คำ ผกา : หัวที่ไม่มีใครเห็น

คำ ผกา

ไม่รู้ว่ามีใครสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของแท็กซี่อย่างมีนัยสำคัญอย่างที่ฉันเห็นหรือเปล่า โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว เราเริ่มเห็นว่าแท็กซี่เกินครึ่งแขวนเจ้าสมาร์ตโฟนไว้ด้านขวามือคนขับ และใช้ระบบ GPS ในการขับรถมากขึ้น

อาจจะเป็น Grab แท็กซี่อย่างที่ฉันเคยเขียนว่ามันบังคับให้แท็กซี่ต้องหันมาพึ่งพิงเทคโนโลยีและปล่อยให้ชีวิตการขับแท็กซี่ไปตามยถากรรม ขับรถออกจากบ้านมาก็แล้วแต่โชคชะตาและผู้โดยสารจะนำทางไป วันไหนจะได้เงินมาก เงินน้อยก็อาศัยไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วเสี่ยงดวงไปวันๆ ไม่ต้องรู้แผนที่ ไม่ต้องรู้เส้นทาง ปล่อยให้ผู้โดยสารบอกทางไป

แต่แล้วการปรากฏตัวของเจ้าสมาร์ตโฟน และ “ภาคบังคับ” ของโมเดลธุรกิจที่ทำให้แท็กซี่ที่อยากหารายได้เพิ่มโดยไม่ต้องหวังพึ่งโชคชะตาสถานเดียวต้องหันแขวนสมาร์ตโฟนและดู GPS แทนการแขวนพวงมาลัยและพระเครื่อง

จากการสังเกตของฉัน พวกเขาสามารถ “รับมือ” กับอุปกรณ์ไฮเทค และภาษาแผนที่ดิจิตอลได้อย่างไม่ขัดเขิน ดูกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จนฉันไม่เชื่ออีกแล้วที่เขาบอกว่า ชนชั้นแรงงานเหล่านี้ไร้การศึกษา

ใช่ ดูพวกเขาจากภายนอก อาจจะเป็นคนต่างจังหวัดที่คนกรุงดูถูก แต่พวกเขาไม่โง่แน่ๆ แม้จะเรียนมาน้อย และให้ตายเถอะ ฉันเห็นว่า พวกเขาทุกคนที่สามารถใช้กูเกิลแม็ป และ GPS อีกทั้งอีกหลายแอพพลิเคชั่นที่ช่วยให้อาชีพของเขาทำเงินได้มากขึ้น สบายมากขึ้น

ล้วนแต่เป็นคนที่เท่ชะมัด

 

เรื่องนี้ทำให้นึกถึงนโยบาย “ลงทะเบียนคนจนเพื่อรับสวัสดิการรัฐ” ที่มีเงื่อนไขว่าอายุ 18 ปีขึ้นไป ไม่มีงานทำหรือมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี

ภาพแท็กซี่หรือคนขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างใช้อุปกรณ์ไฮเทคทันสมัยในการทำมาหากิน ทำให้ฉันคิดว่าเราต้องทบทวนความหมายของคำว่า “คนจน”

ในสายตาของรัฐที่ให้คนมาลงทะเบียนคนจน มองความหมายของความจนว่าหมายถึง “ปริมาณของเม็ดเงิน” ที่แต่ละคนมี ดังนั้น ดูว่าใครจนจึงง่ายมาก คือเข้าไปดูว่าเขามีรายได้วันละเท่าไหร่ เดือนละเท่าไหร่

และวิธีช่วยคนจนก็ง่ายมากคือ เอา “ปริมาณเงิน” ไปเติมให้ในนามของ “สวัสดิการรัฐ”

เช่น ให้เงินแก่เด็กแรกเกิดที่แม่ยากจนเดือนละ 400 บาท ให้นั่งรถเมล์ฟรี ให้นั่งรถไฟฟรี เรียนฟรีก็เลือกให้เฉพาะ “คนจน” ตามเกณฑ์วัดปริมาณเม็ดเงิน

ส่วนจะเติมเงินในกระเป๋าของเขาเท่าไหร่ก็ดูว่ารัฐมีเงินในกระเป๋าของรัฐเท่าไหร่ สามารถ “เจียด” ให้ได้เท่าไหร่

สิ่งเหล่านี่รัฐเรียกว่า “การช่วยเหลือคนจน” เป็นการคิดที่เรียบง่ายพอๆ กับวิธีคิดเรื่องการแจกผ้าห่มให้ผู้ประสบภัยหนาว คือ หนาวหรือ เอาผ้าไปห่ม, ส่วนผ้าห่มจะหนาหรือบางก็ขึ้นอยู่กับผู้บริจาคจะเจียดเงินมาได้เท่าไหร่หลังจากที่เอาไปในเรื่องอื่นๆ ที่ “สำคัญ” กว่า

