จีนกับรัฐประหารเมียนมา / บทความต่างประเทศ

(AP Photo)

บทความต่างประเทศ / อินโดจีน

 

จีนกับรัฐประหารเมียนมา

 

ในขณะที่นักวิเคราะห์หลายคนลงความเห็นว่า จีนอาจเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่ได้รับประโยชน์จากการยึดอำนาจของกองทัพเมียนมา ภายใต้การนำของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย

บางคนไปไกลถึงขนาดว่า จีนคือผู้ “ไฟเขียว” ให้กับการยึดอำนาจเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ฮัน เอิน ซือ ศาสตราจารย์ด้านการเมืองและบริหารรัฐกิจประจำมหาวิทยาลัยฮ่องกงกลับชี้ไปในทางตรงกันข้าม

ศาสตราจารย์ฮันบอกว่า ที่ผ่านมาทางการปักกิ่งมองกองทัพเมียนมาตลอดมาว่า นอกจากจะ “ไร้ศักยภาพ” แล้วยัง “ฉ้อฉล” อย่างยิ่งอีกด้วย

พฤติกรรมแบบ “ลึกๆ ลับๆ” และ “คาดเดาไม่ได้” ของกองทัพเมียนมา เคยสร้างความ “อึดอัด” ถึงขั้น “ไม่พึงพอใจ” จากทางการจีนมาแล้วหลายครั้งในอดีต

ตัวอย่างเช่น เมื่อครั้งเต็ง เส่ง ขึ้นครองอำนาจในเมียนมาเมื่อปี 2011 หลังการเลือกตั้งครั้งแรกสุดที่พรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) บอยคอตนั้น บรรดานายพลพม่าพากัน “หันหลัง” ให้กับจีนเอาดื้อๆ

ทั้งยังเคยสร้างความเสียหายให้กับผลประโยชน์และเศรษฐกิจจีนโดยตรง ด้วยการยกเลิกโครงการลงทุนของจีนในเมียนมาหลายโครงการ และข่มขู่จะเจรจาต่อรองเงื่อนไขการลงทุนของจีนทั้งหมดเสียใหม่ หากไม่ยินยอม

หันไปปรับความสัมพันธ์ และอ้าแขนต้อนรับสหรัฐอเมริกาอย่างเปิดเผย

 

โครงการที่ทำให้จีน “เจ๊กอั้ก” ในครั้งนั้นคือ โครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ “มยิตโสน” ขวางลำน้ำอิรวดีตอนต้นน้ำใกล้กับมยิตจินา เมืองเอกของรัฐคะฉิ่น

มูลค่าของโครงการร่วมๆ 3,600 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว

เจอเข้าขนาดนั้น ทำให้ช่วยไม่ได้ที่ทางการปักกิ่งจะมองกองทัพเมียนมาว่า “ไม่รู้คุณ, ตะกละ, ละโมบ และเป็นหุ้นส่วนธุรกิจที่แย่เอามากๆ”

ข้อสังเกตของศาสตราจารย์ฮันประการถัดมาก็คือ ทัศนะต่อกองทัพเมียนมาดังกล่าวนี้ส่งผลให้ 5 ปีที่ผ่านมา ที่เมียนมาอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลจากพรรคเอ็นแอลดี ที่มี “ออง ซาน ซูจี” เป็นผู้กุมทิศทางทุกอย่าง สัมพันธ์ระหว่างจีนกับเมียนมา “ดีขึ้น” มากกว่าที่เคยเป็น

ซูจีเดินทางเยือนปักกิ่งอย่างเป็นทางการ “บ่อยครั้ง” และเคยกล่าวไว้หลายหนว่า เมียนมาจำเป็นต้องเสริมสร้างความสัมพันธ์ฉันมิตรกับจีน เพื่อผลด้านพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศ

ความสัมพันธ์ในเชิงเศรษฐกิจระหว่างจีนกับเมียนมาดีขึ้นมหาศาลในยุคที่ว่านี้ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับในช่วงที่อยู่ภายใต้การปกครองของกองทัพ

พัฒนาการที่น่าสนใจอย่างระเบียงเศรษฐกิจจีนเมียนมา อันเป็นส่วนหนึ่งของความคิดริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเป็นตัวอย่างที่ดี

เพราะนี่คือโครงการที่เอื้อประโยชน์ให้กับจีนทั้งในทางเศรษฐกิจและการสร้างอิทธิพลเลยทีเดียว

 

ศาสตราจารย์ฮันเชื่อว่า การเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ปของเมียนมาก็สะท้อนข้อเท็จจริงเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนั้น ในยามนี้จีนไม่ได้สนใจเพียงแค่ทรัพยากรธรรมชาติของเมียนมาอีกต่อไป แต่ยังมองเพื่อนบ้านทางใต้ของตนว่าเป็น “ตลาด” ระบายสินค้าของจีนอีกด้วย โอกาสที่การค้า การลงทุนของจีนในเมียนมาจะผลิดอกออกผลได้ ย่อมขึ้นอยู่กับเสถียรภาพของรัฐบาลและการได้รับการยอมรับจากนานาชาติเป็นสำคัญ

หากเมียนมาตกอยู่ภายใต้การแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจจากนานาประเทศอีกครั้งหนึ่ง จีนย่อมสูญเสียโอกาสทั้งทางการค้า การลงทุนไปพร้อมๆ กันเหมือนกัน ไม่มีเหตุผลใดที่จะมองว่าจีนจะได้รับประโยชน์จากการยึดอำนาจหนนี้

ที่น่าคิดก็คือ หากการประเมินของศาสตราจารย์ชาวฮ่องกงรายนี้เป็นจริง

หนทางของกองทัพเมียนมาในอนาคตก็น่าวิตกยิ่งขึ้นกว่าเดิมมากทีเดียว

(ภาพ-AP)