อุทยานเรียนรู้ “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” จังหวัดระยอง

นักเรียนในประเทศนี้ทุกคนที่ได้เรียนวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทยตั้งแต่เล็กๆ ก็ต้องพอจำกันได้บ้างว่า “กรุงศรีอยุธยา” เมืองหลวงเก่าของเราได้ทำศึกสงครามรบพุ่งกันมากับประเทศเพื่อนบ้าน และมีอันต้องพ่ายแพ้เรียกว่า “กรุงแตก” ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก ได้รับการกอบกู้เอกราชคืนมาในสมัย “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช”

ส่วนครั้งที่ 2 “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ทำการรบพุ่งขับไล่ศัตรูจนพ่ายแพ้กลับไป แต่ไม่สามารถบูรณะซ่อมแซมกรุงเก่าให้คืนสู่สภาพเหลืองอร่ามเรืองรองได้ดังเดิม จึงเกิด “กรุงธนบุรี” ขึ้น ติดตามมาด้วย “กรุงรัตนโกสินทร์” หรือกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน

ถึงยังไงก็คงไม่มีใครสามารถล่วงรู้ชนิดเก็บรายละเอียดในช่วงกรุงศรีอยุธยาแตกทั้ง 2 ครั้งได้ทุกเม็ด

แม้นักประวัติศาสตร์ที่ค้นคว้ารวบรวมปะติดปะต่อหาหลักฐานมาอ้างอิงเพื่อมานำเสนอ ซึ่งในที่สุดก็มีการคลาดเคลื่อนไปบ้าง ซึ่งก็ไม่มีใครรู้แน่ชัดอีกอยู่ดี

จากครูที่สอนสั่งตั้งแต่ยังเด็กๆ พอจะเกิดจินตนาการได้ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ท่านทรงพระปรีชาสามารถในการรบทัพจับศึก ท่านมองเห็นสภาพกรุงเก่าก่อนแตกว่าถึงยังไงก็ไม่รอด จึงได้รวบรวมสมัครพรรคพวกไพร่พลแหกด่านออกมาเสียเพื่อที่จะกลับไปตีเอาคืนเมื่อมีกำลังไพร่พลพอเพียง

ช่วงนี้แหละที่ท่านเดินทางไปมากมายหลายหัวเมืองเพื่อรวบรวมผู้คนมาเป็นทหาร เปิดดูเส้นทางตามแผนที่ประเทศไทย ไปหาหนังสือที่มีการค้นคว้ามาตีพิมพ์กันเยอะแยะในนามของหนังสือประวัติศาสตร์มาอ่านดูก็จะได้ทราบ

รู้มาตั้งแต่สมัยยังเด็กๆ ยังไม่ได้เข้าเรียนชั้นมัธยมเสียด้วยซ้ำจากคำบอกเล่าของผู้ใหญ่ ว่าท่านเคยยกพลไปตั้งค่ายรวมพลกันอยู่ที่จังหวัดระยอง เพื่อสะสมเสบียงอาหาร อาวุธก่อนที่จะเข้าตีเมืองจันท์

จากเอกสารของจังหวัดระยอง ซึ่งกำลังริเริ่มเดินงานเพื่อจัดทำ “อุทยานเรียนรู้ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า

“ทรงนำทหารและกำลังพล (ตีฝ่าวงล้อมของทหารพม่าจากกรุงศรีอยุธยามาทางทิศตะวันออก) ถึงเมืองระยองเมื่อประมาณเดือนยี่ ปีจอ พ.ศ.2309 (ตรงกับวันที่ 26 มกราคม 2309) ได้ตั้งค่ายอยู่ที่วัดลุ่ม เพื่อสะสมเสบียงอาหาร กำลังพล และอาวุธ โดยประทับแรมและผูกช้างที่บริเวณโคนต้นสะตือ ภายในวัดลุ่ม รวมเวลาประทับอยู่ที่เมืองระยองนานถึง 127 วัน ก่อนจะเสด็จเคลื่อนทัพไปตีเมืองจันท์ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2310”