แต่ในการคิดที่ซับซ้อนขึ้น นิยามของความจนไม่ใช่ปริมาณของเงินที่มีในกระเป๋า ณ ขณะหนึ่ง แต่หมายถึง “ความยากจนในโอกาส” และหมายถึง “การเป็นผู้ที่ไม่ถูกนับ, ไม่ถูกมองเห็น”

หรือแถวบ้านฉันเขาเรียกว่า “ไม่มีใครเห็นหัว” – คนที่ไม่มีใครเห็นหัวนี่แหละคือ “คนจน” ที่แท้จริง

 

ใครก็ตามที่มองเห็นความจนในนิยามนี้ เมื่อเขาพูดถึงการแก้ไขปัญหาความยากจน เขาถึงต้องเริ่มต้นที่ “ทำอย่างไรจะให้คนที่ไม่ถูกนับได้ถูกนับ”, “ทำอย่างไรจะทำให้คนที่ไม่มีใครเห็นหัวได้มีหัวที่คนอื่นๆ มองเห็น”

เมื่อคิดเช่นนี้ พวกเขาจึงไม่คิดเรื่องจับคนมีเงินน้อยมาลงทะเบียนแล้วเติมเงินให้ (แหม่ คนนะไม่ใช่ทอระสับแบบเติมเงิน) แต่คิดเรื่องทำให้หัวคนโผล่ออกมา เช่น แทนที่จะคัดคนจนมารับเงินค่ารักษาพยาบาลเป็นรายๆ ไป ก็ต้องคิดเรื่องระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า

สิ่งที่ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชนไม่ใช่การหยอดเงินตรงๆ ลงไปในกระเป๋าสตางค์พวกเขา แต่ทำให้ประชาชนทุกคนเห็นว่า สุขภาพของพวกเขาทุกคน-ไม่มีข้อยกเว้น-เป็นสิ่งที่รัฐบาลดูแล

ถามต่อว่าต้องเป็นหนี้บุญคุณรัฐบาลไหม? คำตอบคือไม่ เพราะรัฐบาลบริหารภาษีที่มาจากการประชาชน

เมื่อทุกคนมีความมั่นคงทางสุขภาพ โดยไม่มีข้อยกเว้น สิ่งที่ตามมาคือ “หัว” ของคนทุกผู้ทุกนามที่ผลุบขึ้นมาอย่างเสมอกัน เว้นคนหัวสูงมากอยากได้การรักษาพยาบาลแบบพรีเมียมขั้นวูปเปอร์เฟิร์สคลาสอันนั้นก็ตัวใครตัวมัน

ความมั่นคงนี้ไม่ใช่แค่เม็ดเงินในกระเป๋า เพราะคนเราไม่ได้ป่วยซ้ำป่วยซากทุกๆ วัน แต่มันทำให้ประชาชนทุกคนมั่นใจว่าหากเขาป่วย เขาจะเดินไปที่โรงพยาบาลอย่างมั่นใจมีศักดิ์ศรี

ศักดิ์ศรีไม่ใช่เพราะได้รักษาฟรี แต่เป็นศักดิ์ศรีแบบ “เฮ้ยยยย นี่ประชาชนที่รัฐดูแลอย่างดีนะเว้ยยย”

ผลทางเม็ดเงินคือ หากพวกเขารายได้น้อย เมื่อเจ็บป่วยพวกเขาไม่ต้องชักเนื้อ ไม่ต้องขูดเนื้อที่มีอยู่น้อยนิดออกมา เมื่อไม่ต้องขูดเนื้อบางๆ ออกจากกระดูก โอกาสที่เขาจะสะสมเนื้อเพิ่มก็มีมากขึ้น

ตรงกันข้าม หากไม่มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า คนที่กำลังจะลืมตาอ้าปาก เจ็บป่วยหนักๆ สักครั้ง – อ้าว เชี่ย มึงกลับไปเป็นหนังหุ้มกระดูกอีกละ แล้วเมื่อไหร่เราจะได้พ่วงพีกัน?


การศึกษาก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้คนถูกเห็น “หัว” เราไม่ต้องพูดว่าใครจนใครรวย แต่รัฐที่มองนิยาม “ความจน” แบบซับซ้อนย่อมเห็นว่า โอกาสทางการศึกษาที่ทั่วถึงเท่าเทียม คือเครื่องมือการลดปัญหาความยากจน และคนไทยก็ชอบพูดกันจังว่า เราไม่ควรให้ปลา แต่ควรให้เบ็ด การศึกษาก็เหมือนเบ็ด มันเป็นเครื่องมือที่ให้เขาไปตกปลาหากินเองได้ไม่มีที่สิ้นสุด

