วิรัตน์ แสงทองคำ /เครือข่ายใหญ่แห่งตลาดหุ้นอาเซียน

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ viratts.WordPress.com

เครือข่ายใหญ่แห่งตลาดหุ้นอาเซียน

 

อีกฉากตอน เครือข่ายธุรกิจใหญ่ไทย ท้าทายในพรมแดนที่เร้าใจ

เกี่ยวข้องกับเครือข่ายธุรกิจใหญ่ของไทย อาณาจักรธุรกิจทีซีซี ได้ชื่อว่า “เจ้าแห่งการซื้อกิจการ” แต่ไหนแต่ไรมา ขยับขยายเป็นเครือข่ายใหญ่ในตลาดหุ้นภูมิภาค

เรื่องราวแผนการนำธุรกิจเบียร์เข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์ (อ้างจากเอกสาร หัวข้อ Potential Spin-Off and Listing of BeerCo Limited, a subsidiary of ThaiBev ยื่นต่อ Singapore Exchange Securities Trading Limited เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564) จึงเป็นเรื่องที่มีที่มาที่ไป

ว่าด้วยความเกี่ยวข้องเกี่ยวกับตลาดหุ้นสิงคโปร์ (Singapore Exchange Limited หรือ SGX ) มีเรื่องราวย้อนกลับไปเมื่อเกือบๆ 2 ทศวรรษที่แล้ว เริ่มต้นจากความพยายามเข้าตลาดหุ้นไทยในนามบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือไทยเบฟ เดินแผนปรับโครงสร้างธุรกิจ (ปี 2546) ในฐานะกิจการลงทุนทั้งทางตรงและอ้อมอย่างมาก ให้เป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายแรกของไทยสามารถเข้าตลาดหุ้นได้

ทว่าแผนการใหญ่ไม่เป็นไปอย่างที่คิด ท่ามกลางการคัดค้านอย่างแข็งขันของนักเคลื่อนไหวประเภทผู้กำกับคุณธรรมในสังคม

ในที่สุดจึงพลิกเกม ในปี 2549 ไทยเบฟได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX) พร้อมๆ กับประกาศยุทธศาสตร์ใหม่

“ภายหลังจากจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ไทยเบฟได้ขยายขอบเขตธุรกิจจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปสู่ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และอาหาร เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสินค้า เพิ่มประสิทธิผลในช่องทางการขนส่ง รวมถึงกระจายความเสี่ยงของกิจการ”

คำอธิบายว่าด้วยความเป็นมาเคยปรากฏอย่างเป็นทางการของไทยเบฟ (http://www.thaibev.com/) มีบริบทที่ซ่อนอยู่ควรกล่าวถึงบางประเด็นในขณะนั้น ทว่าปัจจุบันไม่มีข้อความทำนองนั้นแล้ว

 

ไทยเบฟปักหลักตลาดหุ้นสิงคโปร์ ถือเป็นจุดเปลี่ยนทางยุทธศาสตร์ธุรกิจครั้งใหญ่

ครั้งสำคัญอีกครั้งเปิดขึ้นในปี 2555 ไทยเบฟ (รวมทั้ง nominees) ได้เข้าซื้อครอบงำ Fraser and Neave ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่และเก่าแก่แห่งสิงคโปร์ ดีลใหญ่ครั้งแรกมูลค่าระดับแสนล้านบาท ในทศวรรษดีลใหญ่ธุรกิจไทยที่ผ่านมา

เป็นปรากฏการณ์และทางแยก ว่าด้วยมุมมองภาพใหญ่เครือข่ายธุรกิจทีซีซี

–มองเห็นโอกาสอย่างมากมาย ทั้งธุรกิจไม่ใช่แอลกอฮอล์ กับธุรกิจเบียร์ระดับภูมิภาค เนื่องจาก Fraser and Neave มีกิจการร่วมทุน – Asia Pacific Breweries เจ้าของแบรนด์เบียร์ระดับภูมิภาคที่ยิ่งใหญ่กว่า หากเข้าครอบงำกิจการทั้ง Fraser and Neave และ Asia Pacific Breweries

–ในที่สุด เลือกเส้นทางธุรกิจไม่มีแอลกอฮอล์เป็นสำคัญ ไทยเบฟตัดสินใจสนับสนุนการขายหุ้นของ Fraser and Neave ใน Asia Pacific Breweries ไปให้ Heineken มองกันว่าเป็นการจัดการภาระอันหนักหน่วงอย่างเหมาะสม ทั้งมีความเชื่อมโยงถึงแกนการในประเทศไทยก่อนหน้านั้น ไม่ว่ากรณีเข้าครอบงำโออิชิและเสริมสุข

แท้จริงแล้ว เครือข่ายธุรกิจทีซีซี ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์ มิใช่มีแค่ไทยเบฟ และ Fraser and Neave เท่านั้น

หากมี Frasers Property Limited หรือ FPL (เปลี่ยนชื่อมาจาก Frasers Centrepoint Limited – FCL) ด้วย กิจการก่อตั้งในสิงคโปร์เมื่อปี 2531 ค่อยๆ ขยายกิจการกลายเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร เมื่อเข้ามาอยู่ในเครือข่าย Fraser and Neave หรือ F&N (ปี 2533) ได้ขยายธุรกิจออกสู่ต่างประเทศ

ในเวลาต่อมาเมื่อกลุ่มทีซีซีและไทยเบฟ ครอบงำ Fraser and Neave กลุ่มทีซีซีได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ Frasers Centrepoint Limited ไปด้วย แล้วเปลี่ยนชื่อมาเป็น Frasers Property Limited

