ตั๊ดมะดอ สถาบันอัน ‘ทรงอิทธิพล’ ที่สุด ในเมียนมา

การรัฐประหารโค่นล้มอำนาจรัฐบาลพลเรือนในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นเรื่องที่ถูกจับตามอง เพราะเป็นการก้าวถอยหลังของประชาธิปไตยที่เพิ่งจะตั้งไข่ได้เพียง 5 ปี กลับไปสู่รัฐบาลเผด็จการทหารอีกครั้ง

แต่ในอีกแง่หนึ่ง การรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลที่นำโดยนางออง ซาน ซูจี ในตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ก็ถูกมองว่าไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไรหากพูดถึง “อำนาจ” ที่กองทัพเมียนมา หรือที่เรียกในภาษาถิ่นว่า “ตั๊ดมะดอ” มีมาอย่างยาวนาน

ตั๊ดมะดอ ภายใต้การนำของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหาร ก่อการรัฐประหารอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด โดยเข้าควบคุมตัวซูจี, ประธานาธิบดีอู วินต์ มินต์, สมาชิกพรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางซูจี และบรรดานักเคลื่อนไหว กลุ่ม “88 เจเนอเรชั่น” กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย

การรัฐประหารนับเป็นจุดสิ้นสุดของการได้ลิ้มลองประชาธิปไตย “บางส่วน” ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2011 ปีที่ตั๊ดมะดอที่ปกครองเมียนมามานานกว่า 50 ปี จัดให้มีการเลือกตั้งเปิดทางให้มีการปฏิรูปไปสู่ประชาธิปไตยมากขึ้น

แม้ประชาคมโลกโดยเฉพาะชาติตะวันตกจะเรียงหน้ากันออกมาแถลงประณามการรัฐประหารในครั้งนี้ ซึ่งก็เป็นที่คาดการณ์ได้ว่า ตั๊ดมะดอที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติมาโดยตลอดอยู่แล้วจะไม่สะทกสะท้านใดๆ

คำถามก็คือ อะไรที่ทำให้ตั๊ดมะดอยังคงมีอิทธิพลในระบบการเมืองของเมียนมามากมายและยาวนานได้ขนาดนี้?

 

คําตอบหนึ่งที่ใช้อธิบายได้ก็คือ เมียนมาเป็นประเทศที่ “กำเนิดขึ้น” จากการยึดครองของกองทัพ

เมียนมา หรือชื่อเดิมคือ “เบอร์มา” หรือ “พม่า” ในภาษาไทย ได้รับเอกราชจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ส่วนหนึ่งจากผลงานของนายพลออง ซาน พ่อแท้ๆ ของนางซูจี ด้วยการก่อตั้งกองทัพแห่งชาติพม่า จากการช่วยเหลือของญี่ปุ่นในช่วงศตวรรษที่ 40

แม้นายพลออง ซาน จะถูกลอบสังหารในปี 1947 แต่ตั๊ดมะดอยังคงได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนในฐานะผู้ปลดปล่อยเมียนมาจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษเรื่อยมา

แม้จะมีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในช่วงสั้นๆ ในทศวรรษที่ 60 แต่ในที่สุดนายพลเน วินก็ทำรัฐประหาร และเข้าปกครองประเทศเบ็ดเสร็จในปี 1962

หลังจากนั้น ตั๊ดมะดอก็ปกครองเมียนมาแบบ “ไร้การตรวจสอบถ่วงดุล” ด้วยการประกาศแบนพรรคการเมืองฝ่ายค้านทั้งหมด แปรรูปอุตสาหกรรมและธุรกิจหลักๆ ของประเทศเป็นของรัฐ และออกนโยบาย “วิถีพม่าสูงสังคมนิยม” นโยบายที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และส่งผลให้เมียนมาถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลกอย่างยาวนาน

การปกครองแบบเผด็จการ ในที่สุดก็ถูกต่อต้านจากประชาชน เกิดเป็นการประท้วงครั้งใหญ่นำโดยกลุ่มนักศึกษาในปี 1988 แต่ก็ต้องถูกปราบปรามอย่างรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตถึง 5,000 ราย

แม้จะปราบปรามการประท้วงลงได้ แต่คะแนนนิยมในกองทัพที่เสียไปทำให้กองทัพต้องจัดการเลือกตั้งขึ้นในปีเดียวกัน เป็นจุดกำเนิดของพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางออง ซาน ซูจี ที่ชนะเลือกตั้งไปอย่างถล่มทลาย