นโยบายเรียนฟรีอย่างไม่มีเงื่อนไข จึงได้ผลทั้งการขยายโอกาสเลื่อนฐานะทางสังคม เศรษฐกิจ และไม่ต้องทำลายศักดิ์ศรีของพลเมือง (อย่างน้อยในเชิงสัญลักษณ์) ว่า ต้อง “ยากจนและลงทะเบียน” จึงได้โควต้าความจนเรียนฟรี-การจัดการศึกษาเป็นหน้าที่ของรัฐและเป็นสิทธิของพลเมือง การบอกว่าเป็นสิทธิ อย่างน้อยในทางวาทกรรม ก็ทำให้คนได้ถูก “นับ” หรือเห็น “หัว” ก่อนที่ความจนทางกายภาพเขาจะอันตรธานไปเมื่อเขาเรียนจบจนยกระดับชีวิต แต่ ณ วินาทีที่เขาเป็นพลเมืองที่ถูก “นับ” – เขาก็ไม่ใช่คนจนอีกต่อไป

นโยบายจำนำข้าวที่เขาว่าประชานิยม สำหรับฉันก็เป็นหนึ่งในนโยบายที่ทำให้ “หัว” ของพลเมืองค่อยๆ โผล่ขึ้นมา

คุณไม่ต้องเป็นชาวนา “ยากจน” แต่ขอให้คุณเป็นชาวนาที่มี “ผลผลิต” จะจนหรือไม่จน คุณก็ได้รับการอุดหนุนจากรัฐเป็น “ความมั่นคงทางอาชีพ” ในฐานะที่คุณปลูก “อาหาร” ที่คนครึ่งโลกกินเป็นอาหารหลัก และรัฐก็ไปบริหารจัดการค้าขายข้าวนั้นตามศักยภาพของตนเอง

หากคอร์รัปชั่นก็ถูกตรวจสอบ หากขาดทุน ก็เป็นภาษีของประชาชน หากประชาชนไม่พอใจ คราวหน้าก็โหวต ไม่เอาแล้วโว้ย นโยบายนี้ พรรคเหี้ยที่ไหน เอานโยบายนี้มาหาเสียงกูไม่เลือก-ก็จบ

ส่วนชาวนาได้อุดหนุนมากจนมีเงินเลี้ยงลูกได้มีคุณภาพจนลูกเลิกเป็นชาวนาไปประกอบอาชีพอื่น ก็ไม่แปลก ใครจะทำนาต่อเพราะเห็นว่ารายได้ดีเพราะมีรัฐอุดหนุนก็ทำนาต่อ ไม่แปลกอีกเช่นกัน

ไม่เห็นต้องมาโวยว่า มันจะทำให้ชาวนาไม่เลิกทำนา หรือทำนามากขึ้นเพราะรัฐคอยแต่จะอุดหนุน-อ้าว ทำนาแล้วไม่ดีตรงไหน

แต่ถ้าเห็นว่า เฮ้ย ภาษีของคนไม่ใช่ชาวนาอย่างกูมันป่นปี้นะเฟ้ย ก็รบกวนย้อนขึ้นไปอ่านย่อหน้าข้างบนใหม่ หรือจะเถียงว่า แต่ตรูเป็นคนส่วนน้อยนี่นา ชาวนาแม่งมีเยอะ โหวตทีไรก็ชนะ

อันนี้ก็ต้องทำใจ เพราะประชาธิปไตยเขายึดเสียงข้างมากเป็นหลักนะ

วิธีคิดแบบแก้ปัญหาความจนด้วยการเห็น “หัว” คนเป็นอันดับแรกยังมีมากมาย จาระไนไม่หวาดไม่ไหว ไม่ว่าจะเป็นขนส่งมวลชน การเคหะมวลชน เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ สถานบริการความรู้สาธารณะราคาถูกหรือฟรี ฯลฯ แต่ไม่ใช่การหยอดเศษเงินไปสู่กระเป๋าคนมีสตางค์น้อยแน่ๆ

สมาร์ตโฟนของแท็กซี่เป็นประจักษ์พยานว่า เทคโนโลยีและทักษะทางไอทีคือสิ่งที่ยกระดับคุณภาพชีวิต พวกเขาอาจจะยังจนเม็ดเงิน แต่พวกเขาไม่จนโอกาส

การแก้ปัญหาความจนที่มองนิยามความจนว่าหมายถึงการไม่ถูกนับหรือไม่ถูกเห็นหัว ส่งผลให้การวางนโยบายไม่ได้เป็นไปเพื่อแก้ปัญหาความจน แต่เพื่อ “ยกระดับคุณภาพชีวิตพลเมือง”

การขึ้นทะเบียนคนจนนั้นนอกจากจะไม่แก้ปัญหาความจนแล้วยังตอกย้ำการเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ถูกนับในฐานะ “พลเมือง”
แต่ยิ่งตอกย้ำความหมายของ “สิ่งบกพร่องทางสังคม” ที่ต้องเยียวยา

ยิ่งตอกย้ำการไม่ถูกนับ และยิ่งตอกย้ำการไม่เห็นหัว หนักกว่านั้นมันคือการ “กดหัว” ให้สิ้นศักดิ์ศรี