3 นิ้ว และหม้อไห-กะละมัง / ชกคาดเชือก วงค์ ตาวัน

ชกคาดเชือก

วงค์ ตาวัน

 

3 นิ้ว และหม้อไห-กะละมัง

 

สัญลักษณ์ 3 นิ้ว ที่ม็อบนักเรียน-นักศึกษาไทยนำมาใช้ในการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยให้เป็นประชาธิปไตยแท้จริง หยุดกระบวนการผูกขาดอำนาจของกลุ่มนายพล ทำการเมืองให้เสรีเปิดกว้าง เพื่อให้การพัฒนาประเทศชาติเจริญรุดหน้าไปกว่านี้ โดยเคลื่อนไหวกันต่อเนื่องตลอด 5 เดือนสุดท้ายของปี 2563 นั้น

มีการนำเสนอเป็นภาพข่าวโดยสื่อยักษ์ใหญ่ทั่วโลก ทำให้การเคลื่อนไหวต่อสู้ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในไทยเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง

ภาพม็อบชู 3 นิ้วก็เป็นที่เกรียวกราวไปทั่ว

แน่นอนว่าเป็นสัญลักษณ์สากล ที่สื่อให้คนทั่วโลกเข้าใจได้อย่างดี

ส่วนหนึ่งก็รู้จักกันผ่านภาพยนตร์ดัง เดอะฮังเกอร์เกมส์ ชู 3 นิ้วสู้กับผู้ปกครองทรราช อีกทั้งสัญลักษณ์ 3 นิ้ว หมายถึง เสรีภาพ, เสมอภาค, ภราดรภาพ ที่ปรากฏในประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศสอีกด้วย

ดังนั้น ไม่น่าแปลกใจ เมื่อประชาชนพม่าลุกฮือขึ้นมา เดินขบวนต่อต้านการรัฐประหารล่าสุด พร้อมกับเรียกร้องให้ปล่อยตัวออง ซาน ซูจีนั้น ม็อบพม่าก็ชู 3 นิ้วเป็นสัญลักษณ์เช่นกัน

ส่วนหนึ่งคงเพราะเป็นภาพติดตาจากการเคลื่อนไหวของม็อบคนรุ่นใหม่ในไทย อีกส่วนก็เป็นสัญลักษณ์สากล

ขณะที่ม็อบคนรุ่นใหม่ในไทยหยุดพักไปในช่วงปลายเดือนธันวาคม เนื่องจากเงื่อนไขการเรียนการสอบและเข้าเทศกาลปีใหม่ แถมมีการกลับมาระบาดรอบใหม่ของโควิดอีก

อยู่ระหว่างพักรบ รอจังหวะเวลากลับมาใหม่ รอแค่โควิดซา

จังหวะนั้นเองขณะที่ม็อบไทยพัก ก็เกิดเหตุกองทัพพม่ายึดอำนาจ ทำให้ม็อบพม่าลุกฮือ เดินชู 3 นิ้วกันพรึบ

ม็อบพม่ายังสร้างสัญลักษณ์ใหม่ไม่ใช่แค่ชู 3 นิ้ว แต่ยังนำเอาหม้อไหกะละมังออกมาเคาะกันตามบ้านเรือน และตามที่ชุมนุม

ส่งเสียงเรียกร้องปล่อยผู้นำหญิงจากที่คุมขัง และเป็นการต่อต้านอำนาจรัฐประหาร

ส่วนม็อบเด็กไทย ยังไม่ทันโควิดซา ก็ต้องออกมาเคลื่อนไหวกันแล้ว เพราะมีการใช้นิติสงครามเล่นงานแกนนำผู้ชุมนุมอย่างหนักหน่วง

จนกระทั่งเมื่อทนายอานนท์ นำภา นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ ต้องกลับเข้าเรือนจำอีกครั้ง

การชุมนุมครั้งใหม่ของม็อบราษฎรนักเรียน-นักศึกษาในปี 2564 จึงเริ่มขึ้นอีกครั้ง โดยนำเอาการตีเคาะหม้อมาใช้ในม็อบเด็กไทยด้วย!

 

กล่าวได้ว่า วิกฤตการเมืองในพม่าและในไทยมีหลายสิ่งหลายอย่างที่คล้ายคลึงกัน โดยที่เหมือนกันมากที่สุดคือ กองทัพพร้อมจะเข้าแทรกแซงทางการเมืองตลอดเวลา ทำให้ประชาธิปไตยลุ่มๆ ดอนๆ ส่งผลถึงเศรษฐกิจ การพัฒนาประเทศล้าหลังไปทั่วด้าน

ขณะที่ไทยมีรัฐประหารหนล่าสุดคือ 22 พฤษภาคม 2557

เพราะกลุ่มอำนาจเก่า กลุ่มขุนศึกขุนนาง ไม่อาจปล่อยให้กลุ่มนักการเมืองเติบโตมีอำนาจ ไม่อาจทนกับการที่มีประชาชนสนับสนุนนักการเมืองอย่างกว้างขวางต่อไปได้

ทักษิณชนะเลือกตั้งหลายหน กวาดเสียงในสภาพท่วมท้น สร้างฐานมวลชนสนับสนุนไปทั่วประเทศ ก็เลยต้องมีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ด้วยการขยายปมคอร์รัปชั่น ความร่ำรวยของทักษิณ ภายใต้นโยบายที่เอื้ออำนวยธุรกิจ

ต่อมาเมื่อยิ่งลักษณ์เข้ามาเล่นการเมืองก็ชนะถล่มทลาย ได้เป็นนายกฯ หญิงคนแรก ก็เลยต้องมีรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ด้วยข้ออ้างทุจริตโครงการจำนำข้าว

ทั้งที่หากทักษิณทุจริตเชิงนโยบาย หากยิ่งลักษณ์ปล่อยให้เกิดรูรั่วจำนำข้าว ก็ต้องแก้ปัญหาด้วยการฟ้องร้อง ด้วยกระบวนการกฎหมาย หรือให้ประชาชนลงโทษในการเลือกตั้งครั้งต่อไป!!