“กลุ่มบริษัทเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ เป็นบริษัทข้ามชาติที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศสิงคโปร์ (SGX-ST) มีแนวทางการดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งการเป็นผู้พัฒนา เจ้าของ และผู้บริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์หลากหลายประเภทแบบครบวงจร โดยมีมูลค่าทรัพย์สินรวมประมาณ 38.1 พันล้านสิงคโปร์ดอลลาร์ (ณ วันที่ 30 กันยายน 2562) ข้อมูลทางการผ่านเครือข่ายธุรกิจในประเทศไทย (https://www.frasersproperty.co.th/) และ “ธุรกิจที่อยู่อาศัย ศูนย์การค้า อาคารพาณิชย์ และบิสซิเนสพาร์ก รวมไปถึงอสังหาริมทรัพย์ทางด้านโลจิสติกส์และอุตสาหกรรมทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย ยุโรป และจีน นอกจากนี้ เป็นเจ้าของ และ/หรือเป็นผู้บริหารจัดการเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์และโรงแรมมากกว่า 70 แห่งในทวีปเอเชีย ออสเตรเลีย ยุโรป แอฟริกา รวมไปถึงภูมิภาคตะวันออกกลาง”

กรณี Frasers Property Limited เป็นไปตามแผนการที่แตกต่าง กรณี Fraser and Neave ดำเนินไปเฉพาะแผนทางธุรกิจภูมิภาค ทั้งผนวกตลาดไทยเข้าไปด้วย ส่วนกรณีข้างต้นมีมิติมากขึ้นไปอีก สู่ความเชื่อมโยงกิจการในตลาดหุ้นสิงคโปร์เข้ากับตลาดหุ้นไทย

Frasers Property (Thailand) หรือ FPT ก่อตั้งขึ้นในฐานะกิจการในเครือ FPL แห่งสิงคโปร์ เปิดฉากแผนการสำคัญ เข้าซื้อบริษัทในตลาดหุ้นไทย (ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น หรือ TICO) แล้วเปลี่ยนชื่อมาเป็น FPT แผนการเป็นไป (ปี 2560) เพื่อเข้าตลาดหุ้นทางอ้อม (Backdoor listing) ตามมาด้วยการปรับโครงสร้างธุรกิจอย่างกระชั้น ต่อมาเข้าถือหุ้นใหญ่ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GOLD บริษัทในตลาดหุ้นไทยอีกแห่ง (ปี 2562)

 

ในช่วงคาบเกี่ยวกัน บางมิติคล้ายๆ กัน ว่าไปแล้ว กรณี Frasers Property Limited เป็นแผนการไม่ใหญ่โตเท่ากับอีกกรณีในเวียดนาม

ไทยเบฟทุ่มลงทุนครั้งใหญ่เข้าควบคุมกิจการผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม (ปลายปี 2560) สาระสำคัญคือสามารถเข้าถือหุ้นข้างมาก (53.59%) ใน Saigon Beer Alcohol Beverage Joint Stock Corporation (Sabeco) และยกทีมงานคนสำคัญจาก Fraser and Neave แห่งสิงคโปร์ เข้าไปบริหารอย่างเต็มตัว

กรณีข้างต้น ภาพกว้างๆ ทางธุรกิจ Sabeco เจ้าของเบียร์แบรนด์สำคัญ-Saigon Beer และ 333 Beer เป็นผู้นำอย่างแท้จริง ครองส่วนแบ่งตลาดเบียร์มากที่สุดในประเทศเวียดนาม ทั้งนี้ “เวียดนามเป็นตลาดเบียร์ที่ใหญ่ที่สุดในเออีซี” และ “ตลาดเบียร์เวียดนามใหญ่เป็นอันดับ 3 ในเอเชีย รองจากจีนและญี่ปุ่น”

ที่สำคัญอีกมิติหนึ่ง Sabeco เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสำคัญในเวียดนาม-Ho Chi Minh Stock Exchange หรือ HOSE ตั้งแต่ปี 2559

ความเคลื่อนไหวล่าสุด ไทยเบฟกับกิจการในเครือข่ายในนาม Beer Co กลุ่มธุรกิจเบียร์ในเครือข่ายโดยตรงและอ้อม โดยเฉพาะกิจการในไทยและเวียดนาม ซึ่งปรับโครงสร้างธุรกิจเสร็จสิ้นเมื่อปีที่แล้ว ได้ขอเข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์โดยกำหนดสัดส่วนของ IPO อยู่ที่ 20% ทั้งนี้ Bloomberg เครือข่ายข่าวตลาดทุนระดับโลก คาดว่ามูลค่าในการระดมทุนครั้งนี้จะสูงถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราวๆ 60,000 ล้านบาท อาจเป็นหุ้น IPO ที่ใหญ่ที่สุดในรอบทศวรรษของสิงคโปร์เลยทีเดียว

เป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจ ขณะนี้เครือข่ายกิจการทีซีซีในตลาดหุ้นไทยที่มีมากกว่า 10 บริษัท มูลค่าหุ้นลดลงอย่างน่าใจหาย บางกิจการเพิ่งเข้าตลาดหุ้นเมื่อปีก่อน ราคาก็ต่ำกว่า IPO ขณะที่กิจการในตลาดหุ้นสิงคโปร์ยังพอไปได้ หากพิจารณาในภาพรวม ในช่วงปีที่ผ่านมา ท่ามกลางวิกฤตการณ์ Great Lockdown จาก Covid-19 ทิศทางดัชนีตลาดหุ้นสิงคโปร์ดูดีกว่าตลาดหุ้นไทย

ส่วนบทบาท Beer Co ในมิติธุรกิจเบียร์แห่งภูมิภาค ถือว่ามีนัยยะสำคัญ ควรอรรถาธิบายอีกตอน