เราไม่หลงลืม ‘นักปฏิวัติ’ ของวัชระ สัจจะสารสิน และยังถวิลถึง ‘นักปฏิวัติ’ ของภูสวรรค์ เมื่อ พ.ศ.2477 / บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ

 

เราไม่หลงลืม ‘นักปฏิวัติ’

ของวัชระ สัจจะสารสิน

และยังถวิลถึง ‘นักปฏิวัติ’

ของภูสวรรค์ เมื่อ พ.ศ.2477

แม้ผมจะไม่หลงลืมอะไรหลายอย่าง แต่หากไม่มีอะไรมาสะกิดความทรงจำ บางอย่างอาจเผลอหลงเลือนบ้าง

เรื่องสั้น ‘นักปฏิวัติ’ ของวัชระ สัจจะสารสิน ก็เช่นกัน ผมไม่ลืมหรอก แต่คงจะไม่นึกออกทันทีทันใด ถ้าในปี พ.ศ.2563 มิได้แว่วยินกระแสเกรียวกราวในโลกออนไลน์ที่มีต่อการกล่าวทำนองว่า ก่อนเป็นนักต่อสู้เรียกร้องหรือนักปฏิวัติเพื่อสังคม ควรช่วยแม่ล้างจาน และควรจัดบ้านทำงานบ้านของตนให้ดีเรี่ยม เพราะมูลเหตุข้างต้น

ผมจึงไม่เพียงวาบคำนึงถึงเรื่องสั้น ‘นักปฏิวัติ’ ของวัชระเท่านั้น

แต่ยังหวนคำนึงไปถึงเรื่องสั้น ‘นักปฏิวัติ’ ในปี พ.ศ.2477 ที่เคยอ่านช่วงปลายทศวรรษ 2550

วัชระ สัจจะสารสิน เขียนเรื่องสั้น ‘นักปฏิวัติ’ ส่งไปนิตยสารช่อการะเกด ผ่านสายตาบรรณาธิการนามสุชาติ สวัสดิ์ศรี ผ่านเกิดได้ลงตีพิมพ์ครั้งแรกในฉบับที่ 36 ประจำเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ พ.ศ.2541

ซึ่งภายหลังนำมาพิมพ์ไว้ในหนังสือรวมเรื่องสั้น เราหลงลืมอะไรบางอย่าง และคว้ารางวัลซีไรต์ (S.E.A. Write) ประจำปี พ.ศ.2551

‘นักปฏิวัติ’ ของวัชระ ถ่ายทอดถึงตัวละครนักศึกษาคนหนึ่งกำลังคิดหัวข้อทำรายงานตามที่อาจารย์สั่ง หะแรกมิรู้จะทำเรื่องอะไร ท้ายสุดตัดสินใจทำเรื่องการปฏิวัติ

วัชระเปิดฉากตอนที่ตัวละครตื่น หลังจากเมื่อคืนมัวศึกษาเกี่ยวกับการปฏิวัติหัวปักหัวปำ

เขานึกถึงประโยคเด็ดของชามเมอร์ จอห์นสัน ที่ว่า “การปฏิวัติเป็นความบ้าแบบหนึ่งของสังคม”

นักศึกษาหมกตัวทำรายงานจน “…ห้องของเขาสกปรกมาก นานเท่าไหร่แล้วที่ไม่ได้ทำความสะอาด ในตอนนั้นไม่มีเวลาอีกแล้ว ทุกนาทีเขาต้องอุทิศให้กับการทำรายงานเรื่องการปฏิวัติ”

เขาตะลุยอ่านงานของคาร์ล มาร์กซ์, เท็ด โรเบิร์ตเกอร์, เรจิส เดเบรย์ และคุสตาฟว์ เลอบอง อีกทั้งยังรู้สึกเสมือน “…ได้ไปเจอเลนินที่รัสเซีย นั่งจิบชากับเหมาที่เมืองจีน ขอต่อบุหรี่จากเช กูวารา ที่โบลิเวีย ไปนั่งฟังโฮจิมินห์ปราศรัยต่อฝูงชนที่เวียดนาม…”

เช้านั้น นักศึกษาทำรายงานเสร็จก็เตรียมตัวนำเสนอหน้าชั้นเรียนตอนบ่าย เขาตระหนักว่าจุดด้อยของตนเองอยู่ตรงที่ขาดความกล้าออกไปพูด จึงซ้อมท่องบทหลายหนเสริมความมั่นใจ ซักเสื้อยืดสีแดงตัวเก่งและกางเกงในที่จะสวม เขาประหนึ่งนักปฏิวัติกำลังเดินเข้าสมรภูมิ

ระหว่างเดินทางจากหอพักสู่มหาวิทยาลัย มิเว้นขณะนั่งกินข้าว เขาครุ่นคิดและทบทวนรายงานเรื่องการปฏิวัติที่ตนเขียนและจะไปนำเสนออย่างเคร่งเครียด จุดบุหรี่สูบ มัวละล้าละลังกล้าๆ กลัวๆ อ่านต้นฉบับซ้ำๆ บริเวณท่าเรือข้ามฟากจนเรือผ่านไปหลายลำ

หกโมงเย็น นักศึกษายังคงอยู่ที่เดิม หาได้นั่งเรือข้ามฟากไปมหาวิทยาลัย

หมดเวลาสำหรับนักปฏิวัติ เขาขยำต้นฉบับรายงานทิ้งลงถังขยะ เดินเซื่องซึมกลับหอ นอนก่ายหน้าผากครุ่นคิดว่า “นักปฏิวัติที่เขาทำรายงานเหล่านั้นมันตายไปหมดแล้วนี่หว่า…! ”

เขาลุกขึ้นนั่ง กวาดสายตาแลรอบห้องพลันเห็นภาพ

“…พื้นยังเขลอะไปด้วยฝุ่น มวลหมู่หยากไย่ขึงระโยงระยางเต็มเพดาน กองหนังสือเกี่ยวกับเรื่องปฏิวัติยังวางสะเปะสะปะอยู่กับเศษกระดาษ ซองบะหมี่และรองเท้าเหม็นๆ ถ้วยกาแฟและจานข้าวสุมอยู่ในกะละมังส่งกลิ่นบูด ผ้ากองโตยังเป็นที่อยู่ของฝุ่นและแมลงสาบ” วัชระปิดฉากเรื่องสั้นว่า “เขาเดินไปหลังห้อง แล้วเริ่มจับไม้กวาด…”

ย้อนไปภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เพียงสองปี ได้ปรากฏเรื่องสั้น ‘นักปฏิวัติ’ ผลงานของผู้ใช้นามแฝงว่า ภูสวรรค์ ตีพิมพ์ในมหาวิทยาลัย เล่มที่ 12 ฉบับที่ 3 ออกเผยแพร่วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2477 บรรณาธิการคือ นายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร

ภูสวรรค์เปิดฉากด้วยการแนะนำตัวละครเอกฝ่ายชายคือนายโกร่ง กล้าวาทะ ว่า

“นักพูดตัวยงเก่าแก่แห่งมหาวิทยาลัย เมื่อเขาสำเร็จการศึกษาแล้ว ก็ถูกเนรเทศไปทำงานอยู่ตามชนบท แม้จะต้องไปอยู่บ้านนอกคอกนา ถิ่นฐานที่อุดมสมบูรณ์ด้วยวัวควายและอ้ายเสือ คุณโกร่งก็ยังคงตะแคงหูฟังข่าวคราวในกรุงมิได้ขาด แทนที่คุณโกร่งจะชอบฟังเสียงจิ้งหรีดหริ่งและเรไร คุณโกร่งกลับชอบฟังวิทยุ แทนที่จะชอบหนังสือประโลมโลกชนิดลักษณวงศ์หลงใหลมิได้เรื่อง- เขากลับชอบอ่านความคิดทางการเมือง- ความเห็นทางเศรษฐกิจ เมื่อสมัยเขาปฏิวัติกันในพระนคร เลือดคุณโกร่งก็เดือดพล่านด้วยการปฏิวัติ เมื่อเขาปราบกบฏ ความฝันของคุณโกร่งก็คือแนวหน้า มิว่าสภาพการณ์เป็นไปในพระนครจะไหวตัวอย่างไร คุณโกร่งก็พลอยคิดและออกความเห็นอย่างโน้นอย่างนี้ตามไปด้วย ฉะนั้น จึงกล้ากล่าวได้ว่า คุณโกร่ง กล้าวาทะ ผู้นี้มีเลือดนักการเมือง นักเศรษฐกิจและนักปฏิวัติอยู่เต็มตัว” ถัดมาจึงแนะนำตัวละครเอกฝ่ายหญิงคือ นางสาวสายสวรรค์ วิไลวัจน

“…หรือเรียกสั้นๆ ว่า คุณสาย- สตรีสาวผู้ได้รับการศึกษามาอย่างทันสมัย เธอมิใช่พวกคุณยายคุณป้าทาขมิ้นกินหมาก แต่เธอรักการอาบฝุ่นเท่าๆ กับการทาสีปาก แทนที่จะโปรดผ้านุ่งโจงกระเบนเทิบทาบอย่างคุณแม่ เธอชอบนุ่มถุงจีบกระทัดรัด คาดเชือกมัดเอวดำบ้างแดงบ้าง เธอเห็นคุณน้าใส่น้ำมันกรรไร ใช้หวีไม้มะกรูด ไม้จันทน์ เธอกลับหันเข้าห้อง หยิบเหล็กเป็นดุ้นๆ บรรทุกผมไว้อย่างมิกลัวหนัก ยิ่งคุณย่าซึ่งชอบปิดนมห่มผ้าด้วยแล้ว แทบเป็นลมเมื่อได้เห็นคุณสายใส่เสื้อจะอวดสะดือ- เดินซ่นสูงทำก้นกระดกๆ พูดถึงนิสสัยคุณสายมิยินยอมให้ใครมีเอกสิทธิ์เหนือตน เธอรักเสรีภาพ- สมภาพหรือเสมอภาคเท่าๆ กับการแต่งตัว นับว่ามีหัวประชาธิปตัยแท้”

การสร้างตัวละครนายโกร่ง ผู้ประพันธ์เหมือนจงใจวาดภาพความเป็นนักปฏิวัติที่มีแนวโน้มสนับสนุนคณะราษฎร ซึ่งได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475

ขณะตัวละครสายสวรรค์เสมือนภาพแทนผู้หญิงสมัยใหม่ที่หาญกล้ายึดถือในสิทธิเสรีภาพของตน ทั้งด้านความคิดและการแต่งกาย

ตัวละครทั้งสองกลายเป็นคู่รักและสมรสกัน ดังถ้อยบรรยายว่า

“แต่แปลกไหมท่าน- ที่บุพเพสันนิวาสจับคุณโกร่ง กล้าวาทะ นักการเมืองชนกับคุณสายสวรรค์ วิไลวัจน หัวประชาธิปตัย ให้ครอบครองกันมาได้โดยปรกติสุข”

ร่วมเรียงเคียงครองแค่หนึ่งปี รสสวาทพลันร่วงโรย ความไม่ลงรอยก็มีอันก่อเกิด เพราะนายโกร่ง “…พ่อนักการเมืองตัวกลั่นซึ่งละทิ้งหรือลืมฝันถึงฮินเดอร์เบอร์ก ดอลฟุส ฮิตเล่อร์ ฯลฯ มานานนมนั้น ก็เริ่มจะคิดถึงอีก เวลาทำงานคุณโกร่งชอบชวนเพื่อนๆ คุยถกปัญหาถึงคนสำคัญๆ ครั้นกลับมาบ้านก็ชอบพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจ ปัจจุบันนี้ คุณโกร่งรู้จักเจี่ยะไกเจี่ยะดีกว่าคุณสายสวรรค์ รู้จักความเป็นไปความยากลำบากของเกอริง-มุสโซลินี-ดีกว่าลูกน้อยของตน…”

ส่วนสายสวรรค์ เธอพยายามนักหนา “…ที่จะล้วงสมองนักการเมืองของคุณโกร่งเอามาล้าง และใส่มันสมองนักการบ้านเข้าแทน เธอเบื่อแสนเบื่อในเมื่อเธอกับเขาพูดไม่ตรงกัน เมื่อก่อนนี้เวลาเธอพูดถึงรามอนโนวาโร เอดดี้แคนเตอร์ ฯลฯ เขาก็พลอยพูดตามด้วย แต่บัดนี้ พอเธอเอ่ยชื่อมอรีสเชวาเลีย เขาก็ชอบพูดเรื่องแรมเซแมคโดแนลด์ ฯลฯ ขัดกันเช่นนี้ทุกๆ ครั้ง เงาแห่งความไม่ปรกติ-ไม่สันติสุข- เริ่มฉายแสงให้ปรากฏแล้ว”

บุตรชายที่ชื่อไกรสวรรค์ นายโกร่งยัง “…ชอบเรียกมันว่า ฮิตเล่อร์บ้าง-มุสโซลินีบ้าง”

จะเห็นว่าผู้ประพันธ์อาศัยชื่อบุคคลต่างๆ มาสะท้อนให้เห็นถึงการคุยกันคนละเรื่องที่ไม่พ้องพานกันเสียแล้วระหว่างสามีภรรยา โกร่ง กล้าวาทะ อ้างถึงแต่บุคคลเด่นๆ ทางการเมืองของโลกในยุคนั้น เช่น อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เบนิโต มุสโซลินี และเจียงไคเช็ก