แต่กลับใช้อำนาจกองทัพเข้ามารัฐประหาร อ้างว่าเพื่อหยุดการทุจริต ซึ่งเป็นวิธีที่ผิดและที่สุดก็คือการโกงอำนาจ เป็นการเอารถถังมาชิงอำนาจทางการเมืองเท่านั้นเอง

ที่สำคัญกองทัพมีหน้าที่ปราบคอร์รัปชั่นด้วยหรือ

เช่นเดียวกับพม่า เมื่อพรรคออง ซาน ซูจี ชนะในการเลือกตั้งเหนือกว่าพรรคที่ทหารหนุนหลัง กวาดที่นั่งได้ถึง 80% ก็อ้างว่ามีการโกงเลือกตั้ง แล้วยึดอำนาจ

ถ้ามีโกงเลือกตั้งก็ต้อฟ้องร้อง เพื่อให้ตรวจสอบคะแนน หรือให้มีการเลือกตั้งใหม่

กองทัพพม่ามีหน้าที่แก้การโกงคะแนนเลือกตั้งด้วยหรือ ไม่ต่างจากกองทัพไทยมีหน้าที่แก้นักการเมืองโกงได้อย่างไร!?

นี่คือปัญหาของทั้งสองประเทศที่คล้ายกันคือ ปล่อยให้กองทัพเข้ามาเกี่ยวข้องการเมืองและพร้อมจะล้มกระดานการเมือง

เป็นปัญหาถ่วงความเจริญทั้งประชาธิปไตยและทั้งเศรษฐกิจความเจริญก้าวหน้าประเทศเหมือนๆ กัน

 

แต่ทันทีที่กองทัพพม่าเข้ายึดอำนาจ ปฏิกิริยาจากประชาชนส่วนใหญ่ของพม่าคือการออกมาเดินขบวนต่อต้านชู 3 นิ้ว เคาะหม้อไหกะละมัง ก่อนจะเผชิญกับการสลายม็อบด้วยรถฉีดน้ำความดันสูง แบบที่ทางการไทยกระทำกับม็อบเมื่อปลายปีที่แล้ว

ขณะที่คนพม่าในไทยก็ออกมาชุมนุมที่หน้าสถานทูตพม่าประจำไทยด้วยเช่นกัน โดยมีคนรุ่นใหม่ของไทยเข้าร่วมสนับสนุนด้วย

เพราะเป็นการเคลื่อนไหวในห้วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน มีเป้าหมายการต่อสู้คล้ายกัน มีบรรยากาศร่วมกัน

ถ้าเปรียบเทียบม็อบคนพม่าต้านเผด็จการในวันนี้ กับม็อบราษฎรต่อต้านอำนาจผูกขาดของกลุ่มนายพลไทยในรัฐบาลปัจจุบันและเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงการเมืองระดับโครงสร้าง เพื่อไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง

ก็นับจะเป็นการเคลื่อนไหวที่เคียงข้างไปด้วยกันได้

แต่ถ้าไปเทียบในแง่ที่ว่า ม็อบพม่าเคลื่อนไหวไม่เอารัฐประหาร แต่ม็อบในไทยเมื่อปี 2549 กลุ่มเสื้อเหลือง และม็อบเมื่อปี 2557 กลุ่มนกหวีด กลับเป็นม็อบที่เรียกหารัฐประหาร

จะเป็นประเด็นที่น่าประหลาด และน่าเศร้าสลดใจอย่างมาก

เกลียดชังนักการเมืองคอร์รัปชั่นแล้วไปเรียกให้ทหารออกมายึดอำนาจ ซึ่งเป็นการยึดเอาสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วยกันเองไปด้วย นี่จึงน่าประหลาดและน่าเศร้าที่สุด!

ถ้าเกลียดนักการเมืองขี้โกง ก็ต้องเคลื่อนไหวให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจและไปลงโทษนักการเมืองเหล่านั้น ด้วยอำนาจในมือประชาชนในวันเลือกตั้ง

แต่นี่เห็นนักการเมืองโกง แล้วเรียกให้ทหารมายึดอำนาจจากมือพวกเราไปเถิด

จากรัฐประหารในไทยเมื่อปี 2557 แล้วสืบต่ออำนาจมาถึงปัจจุบัน จึงกลายเป็นภาระให้คนรุ่นใหม่ต้องออกมาสู้เพื่อไปสู่การเปลี่ยนแปลง

การที่บ้านเรามีม็อบเรียกหาทหารถึง 2 หนนั้นเอง

จึงทำให้ต้องนึกถึงคำเปรียบเทียบทางการเมืองที่ว่า มีทาสที่ปล่อยไม่ไป

อีกทั้งกลายเป็นคำเสียดสีในการเคลื่อนไหวของม็อบพม่าในวันนี้ที่ว่า ถ้าไม่สู้ก็อยู่อย่างไทย!!