เครื่องเคียงข้างจอ : ภูมิใจไทยทำ / วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

ภูมิใจไทยทำ

จบไปแล้วครับกับการจัดการแข่งขันแบดมินตันใหญ่ระดับโลก 3 รายการ ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยรับหน้าเสื่อจัดการ

แค่ลุกขึ้นมาจัดรายการใหญ่ระดับซูเปอร์พันติดกัน ได้แก่ โยเน็กซ์ ไทยแลนด์ โอเพ่น, โตโยต้า ไทยแลนด์ โอเพ่น และเอชเอสบีซี บีดับเบิลยูเอฟ เวิลด์ทัวร์ ไฟนอลส์ 2020 ก็หืดขึ้นคอแล้ว แต่นี่ต้องจัดท่ามกลางโควิดประชิดเมืองอย่างนี้ ต้องบอกว่ายากมากๆ

คิดดูนะครับว่า แค่ลำพังการเป็นเจ้าภาพก็มีเรื่องให้ทำและเก็บรายละเอียดมากอยู่แล้ว เรื่องสถานที่จัดที่ไหน สนามแข่งสนามซ้อมต้องใช้กี่สนาม ได้มาตรฐานหรือไม่ สิ่งอำนวยความสะดวกของสนามเพียบพร้อมเพียงใด อย่านึกว่าเล่นๆ นะครับ แค่ห้องน้ำของนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ หากไม่สะอาด เรียบร้อยเพียงพอ ก็เป็นประเด็นขึ้นมาได้

นี่ยังต้องรับผิดชอบตั้งแต่นักกีฬาคนใด จากประเทศใด จะเดินทางมาแข่งบ้าง มาเมื่อไหร่ สายการบินอะไร เวลาไหน มากันกี่คน มาแล้วใครไปรับ รับแล้วพาขึ้นรถอะไร ไปพักที่โรงแรมไหน แล้วไม่ใช่คนสองคน แต่เป็นหลายสิบชีวิต พร้อมทีมงานของนักกีฬาเหล่านั้นด้วย

เจ เอส แอล เคยรับผิดชอบดูแลเรื่องการจัดการรับ-ส่งนักกีฬาจากทั่วโลกที่เดินทางมาแข่งขันสนุ้กเกอร์ในประเทศไทย พบว่ามีรายละเอียดมากที่เรานึกไม่ถึง

บางทีมีไฟลต์ที่นักกีฬาบินมาถึงสนามบินไล่ๆ กัน 3-4 คน ก็ต้องมีคนรับ 3-4 ชุด ไม่ใช่รับคนแรกแล้วให้คนแรกรอจนถึงคนที่ 4 แล้วค่อยออกเดินทาง ถ้าเป็นอย่างนั้นนักกีฬาอารมณ์เสียแน่นอน เดินทางมาเหนื่อยๆ ก็อยากเข้าพักโรงแรมให้เร็วที่สุด

แต่ครั้งนี้ของไทย ดำเนินการท่ามกลางการบุกทะลวงของโควิด จึงต้องมีขั้นตอนที่เข้มข้นกว่ามากมายหลายเท่า โดยทางสมาคมแบดมินตันฯ ใช้มาตรการ “บับเบิล” มาเป็นวิธีจัดการ

กล่าวคือ การจัดการทุกอย่างให้อยู่ในวงจำกัดที่ควบคุมดูแลได้ โดยกันไม่ให้ข้องเกี่ยวกับบุคคลและกิจกรรมภายนอก

นับแต่รถที่เดินทางเวลาไปซ้อม หรือแข่ง ก็จะมีการจัดการเป็นรอบๆ รถใครรถมันเพื่อไม่ให้นักกีฬาแต่ละประเทศได้เจอกัน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ก่อนนักกีฬาขึ้นหรือหลังจากที่ลงก็จะต้องมีการทำความสะอาดเบาะที่นั่งทุกครั้ง

นักกีฬาต่างชาติบางคนบอกว่า รู้สึกตื่นเต้นและปลอดภัยที่มีรถตำรวจนำขบวนด้วย

สำหรับโรงแรมที่พักนั้นไม่ต้องห่วงเลย พี่ไทยเราได้ชื่อเรื่องการต้อนรับขับสู้อยู่แล้ว ทั้งห้องพักที่สะอาด อาหารอร่อย เจ้าหน้าที่ทุกคนเต็มที่กับการบริการด้วยน้ำใจ

โจว เทียน เฉิน ชายเดี่ยวมือ 2 ของโลกจากประเทศไต้หวันกล่าวว่า

“ทุกคนนั้นน่ารักกับผมมาก ทุกๆ คนที่ผมเจอใจดีทุกคน ไม่ว่าจะเป็นทีมงานจัดการแข่งขัน ทุกคนที่โรงแรม ไม่ว่าผมขอให้ช่วยอะไร ผมได้ความช่วยเหลือทุกครั้ง ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย ผมมีความสุขมาก”