แต่รัฐบาลทหารเองก็ปฏิเสธที่จะยอมรับผลการเลือกตั้งและจับตัวซูจีไปกักบริเวณไว้ในบ้านพักยาวนานหลายสิบปี

ตั๊ดมะดอให้คำมั่นว่าจะจัดการเลือกตั้งใหม่และส่งมอบอำนาจให้รัฐบาลพลเรือน

แต่ที่สุดแล้วการเลือกตั้งก็ไม่เกิดขึ้นจนเวลาผ่านไปถึง 18 ปี

ตั๊ดมะดอปกครองประเทศต่อมาเกือบ 20 ปี ในที่สุดก็ได้ร่าง “รัฐธรรมนูญ” ขึ้นเองในปี 2008 และจัดให้มีการทำประชามติโดยไม่มีฝ่ายที่คัดค้านรัฐธรรมนูญเข้าร่วม ขณะที่การทำประชามติถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความชอบธรรมเมื่อถูกจัดขึ้น 2 วัน หลังจากพายุไซโคลนนากีสพัดถล่มทั่วประเทศ

แม้ “รัฐธรรมนูญ ” จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่ที่สุดแล้ว ตั๊ดมะดอก็ประกาศผ่านร่างและบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับนั้น โดยอ้างว่าได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างล้นหลาม

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่บังคับใช้มาถึงปัจจุบันยังคงไว้ซึ่งอำนาจของตั๊ดมะดออย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้ในสภาระดับชาติและระดับท้องถิ่นในสัดส่วน 25 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ตั๊ดมะดอมีอำนาจในการวีโต้มติแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ส.ส. และ ส.ว.ฝ่ายพลเรือนได้ทุกเมื่อ

ภายใต้รัฐธรรมนูญ ตั๊ดมะดอยังมีอำนาจควบคุมอุตสาหกรรมเหมืองแร่, น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ นั่นทำให้ตั๊ดมะดอมีอิสระทางการเงิน และสามารถเมินเฉยต่อแรงกดดันให้ปฏิรูปทั้งในและต่างประเทศได้

 

รายงานจากองค์การนิรโทษกรรมสากลเปิดเผยเมื่อ 2021 พบว่า เมียนมา อีโคโนมิก โฮลดิงส์ ลิมิเต็ด หรือเอ็มอีเอชแอล บริษัทที่ควบคุมโดยตั๊ดมะดอมีกำไรสูงถึง 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 540,000 ล้านบาท ระหว่างปี 1990-2010 ผ่านธุรกิจของกองทัพ

ซึ่งรายได้เหล่านี้ก็ไหลกลับไปเป็นงบประมาณของตั๊ดมะดอเองด้วย

แม้ตั๊ดมะดอจะสูญเสียคะแนนนิยมไปจากการปกครองแบบกดขี่ ละเมิดสิทธิมนุษยชน จับกุมคุมขังนักเคลื่อนไหว นักข่าว รวมถึงนักการเมืองที่ต่อต้านอำนาจ

แต่ตั๊ดมะดอยังคงได้รับเสียงชื่นชมจากชาวเมียนมาบางส่วนในฐานะ “ผู้พิทักษ์อธิปไตยของชาติ” จากภัยคุกคามทั้งในและนอกประเทศ

โดยเฉพาะกรณีการกวาดล้างกองทัพปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งอาระกัน หรือเออาร์เอสเอ กลุ่มติดอาวุธที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวโรฮิงญา กลุ่มซึ่งถูกกล่าวหาอยู่เบื้องหลังปฏิบัติการก่อการร้าย นำไปสู่ “ปฏิบัติการกวาดล้าง” ชาวโรฮิงญาครั้งใหญ่ ที่ประชาคมโลกเรียกการกวาดล้างดังกล่าวว่าเป็นการ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ชาวโรฮิงญา

อีกเหตุผลที่จะทำให้อิทธิพลของตั๊ดมะดอจะยังคงอยู่ต่อไปอย่างมั่นคง นั่นก็คือแรงสนับสนุนจากรัฐบาลจีน ที่มีมาตั้งแต่รัฐบาลนางออง ซาน ซูจี ที่ต้องพึ่งพาอิทธิพลของจีนในเวทีโลก

ขณะที่ท่าทีของจีน ที่ไม่ได้ประณามการรัฐประหารในเมียนมาในครั้งนี้ก็เป็นสัญญาณว่า จีนอาจสานสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลทหารต่อไปหลังจากนี้

และนั่นก็คือที่มาที่ไปของอิทธิพลที่มีอย่างมากมายของตั๊ดมะดอ หรือกองทัพเมียนมา