‘วัคซีนโควิด-19’ ชุลมุนไม่เลิก บิ๊กตู่-อนุทิน ขาสั่นบริหารผิดพลาด เอกชน-ท้องถิ่นหมดสิทธิ์ซื้อตรง / ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

‘วัคซีนโควิด-19’ ชุลมุนไม่เลิก

บิ๊กตู่-อนุทิน ขาสั่นบริหารผิดพลาด

เอกชน-ท้องถิ่นหมดสิทธิ์ซื้อตรง

 

การจัดซื้อ-จัดหาวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังชุลมุนไม่เลิก บานปลายกลายมาเป็น “วัคซีนการเมือง”

โดยถูกพรรคฝ่ายค้านหยิบยก-ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ กล่าวหาบริหารงานล้มเหลว-ผิดพลาด ที่มาพร้อมกับ “ข้อกังขา” เอื้อให้กับบริษัทเอกชนบางราย-กลุ่มทุนใหญ่ แม้กระทั่งเลือกบริษัทผลิตวัคซีนจากความสัมพันธ์ทางการทูต

ยิ่งเมื่อไทม์ไลน์-ไทม์มิ่งในการจัดทำแผนการจัดซื้อ-จัดหา-แจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 เลื่อนเวลาออกไป รวมทั้งความสับสนเรื่องการขึ้นทะเบียน ส่งผลให้โรงพยาบาลเอกชน องค์กรธุรกิจท่องเที่ยว-องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีงบประมาณสามารถจัดซื้อได้ด้วยตัวเอง ก็ไม่สามารถจัดซื้อทางตรงได้

สะเทือนไปถึงโครงสร้างเศรษฐกิจไทย-อุตสาหกรรมท่องเที่ยวโงหัวไม่ขึ้น

 

ตลอด 6-7 เดือนที่ผ่านมา หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการอย่างน้อย 2 ช่องทางในการจัดหาวัคซีน รวมทั้งสิ้น 63 ล้านโดส

ช่องทางที่ 1 การจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 จากบริษัทวัคซีนชั้นนำของโลกทั้งจากซีกตะวันตก-ตะวันออก 2 บริษัท คือ บริษัทอังกฤษ-สัญชาติสวีเดน AstraZeneca จำนวน 61 ล้านโดส แบ่งออกเป็น ล็อตแรก 26 ล้านโดส และล็อตสอง 35 ล้านโดส

และบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac Biotech) ของประเทศจีน จำนวน 2 ล้านโดส และขณะนี้ยังมีบริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน อยู่ระหว่างรอขึ้นทะเบียนจากสำนักงานอาหารและยา (อย.)

ช่องทางที่ 2 การถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัท AstraZeneca ให้กับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ของไทย

โดยมี “ไทม์ไลน์” การส่งมอบวัคซีนจำนวน 2 ล้านโดส จากบริษัท Sinovac แบ่งออกเป็น เดือนกุมภาพันธ์ จำนวน 2 แสนโดส เดือนมีนาคม 8 แสนโดส และเดือนเมษายน 1 ล้านโดส

ขณะที่การส่งมอบวัคซีนจำนวน 26+35 ล้านโดส จากบริษัท AstraZeneca จะทยอยฉีดตั้งแต่เดือนมิถุนายน เป็นต้นไป

โดยวัคซีนโควิด-19 จำนวน 63 ล้านโดส มีเป้าหมายการฉีดครอบคลุมร้อยละ 50 ของจำนวนประชากรทั้งหมด หรือจำนวน 31.5 ล้านคน ภายในปี 2564

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 ที่มีอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้เห็นชอบแผนกลยุทธ์การบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด-19 เป็น 2 ระยะ แบ่งออกเป็น

ระยะแรก ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ 5 กลุ่ม ได้แก่

1. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน ประชาชนที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็งที่อยู่ในระหว่างเคมีบำบัด รังสีบำบัด ภูมิคุ้มกันบำบัด โรคเบาหวาน โรคอ้วน น้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือ BMI มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร

2. ประชาชนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป

3. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย

4. ประชาชนทั่วไป

และ 5. แรงงานในพื้นที่ระบาดของโควิด-19

ระยะที่ 2 เมื่อวัคซีนโควิด-19 มากขึ้น-เพียงพอ เพื่อรักษาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ สร้างภูมิคุ้มกันในระดับประชากรและฟื้นฟูประเทศให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ฉีดให้กับ 7 กลุ่ม ได้แก่

1. ประชาชนทั่วไป

2. แรงงานในภาคอุตสาหกรรม

3. ผู้ประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยว เช่น พนักงานโรงแรม สถานบันเทิง มัคคุเทศก์

4. ผู้เดินทางระหว่างประเทศ เช่น นักบิน/ ลูกเรือ นักธุรกิจระหว่างประเทศ

5. นักการทูต

6. เจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ

และ 7. กลุ่มเป้าหมายระยะที่ 1 ในจังหวัดที่เหลือ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่นๆ

นอกจากนี้ มติของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ระบุถึงแผนการกระจายวัคซีนโควิด-19 แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ระยะแรก เดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2564 จำนวน 2 ล้านโดส ฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายในจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวดคือจังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดที่ยังพบผู้ป่วย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ตราด และตาก

ระยะที่ 2 เดือนมิถุนายน-ธันวาคม 2564 จำนวน 61 ล้านโดส โดยมีโรงพยาบาลรัฐและเอกชนให้บริการกว่า 1,000 แห่ง วางแผนฉีดวัคซีนเดือนละ 10 ล้านโดส เพื่อฉีดวัคซีนให้ครบทั้ง 63 ล้านโดส ภายในปี 2564

แม้ว่าแผนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 สำหรับประเทศไทย โดยการ “จองล่วงหน้า” 26+35 ล้านโดส จากบริษัท AstraZeneca โดยจำนวน 26 ล้านโดส ได้ทยอยอนุมัติงบประมาณไป “บางส่วน”

ทว่าในส่วน 35 ล้านโดส ยังคลุมเครือ-ไม่มีแผนความชัดเจน

 

ย้อนไปเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับประชาชนไทยโดยการจองล่วงหน้า (AstraZeneca) และการจัดซื้อวัคซีนกับบริษัท AstraZeneca Thailand จำกัด จำนวน 26 ล้านโดส ในวงเงิน 6,049.72 ล้านบาท แบ่งออกเป็น

1. การจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้าผ่านความร่วมมือแบบทวิภาคีกับบริษัท AstraZeneca วงเงิน 2,379.43 ล้านบาท

2. การจัดซื้อวัคซีน วงเงิน 1,586.29 ล้านบาท

3. การบริหารจัดการวัคซีน วงเงิน 1,189.84 ล้านบาท

และ 4. การสนับสนุนการดำเนินงานในพื้นที่ วงเงิน 894.16 ล้านบาท

ต่อมามติ ครม.เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 จัดสรรงบประมาณเพิ่ม จาก 6,049.72 ล้านบาท เป็น 6,216.25 ล้านบาท เพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอสำหรับค่า “ภาษีมูลค่าเพิ่ม”

จากนั้นกรมควบคุมโรคดำเนินการจัดซื้อวัคซีนจากบริษัท AstraZeneca โดยการจองล่วงหน้า “ล็อตแรก” จำนวน 50,000 โดส คาดว่าจะส่งมอบให้ไทยภายในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ภายใต้กรอบวงเงิน 2,741.336 ล้านบาท ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564

ขณะที่การจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 จำนวน 2 ล้านโดส จากบริษัท Sinovac ซึ่งมติ ครม.เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 มีมติเห็นชอบจัดหาวัคซีนระยะเร่งด่วนจากบริษัท Sinovac จำนวน 2 ล้านโดส กรอบวงเงิน 1,228 ล้านบาท

