3 ยุทธการใหญ่ ในมือ ประยุทธ์ จันทร์โอชา มั่นใจใน ‘อำนาจ’ / กรองกระแส

กรองกระแส

 

3 ยุทธการใหญ่

ในมือ ประยุทธ์ จันทร์โอชา

มั่นใจใน ‘อำนาจ’

 

ไม่ว่าการลงมติส่งร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ในประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยการจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)

ไม่ว่ามติพรรคพลังประชารัฐส่งคนลงสมัครเลือกตั้งซ่อมที่นครศรีธรรมราช

ไม่ว่าการดำเนินมาตรการ “เข้ม” โดยการตั้งข้อหาผ่านประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และการส่งฟ้องโดยการฝากขังต่อแกนนำ “ราษฎร”

สะท้อนความมั่นใจเป็นอย่างสูงใน “อำนาจ” ที่มีอยู่ในมือ

สะท้อนความมั่นใจเป็นอย่างสูงว่า 1 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าพรรคก้าวไกล ไม่ว่าพรรคเสรีรวมรวมไทย ไม่ว่าพรรคประชาชาติ ไม่ว่าพรรคเพื่อชาติ ไม่ว่าพรรคพลังปวงชน

ไม่สามรถสร้างความสั่นสะเทือนได้

สะท้อนความมั่นใจเป็นอย่างสูงว่า 1 พรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าพรรคชาติไทย ไม่ว่าพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่กล้าที่จะแยกตัวออกจากการร่วมอยู่ในรัฐบาล

สะท้อนความมั่นใจว่า “ราษฎร” ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างมีพลัง

 

แผนสกัดขัดขวาง

ชะลอแก้รัฐธรรมนูญ

ญัตติขอให้ส่งร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ไปให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและตีความว่าสามารถทำได้หรือไม่ โดยผ่านสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)

มาจากการร่วมมือระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับ ส.ว.

นั่นก็คือ นำโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ประสานเข้ากับนายสมชาย แสวงการ เลขานุการวิป ส.ว.

นี่ย่อมสวนทางกับฝ่ายค้าน สวนทางกับพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค

การไม่ให้ความสนใจต่อพรรคร่วมฝ่ายค้านสามารถเข้าใจได้ แต่การที่ไม่ได้สนใจอารมณ์และความรู้สึกของพรรคร่วมรัฐบาลที่สำคัญอย่างน้อย 3 พรรคสำคัญ

นั่นคือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา

เท่ากับแสดงให้เห็นว่า เมื่อพรรคพลังประชารัฐสามัคคีกับ 250 ส.ว.ก็สามารถสยบพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ให้หมดบทบาทไปอย่างสิ้นเชิง

นี่คือความมั่นใจใน “อำนาจ” ทางการเมืองที่มีอยู่

 

มองข้ามบทบาท

พรรคประชาธิปัตย์

ในเมื่อแม้กระทั่งในเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมพรรคพลังประชารัฐยังไม่ให้ความสนใจว่าพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์จะรู้สึกและมีทิศทางอย่างไร

การส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อมที่นครศรีธรรมราชย่อมเป็นไปได้

ทั้งๆ ที่โดยมารยาททางการเมือง ไม่ว่าจะมองจากทางด้านพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะมองจากทางด้านพรรคร่วมฝ่ายค้าน ต้องให้ความเคารพ

เมื่อพื้นที่เขต 3 นครศรีธรรมราชเป็นของพรรคประชาธิปัตย์

ตามธรรมนิยมทางการเมืองที่ผ่านมา พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันต้องเปิดโอกาสให้พรรคประชาธิปัตย์เจ้าของพื้นที่ได้ส่งคนของตนลงสมัครเพื่อรักษาพื้นที่เดิมของตนเอาไว้

แต่พรรคพลังประชารัฐไม่สนใจ ไม่เคารพต่อมติของพรรคประชาธิปัตย์

เมื่อประเมินจากท่าทีที่พรรคพลังประชารัฐร่วมมือกับ 250 ส.ว.ในกรณีของร่างรัฐธรรมนูญ จึงไม่แปลกอะไรที่พรรคพลังประชารัฐจะไม่เกรงใจพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องเลือกตั้งซ่อม

นี่คือ ความมั่นใจใน “อำนาจ” ทางการเมืองที่มีอยู่ในมือ

 

ดำเนินมาตรการ

รุกฆาต “ราษฎร”

เพราะว่ามีความเชื่อมั่นต่อการประเมินบทบาทของ “ราษฎร” ว่าเริ่มแผ่วลง ฝ่อลง นับแต่เดือนกันยายน 2563 เป็นต้นมา ในเดือนธันวาคมจึงเริ่มรุกไล่ สกัดกั้นอย่างเข้มข้น

นั่นก็คือ การตั้งข้อหาผ่านประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ความเชื่อมั่นนี้เกิดขึ้นอย่างคึกคักนับจากสถานการณ์ ณ ศิริราชพยาบาล เมื่อเดือนกันยายน 2563 โดยสรุปว่าจะทำให้กำลังหรือ “ท่อน้ำเลี้ยง” ในการเคลื่อนไหวอ่อนแรงลง

ไม่ได้รับการหนุนจาก 1 พรรคเพื่อไทย และ 1 จากคนเสื้อแดง

ขณะเดียวกัน นับแต่เดือนตุลาคม 2563 เป็นต้นมา เนื่องจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของ “เยาวชนปลดแอก” กระทั่งพัฒนาเป็น “คณะราษฎร 2563”

ทำให้เกิดความขัดแย้ง แตกแยกและแย่งชิง “การนำ” ภายใน

ความเชื่อมั่นจาก 2 องค์ประกอบนี้ทำให้เร่งรัดในการดำเนินมาตรการเข้มต่อบรรดาแกนนำในการเคลื่อนไหว เพราะเชื่อว่าเมื่อลิดรอนส่วนนี้ไปแล้วการเคลื่อนไหวก็ย่อมจะฝ่อลงแผ่วลง

นี่คือ ความมั่นใจต่อ “อำนาจ” ทางการเมืองที่มีอยู่ในมือ

 

เปิด 3 ยุทธการ

กระชับอำนาจ

รูปธรรมแห่งการเคลื่อนไหวผ่าน 1 การส่งร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไปยังศาลรัฐธรรมนูญ 1 การส่งผู้สมัครแข่งชันเลือกตั้งซ่อมที่นครศรีธรรมราช

และ 1 การเร่งมาตรการเข้มจัดการกับ “แกนนำ” ม็อบ

เป็นรูปธรรมอันสะท้อนความมั่นใจเป็นอย่างสูงว่า อำนาจที่อยู่ในมือ ไม่ว่าจะจากโครงสร้างแห่งรัฐราชการรวมศูนย์ ไม่ว่าจะจากโครงสร้างทางการเมือง

นั่นก็คือ การผนวกกำลังพรรคพลังประชารัฐกับ 250 ส.ว.

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงไม่ลังเลที่จะฉวยคว้าจังหวะเวลาเช่นนี้ในการรุกคืบเพื่อเสริมความแข็งแกร่งในทางการเมือง โดยไม่เกรงใจต่อพันธมิตรที่เคยร่วมกันมา

ทุกอย่างล้วนดำเนินไปตามแนวทาง “การศึกมิหน่ายเล่ห์” ครบถ้วน