สายสวรรค์กลับไปพูดถึงดารานักร้องลือเลื่องยุคนั้นแทน เช่น รามอน โนวาโร นักแสดงหนุ่มเม็กซิกัน-อเมริกัน เป็นต้น

 

เป็นเหตุให้สายสวรรค์เขียนจดหมายฉบับแรกสุดไปปรึกษาปัญหาครอบครัวพร้อมขอคำแนะนำกับยวนฉวี เพื่อนเก่าของเธอทำนอง “มันเป็นภาวะอันสุดแสนจะทนทานแล้วนะ-ยวน- แต่ก่อนนี้เธอไม่เคยใช้เอกสิทธิใดๆ ข่มขืนน้ำใจฉันเลย แต่บัดนี้มิทราบว่าลัทธิอะไรได้เปลี่ยนนิสสัยของเธอให้กดขี่ฉันถึงเพียงนี้ เธอกำลังพยายามทุกๆ ทางที่จะแสดงอิทธิพลเหนือฉันเสมอ เสรีภาพ-เสมอภาคนั้น แทบว่าจะไม่มี”

กระสุนนัดแรกระเบิดขึ้นในบ้าน เมื่อเวลา 20.00 น.ของวันหนึ่ง นายโกร่งพร่ำบ่นทำนอง “บ้านช่องสกปรกอย่างนี้ ใช้ได้ที่ไหน ฉันสุดจะทนทานแล้ว” และ “ดูทีรึ- กับเข้าอย่างนี้ใครจะกินลง!” พร้อมๆ กับเสียงโยนหมวกโยนรองเท้าโครมครามและเสียงถ้วยชามลั่นโกร่งกร่างอย่างมิเคยทำมาก่อน

ฝ่ายสายสวรรค์สุดจะทนแล้ว เธอเริ่มขึ้นเสียงอภิปราย

ภูสวรรค์บรรยายภาพพจน์สถานการณ์ราวกับตัวละครทั้งสองกำลังอยู่ในรัฐสภา

เช่น นายโกร่งที่ “มือซ้ายทุบโต๊ะปัง- มือขวาชี้หน้าหญิงผู้น่าสงสาร แต่มิใช่แบบคณะนาซี- ปากปกาสิต “นิ่ง!” “เธอรู้ไหมว่าอำนาจสูงสุดเป็นของฉัน ฉันสู้อาบเหงื่อต่างน้ำวันยังค่ำ ทำงานเพื่อคน ๑๒ ล้าน แล้วเธออยู่บ้านทำอะไรบ้าง กินๆ นอนๆ อะไรก็เงินเงิน-ไม่รู้จักเศรษฐกิจ-ไม่รู้จักการบ้าน-อาหารก็ไม่เอาใจใส่-เรือนชานเลอะเทอะ-ฉันลงมติไม่ไว้ใจเธอเสียแล้ว-ฉันขอตั้งกระทู้ถามเธอหน่อยเถอะว่าอยู่บ้านทำอะไร?” หรือคำพูดจาอย่าง “นี่เธอยังจะแปรญัตติของฉันอีกหรือ- ไม่ควรอภิปรายออกนอกประเด็นนะจะบอกให้”

ส่วนสายสวรรค์ประหนึ่งฝ่ายค้านที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้หญิงว่า “ฟังดิฉันก่อนซีคะ!” เธอพูดทั้งๆ น้ำตา “คุณควรจะดูบ้าง- ดิฉันอยู่บ้านต้องเลี้ยงพ่อแดง-ซักผ้า-รีดผ้า-กวาดบ้าน-ถูบ้าน โธ่คุณไม่เห็น ไม่ใช่คุณนี่ จะได้เที่ยวจนมืดจนค่ำ- ไม่เอาใจใส่ในลูกในเต้า แต่ก่อนนี้คุณไม่เคยเป็นเหมือนเช่นนี้เลย เกิดเป็นหญิงแท้ที่จริงแสนลำบากนะคุณนะ!”

และไม้ตายของเธอคือ “ก็ผู้ชายออกลูกอย่างผู้หญิงได้ไหม- นี่แหละผู้ชายละไม่สามารถทำงานของผู้หญิงเช่นนี้- คุณเห็นหรือยัง”

 

ผันผ่านหลายวัน ยวนฉวีได้รับจดหมายอีกฉบับ คราวนี้ อ่านไปหัวเราะก๊ากไป เพราะสายสวรรค์เล่าถึงนายโกร่งว่า

“เมื่อเช้านี้เธอตื่นตั้งแต่มืด เข้าครัวก่อไฟ- เสียงฟันขี้ไต้-ทุบถ่าน- ฉันรู้สึกแปลกใจจึงร้องถามไปว่าคุณทำอะไร? นิ่งเงียบไม่มีเสียงตอบ เสียงหม้อโครมครามทำให้พ่อแดงตื่น ฉันจึงต้องนอนกกพ่อแดงต่อไปอีก จะลุกขึ้นไปดูก็ยังลุกไม่ได้ พ่อแดงหลับแล้วจึงลุกขึ้นมาดู- คุณอยู่ในครัว-ประตูครัวปิด มีกระดาษแผ่นหนึ่งติดอยู่ข้างฝา ฉันอ่านแล้วขันจนอดหัวเราะไม่ได้ เป็นหนังสือของคุณทำนองคำแถลงการณ์บอกว่า ยึดอำนาจการครัวของฉันเสียแล้ว และห้ามไม่ให้ฉันเข้าไปยุ่มย่ามภายในวงงานครัวอีก ตั้งแต่วันประกาศนี้เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังมีหลัก ๖ ประการ อันเกี่ยวกับการบริหารครัวอีกด้วย น่าขันแท้ๆ เป็นต้นว่าจะพยายามทำ, แก้ไขและส่งเสริมรสอาหารให้ดีขึ้น จะพยายามให้อาหารทุกๆ อย่างเสมอภาคกันในเชิงรส ฯลฯ และประการที่ ๖ ซึ่งน่าหัวเราะมากที่สุดก็คืออาหารใดๆ ที่ทำขึ้นแล้วต้องกิน ห้ามมิให้ติ ข้อนขอด หรือแสดงกิริยาอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเครื่องส่อความรังเกียจ”

และผลการเข้าครัวของนายโกร่งคือ

“อาหารซึ่งเคยยกตั้งโต๊ะเวลา ๗ โมง ต้องเลื่อนมาเทียบต่อนาฬิกาตี ๘ แล้ว น้ำพริกซึ่งบริหารตามหลัก ๖ ประการนั้น เหม็นหัวหอมพิลึก แกงจืด พ่อเจ้าประคุณ ใส่น้ำตั้งครึ่งหม้อ มิหนำซ้ำยังเค็มเสียด้วย ไข่ยัดไส้ไหม้ไปด้านหนึ่ง ไส้ที่ยัดก็มีกลิ่นอย่างไรพิกลบอกไม่ถูก ถ้าขืนเคี้ยวในปากนานๆ น่ากลัวจะอาเจียน ท่าทางของคุณหิวจัด จึงตักเอาตักเอา ฉันเห็นคุณทานได้มาก ก็ต้องแกล้งตามด้วย มิฉะนั้นจะเป็นการไม่เคารพหลัก ๖ ประการ…”

จดหมายฉบับสุดท้ายที่สายสวรรค์ส่งให้ยวนฉวีมีใจความบางส่วนว่า

“- ๒ วันครึ่งมาแล้วที่คุณได้ยึดอำนาจกุมสิทธิบริหารการครัวไปคนเดียว ฉันไม่ต้องทำอะไรเลยนอกจากเลี้ยงพ่อแดงและดูบ้าน ฉันแกล้งถามเธอว่า- ‘งานของกระทรวงเลี้ยงลูกและกระทรวงดูบ้าน คุณไม่ยึดบ้างหรือ’ -เธอกลับตอบว่า ‘งานง่ายๆ ชั้นต่ำๆ พรรณนั้นผู้หญิงทำก็ได้'”

ทั้งเล่าถึงตอนที่เธอทำอาหารไว้ให้สามี ซึ่งพอนายโกร่งกลับมาบ้านได้ “…ทำเป็นเสียงแข็งหาว่าฉันละเมิดหลัก ๖ ประการ ไม่เคารพอำนาจอธิปัตย์ของสามี ความจริงฉันรู้ว่าเธอแกล้งทำปากแข็ง ทั้งๆ ที่ใจไม่ปรารถนา เย็นวันนั้นเลยโลเลโมเมให้ฉันหุงหาจนเสร็จ เธอกลับเข้าห้องนอนกลางวันหลับปุ๋ยทีเดียว ถึงเวลาอาหาร-ฉันไปปลุกตั้ง ๓-๔ ครั้ง คราวแรกเธอทำเล่นตัว ครั้นฉันกลับออกมา- เธอก็เดินตามฉันมานั่งรับประทานด้วย เธอไม่ปริปากเลยแม้แต่คำเดียว”