นอกจากนั้น ยังอนุมัติจัดซื้อวัคซีนจากบริษัท AstraZeneca เพิ่มอีก 35 ล้านโดส โดยไม่มีรายละเอียดเรื่องจำนวนวัคซีนที่จะส่งมอบ-งบประมาณที่ต้องเบิกจ่าย ซึ่งผู้เกี่ยวข้องต่างให้คำตอบว่า “เป็นความลับอยู่ระหว่างการเจรจา”

 

ท่ามกลางความอลหม่านของการบริหารจัดการวัคซีนในประเทศไทย

ล่าสุดองค์การอนามัยโลก (WHO) ภายใต้โครงการเพื่อการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ระดับโลก หรือโคแวกซ์ (Covid-19 Vaccines Global Access Facility : Covax) เผยแพร่รายชื่อประเทศกว่า 140 ประเทศที่จะได้รับวัคซีน

ทว่าประเทศไทยกลับ “ตกขบวน” ไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อได้รับการจัดหา-แจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 “ตอกย้ำ” การบริหารงานล้มเหลว-ตัดสินใจเชิงนโยบายที่ผิดพลาด

ประเทศไทยจึงเป็นประเทศเดียวที่ไม่อยู่ใน Covax ซึ่งมีแผนแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ให้กับประเทศอาเซียน 9 ประเทศ โดยคาดว่าจะได้รับการจัดสรรวัคซีนให้กับ 9 ประเทศอาเซียนหุ้นส่วน-พันธมิตรภายในเดือนมิถุนายน 2564

โดยแบ่งเป็น ประเทศที่สั่งซื้อวัคซีน (Self-financing participant : SFP) จำนวน 3 ประเทศ ได้แก่ บรูไน 100,800 โดส มาเลเซีย 1,624,800 โดส และสิงคโปร์ 288,000 โดส

และประเทศที่ทำสัญญาจองล่วงหน้า (Advance Market Commitment : AMC) จำนวน 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา 1,296,000 โดส อินโดนีเซีย 13,708,800 โดส ลาว 564,000 โดส เมียนมา 4,224,000 โดส ฟิลิปปินส์ 5,617,800 โดส และเวียดนาม 4,886,400 โดส

“เพราะไทยเป็นประเทศรายได้ปานกลาง ไม่ยากจน จึงไม่เข้าเงื่อนได้รับวัคซีนฟรี ไม่มีอำนาจต่อรอง เลือกชนิดวัคซีนไม่ได้ เสี่ยงที่จะได้วัคซีนช้า และราคาอาจจะสูง และต้องนำเงินไปลงขันเพื่อจัดหาวัคซีนด้วย” นั่นคือคำตอบของการ “ตกขบวนโคแวกซ์”

“การทำความตกลงซื้อวัคซีนโควิด-19 จากผู้ผลิตโดยตรง มีความยืดหยุ่นมากกว่า เราสามารถกำหนดจำนวนวัคซีนที่จะซื้อได้ สามารถต่อรองราคา หากซื้อเป็นจำนวนมาก ราคาก็ถูกลง และยังสามารถต่อรองเงื่อนไข ขอบเขตความรับผิดชอบได้ตามสมควร” นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ออกหนังสือชี้แจง

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ “วัคซีน” คือโอกาสในวิกฤต เป็นช่องทางที่จะพาประเทศพ้นออกจากกับดักเศรษฐกิจและการเมือง แต่คำชี้แจงของรัฐบาลยังคงสวนทางและสับสน

จุดโจมตีจึงแพร่ระบาดเข้าสู่ใจกลางทำเนียบรัฐบาล และต้องจับตาว่าวิกฤตวัคซีนของประเทศไทยจะยังคงชุลมุนฝุ่นตลบต่อไปอีกนานแค่ไหน ส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือของรัฐบาลมากเพียงใด