รัฐเริ่มโปรยเสน่ห์ ประเทศไทยน่าลงทุน สายพานส่งเศรษฐกิจฟื้นเร็ว / เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจ

 

รัฐเริ่มโปรยเสน่ห์

ประเทศไทยน่าลงทุน

สายพานส่งเศรษฐกิจฟื้นเร็ว

เศรษฐกิจไม่ว่าจะเศรษฐกิจในครัวเรือนและเศรษฐกิจรวมของประเทศไทย หายใจไม่ทั่วท้องอีกครั้ง เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2563 ถึงปัจจุบัน เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ และดูเหมือนตัวเลขผู้ติดเชื้อยังไม่ซาลง

โดยเฉพาะการเกิดระบาดในพื้นที่ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร ที่ยังมีคำถามคาใจประชาชน ว่าจะยืดเยื้ออย่างนี้แค่ไหน คุมระบาดไม่เกิดรุนแรงอีกรอบไหม และชีวิตความเป็นอยู่จากนี้จะเป็นอย่างไร

ที่สำคัญ จากนี้รัฐบาลจะทำอย่างไรเพื่อให้เศรษฐกิจและประเทศเดินต่อไป…

 

ทุกสายตาหันมองทีมเศรษฐกิจในรัฐบาล “ประยุทธ์” ซึ่งหนึ่งในทีมเศรษฐกิจ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ออกมาประกาศในเวทีสัมมนาประเทศไทยไปต่อ…จัดโดยมติชน ว่า เศรษฐกิจมหภาค จากนี้ต้องอาศัยภาคลงทุน แม้ว่าวันนี้ประเทศไทยยังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ และบนความหวังมีวัคซีนกลางปีนี้ ก็ไม่อาจหยุดการดำเนินงานผลักดันภาคลงทุน ที่รัฐต้องเป็นหัวหอกสำคัญ การลงทุนถือเครื่องยนต์สำคัญช่วยขับเศรษฐกิจให้เดินหน้าแม้ผลจะออกมาให้เห็นในระยะกลางหรือระยะยาว

ถ้าไม่มีการลงทุน การจ้างงานก็หยุดนิ่งไปด้วย แม้โจทย์ยากคือ ใครๆ ก็คิด ไม่แค่คู่แข่งในประเทศกลุ่มอาเซียนด้วยกัน แต่รวมถึงประเทศใหญ่ๆ อย่างจีน สหรัฐ ยุโรป ตะวันออก ล้วนต้องการเงินทุนไหลเข้าเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิดคลี่คลาย

และหลายประเทศออกตัวแรงที่จะเปิดประเทศให้ทุนต่างชาติเข้าได้แล้ว พร้อมเสนอแพ็กเกจกระตุ้นลงทุนงามๆ

ซึ่งอาคมยังระบุถึงรัฐบาลต้องเร่งลงทุนแน่นอน เพราะไม่แค่ไทยมีเสน่ห์ที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ มีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไว้แล้ว บางส่วนเริ่มเดินเครื่องแล้วแต่ชะงักเพราะเจอโควิด-19 เป็นสถานการณ์รุนแรงเฉพาะหน้าต้องเร่งแก้ไขก่อน ประกอบกับความเห็นจากธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ระบุว่า การลงทุนในไทยยังต่ำ และกฎหมายงบประมาณไทยเปิดช่องให้สามารถใช้เงินลงทุนให้ถึง 20% ของปีงบประมาณประจำปี

ยังเปรยอีกว่า เบื้องต้นมุ่งไปที่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ และตั้งโรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพราะรัฐบาลทุ่มงบประมาณต่างๆ พัฒนาพื้นที่อีอีซีไว้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะ 3 โครงสร้างพื้นฐาน คือ รถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เชื่อม 3 สนามบิน ได้แก่ สนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และโครงการท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังระยะที่ 3 เป็นโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้ทางภาคอุตสาหกรรมได้ใช้

และเน้นอุตสาหกรรมใหม่ 12 ที่จะเป็นอุตสาหกรรมอนาคต ซึ่งล่าสุดเพิ่มอุตสาหกรรมด้านชีวะ ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว อีกไม่นานก็จะมีแพ็กเกจออกมา

ดังนั้น ต้องย้อนดูว่าไทม์ไลน์ของโครงการแม่เหล็กหลักไปถึงไหนแล้ว

 

เริ่มที่โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เชื่อม 3 สนามบิน ได้แก่ สนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา มูลค่าการลงทุน 224,000 ล้านบาท แบ่งเป็น รถไฟ 170,000 ล้านบาท การพัฒนาพื้นที่ 54,000 ล้านบาท เริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2561 กรอบก่อสร้างวางไว้ 5 ปี กำหนดเปิดให้บริการปี 2566

ซึ่งผลศึกษาสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ระบุว่า โครงการแล้วเสร็จจะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ประเทศ ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูง ทรัพย์สินตกเป็นของรัฐหลังสิ้นสุดสัญญา 50 ปี และได้รับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 50,900 ล้านบาท

ส่วนโครงการที่เหลือก็ยังรอลุ้นต่อไปว่าจะปรับเปลี่ยนอะไรอีก

 

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวถึงปี 2564 การลงทุนมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดลงทุนของภาคเอกชนปีนี้บวก 4.2% ฟื้นตัวจากปี 2563 ที่ลบ 8.9%

แต่เงื่อนไขสำคัญคือไทยต้องสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้อยู่ในวงจำกัด และผลจากการที่รัฐบาลเร่งผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นไปตามแผน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี การสร้างโครงข่าย 5 จี

พร้อมฉายภาพการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอในปี 2564 ว่า บีโอไอประเมินผล พร้อมทบทวนนโยบายและมาตรการต่างๆ ที่ได้ทำมา และมองสถานการณ์ไปข้างหน้า รวมทั้งได้รับฟังข้อแนะนำจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) รวมทั้งความเห็นจากสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานเอกชนแล้ว เห็นพ้องว่า ปี 2564 บีโอไอเน้นขับเคลื่อนการลงทุนของภาคเอกชนให้เป็นกลไกสำคัญของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ นำไปสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ขยายฐานอุตสาหกรรมเดิม พร้อมวางสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ๆ

ขณะที่การประเมินของ สศช.มองว่า ตัวขับเคลื่อนหลักในปี 2564 คือ การลงทุนภาครัฐ จะเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การลงทุนของภาครัฐจะต้องเริ่มก่อน แล้วในระยะถัดไป จึงค่อยกระตุ้นให้เอกชนลงทุนมากขึ้น เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไป

เบื้องต้นประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวมากขึ้น โดยมีแรงสนับสนุนจากปัจจัยสำคัญ ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก แรงขับเคลื่อนของภาครัฐจากการเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณและมาตรการทางเศรษฐกิจ

โดย สศช.ประเมินเบื้องต้นว่าปี 2564 การลงทุนรวมอยู่ที่ 6.6% การลงทุนภาคเอกชน 4.2% การลงทุนภาครัฐ 12.4% การบริโภคภาคเอกชน 2.4% และการอุปโภคภาครัฐบาล 4.7% คาดหวังว่าการขับเคลื่อนการใช้จ่ายภาครัฐ จะมีการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2564 ไม่น้อยกว่า 94.4% ของงบประมาณทั้งหมด

และงบฯ ลงทุนต้องเบิกจ่ายให้ได้ไม่น้อยกว่า 70% ของงบประมาณทั้งหมด

 

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช.ให้ความเห็นต่อการฟื้นลงทุนว่า ไทยควรแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศ อาทิ กฎระเบียบในการที่บริษัทต่างชาติเข้ามาจัดตั้งในไทย เป็นต้น

รวมถึงดำเนินการตามความต้องการของกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อย่างอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี ที่ไทยอยากดึงความรู้และเครื่องมือจากต่างประเทศเข้ามา ว่า ความต้องการของกลุ่มเหล่านี้คืออะไร เพื่อดึงนักลงทุนเหล่านี้เข้ามา ขณะนี้ยังเป็นเพียงการกำหนดกรอบกว้างๆ ยังไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติม

“เรื่องนี้ต้องหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง อีอีซี บีโอไอ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เพื่อขจัดอุปสรรคในการให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในไทยได้ง่ายยิ่งขึ้น คาดว่าประมาณ 1-2 เดือนจากนี้ จะนำข้อสรุปที่ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเสนอต่อนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เพื่อสรุปแผนและกรอบการดำเนินงานให้รับทราบในเบื้องต้น ซึ่งแผนดึงนักลงทุน ก็ดำเนินการคู่ขนานไปกับมาตรการช่วยเหลือประชาชนช่วงวิกฤตโควิด-19 อีกด้วย”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า โควิดคือโจทย์หินพลิกฟื้นเศรษฐกิจปี 2564 สำหรับวันนี้จะฟื้นเร็วหรือช้า ทุกคนโยนไปที่วัคซีนต้านโควิด ว่าจะแพร่กระจายทั่วถึงเหมือนแพร่กระจายของไวรัสหรือไม่