สถานที่ทางประวัติศาสตร์ของชาติไทยซึ่งเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินท่านได้เคยเสด็จผ่านไป หรือประทับนั้น ในทุกๆ หัวเมืองต่างก็ชื่นชมนิยมอย่างยิ่ง

และแน่นอนที่สุดว่าจะต้องมีการสร้างสิ่งที่เรียกว่า “อนุสรณ์สถาน อนุสาวรีย์” และ ฯลฯ เพื่อเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ เป็นการบอกเล่าเรื่องราวแก่ลูกหลานในยุคต่อๆ ไปดังที่ปรากฏในหลายเมือง หลายจังหวัด

จังหวัดระยอง ลูกหลานเหลนของจังหวัดนี้ภาคภูมิใจที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งยังมิได้สถาปนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ขณะนั้นดูเหมือนจะเป็นเพียงแค่พระยาตาก มานอนค้างอ้างแรม หรือเรียกว่าเดินทางมาเหยียบยังเมืองนี้

ซึ่ง “วัดลุ่มมหาชัยชุมพล” ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่มีอายุใกล้ 300 ปี ก็ได้ก่อตั้ง “ศาลพระเจ้าตากสิน” ใกล้ๆ กับต้นสะตือที่ท่านผูกช้างนั่นแหละเมื่อปี พ.ศ.2507 และก็พัฒนากันต่อเนื่องมา โดยพระโบราณพิทักษ์ มาทำการบูรณะเมื่อปี พ.ศ.2532 ใช้งบประมาณราว 2 ล้านบาท หลังจากที่วัดลุ่มรวมกับวัดเนินซึ่งมีเขตติดต่อกัน ก็ใช้ชื่อ “วัดลุ่ม (พระอารามหลวง)”

ศาลพระเจ้าตากเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวเมืองระยองมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ก่อนที่จะขยายแวดวงไปยังจังหวัดใกล้เคียงตลอดจนสถานที่ไกลออกไป

มีการจัดสร้างรูปเคารพ “เหรียญพระเจ้าตาก” เยอะแยะมากมายหลายรุ่น แม้กระทั่งเป็นชุดก็มี ซึ่งมี หลวงพ่ออี๋ (วัดสัตหีบ) พระเจ้าตาก กรมหลวงชุมพร (เสด็จเตี่ย) อยู่ในกล่องเดียวกัน (ทำพิธีพุทธาภิเษก 15 ตุลาคม 2543 ณ วัดสัตหีบ ชลบุรี)

วัดลุ่ม (พระอารามหลวง) ได้รับการพัฒนาโดยพระโบราณพิทักษ์ (เจ้าคณะอำเภอ) หรือที่รู้จักกันนาม “พระอาจารย์ไท” จนเจริญก้าวหน้าอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ท่านเจ้าอาวาสรูปนี้เข้ามาจำพรรษากระทั่งปัจจุบัน โดยเฉพาะทางด้านวัตถุ อาคารต่างๆ ซึ่งเคยคับแคบก็ได้เพิ่มพูนขึ้นจนแทบแออัดแน่นพื้นที่ พร้อมทั้งให้การช่วยเหลือดูแลชาวบ้านและให้ทุนการศึกษานักเรียน อีกทั้งกำลังก่อสร้าง “โรงเรียนปริยัติธรรม”

ดร.วรพรรณ อติการบดี เห็นว่า ศาลพระเจ้าตากยังไม่มีฉัตรเหนือพระบรมรูป จึงได้จัดสร้างถวายประดิษฐานไว้ ณ ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (สมเด็จช่วง) ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานในพิธียกฉัตรเหนือพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ วัดลุ่ม (พระอารามหลวง) เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 17 พฤษภาคม 2559

