ทูตนอกแถว มองบทบาทไทยน้ำท่วมปาก กรณีรัฐประหารพม่า / รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

พิชญ์เดช แสงแก่นเพ็ชร์

 

ทูตนอกแถว

มองบทบาทไทยน้ำท่วมปาก

กรณีรัฐประหารพม่า

 

รัศมิ์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูตไทยหลายประเทศ มองท่าทีจากรัฐบาลไทยต่อรัฐประหารพม่า ว่า

“สิ่งสำคัญคือบทบาทที่เราควรจะเป็น ถ้าเราเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีที่มาอย่างชอบธรรม ตามกติกาสากล เป็นที่ยอมรับของสังคมตามแนวทางประชาธิปไตยอย่างแท้จริง สิ่งที่เกิดขึ้นกับพม่า ผมคิดว่าท่าทีของเราควรจะต้องแสดงความเป็นห่วง ความเป็นกังวล อย่างน้อยที่สุดคือต้องแสดงความไม่เห็นด้วยในหลักการ แต่ทีนี้มันวกกลับมาอีกว่า เราเป็นประชาธิปไตยแท้จริงหรือเปล่า?”

“ถ้าไม่แท้จริง เราไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปาก มีลักษณะ ‘น้ำท่วมปาก’ เป็นคนที่มีแผลข้างหลัง ทำให้เราไม่สามารถที่จะพูดหรือแสดงความเห็นอย่างที่มันควรจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามแนวทางประชาธิปไตยบนโลกนี้ได้”

“ถึงแม้ว่าปากเราจะบอกว่ารัฐบาลเรามาจากการเลือกตั้ง แต่ถ้าเรามาจากการเลือกตั้งตามที่อ้างจริง ทำไมเราถึงไม่กล้าที่จะพูด หรือทำไมเราไม่แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยให้ชัดเจนแบบประเทศอื่นๆ”

“บางคนบางฝ่ายอาจจะแก้ต่างว่าการเป็นสมาชิกอาเซียน เขามีธรรมเนียมไม่แทรกแซงกิจการภายใน ก็ถูก แต่อาเซียนไม่ได้มีแค่นั้น ในกฎบัตรอาเซียนเขาระบุไว้ชัดว่า ประเทศสมาชิกยึดมั่นในหลักการของประชาธิปไตย เคารพสิทธิ เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน ยึดมั่นในธรรมาภิบาล สิ่งเหล่านี้ก็อยู่ในกฎบัตรอาเซียนเช่นกัน”

“เมื่อมีประเทศสมาชิกละเมิดไม่ทำตามแนวทางที่กำหนดไว้ตามข้อตกลง มันก็ทำให้ภาพขององค์กรหลักคืออาเซียนตกต่ำลงไปด้วย เพราะว่าสมาชิกละเมิดสิ่งที่เป็นแนวทางหลักมันก็แสดงว่าองค์กรนี้ไม่น่าเชื่อถือ สิ่งที่เขียนไว้ไม่มีความหมายอะไรเลยเป็นผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ และกระทบต่อองค์กรด้วย”

“ผมคิดว่าจุดนี้เองถ้าประเทศเราเป็นประชาธิปไตยแท้จริงก็สามารถที่จะพูดได้เช่นกัน ไม่ใช่อ้างเรื่องไม่แทรกแซงกิจการภายใน แต่เราต้องพูดกันในเรื่องหลักการ”

“ถ้าสมมุติประเทศหนึ่งทำรัฐประหาร เราพูดว่าจะไม่ไปแทรกแซงเขา ขณะเดียวกันเมื่อมีการรัฐประหารในประเทศหนึ่ง ผลที่เกิดขึ้นไม่ได้จำกัดแค่ในประเทศนั้น ไม่ใช่ว่าประเทศหนึ่งทำรัฐประหารแล้วประเทศอื่นไม่เกี่ยวข้อง ประเทศสมาชิกอื่นเกี่ยวข้องด้วย เพราะนี่คือองค์กรอาเซียน เมื่อประเทศหนึ่งทำตัวไม่ดีก็จะทำให้องค์กรเสื่อมเสียไปด้วย มันก็เหมือนกับสุภาษิตที่ว่าปลาเน่า 1 ตัวก็เน่าหมดทั้งเข่ง”

“ผมไม่ได้อยากแทรกแซงคุณ แต่ถ้าคุณทำแบบนี้มันก็กระทบต่อผมด้วย ผมควรจะต้องมีสิทธิ์ที่จะพูดบ้างไม่ใช่หรือ? อย่างน้อยก็เตือนกันในฐานะเพื่อนสมาชิก แต่สิ่งเหล่านี้ทางการไทยเราแทบไม่พูดเลย”

