะห์คำร้องขอปล่อยตัวแล้วมีคำสั่งว่า
“พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง อีกทั้งการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำซ้ำๆ ต่างกรรมต่างวาระ ตามข้อกล่าวหาเดิมหลายครั้งหลายครา กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่า หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก”
“จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ให้ยกคำร้อง แจ้งให้คำสั่งทราบและคืนเงินประกันทั้งสองสำนวน และนำตัวส่งเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ”
มีข้อสังเกตว่า แม้สำนวนคดีเสร็จเรียบร้อยแล้วอัยการส่งฟ้องศาลได้ ตำรวจก็หนีไม่พ้นโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับ “ม็อบชุมนุม”
ก่อนที่สำนักงานอัยการสูงสุดจะส่งผู้ต้องหาทั้ง 4 ไปเป็นจำเลยในศาลอาญา
เมื่อรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดกล่าวชี้แจงการสั่งคดีของผู้ต้องหาทั้ง 4 นั้น นายพริษฐ์ซึ่งเดินเข้าไปฟังการแถลงข่าวด้วย ได้ถามกลับรองโฆษก ย้ำถึงประเด็นตามหนังสือขอความเป็นธรรมว่า “หลักสิทธิเสรีภาพได้รับการคุ้มครองตามมาตรฐานสากล”
รองโฆษกชี้แจงว่า ส่วนของงานโฆษก เป็นการนำผลการสั่งของพนักงานอัยการมาเรียนต่อสื่อมวลชน ส่วนในสำนวนไม่สามารถอธิบายได้ เพราะไม่ได้รับผิดชอบสำนวน และไม่แน่ใจว่าเป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาลหรือไม่
กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้ตะโกนด่าอัยการแต่อย่างใด
ต่างกับเย็นวันที่ 9 และ 10 ที่กลุ่มผู้ชุมนุมแสดงความไม่พอใจที่จำเลยทั้ง 4 ไม่ได้รับการประกันตัว เป็นการปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพตามมาตรฐานสากล ผู้ชุมนุมเชียร์วาทกรรม “อยู่อย่างไทยคืออยู่อย่างทาส” และตะโกนด่าตำรวจที่มารักษาความสงบเรียบร้อยว่า “รับใช้เผด็จการ”
ต่างกับที่เมียนมา คนเมียนมาไม่รู้จักหรือไม่ค่อยคุ้นชินกับสิทธิเสรีภาพตามมาตรฐานสากลสักเท่าไร กลุ่มประชาชนผู้ชุมนุมใช้คำขวัญเชียร์ตำรวจว่า “ยืนเคียงข้างประชาชน” จึงมีข่าวตำรวจเมียนมา “กลับลำ” ไม่เอารัฐประหาร ย้ายฝั่งมาอยู่ข้างประชาชน
เหมือนกับตำรวจอเมริกันหลายรัฐในดินแดนแห่งเสรีภาพ ที่ไม่ยอมรับใช้ประธานาธิบดีทรัมป์ที่มาจากการเลือกตั้ง