ล้านนาคำเมือง ชมรมฮักตั๋วเมือง : “สัตตภัณฑ์”

ล้านนาคำเมือง

ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “สัตตภัณฑ์”

สัตตภัณฑ์ คือเชิงเทียนแบบล้านนา สำหรับตั้งไว้หน้าพระประธานในวิหาร นิยมสร้างเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือรูปโค้งคล้ายหัวเตียง มีขนาดใหญ่ถึงใหญ่มาก มีที่สำหรับปักเทียน 7 เล่ม ใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางสงฆ์ เพื่อแสดงความเคารพศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา

สัตต หมายถึง เจ็ด

ภัณฑ์ หมายถึง สิ่งของ

รวมกันคือ “สัตตภัณฑ์” หมายถึง สิ่งของทั้งเจ็ด ในที่นี้คือเชิงเทียน มีที่สำหรับปักเทียนอยู่เจ็ดที่

“สิ่งทั้ง 7 หรือวัตถุ” อันเป็นที่สักการบูชา ประกอบด้วย การบูชาพระพุทธเจ้า (วันทามิ พุทธัง) การบูชาพระธรรมเจ้า (วันทามิ ธัมมัง) การบูชาพระสังฆเจ้า (วันทามิ สังฆัง) การบูชาพระกัมมัฏฐานเจ้า (วันทามิ กัมมัฏฐาเนนัง) การบูชาครูอุปัชฌายาจารย์ (วันทามิ ครูปัชฌายาจริเยยัง) การบูชาอารามพัทธสีมา (วันทามิ อาราเมพัทธสีมายัง) และสุดท้าย บูชาพระเจดีย์ (วันทามิ เจติยัง)

ในหมวดเจดีย์นี้ยังแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

ธาตุเจดีย์-อัฐิของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก

บริโภคเจดีย์-สถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงเคยใช้สอย เช่น ต้นโพธิ์

อุทเทสิกเจดีย์-เครื่องหมายที่พุทธบริษัทสร้างขึ้นเพื่อเตือนให้ระลึกถึงพระรัตนตรัย เช่น พระพุทธรูป รอยพระพุทธบาทจำลอง

ธรรมเจดีย์-พระธรรมวินัยที่ทรงแสดงเก็บรวบรวมไว้เป็นพระไตรปิฎก

สัตตภัณฑ์ ตามความหมายทางธรรมในทางพุทธศาสนาคือ โพธิปักขิยธรรม คือธรรมที่เป็นแนวทางแห่งความรู้ธรรมหรือแนวทางที่จะเข้าสู่ความเป็นพุทธะ มีอยู่ 7 ประการคือ

สติ ความระลึกได้

ธรรมวิจัย การวิเคราะห์ วิจัยพระธรรม

วิริยะ ความพากเพียร

ปีติ ความอิ่มใจพอใจ

ปัสสิทธิ ทำใจได้

สมาธิ ทำจิตใจแน่วแน่มั่นคง

อุเบกขา วางเฉยจากสิ่งวุ่นวายทั้งปวง

สัตตภัณฑ์ในล้านนาส่วนมากจะทำด้วยไม้ แกะสลักลวดลายเป็นรูปสัตว์ พรรณพฤกษา ที่นิยมมากที่สุดเป็นรูปนาค มีการลงรักปิดทองประดับกระจกสี

ด้านบนมักจะสลักเป็น 7 เชิงเทียน

อีกนัยยะหนึ่ง สัตตภัณฑ์มีความหมายเชิงสัญลักษณ์เป็นภูเขาทั้ง 7 ที่ตั้งรายล้อมเขาพระสุเมรุ โดยถือเอาองค์พระประธานในวิหารเป็นเสมือนเขาพระสุเมรุ เพื่อให้ได้บรรยากาศดั่งสวรรค์ที่ประทับของพระพุทธเจ้าและเหล่าบรรดาเทวดาทั้งหลาย มีภูเขาบริวารรายล้อม ได้แก่ ยุคนธร อิสินธร กรวิก เนมินทร    สุทัศนะวินันตกะ อัศกันต์

“สัตตภัณฑ์” เป็นการผนวกสัญลักษณ์ของเขาสัตตบริภัณฑ์ ให้เข้ากับความคิดความเชื่อเชิงนามธรรมทางพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นธรรมะที่สามารถแยกย่อยได้เป็น 7 หมวด

และในขณะเดียวกัน ทุกครั้งที่หยิบเทียนขึ้นมา 7 เล่ม ก็เสมือนเป็นอนุสติให้รำลึกถึง “วัตถุทั้ง 7” ที่เป็นแสงเทียนแห่งความศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นเครื่องสักการะพระรัตนตรัย

นับเป็นผลงานศิลปกรรมเชิงเทียนอันทรงคุณค่า ซึ่งนับวันใกล้จะสูญหายไปเนื่องจากถูกแทนที่ด้วยกลุ่มโต๊ะหมู่บูชาซึ่งรับมาจากวัฒนธรรมภาคกลาง หากไม่นำมาใช้ประโยชน์และศึกษาค้นคว้าให้ลูกหลานสืบไป ศิลปกรรมแห่งภูมิปัญญานี้อาจถูกลืมเลือนจากสังคมชาวล้านนาเพราะหาชมได้ยาก

ส่วนใหญ่จะถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ กลายเป็นเพียงของเก่าเก็บเท่านั้นเอง

สัตตภัณฑ์หน้าพระประธานในวิหารล้านนา