“เมื่อดูสิ่งที่เป็นท่าทีของอาเซียนโดยรวม โดยประธานอาเซียนปัจจุบันนี้คือประเทศบรูไน ท่าทีของเขายังมีน้ำหนักมากกว่าท่าทีของรัฐบาลไทยเลย อาเซียนบอกว่าอยากเห็นการเจรจาอยากเห็นการปรองดองบนพื้นฐานของประโยชน์ประชาชนพม่าและตระหนักย้ำถึงกฎบัตรของอาเซียนที่พูดเรื่องการเคารพหลักการประชาธิปไตย การมีธรรมาภิบาล หลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิพื้นฐานของประชาชนนี่คือท่าทีทางการอาเซียน สิ่งเหล่านี้มีน้ำหนักมากกว่า ท่าทีของไทยด้วยซ้ำ”

“ส่วนการอ้างมีอาณาเขตติดกันผมคิดว่าไม่น่าจะเป็นเหตุผล ที่เราจะไม่พูด เราควรจะต้อง ‘ยึด’ ในสิ่งที่เรา ‘ควรจะยึด’ มั่นคงหลักการสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ใช่ว่าเป็นเพื่อนบ้านกันแล้วไม่พูด ถ้าเราไม่พูดในสิ่งที่ถูกต้อง มันก็เหมือนกับเราให้ความเห็นชอบ ซึ่งเราก็ไม่รู้หรอกว่าในแง่หนึ่งถ้ากระแสสวนกลับ คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าคุณจะอยู่ได้นานแค่ไหน ถ้าวันหนึ่งฝ่ายประชาธิปไตยขึ้นมา เขาก็จะเห็นว่านั่นแหละคือสิ่งที่คุณเคยพูดแสดงท่าทีเอาไว้ ถ้าเรายึดในหลักการประชาธิปไตยก็ไม่มีใครที่จะสามารถมาว่าเราได้ เพราะว่าเรากำลังยืนอยู่บนหลักการที่ถูกต้อง”

“พูดง่ายๆ คือ ถ้ารัฐบาลเรามีที่มาอย่างถูกต้องชอบธรรมอย่างแท้จริงบนกติกาที่ถูกต้องเที่ยงธรรม เราควรจะต้องมีท่าทีตามที่ผมมองนี้ แต่ที่เราไม่สามารถพูดได้เพราะว่าพูดไปมันเหมือนเข้าตัวเองหรือเปล่า”

“อย่างที่ผมเห็นท่าทีทางการโฆษกกระทรวงการต่างประเทศแถลงใจความว่า หวังว่าจะเห็นภาวะปกติโดยเร็วที่สุด บนผลประโยชน์ของประชาชนพม่า พูดอย่างนี้มันก็ย้อนกลับมาว่า ทุกวันนี้รัฐบาลเราเองทำแบบนี้หรือเปล่า? รัฐบาลเราทำเพื่อผลประโยชน์แน่ชัดหรือไม่? ไม่ควรพูดแบบนี้ถ้ารัฐเรา-ตำรวจเราไปสลายการชุมนุมหน้าสถานทูตเขา ซึ่งไม่รู้เลยว่าเขาทำผิดอะไร แต่คุณไปละเมิดสิทธิ์ของผู้ชุมนุม การที่คุณบอกว่าคุณอยากจะเห็นการกลับไปสู่ภาวะปกติพื้นฐานแต่ภาพที่เห็นคือการเอาตำรวจไปสลายการชุมนุม”

“สิ่งที่คุณพูดกับสิ่งที่คุณปฏิบัติมันกลายเป็นสิ่งที่ขัดกันเอง เหมือนกับว่าพูดอย่างหนึ่งแต่กระทำอีกอย่างหนึ่ง”

 

ทูตรัศมิ์กล่าวอีกว่า มองที่ผลประโยชน์ของทางการไทยต่อเรื่องนี้ก็ต้องถามว่า “ไทย” ที่ว่านี้คือใคร? มันมีตั้งแต่ระดับผู้กุมอำนาจในปัจจุบัน ประชาชนชาวไทย ผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวม ถ้าพวกกุมอำนาจเขาก็ต้องพยายามรักษาอำนาจต่อแค่นั้น เขาก็ไม่อยากจะไปยุ่งอะไรมาก แล้วก็ไม่อยากจะเป็นประเด็นอีก เพราะว่าถ้ามีประเด็นมันจะวกกลับเข้ามาถึงตัวเขาเองทันที

ในประเด็นประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวมผมอยากยืนยันว่ามันจะก้าวหน้าได้ก็ต่อเมื่อเราเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ทุกสิ่งทุกอย่างมันจะผลักดันประเทศให้ขับเคลื่อนก้าวหน้าไปได้อย่างแท้จริงต้องกลับมาสู่ระบอบนี้เท่านั้น

ผมเห็นว่าปัจจุบันนี้เรายังไม่ใช่ประเทศประชาธิปไตยจึงได้ถอยหลังลงไปทุกวัน เพราะเราไม่ได้เป็นประเทศประชาธิปไตยที่แท้จริง

สิ่งที่เกิดขึ้นกับพม่าในขณะนี้มันก็เป็นตัวชี้วัดว่าพม่าที่เป็นแบบนี้มานานแล้ว จากที่พม่าเคยเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกเมื่อ 60 กว่าปีก่อน มาวันนี้มีกลุ่มทหารบริหารประเทศก็ไม่สามารถผลักดันให้ประเทศก้าวหน้าได้ มันก็เป็นสิ่งที่เห็นชัดอยู่แล้วเป็นตัวอย่างที่ว่าไม่มีเผด็จการทหารที่ไหนที่สามารถทำให้ประเทศชาติเจริญได้จริง

เพราะฉะนั้น ประชาชนทั้งสองประเทศก็ต้องพยายามผลักดันให้เกิดประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพื่อที่ทำให้ประเทศก้าวหน้าไปได้

 

เมื่อถามว่า “บทบาทด้านการต่างประเทศยุคนี้” กับอดีตแตกต่างกันมากเพียงใด

ทูตรัศมิ์ยกตัวอย่างว่า ยุคประชาธิปไตย เช่น ยุคของคุณทักษิณ ชินวัตร (ซึ่งข้อเสียเขาก็มี) แต่นโยบายต่างประเทศต้องถือว่ายุคนั้นรัฐมนตรีสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ก็มีผลงานที่มีความรู้เรื่องต่างๆ มากมายที่ได้รับการยอมรับในระดับระหว่างประเทศ

เรามีการจัดตั้งการประชุมต่างๆ มากมายที่ถูกริเริ่มเชื่อมหลายภูมิภาคเข้าด้วยกัน มีการประชุมเอเปคผู้นำทั่วโลกก็มา

แต่พอครั้งหลังสุดที่เราจัดอาเซียนซัมมิต สหรัฐไม่มา ไม่ได้ส่งแม้กระทั่งรัฐมนตรีต่างประเทศมา เขาส่งแค่หัวหน้าคณะทำงานมา มันก็สะท้อนถึงความตกต่ำของสถานะของประเทศเราในเวทีระหว่างประเทศอย่างชัดเจน

หันมามองทุกวันนี้ บทบาทไทยในเวทีโลก ต้องถามว่าเรามีความริเริ่มอะไรใหม่ๆ บ้างในด้านการทูต 7 ปีที่ผ่านมา ผมก็ไม่เห็นมีอะไรที่สำคัญ อาจจะมีเรื่องเล็กน้อยผิวเผิน

แต่การประชุมใหญ่ๆ หรือประเทศต่างๆ สนใจอยากเข้ามามีหรือไม่

ที่แย่ที่สุดคือในสายตาของสมาชิกอาเซียนอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย วันนี้เราเป็นตัวนำหรือเป็นตัวถ่วงกันแน่

เขาจะมองเราอย่างไรในความเป็นจริงจากบทบาทของไทยที่เคยเป็นผู้ก่อตั้ง มีบทบาทสำคัญที่ดึงนานาประเทศมาเป็นอาเซียนตั้งแต่ปี 1967 เป็นต้นมา

ปัจจุบันอย่างที่เราเห็น สหรัฐอเมริกายังไม่เห็นให้ความสำคัญกับการประชุมที่เราเป็นเจ้าภาพจัดเลย มันแย่มากนะ แสดงว่าสถานะของอาเซียนตกต่ำก็เป็นเพราะตัวเราเอง

ก็ต้องมาถามว่าเพราะอะไร เพราะว่ารัฐบาลเรามีที่มาที่ไปอย่างที่คนอื่นเขาเห็นว่ามันไม่ชอบธรรมอย่างแท้จริง และเมื่อเป็นอย่างนั้นคุณก็ขับเคลื่อนอะไรไม่ได้ เมื่อขับเคลื่อนไม่ได้คุณก็เห็นว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเรามันตกต่ำมาตลอด คุณไม่มีอะไรเลย คนอื่นจะมาฟังเราทำไม มันก็เป็นปัญหาต่อไปอย่างนี้

ตราบใดที่รัฐบาลเราไม่ได้มาอย่างถูกต้องชอบธรรม กฎกติกาที่เป็นธรรมอย่างแท้จริง ไม่ได้เป็นตัวแทนประชาชนจริงๆ มันก็ยากที่เราจะขับเคลื่อนอะไรได้

อยากฝากถึงผู้มีอำนาจทั้งหลายว่าให้นึกบ้างว่าเราควรจะพัฒนาไปได้ไกลกว่านี้อีกมาก

เราจะปล่อยให้ประเทศจมอยู่อย่างนี้ต่ออีกหรือ ไปดูคนอื่นเขาไปไหนกันแล้ว

ทุกวันนี้วัคซีนเราก็ยังไม่มี คนอื่นเขามีกันหมดแล้ว รอบบ้านได้หมดแล้ว ปัญหามันอยู่ที่ไหน

ท้ายที่สุดคืออยากให้ประเทศเราอยากเจริญหรือไม่ ก้าวหน้าหรือไม่ มันก็ไม่ได้ยากนะ แค่เสียสละบ้าง ให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพเลือกผู้นำที่เขาต้องการ มันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศชาติให้ก้าวหน้าไปได้

“ที่ผมพูดสิ่งเหล่านี้ไม่ได้พูดเพราะความสนุก เราเป็นคนไทยด้วยกัน ผมอยากเห็นประเทศผมก้าวไปต่อได้”

ชมคลิป