“ทุกที่ที่ผมไปต้องใส่หน้ากากอนามัย ไม่ว่าจะเป็นที่สนามซ้อม สนามแข่ง และในโรงแรม แม้แต่ในลิฟต์ยังมีการทำความสะอาดปุ่มกดตลอดเวลา ผมรู้เลยว่าพวกเขาทำงานกันหนักมาก”

ไต้ จือ อิ่ง หญิงเดี่ยวมือ 1 ของโลกจากประเทศไต้หวันก็แสดงความชื่นชมว่า

“ต้องบอกว่าประทับใจ และรู้สึกปลอดภัยมาก ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ในเรื่องของเส้นทาง ตั้งแต่เดินลงมาจากเครื่องบินจนถึงโรงแรม ยิ่งพอมาถึงสนามซ้อมและสนามแข่งขันทำให้รู้สึกมีความมั่นใจมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่และทีมงานต้องใส่ชุดป้องกันที่หนาแน่น ทำให้เข้าใจในทันทีเลยว่าทีมงานทุกคนนั้นทำงานกันอย่างหนักมาก เพื่อที่จะให้การแข่งขันทั้ง 3 รายการนี้เกิดขึ้นมา”

ส่วนบริเวณสนามแข่งขันจะมีการแบ่งโซนอย่างชัดเจน เจ้าหน้าที่ทุกส่วนที่ปฏิบัติหน้าที่ในการแข่งขันต้องอยู่ในสถานที่กักตัวที่จัดไว้ให้เท่านั้น เพื่อลดโอกาสการสัมผัสหรือ แพร่เชื้อกันได้ ส่วนการสัมภาษณ์นักกีฬาก็จัดให้เป็นการสัมภาษณ์ผ่านระบบออนไลน์

ใครที่ได้ชมการถ่ายทอดสด จะเห็นนะครับว่าพอจบการแข่งขันคู่หนึ่งเสร็จแล้ว ก่อนจะเริ่มคู่ต่อไป จะมีทีมงานสวมชุดกันเชื้อทั้งตัวออกมาทำความสะอาดสนาม ดูเหมือนอยู่ในองค์กรนาซ่าประมาณนั้น

ในระหว่างการแข่งขัน หากนักกีฬาต้องการเปลี่ยนลูกขนไก่ ก็ชูลูกเดิมให้กรรมการเห็นเป็นสัญลักษณ์ว่าจะเปลี่ยน แล้วก็เดินไปหยิบลูกใหม่ที่เตรียมไว้ในรางใส ไม่ต้องรับจากมือกรรมการ ลดการสัมผัสไปในตัว

พอจบการแข่งขันก่อนเดินออกจากสนามต้องสวมหน้ากากอนามัยทันที รวมทั้งเวลาที่ขึ้นรับรางวัลบนเวทีด้วย ซึ่งแม้จะมีพิธีการบ้างจากผู้ใหญ่ของวงการ แต่ก็กระชับ ปลอดภัย

ที่ชอบเป็นพิเศษคือ เวลานักกีฬาขึ้นรับรางวัล ด้านหลังที่เป็นจอ LED ขนาดใหญ่ จะขึ้นเป็นรูปผู้ใหญ่ในวงการ หรือตัวแทนสปอนเซอร์แบบเต็มตัว เพื่อยืนร่วมแสดงความยินดีกับนักกีฬา แทนคนจริงขึ้นไปร่วมพิธี มีผายมือให้รับเหรียญ มีอาการปรบมือ

เป็นพิธีรับรางวัลแบบนิวนอร์มอลขนานแท้

ความสำเร็จนี้ต้องชื่นชมนายกสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทย คือคุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล และทีมงานทุกคนอย่างมาก ที่คิดระบบการจัดการ ใส่ใจในรายละเอียด และแก้ไขปัญหาต่างๆ จนสามารถจัดการแข่งขันออกมาได้สมบูรณ์ดีงาม

จนได้รับเสียงชื่นชมจากวงการกีฬาทั่วโลก โดยเฉพาะโธมัส บาค ประธานสภาโอลิมปิกสากล ได้ขอให้ไทยช่วยส่งต้นแบบการจัดการแข่งขัน โดยเฉพาะรายละเอียดมาตรการบับเบิลที่ได้ผลดีในการป้องกันโควิด-19 ให้กับคณะกรรมการจัดงานโอลิมปิก โตเกียว 2020 ด้วย ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากกับโตเกียวเกมส์ ที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้

ส่วนสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติก็เตรียมปรับรูปแบบการแข่งขัน ลูกยางเนชั่นส์ ลีก 2021 ให้เป็นแบบบับเบิล เหมือนอย่างที่ไทยได้จัดการแข่งขันแบดมินตัน เพื่อลดการเดินทางไปในแต่ละประเทศอีกด้วย

ในฐานะคนไทย ผมว่าเป็นความภาคภูมิใจอย่างมากทีเดียว ที่เราร่วมมือร่วมแรงใจกัน และใช้ความเป็นไทยที่ทุกคนชื่นชมสร้างความประทับใจในการแข่งขันแบดมินตันระดับโลกขึ้นมาได้ และพร้อมเป็นต้นแบบในการจัดการแข่งขันกีฬาในปัจจุบัน

นี่ก็จะมีการแข่งขันเทนนิสแกรนด์สแลม ออสเตรเลียน โอเพ่น 2021 แล้วในวันที่ 8-21 กุมภาพันธ์ เห็นว่าหลายมาตรการก็ทำกันอย่างเข้มข้น โดยนักเทนนิสทุกคนที่จะเข้าร่วมแข่งขันรายการนี้ ต้องผ่านการตรวจคัดกรองไวรัสโควิด-19 โดยต้องมีผลเป็นลบ ก่อนออกเดินทางไปยังออสเตรเลีย ด้วยเที่ยวบินชาร์เตอร์ไฟลต์ หรือแบบเช่าเหมาลำ ที่ทางฝ่ายจัดการแข่งขันเตรียมไว้ให้ทั้งสิ้น 15 เที่ยวบิน และเมื่อเดินทางถึงออสเตรเลียแล้วก็ต้องผ่านการคัดกรองอีก รวมทั้งทำการกักตัว 14 วัน เพื่อการันตีว่าไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ก่อนแข่งขัน

ส่วนแฟนๆ เทนนิสก็จำกัดจำนวนผู้เข้าชมให้ไม่เกิน 30,000 คนต่อวันในช่วง 8 วันแรก และจะลดลงเหลือวันละ 25,000 คนตั้งแต่รอบก่อนรองชนะเลิศเป็นต้นไป

สำหรับฟุตบอลไทยลีกที่กลับมาเตะกันได้แล้ว ก็มีมาตรการป้องกันเข้มข้นกว่าครั้งก่อน แน่นอนที่เป็นการเตะแบบปิด ไม่ให้แฟนๆ เข้าชม และจำกัดให้มีจำนวนผู้เกี่ยวข้องในสนามไม่เกิน 150-180 คน โดยนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ทุกคนต้องได้รับการตรวจเชื้อโควิดทุกเดือน

ที่เป็นประเด็นหารือกันหนักหน่อยคือการเดินทางข้ามจังหวัด เพราะความเข้มข้นของสถานการณ์โควิดในแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน โดยถ้าเดินทางไม่ไกลด้วยรถบัส ก็ให้เดินทางเป็นหมู่คณะ หากเดินทางด้วยเครื่องบิน ก็ให้ปฏิบัติตามกฎการบินของทางการอย่างเคร่งครัด ห้ามรับประทานอาหาร และให้อยู่เป็นหมู่คณะของตน

เวลาไปพักที่โรงแรม ก็ให้โรงแรมจัดพื้นที่แยกเป็นสัดส่วน ไม่ปะปนกับการบริการของลูกค้าทั่วไป

จากการปรับตัวของกีฬาประเภทต่างๆ ทั่วโลก ต่างก็เรียนรู้ที่จะจัดการกับการแข่งขันท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดให้ดีที่สุด แน่นอนที่แต่ละชนิดกีฬาก็ต้องมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป เพราะการแข่งฟุตบอลจะจัดด้วยมาตรการ “บับเบิล” ก็คงจะลำบาก

แต่อย่างน้อยก็คือการปรับตัว เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าต่อได้ แม้จะไม่เหมือนเดิม แต่ก็เหมือนกับการต่อลมหายใจของแต่ละคลัสเตอร์นั่นเอง

คิดว่าด้วยความเป็นไทย และความพร้อมที่ว่า หากเราได้รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาระดับอินเตอร์ได้หลายๆ รายการคงจะดีไม่น้อย นอกจากจะได้กระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ได้ต่อลมหายใจของกีฬานั้นๆ แล้ว ยังได้เครดิตของการจัดการด้านสาธารณสุขในระดับโลกอีกด้วย

ทั้งนี้ ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐอย่างเต็มที่

ห่วงแต่ว่า ตอนนี้รัฐบาลเองก็ไม่รู้จะเอาตัวรอดจากสารพันปัญหาที่รุมเร้าได้แค่ไหน แถมจะถูกซักฟอกจากฝ่ายค้านอีกหลายวัน แม้อาจจะไม่ถึงยุบสภาหรือลาออก แต่ก็คงบอบช้ำระกำใจไม่น้อย หากฝ่ายค้านไม่เล่นปาหี่เหมือนซักฟอกหนก่อน

เอาเป็นว่าขอชื่นชมคนทำเรื่องดีๆ ก็แล้วกัน อยู่ที่ท่านแล้วละ เพราะทำอะไรก็จะได้อย่างนั้น