โดยมีพระราชสิทธินายก เจ้าคณะจังหวัดระยอง, พระโบราณพิทักษ์ เจ้าคณะอำเภอ เจ้าอาวาสวัดลุ่ม (พระอารามหลวง), นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง, นายอินทรีย์ เกิดมณี นายอำเภอเมืองระยอง, นายวรวิทย์ ศุภโชคชัย นายกเทศมนตรีเมืองระยอง, นางอนุชิดา ชินศิรประภา ประธานหอการค้าจังหวัดระยอง พร้อมด้วยข้าราชการ และพุทธศาสนิกชน พ่อค้าประชาชนเข้าร่วมในพิธีจำนวนมาก

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ได้หารือภาคส่วนต่างๆ ของจังหวัดระยอง และเห็นพ้องต้องกันว่าในการจัดสร้างอุทยานการเรียนรู้ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดระยอง และประเทศไทย เพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ซึ่งทรงกอบกู้เอกราชให้ชาติไทย และเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 5 ธันวาคม 2560

โครงการนี้เริ่มก่อตัวขึ้นในปี พ.ศ.2558 และก้าวหน้าขึ้นมาตามลำดับโดยมีคณะกรรมการดำเนินงานในทุกด้าน ทั้งด้านการจัดหาทุน ซึ่งน่าจะใช้เงินเป็นจำนวนมากอยู่พอสมควร เพราะจะต้องใช้ในการออกแบบปรับปรุงและตกแต่งอาคารของโรงเรียนปริยัติธรรม (ชั้น 2) ของวัดลุ่ม (พระอารามหลวง) ขนาด 10X61 เมตร เป็นอุทยานดังกล่าว จำนวน 7 โซนดังนี้ 1.ห้องโหมโรง 2.อวสานกรุงศรี 3.ก้าวย่างสร้างปึกแผ่น 4.กู้เอกราชประกาศศักดา 5.ก่อร่างสร้างธนบุรี 6.มรดกเมืองระยอง และของที่ระลึก และ 7.นิทรรศการหมุนเวียน

การปรับปรุงภูมิทัศน์อุทยานการเรียนรู้ฯ ณ วัดลุ่ม (พระอารามหลวง) เป็นการปรับปรุงภาพลักษณ์ และงานครุภัณฑ์ รวมเป็นเงิน 18 ล้านบาท แต่ในแต่ละห้องแต่ละโซนนั้นก็ได้แบ่งความรับผิดชอบเรื่องงบประมาณกันไป อย่างเช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง 1 ห้อง นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ฯลฯ

การจัดหารายได้เพื่อสมทบทุนสร้างอุทยานการเรียนรู้ฯ โดยจัดทำวัตถุมงคล และสิ่งของมงคล เพื่อความเป็นสิริมงคลและผลบุญของผู้ครอบครอง วัสดุทุกรายการที่นำมาผลิตวัตถุมงคลมีการเลือกสรรอย่างดีที่สุด จากแหล่งประวัติศาสตร์ตามเส้นทางเดินทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และความภาคภูมิใจในการกอบกู้เอกราชที่จังหวัดระยอง และทรงกอบกู้เอกราชให้ชาติไทย ครบรอบ 250 ปี

วัตถุมงคลที่จะจัดทำเพื่อจัดหาทุนมี 7 รายการ เช่น การหล่อพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (พระบรมราชานุสาวรีย์) ขนาดเท่าครึ่งของพระองค์จริง, พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (จำลอง), ดาบที่ระลึกสมัยกรุงธนบุรี, พระบรมสาทิสลักษณ์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พร้อมกรอบหลุยส์สีทอง-รูปพระพักตร์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงพระแสงดาบ, เข็มที่ระลึก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช, การหล่อรูปทหารเอกชาวระยอง 4 นาย และทหาร 2 นาย และ—

“เหรียญหลวงปู่ทิม” วัดละหารไร่ อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ชื่อรุ่น “สร้างอุทยานการเรียนรู้ฯ” หรือ “รุ่นมหาบารมี”

“หลวงปู่ทิม” กำลังมีส่วนการร่วมสร้าง “อุทยานการเรียนรู้ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช”